×

Asteroid City เธอกับฉันไม่ต่างกัน เราทุกคนต่างตามหาความหมายของชีวิต

26.06.2023
  • LOADING...
Asteroid City

HIGHLIGHTS

  • Asteroid City ดูเผินๆ แล้วอาจคิดว่าประเด็นของภาพยนตร์อยู่ที่เรื่องราวของกลุ่มผู้ปกครองที่พาลูกหลานมารวมตัวกันกลางเมืองทะเลทราย เพื่อเข้าร่วมงานประชุม Junior Stargazer/Space Cadet และได้พบกับเหตุการณ์ประหลาดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ 
  • แต่เมื่อพินิจอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ผลงานชิ้นนี้ของ Wes Anderson ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ตรงไปตรงมาแบบนั้น เมื่อผู้กำกับเลือกที่จะใช้วิธีการนำเสนอภาพยนตร์ของตัวเอง โดยใช้ลูกเล่นของบทละครวางซ้อนบทละคร เพื่อสร้างตัวละครที่เป็นคนเขียนบทละครชื่อ Conrad Earp (Edward Norton) ขึ้นมา
  • นอกจากนี้ หากเราชำแหละวิธีการดำเนินเรื่องที่วางซ้อนกันของภาพยนตร์ จะพบว่า มันเป็นผลงานที่คิดขึ้นมาอย่างแยบยลและไร้รอยต่อ โดยมีแกนหลักอยู่ที่การครุ่นคิดตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว “อะไรคือความหมายของชีวิต?” แน่นอนว่าภาพยนตร์ไม่ได้ตั้งคำถามอย่างโจ่งแจ้ง แต่ใช้รูปแบบของถ้อยแถลงในการเล่าผ่านบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครภายในเรื่อง และด้วยวิธีการกำกับของ Wes Anderson คำถามเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่กินใจไปเสียหมด  
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Wes Anderson ทำให้เราเห็นว่า การกลืนกลายระหว่างชีวิตและเรื่องเล่ามีความมหัศจรรย์มากแค่ไหน ในฐานะของสื่อไม่กี่ชนิดที่สามารถทำให้เรื่องจริงและเรื่องแต่งไหลรวมเข้าหากันได้อย่างแนบสนิท ในฐานะของภาพเคลื่อนไหว

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Asteroid City**

 

สิ่งที่ทำให้ Wes Anderson กลายเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงในฐานะศิลปินคนหนึ่งคือ การหยิบจับองค์ประกอบ ‘สี’ มาบิดวางทับเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ผ่านการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยข้อมูลได้อย่างมีชั้นเชิงและยากจะเลียนแบบ

 

เช่นเดียวกับผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Asteroid City ที่เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ผ่านมา และเป็นผลงานเรื่องแรกในรอบ 5 ปีที่คอภาพยนตร์บ้านเราได้ชมกัน (นับตั้งแต่ Isle of Dogs ที่เคยเข้าฉายในปี 2018) โดยคราวนี้ Wes Anderson กลับมาพร้อมกับขนดาราครึ่งฟ้าฮอลลีวูดมาร่วมแสดง เช่น Scarlett Johansson, Tom Hanks, Tilda Swinton, Bryan Cranston, Jeffrey Wright, Jeff Goldblum, Steve Carell และ Maya Hawke  

 

Asteroid City ดูเผินๆ แล้วอาจคิดว่าประเด็นของภาพยนตร์อยู่ที่เรื่องราวของกลุ่มผู้ปกครองที่พาลูกหลานมารวมตัวกันกลางเมืองทะเลทราย เพื่อเข้าร่วมงานประชุม Junior Stargazer/Space Cadet และได้พบกับเหตุการณ์ประหลาดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ 

 

แต่เมื่อพินิจอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ผลงานชิ้นนี้ของ Wes Anderson ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ตรงไปตรงมาแบบนั้น เมื่อผู้กำกับเลือกที่จะใช้วิธีการนำเสนอภาพยนตร์ของตัวเองโดยใช้ลูกเล่นของบทละครวางซ้อนบทละคร เพื่อสร้างตัวละครที่เป็นคนเขียนบทละครชื่อ Conrad Earp (Edward Norton) ขึ้นมา

 

 

Conrad Earp เป็นนักประพันธ์บทละครที่ใช้ชีวิตอย่างระหองระแหงกับภรรยา เนื่องจากเขาแอบมีความสัมพันธ์บางอย่างกับนักแสดงหนุ่มคนหนึ่งในค่าย และด้วยปัญหาต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าอย่างไม่ลดละ ทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจที่จะเขียนบทละครเรื่องหนึ่งขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ‘Asteroid City’ ซึ่งก็คือเรื่องราวส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ที่ผู้ชมเห็นอยู่บนจอภาพยนตร์

 

ถึงกระนั้น สำหรับ Conrad Earp ชีวิตของเขาเองก็ไม่ต่างอะไรกับบทละครเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ การที่ชายหนุ่มเขียนบทละครเรื่อง ‘Asteroid City’ ขึ้นมาก็เพราะเขาต้องการที่จะบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเล่ามันออกมาตรงๆ 

 

หาก Conrad Earp เป็นคนที่สร้างเรื่องราวของ ‘Asteroid City’ ขึ้นมา พิธีกรรายการโทรทัศน์ (Bryan Cranston) ก็คือคนที่บอกเล่าชีวิตของชายหนุ่มอีกทีในรูปแบบสารคดี โดยมี Wes Anderson เป็นคนเขียนเรียบเรียงสคริปต์ทั้งหมดของพวกเขา

 

 

และเช่นเคย เมื่อมันอยู่ในมือของผู้กำกับที่วิชวลแข็งแรง การท้าทายศีลธรรมต่างๆ สามารถถูกฉาบให้อยู่ในรูปร่างของสีสันสวยงาม ที่พร้อมจะกลายเป็นเวทมนตร์ดึงดูดผู้ชมเข้าสู่โลกของเขา 

 

ในที่นี้หากเรามองถึงองค์ประกอบของ Asteroid City ประการแรกคือ การที่ภาพยนตร์มีพื้นหลังอยู่ในสหรัฐอเมริการาวปี 1955 ซึ่งยุคนั้นความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับและเปิดกว้างเหมือนในปัจจุบัน การที่ผู้ชายจะมีความสัมพันธ์แบบเสพสวาทกันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดมนุษย์มนา ความรุนแรงที่ถูกเล่าออกมาในส่วนนี้จึงมีพลังโดยไม่ต้องแต่งแต้มสีสันใดๆ แต่เมื่ออยู่ในโลกของละครเวที การปฏิสัมพันธ์เหล่านี้สามารถถูกทำให้กลายเป็นอื่นได้ด้วยศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในภาพยนตร์ของ Wes Anderson

 

ประการที่สองคือ การแบ่งแยกสีระหว่าง ‘โลกของโรงละคร’ กับ ‘โลกของนักเขียน’ นัยหนึ่งมันคือการแยกแยะให้ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่แรกเห็นว่า อันไหนคือ ‘เรื่องจริง’ และอันไหนคือ ‘เรื่องแต่ง’ แต่อีกมุมหนึ่งการใช้อัตราส่วนภาพ 4:3 เพื่อนำเสนอโลกขาวดำบนจอโทรทัศน์ ก็เป็นการบอกกล่าวว่าองค์ประกอบนี้ยังยึดโยงไปถึงส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์สื่อบันเทิงด้วย เพราะนอกจากโทรทัศน์แล้ว หากเราแยกโครงสร้างภาพยนตร์ออกมาจะพบว่า ยังมีละครเวทีและภาพยนตร์วางซ้อนกันอยู่ในเรื่องเล่านี้ด้วย เพียงแต่โลกที่วางซ้อนกันเหล่านั้นไม่ได้แบ่งแยกเป็นเอกเทศเสียทีเดียว เพราะเราจะเห็นได้ว่าทั้งนักแสดงและพิธีกรโทรทัศน์ต่างก็ออกมาจากหลังม่าน เพื่อถามไถ่ข้อมูลกับ Conrad Earp อยู่เสมอในเวลาที่พวกเขาไม่แน่ใจ

 

 

และประการสุดท้ายคือ นักแสดงในโรงละครที่มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับผู้สร้าง พวกเขาเป็นเหมือนเรื่องราวที่ Conrad Earp สงสัยใคร่ครวญและอยากจะเล่า แต่ด้วยความที่ไม่อยากเล่ามันออกมาโดยตรง ชายหนุ่มจึงหยิบเอาเศษเสี้ยวชีวิตส่วนหนึ่งของตัวเองใส่ลงไปในงาน ผ่านตัวละครอย่างพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องพาลูกๆ มาเที่ยวงานวิทยาศาสตร์, เด็กชายที่มักชอบท้าแข่งกับคนอื่นอยู่เสมอ เพราะคิดว่าหากไม่ทำเช่นนั้นจะไม่มีใครมองเห็นคุณค่าของเขา, ชายแก่ที่พร้อมมอบความเชื่อใจให้กับคนที่รักแม้ตัวเองจะต้องโดดเดี่ยว, นักแสดงหญิงที่ซักซ้อมบทเป็นภรรยาที่ถูกสามีทุบตี ตลอดจนครูสาวที่ไม่ค่อยมีเด็กนักเรียนคนไหนฟัง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าตื่นเต้นกว่าเรื่องเล่าของเธอเป็นไหนๆ

 

พวกเขาทั้งหมดคือภาพชีวิตของ Conrad Earp ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิกซอว์ ผ่านเรื่องราวต่างๆ ในเมือง Asteroid City โดยมี Augie Steenbeck (Jason Schwartzman) ช่างภาพสงครามที่เพิ่งสูญเสียภรรยา เป็นเหมือนตัวแทนของเขาในเรื่องราวนี้ เนื่องจากทั้งคนสองต่างก็มีพื้นหลังที่สัมพันธ์กัน เพียงแต่ Augie Steenbeck ไม่ได้สูญเสียทุกอย่างในชีวิตเหมือนกับที่ Conrad Earp สูญเสีย ตัวละครนี้จึงเป็นทั้งตัวแทนและภาพฝันที่ไม่อาจเป็นจริงของเขาในเวลาเดียวกัน

 

 

นอกจากนี้ หากเราชำแหละวิธีการดำเนินเรื่องที่วางซ้อนกันของภาพยนตร์ จะพบว่ามันเป็นผลงานที่คิดขึ้นมาอย่างแยบยลและไร้รอยต่อ โดยมีแกนหลักอยู่ที่การครุ่นคิดตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว “อะไรคือความหมายของชีวิต?” แน่นอนว่าภาพยนตร์ไม่ได้ตั้งคำถามอย่างโจ่งแจ้ง แต่ใช้รูปแบบของถ้อยแถลงในการเล่าผ่านบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละคร และด้วยวิธีการกำกับของ Wes Anderson คำถามเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่กินใจไปเสียหมด

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การที่ Wes Anderson เลือกใช้เพลงประกอบอย่าง Last Train to San Fernando ของ Johnny Duncan & Blue Grass Boys และ Freight Train (Skiffle) ของ Michael Stewart Quartet ในงาน ก็ทำให้บริบทของภาพยนตร์ที่ถูกเคลือบด้วยความผ่อนคลายสามารถสอดประสานเข้ากับเสน่ห์ของทะเลทรายได้อย่างลงตัว

 

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Wes Anderson ทำให้เราเห็นว่า การกลืนกลายระหว่างชีวิตกับเรื่องเล่ามีความมหัศจรรย์มากแค่ไหน ในฐานะของสื่อไม่กี่ชนิดที่สามารถทำให้เรื่องจริงและเรื่องแต่งไหลรวมเข้าหากันได้อย่างแนบสนิทในฐานะของภาพเคลื่อนไหว       

 

พอพูดในแง่นี้แล้ว Asteroid City คงเป็นภาพยนตร์ที่ Wes Anderson สนุกกับการออกแบบและทดลองสิ่งต่างๆ ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้กำกับชาวอเมริกันคนนี้ยังคงมีนายทุนที่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปกับเขาอยู่เสมอ

 

ถึงแม้ Asteroid City จะเป็นภาพยนตร์ที่ดูจบแล้วทำให้ผู้ชมบางท่านอาจสงสัยว่า นี่ฉันดูอะไรไป ภาพยนตร์ต้องการสื่ออะไรนะ สำหรับผู้เขียนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อถึงชีวิตของศิลปินที่เผชิญหน้ากับความสูญเสีย และต้องการบอกเล่าความเจ็บปวดนั้นออกมาผ่านบทละคร โดยหวังว่าผู้ชมจะสามารถช่วยกันค้นหาความหมายของการมีชีวิตให้กับเขา 

 

แต่ท้ายสุดแล้วมันอาจเป็นเส้นทางที่ยาวไกลเกินกว่าชีวิตของชายคนหนึ่งจะไปถึง

 

รับชมตัวอย่าง Asteroid City ได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising