×

เมื่อผมตามไปดู ‘อีเนียสตา’ และ ‘ตอร์เรส’ ถึงญี่ปุ่น กับสิ่งที่ฟุตบอลไทยควรเรียนรู้จากเจลีก

22.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MINS READ

 

  • การได้ชมเกมที่มี อันเดรส อีเนียสตา จอมทัพแห่งวิสเซล โกเบ ขณะที่อีกฝ่ายคือ เฟอร์นันโด ตอร์เรส หัวหอกพระกาฬของซางัน โตสุ ต้องบอกว่า ‘ฟิน’ นับเป็นความสุขของคนรักฟุตบอลอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่จะทดแทนได้
  • สิ่งที่อีเนียสตาทำนั้น (เหมือนจะ) เป็นการทำน้อยแต่ได้มาก แตกต่างจากโพดอลสกีหรือตอร์เรส ที่พยายามทำมากแต่ได้น้อย
  • หัวใจของเกมฟุตบอลไม่ใช่ ‘นายทุน’ แต่คือ ‘แฟนบอล’ และ ‘ความเป็นท้องถิ่น’ เป็นสิ่งที่สโมสรในลีกฟุตบอลไทยควรเรียนรู้จากเจลีก

 

สายลมปะทะใบหน้าที่สนามหญ้าในลานจอดรถใกล้ริมน้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เย็นจนชวนสะท้านเหมือนสายลมที่ฮาเบอร์แลนด์ในเมืองโกเบ

 

แต่กระนั้นความสดชื่นที่สายลมเจ้าพระยาหอบมาพร้อมกับไออุ่นที่หลงเหลืออยู่จางๆ หลังผ่านพ้นช่วงไอแดดร้อนรุ่มในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผมอดคิดถึงการผจญภัยเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนขึ้นมาไม่ได้ครับ

 

 

ผมเดินทางไปเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นมาครับ โดยการไปครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อไปชมเกมฟุตบอลเจวันลีก (ดิวิชันสูงสุดของญี่ปุ่น) ระหว่างวิสเซล​ โกเบ และซางัน โตสุ สองทีมที่ไม่ได้ดังนักในหมู่แฟนฟุตบอลต่างชาติ

 

สำหรับทีมแรกสถานการณ์นั้นลอยตัว ไม่ได้มีลุ้นแชมป์ แต่ก็ไม่ได้ตกระกำลำบากต้องดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิต ดังนั้นเกมนัดนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษสำหรับเจ้าบ้าน ขณะที่ฝ่ายหลังยังลำบาก เพราะต้องการแต้มจากทุกนัดที่เหลือเพื่อลุ้นหนีตกชั้น

 

หากมองในแง่นี้ เกมนัดนี้ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษครับ

 

แต่ความพิเศษของเกมนี้คือ เกมนี้มีซูเปอร์สตาร์ทีมชาติสเปน 2 คน ที่สวมเสื้อคนละสี

 

ฝ่ายหนึ่งคือ อันเดรส อีเนียสตา จอมทัพแห่งวิสเซล โกเบ ขณะที่อีกฝ่ายคือ เฟอร์นันโด ตอร์เรส หัวหอกพระกาฬของซางัน โตสุ

 

เท่านั้นเองครับ ที่ทำให้เกมนัดนี้มี ‘เรื่องราว’ ที่น่าสนใจขึ้นมาทันที

 

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า ‘ต้องไป’ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

 

 

นอกจากเหตุผลหลักที่บอกแล้ว ยังมีเหตุผลประกอบที่หนักแน่น เพราะนอกเหนือจากอีเนียสตาและตอร์เรส ก็มีสตาร์รายอื่นๆ ด้วยครับ โดยเฉพาะฝั่งวิสเซล โกเบ เจ้าบ้าน เพราะยังมี ลูคัส โพดอลสกี อดีตดาวยิงทีมชาติเยอรมัน ที่เป็นเจ้าของปลอกแขนกัปตันทีม

 

และอีกคนคือ ธีราทร บุญมาทัน แบ็กซ้ายกัปตันทีมชาติไทย ที่ก็เป็นหนึ่งในนักเตะที่แฟนฟุตบอลชื่นชมและชื่นชอบอย่างมาก

 

น่าจะเป็นเกมที่ดีและคุ้มค่า คือความคิดในแว็บแรก

 

โดยที่หวังไว้ลึกๆ ว่าจะเป็นอย่างที่ใครเขาว่ากันไว้ครับว่า สิ่งที่เราคิดหรือรู้สึกในวินาทีแรกนั้นมักจะไม่ผิด

 

 

ค่าผ่านทาง

แต่ก่อนจะเริ่มต้นการเดินทางใดๆ ผมก็พบกับอุปสรรคแรกสำหรับการผจญภัยในครั้งนี้โดยไม่คาดคิดครับ เมื่อตั๋วเข้าชมการแข่งขันถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันแรกที่เปิดจำหน่ายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

 

เหตุผลนั้นไม่มีเรื่องอื่นนอกจากการที่ผู้คนต่างอยากเข้ามาชมฟอร์มของอีเนียสตา (และผองเพื่อน) ปะทะตอร์เรส

 

นั่นคือพลังของนักเตะระดับสตาร์ ที่เปรียบเป็นดังดาวฤกษ์ดวงใหญ่มีแรงดึงดูดแฟนฟุตบอลมหาศาลได้โดยแทบไม่ต้องทำอะไร

 

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว ใครบ้างไม่ชอบการดูดาว

 

เมื่อทราบว่าตั๋วถูกจำหน่ายหมดเช่นนั้น ไม่ผิดอะไรที่ความผิดหวังจะเกิด เพราะยังไม่ทันที่จะได้เริ่มทำอะไร สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดก่อนการวางแผนการเดินทางอย่างตั๋วเข้าชมการแข่งขันก็หลุดลอยไปแล้ว

 

คนแรกที่ผมคิดถึงในเวลานั้นคือ มิสเตอร์เค (นามสมมติ) มิตรจากเจลีก (ที่เคยเขียนถึงเมื่อนานแล้วในช่วงที่ เจ ชนาธิป ย้ายไปซัปโปโรใหม่ๆ) ด้วยความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

มิสเตอร์เคตอบรับ แต่ก็ตอบกลับมาในระยะเวลาไม่นานว่าต้องขอโทษด้วย ตั๋วเกมนี้ถูกจำหน่ายหมดแล้วจริงๆ ทุกช่องทาง เพราะเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

 

ถึงตรงนั้น ผมคิดว่าไม่ผิดอะไรหากจะถอดใจและยอมแพ้

 

 

เพียงแต่ด้วยความรู้สึกแรงกล้า ความปรารถนาที่จะได้ดูนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัยอย่างอีเนียสตา (รวมถึงคนที่เคยรักอย่างตอร์เรส และอยากเอาใจช่วยธีราทร) ทำให้ผมตัดสินใจที่จะลองค้นหาหนทางดูอีกสักครั้ง

 

ก่อนจะค้นพบว่า โลกสมัยใหม่ทำให้การหาตั๋วเข้าชมความบันเทิง (ไม่ว่าจะกีฬา ดนตรี หรืออะไรก็ตาม) เป็นเรื่องง่ายและทุกอย่างอยู่บนปลายนิ้ว

 

ในวงเล็บว่า ขอเพียงแค่จ่ายไหว

 

ตั๋วเกมระหว่างวิสเซล โกเบ กับซางัน โตสุ ยังมีจำหน่ายบนเว็บไซต์คนกลางหลายเจ้าครับ (ส่วนใหญ่คือการที่คนมีตั๋วนำมาฝากจำหน่าย หักค่าใช้จ่ายอะไรก็ว่ากันไป) แต่ราคานั้นแพงระยับ ในช่วงวันแรกๆ นั้นราคาขึ้นไปถึงหลักเรือนหมื่น เรตเดียวกับที่ผมสามารถจะจ่ายเพื่อชมเกมแดงเดือด และใกล้เคียงกับที่เคยแนะนำให้ บก.เคน นครินทร์ รีบตัดสินใจซื้อเพื่อเข้าไปชมเกมนัดอำลาของ อาร์เซน เวนเกอร์ กับอาร์เซนอลในช่วงปลายฤดูกาลที่แล้ว

 

ราคานั้นมากเกินกว่าจะรับได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเดิมพัน ถ้าตั๋วหมดหรือไม่ลดราคา บางทีเราอาจไม่ใช่เนื้อคู่กัน

 

แต่โชคดีครับ เมื่อผ่านไปราวสัปดาห์เศษ ราคาของตั๋วเข้าชมถูกลงมาใน ‘หลักพัน’ ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน ที่เริ่มกลับสู่ความสมดุล ซึ่งเป็นระดับที่รับได้ (แต่ก็เกือบครึ่งหมื่น!) นั่นทำให้ผมตัดสินใจรีบจองทันที

 

มันอาจจะแพงกว่าราคาตั๋วที่ควรจะเป็นไปมาก ประมาณ 4 เท่าของราคาที่ควรจะเป็น (ตั๋วเข้าชมเจลีกส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ประมาณ 3,000 เยนเท่านั้นครับ) แต่บนโลกใบนี้บางครั้งเราจำเป็นต้องจ่ายเพื่อสิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม

 

อีกแง่หนึ่ง ผมคิดว่ามันเป็นการลงทุนที่สำคัญของชีวิต

 

โดยเฉพาะกับคนอย่างผมที่ทำงานมานานจนถ่านของหัวใจใกล้เย็นชา แรงบันดาลใจใหม่ในราคาไม่กี่พันบาท ไม่ใช่เรื่องที่มากมายเลย

 

 

บรรยากาศ ‘แมตช์เดย์’ แบบญี่ปุ่น

ตัดภาพมาในวันแข่งขัน

 

ก่อนไปผมเองก็เคยได้ยินมาบ้างนะครับ เรื่องบรรยากาศของฟุตบอลเจลีก ไม่ว่าจะที่เคยอ่าน เคยผ่านหูจากคนใกล้ตัวที่ไปเกาะติดมา และเคยผ่านตาจากการชมเฟซบุ๊กไลฟ์ทางแฟนเพจเจลีกที่พยายามสร้างการรับรู้ในหมู่แฟนฟุตบอลชาวไทยในช่วงก่อนหน้านี้

 

ภาพในความคิดนั้นมีอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าแตกต่างจากที่จินตนาการเอาไว้พอสมควร

 

อย่างแรก แฟนฟุตบอลญี่ปุ่นไม่ได้แสดงออกถึงความคลั่งไคล้ต่อทีมฟุตบอลที่พวกเขาเชียร์มากมายนัก

 

ในระหว่างการเดินทางจากซันโนะมิยะ ย่านใจกลางเมือง เพื่อขึ้นรถไฟใต้ดินไปต่อยังโนเอเวียร์ สเตเดี้ยม สิ่งที่ได้เห็นคือ ภาพของแฟนฟุตบอล (ซึ่งเรารู้และสัมผัสได้ว่าพวกเขาก็มีเป้าหมายและปลายทางเดียวกัน) แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสวมเสื้อ ผ้าพันคอ หรืออะไรที่แสดงออกให้เห็นว่าพวกเขาคือแฟนบอล และกำลังจะไปเชียร์ฟุตบอล

 

ไม่มีเสียงเพลง ไม่มีการโห่ร้อง ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบ เงียบ และง่าย

 

ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างไป

 

ตลอดระยะทางจากสถานีรถไฟใต้ดินไปถึงสนามโนเอเวียร์ประมาณ 500 เมตร ข้างทางมีเพียงร้านจำหน่ายเสื้อฟุตบอล (ทั่วๆ ไป) เพียงร้านเดียวครับ แทบไม่มีอะไรเลย

 

 

บรรยากาศมาคึกคักเอาเมื่อถึงหน้าสนามครับ เมื่อมีทั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าของสโมสร ซึ่งมีทั้งในแบบของ Official (เสื้อแข่ง เสื้อยืด ผ้าพันคอ เข็มกลัด หมวก ฯลฯ) และสินค้าในแบบ Goods ของสโมสรร่วมกับสินค้าที่ผลิตโดยเจลีก (ที่ส่วนตัวคิดว่านี่แหละ ‘ญี่ปุ่นแท้’ คือของกระจุ๊กกระจิ๊ก ปากกา ดินสอ ยางลบ พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น) ให้เลือกจับจ่าย

 

ทั้งสองร้านคนต่อคิวซื้อมากมายครับ ทีแรกผมเองก็ถอดใจคิดว่าคงจะไม่ได้อะไรกลับมาเป็นที่ระลึกแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อลองดูดีๆ แถวที่ยาวเหยียดนั้นมีการเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ในความเร็วที่พอรับได้ ไม่ได้หยุดนิ่งชีวิตไร้ความหวังแต่อย่างใด

 

สุดท้ายก็ตัดสินใจต่อแถวที่ร้าน Official เป็นร้านแรก และใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5 นาที แถวก็มาถึงจุดที่เลือกหยิบสินค้าได้แล้ว

 

ที่แถวเดินไวนั้นเกิดจากการคิด ‘ระบบ’ ในการต่อคิวครับ โดยแทนที่จะเอาสินค้าไปกองรวมกันที่จุดเดียว และให้แฟนฟุตบอลรอคิว เพื่อจะบอกว่าอยากได้อะไรบ้าง (ซึ่งเสียเวลาและวุ่นวายมาก) ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้วิธีนำสินค้าวางเรียงรายระหว่างทาง

 

ดังนั้นระหว่างการเดินเข้าแถวที่ขดไปมาเป็นชั้นๆ เราจะสามารถเลือกหยิบสินค้าได้เรื่อยๆ เช่น เข็มกลัด พวงกุญแจในถาดแรก จากนั้นเดินไปอีกหน่อยเป็นหมวก เป็นเสื้อ เป็นผ้าพันคอ เป็นต้น โดยที่แม้จะถูกบีบจากแถวที่ต้องเดินเรื่อยๆ แต่หากเราต้องการพิจารณาสินค้าจริงๆ ก็สามารถยืนเลือกได้ตามอัธยาศัย โดยคนข้างหลังสามารถเดินแซงเราไปได้หากไม่สนใจสินค้าดังกล่าว

 

เป็นวิธีการคิดที่ง่ายแต่รอบด้าน และมีประสิทธิภาพอย่างมาก

 

ที่ร้านฝั่ง Goods ก็เช่นกันครับ ฝั่งนี้ใช้วิธีเอาสินค้ามาวางให้เลือกหยิบได้เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต บางอย่างไม่ได้วางไว้แต่ก็มีรูปและรหัสบอก เช่น ก. ปากกาอีเนียสตา เมื่อได้ของครบตามที่ต้องการ (รวมถึงของที่เล็งเอาไว้) ก็ต่อแถวเข้าคิวจ่ายเงิน ซึ่งแม้แถวจะมีคิวหลักร้อย แต่ใช้เวลาน้อยมากในการเข้าไปถึงจุดชำระเงิน (จะเสียเวลาหน่อยก็ตรงการสื่อสารกับพนักงาน และการรอของที่ต้องการ เพราะต้องมีการไปค้นของในสต๊อก)

 

ในวันนั้นไม่ได้มีแค่สินค้าธรรมดาด้วยครับ อย่างที่บอกว่าเมื่อเกมนี้มี ‘สตอรี’ ฝ่ายการตลาดของเจลีกเองก็ไม่พลาดที่จะนำสตอรีนั้นมาเป็นจุดขาย โดยมีการจัดทำคอลเล็กชันพิเศษ ‘อีเนียสตา x ตอร์เรส’ ให้เลือกเก็บสะสมด้วย

 

แน่นอนครับว่าสินค้าทุกรายการจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว จึงทำได้เพียงมองด้วยสายตาละห้อย และถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกแทน (คิดแง่ดีก็ประหยัดไปหลายนะ!)

 

นอกเหนือจากสินค้าที่ระลึก (ซึ่งคะเนจากความรู้สึกในวันนั้น น่าจะทำเงินได้มหาศาลมากครับ) ด้านข้างสนามมีการเปิดร้านอาหาร โดยมีให้เลือกหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะเนื้อโกเบที่นำมาปรุงอาหารกันสดๆ ข้างสนาม

 

อันนี้ก็แน่นอนว่าขายดิบขายดี คนต่อคิวมากมาย เรียกได้ว่างานนี้ทั้งเอร็ดอร่อยและสนุกในเวลาเดียวกัน

 

จากที่เห็นและสัมผัส ถึงจะไม่มีกองเชียร์มารวมพลังปลุกใจ จุดพลุไฟ ตีกลองร้องป่าวก่อนเกม (เขาอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นะครับ มีกระทั่งเดินจำหน่ายในสนาม ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย) แต่ก็เป็นบรรยากาศที่น่ารักและน่าประทับใจครับ

 

โดยเฉพาะภาพของครอบครัวที่หอบลูกหอบหลานมาด้วย หลายครอบครัวก็ไปเตะฟุตบอลเล่นกันในสวนข้างๆ เห็นแล้วก็ได้แต่ยิ้มระคนอิจฉา

 

อยากเห็นบรรยากาศแบบนี้ในฟุตบอลไทยบ้างน่าจะดี

 

 

คำถามของฟุตบอลไทยและคำตอบจากฟุตบอลเจลีก

ความจริงฟุตบอลไทยเราเองก็เดินทางมาไกลแล้วนะครับ หากมองย้อนกลับไปในอดีต

 

เรื่องนี้มีการหยิบมาพูดถึงในงาน SPIA Asia 2018 ในวงเสวนาหัวข้อเรื่อง Growth of Thai Football เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณแดน ศรมณี Global Brand Lead จาก LINE Corporation ผู้ดำเนินการเสวนา ได้มีการตั้งคำถามเรื่องการเติบโตของฟุตบอลไทย ซึ่งทางสมาคมฟุตบอลไทย โดยคุณเบนจามิน ตัน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมการแข่งขัน และคุณกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ได้มีการวางแผนสำหรับการพัฒนาฟุตบอลไทยเป็นอย่างดี (เช่น มีการปรับจำนวนทีมในแต่ละลีกให้เหมาะสม การวางแผนจัดการแข่งขัน ฯลฯ)

 

เพียงแต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของอนาคต ว่าฟุตบอลไทยของเราจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ไหม เมื่อเริ่มสัมผัสได้ว่าไม่ว่าจะสโมสรหรือแฟนฟุตบอลเองเริ่ม ‘หมดแรง’ มีอาการแผ่วให้เห็น และสิ่งที่เราทำอยู่นั้นถูกต้องหรือยัง หรือเพียงแค่ถูกใจ

 

แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดแผกหรือแปลกอะไร เพราะก่อนหน้านี้แม้กระทั่งลีกที่วางระบบทุกอย่างมาดีอย่างเจลีกเองก็เคยตกอยู่ในสภาวะเดียวกันครับ

 

เจลีกถือกำเนิดเมื่อปี 1993 อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากจะมีการตั้งระบบลีกใหม่ แต่ละสโมสรเองก็ปรับตัวสู่ความเป็นสโมสรอาชีพ มีการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งชื่อสโมสร และการออกแบบมาสคอตสโมสร (ซึ่งใช้นักวาดการ์ตูนชื่อดังมาออกแบบให้ในช่วงแรก ในลุคและฟีลเดียวกับปกเกมแฟมิคอมที่คุ้นเคย)

 

มากกว่านั้นคือการลงทุนจ้างนักเตะระดับโลกในช่วงโรยรามาสร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็น ซิโก (ต้นตำหรับบราซิล), แกรี ลีนิเกอร์, ดราแกน สตอยโกวิช, ปิแอร์ ลิตบาร์สกี, เลโอนาร์โด,​ กาเรกา ฯลฯ นักเตะเหล่านี้เด็กรุ่นหลังอาจจะไม่รู้จัก แต่ทุกคนที่กล่าวมาล้วนเป็นซูเปอร์สตาร์ของโลกในยุค 80 ทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ญี่ปุ่นอย่าง ‘คาซู’ คาซึโยชิ มิอุระ หัวหอกขวัญใจหมายเลขหนึ่งตลอดกาล นักเตะญี่ปุ่นคนแรกที่สามารถไปแจ้งเกิดในดินแดนฟุตบอลมหัศจรรย์อย่างบราซิล และ รุย รามอส นักเตะสายเลือดบราซิลหัวใจซามูไร ที่ช่วยจุดกระแสให้แรงขึ้นไปอีก

 

แต่เจลีกในวันนั้นก็เหมือนพลุไฟที่สว่างวาบและดับลงอย่างรวดเร็ว

 

ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี กระแสฟุตบอลเจลีกลดลงอย่างมากเข้าขั้นวิกฤต สตาร์ต่างชาติหมดเวลาในการค้าแข้ง สตาร์ใหม่ไม่สามารถแทนที่ได้ ขณะที่แฟนๆ เองก็หายเห่อ และมีคำถามว่า พวกเขาจะเข้ามาชมเกมที่ไม่สนุกไปทำไม เมื่อการเข้ามาชมฟุตบอลแต่ละครั้งใช้เงินไม่น้อย ยิ่งหากมาเป็นแพ็กเกจครอบครัว รายจ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

 

หนักกว่านั้นคือ หลายสโมสรไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ บางทีมยุบ บางทีมต้องยอมรวมกับทีมคู่แข่งร่วมเมือง เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้

 

แต่แทนที่จะยอมแพ้และปล่อยให้ทุกอย่างตายไปตามเวลา เจลีกรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาทันทีครับ

 

ด้านหนึ่ง พวกเขาจำกัดเพดานรายจ่ายนักฟุตบอล สตาร์ค่าเหนื่อยแพงระยับต้องระเห็จไปค้าแข้งต่างแดน (คาซูก็เช่นกัน ไปค้าแข้งกับดินาโม ซาเกร็บในโครเอเชียแทน) อีกด้านหนึ่ง พวกเขาพัฒนาระบบการแข่งขัน ปรับให้เป็นในรูปแบบสากล เพิ่มจำนวนทีมฟุตบอลอาชีพ ทำให้การแข่งขันสนุกและมีความหมายมากขึ้น

 

กระบวนการนี้ใช้ระยะเวลาหลายปีครับ แต่สุดท้ายเจลีกก็กลับมายืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง สโมสรแต่ละแห่งมีฐานแฟนฟุตบอลที่มากพอจะดำเนินกิจการได้ มีสปอนเซอร์ใหญ่สนับสนุน (หลายแห่งก็เป็นยักษ์ใหญ่ในท้องถิ่น เช่น ฮิโรชิมามีมาสดาเป็นสปอนเซอร์ หรือโยโกฮามา เอฟ. มารินอส มีนิสสันเป็นสปอนเซอร์)

 

ความนิยมอาจจะไม่เท่าเบสบอล กีฬาประจำชาติ แต่อย่างน้อยก็แซงหน้าหลายกีฬาขึ้นมาอยู่ในใจคนญี่ปุ่น

 

สำหรับคนไทย ผมเชื่อว่าแฟนบอลบ้านเรารักฟุตบอลไม่น้อยไปกว่าเขาครับ แต่มันมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้ฟุตบอลไทยเหมือนติดอยู่ในโคลนดูด ยังไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าต่อได้อย่างมั่นคง

 

โดยเฉพาะแนวคิด เมื่อธุรกิจการทำสโมสรฟุตบอลของไทยในปัจจุบันนั้นมองเรื่องของความสำเร็จที่ทำให้นายทุนพอใจเป็นหลัก มากกว่าการคิดถึงการลงหลักปักฐานในหัวใจของแฟนบอล

 

สโมสรของไทยหลายแห่งในระดับสูงไม่มีความเป็นท้องถิ่น แฟนบอลไม่คิดและไม่เชื่อว่านี่คือสโมสรฟุตบอลของพวกเขา เช่นเดียวกับนายทุนที่ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ ทำให้หลายครั้งที่เราได้เห็นการยุบสโมสร หรือการย้ายถิ่นฐานเสียดื้อๆ ช็อกความรู้สึกของแฟนฟุตบอลที่เฝ้าตามเชียร์มาเป็นระยะเวลานาน

 

เรื่องถิ่นฐานนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะครับ หากแต่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้กระทั่งในอังกฤษ เมื่อทีมวิมเบิลดันยุบและย้ายไปอยู่ถิ่นฐานใหม่จากลอนดอนไปมิลตัน คีนส์ แฟนฟุตบอลนั้นต่อต้านและก่อตั้งสโมสรใหม่ในชื่อ เอฟซี วิมเบิลดัน ขึ้นมาเอง

 

หรืออย่างกรณีท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่โด่งดัง ในฤดูกาลนี้ก็มีปัญหาเรื่องยอดผู้ชมที่ลดลง เนื่องจากหน่ายเหนื่อยกับการต้องเดินทางไปชมเกมที่สนามเวมบลีย์ สนามที่พวกเขาไม่คิดว่าเป็น ‘บ้าน’

 

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่วงการฟุตบอลไทยต้องนำกลับมาคิดและทบทวนอย่างจริงจังครับ

 

เพราะหัวใจของเกมฟุตบอลไม่ใช่ ‘นายทุน’ แต่คือ ‘แฟนบอล’

 

เรื่องนี้เจลีกแก้ไขทุกอย่างได้ดี ทำให้ลีกฟุตบอลอาชีพของพวกเขา ถึงจะไม่บูมระเบิดระเบ้อเหมือนในวันวาน แต่อย่างน้อยก็เป็นลีกฟุตบอลที่ดี เล่นกันได้โอเค สนุก มีเส้นทางสำหรับอนาคตให้ทุกคนก้าวเดินต่อไปได้

 

และสำคัญที่สุดคือ ต่างฝ่ายต่างดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะสโมสรหรือแฟนบอล

 

 

อัจฉริยะลูกหนังผู้ทำน้อยแต่ได้มาก

จำนวนผู้ชมเต็มความจุสนาม 25,003 คน (3 ในนั้นคือผมและผู้ร่วมเดินทางอีก 2 คน) ทำให้บรรยากาศในสนามโนเอเวียร์คึกคักไม่น้อยเมื่อถึงเวลาใกล้เสียงนกหวีดแรก

 

การสร้างความคึกคักด้วยเสียงดนตรี การเล่นรับส่งกันระหว่างการประกาศรายชื่อนักฟุตบอลเจ้าบ้าน อาจไม่ใช่ของใหม่ แต่ผมก็ไม่เคยเห็นการเดินลงสนามที่ไหนจะร้อนแรงเหมือนที่นี่ เมื่อมีการจุดไฟในสนามให้พระเพลิงพุ่งขึ้นฟ้า ไอร้อนปะทะใบหน้าจนรู้สึกได้

 

แฟนขานรับชื่อของนักเตะที่พวกเขารักดังกระหึ่มพอสมควรครับ โดยเฉพาะดาวเด่นอย่างโพดอลสกี รวมถึงธีราทร ซึ่งออกสตาร์ทเป็นตัวจริง ก็ได้รับเสียงเชียร์ไม่น้อย (ตอร์เรสในฐานะสตาร์ทีมเยือนก็มีบ้างครับ)

 

แต่แน่นอนว่า พระเอกของงานคือ อีเนียสตา ที่ได้รับเสียงเชียร์กระหึ่มมากที่สุด

 

อีเนียสตาตัวเล็กกว่าที่คิดนะครับ ถึงจะรู้ว่ารูปร่างไม่ใหญ่ (สูง 171 เซนติเมตร) แต่ก็ไม่คิดว่าจะบางมากขนาดนี้ เมื่อยืนเทียบกับนักฟุตบอลคนอื่นๆ แล้ว เหมือนเด็กในวงผู้ใหญ่

 

เพียงแต่สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน ‘โคตรบอล’ ของยุคสมัยนั้น ไม่ใช่เรื่องความสามารถทางกายภาพ หากแต่เป็นเรื่องของมันสมองและทักษะการเล่นที่แม้จะเข้าสู่วัยโรยราก็ยังคงมีประกาย มีความอัจฉริยะที่เราเคยได้เห็นตลอดในสีเสื้อบาร์เซโลนาและทีมชาติสเปน

 

ใน 90 นาทีที่โนเอเวียร์ อีเนียสตาโดดเด่นเหนือโพดอลสกี เพื่อนร่วมทีม และตอร์เรส นักเตะซึ่งครั้งหนึ่งเคยโด่งดังมาก่อน และโด่งดังมากกว่าเขาอย่างมาก

 

ด้วยการเล่นที่เรียบและง่าย แต่การเล่นที่เรียบและง่ายเช่นนี้ คือการเล่นที่แม้แต่นักฟุตบอลเจ้าของสมญา ‘นักเตะเทวดา’ อย่าง โยฮัน ครอยฟ์ เองบอกว่าเป็นการเล่นที่ยากที่สุด

 

เอาประสบการณ์วางไว้ที่ข้างหนึ่ง โดยที่อีกข้างคือความรู้สึก ตาชั่งหัวใจของผมบอกว่า อีเนียสตาน่าจะเล่นโดยใช้ความตั้งใจเพียงแค่ครึ่งหรือไม่ถึงดีด้วยซ้ำในการลงสนามนัดนี้

 

ที่เล่นแค่นั้นไม่ใช่เพราะไม่อยากเล่นอย่างเต็มที่ เพียงแต่ในวัยนี้ และด้วยความสามารถของเพื่อนร่วมทีม บางทีแค่นี้ก็ดีมากแล้ว

 

แต่ถึงจะแค่นี้ สิ่งที่ผมได้เห็นก็นับว่าคุ้มค่าครับ กับการได้เห็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ยามชมเกมการถ่ายทอดสดอยู่ทางบ้าน เช่น เรื่องของการเคลื่อนที่ การตัดสินใจ (และเหตุผลในการตัดสินใจเล่น) ไหวพริบปฏิภาณ ลูกล่อลูกชนต่างๆ

 

โดยเฉพาะการได้เห็นการลากเลื้อยทะลุทะลวงอย่างลื่นไหลตามสไตล์ ข้อเท้าที่ล็อก เกี่ยว คล้อง และคลึงบอลอย่างนุ่มนวล การพลิกบอลที่เปลี่ยนจากความเสียเปรียบเป็นความได้เปรียบ ไปจนถึงการผ่านบอลง่ายๆ แต่มีความหมายแทบทุกครั้ง

 

จริงๆ หากใครดูเกมถ่ายทอดสดเกมนี้ อาจจะเห็นต่างได้ แต่สำหรับผมที่ได้เห็นสิ่งที่อีเนียสตาทำอยู่ตรงหน้า ถ้าพูดตามประสาคนสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า ‘ฟิน’ นักแลครับ

 

การได้เห็นนักเตะระดับโคตรบอลลงสนามวาดลวดลายต่อหน้า นับเป็นความสุขของคนรักฟุตบอลอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่จะทดแทนได้

 

สำหรับอีเนียสตา สิ่งที่เขาทำนั้น (เหมือนจะ) เป็นการทำน้อยแต่ได้มาก

 

แตกต่างจากโพดอลสกีหรือตอร์เรส ที่พยายามทำมากแต่ได้น้อยอย่างชัดเจน

 

ที่อดีตจอมทัพบาร์ซาและทีมชาติสเปนทำน้อยแต่ได้มากนั้น เกิดจากการ ‘คิดก่อนทำ’ ครับ ก่อนการจับบอล ก่อนการผ่านบอล ในเสี้ยววินาทีนั้นสมองของเขา อีเนียสตาได้ประมวลผลอย่างเป็นระบบแล้วว่าสถานการณ์ในเวลานั้นมีตัวเลือกแบบใดบ้าง

 

ขณะที่โพดอลสกีหรือตอร์เรสเป็นการ ‘ทำก่อนคิด’ ด้วยเชื่อว่าแข็งแรงกว่า แข็งแกร่งกว่า จะลาก ตะลุย เบียด ปะทะ หวังว่าจะเอาชนะคู่แข่งได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วแทบทุกครั้งเป็นการเสียแรงเปล่า ไม่มีประโยชน์อันใด

 

ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันก็สอนเราได้อยู่เหมือนกันนะครับ

 

ท้ายที่สุดแล้วผลการแข่งขัน 90 นาทีที่โนเอเวียร์จบลงด้วยการเสมอกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยของวิสเซล โกเบ และซางัน โตสุ แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นครับ

 

มองอย่างผิวเผิน เกมนัดนี้อาจน่าเบื่อ แต่หากมองในรายละเอียดแล้วก็เป็นเกมที่ต่อสู้กันสนุกทางกลยุทธ์การเล่น

 

มากกว่านั้นก็อย่างที่บอกคือการได้เห็นดวงดาราหลายดวงตรงหน้า ตั้งแต่อีเนียสตา, โพดอลสกี, ตอร์เรส และธีราทร ซึ่งเล่นได้อย่างโดดเด่นตลอด 90 นาทีในสนาม เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดของเกมในวันนั้นเลยทีเดียว (ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่าเขาจะอยู่กับวิสเซล โกเบต่อไปในฤดูกาลหน้า)

 

เรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้รู้และได้รู้เสียทีคือ การเชียร์ฟุตบอลแบบญี่ปุ่นที่ค่อนข้างเรียบร้อยแต่ก็น่ารักอยู่ในที (ใครชอบเชียร์แบบหนักแน่นอาจจะมองว่าหน่อมแน้ม แต่สำหรับคนชอบเชียร์เงียบๆ แบบผมนี่มันสวรรค์ชัดๆ)

 

นอกเหนือจากนี้ ยังมีสิ่งที่ได้เห็น ซึ่งผมเชื่อว่าจะมากบ้างน้อยบ้างมันก็สอนเราได้อยู่ โดยเฉพาะการเล่นแบบทำน้อยได้มาก คิดก่อนทำ ไปจนถึงการเล่นที่เรียบง่ายแต่งดงามของอีเนียสตา ซึ่งทำให้สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนเพื่อเดินทางมาชมเขานั้นกลายเป็นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

 

ผมบอกลาโนเอเวียร์และโกเบมาด้วยความรู้สึกที่เติมเต็ม

 

ผ่านมาถึงวันนี้ สนามหญ้าริมน้ำเจ้าพระยานั้นว่างเปล่า

 

แต่เมื่อหลับตา ภาพของเด็กน้อยที่โชว์ลวดลายประหนึ่งพวกเขาคืออีเนียสตา, ตอร์เรส, โพดอลสกี และธีราทร ตรงสนามหญ้าข้างสนามโนเอเวียร์นั้นยังชัดเจน

 

หวังไว้ในใจ คงจะได้กลับไปในสักวัน 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • สำหรับคนที่สนใจอยากชมเกมฟุตบอลเจลีก สามารถเข้าไปซื้อตั๋วได้โดยตรงที่ www.jleague.jp/en/ticket/ ครับ เพียงแต่ต้องตรวจสอบดีๆ ว่าตั๋วในเกมนั้นๆ จะจำหน่ายเมื่อไร หรือหากมีคนรู้จักที่ญี่ปุ่น สามารถฝากให้ซื้อทางร้านสะดวกซื้อได้เช่นกัน
  • นอกจากเฟซบุ๊กแฟนเพจเจลีกแล้ว ทางเจลีกยังจัดทำเว็บไซต์ข้อมูลสำหรับแฟนชาวไทยด้วย (แต่รายละเอียดอาจจะไม่มาก) ที่ www.jleague.jp/en/special/thisisjleague/thai/
  • อันเดรส อีเนียสตา ก่อนจะย้ายมาเล่นที่ญี่ปุ่น ได้รับข้อเสนอจากหลายแห่ง โดยเฉพาะจากจีน (ซึ่งมีธุรกิจเครื่องดื่มไวน์ของครอบครัวเข้ามาเกี่ยวด้วย) แต่สุดท้ายด้วยสายสัมพันธ์ของเขากับราคุเต็น ที่รู้จักกันเมื่อบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปสนับสนุนบาร์เซโลนา จึงเลือกย้ายมาอยู่กับวิสเซล โกเบ (สโมสรที่ราคุเต็น สนับสนุนเช่นกัน)
  • อนาคตของนักฟุตบอลไทยในเจลีก ต้องจับตาดูว่า ธีรศิลป์ แดงดา (ซึ่งพลาดการคว้าแชมป์กับซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา ในฤดูกาลแรกอย่างน่าเสียดาย) รวมถึง ธีราทร บุญมาทัน จะได้รับสัญญาใหม่หรือไม่ โดยรายหลังมีโอกาสดีกว่าที่จะอยู่ต่อ ขณะที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ปัจจุบันก้าวสู่การเป็นสตาร์ประจำทีมอย่างเต็มตัว
  • แว่วว่าในฤดูกาลหน้า จะมีนักเตะระดับสตาร์อนาคตไกลของไทยได้ไปค้าแข้งที่เจลีกเพิ่มอีกแน่นอน แต่จะเป็นใคร ขอให้รอจับตาครับ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising