ความท้าทายของธุรกิจสื่อคงหลีกหนีไม่พ้นการแข่งกันหาคอนเทนต์ให้ทันกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แถมยังต้องเผชิญกับเม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวีที่ลดลง ไม่เว้นแม้แต่ Amarin TV ต้องสอดแทรกความรู้ใหม่ๆ พร้อมดึงคนที่มีชื่อเสียงอย่าง เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น เข้าช่วยเพิ่มฐานแฟน
“ต้องยอมรับว่าปัจจัยของสถานการณ์ทางการเมืองด้วยนโยบายต่างๆ ทำให้หลายๆบริษัทกำลังดูทิศทางในการตัดสินใจใช้งบการลงทุน และหากมีการใช้งบโฆษณาเท่าเดิม ก็ต้องกระจายช่องทางไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อนอกบ้าน เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น คาดว่าครึ่งปีหลังของปี ถ้าทุกอย่างเริ่มชัดเจนน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น” ศิริ บุญพิทักษ์เกศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โจทย์ใหญ่ของพิธีกรข่าวคนดัง ‘พุทธ อภิวรรณ’ จะเรียกเรตติ้งให้กับช่อง 8 ได้มากน้อยแค่ไหน? หลังนั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวคนใหม่
- โควิดเปลี่ยนเกมธุรกิจ ‘MI’ รับลูกค้าชะลอใช้งบโฆษณา จ่องัดโซลูชัน ‘MI Bridge’ หนุนแบรนด์ไทยบุกตลาดโลก
ทำให้ธุรกิจทีวีที่อยู่ภายใต้ช่อง Amarin TV 34 HD ต้องพยายามหาคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ พยายามสอดแทรกความรู้ เสนอผ่านรายการต่างๆ ทำให้ปัจจุบันยังรักษาความนิยมของผู้ชมทั่วประเทศอยู่ใน Top 7 ทั้งช่องทางออนแอร์และออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม และสามารถเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศเฉลี่ย 10 ล้านคนต่อวัน ขณะที่ผู้ติดตามในสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มมีมากกว่า 42 ล้านคน
โดยเฉพาะรายการทุบโต๊ะข่าว ที่ได้เปิดโอกาสให้คนที่มีชื่อเสียงอย่าง เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น หรือ เจนนี่-รัชนก สุวรรณเกตุ และ เชียร์-ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ เข้ามาร่วมเป็นพิธีกรข่าว เพราะมองว่าฐานแฟนคลับของบุคคลเหล่านี้ที่มีค่อนข้างมาก จะช่วยเพิ่มฐานคนดูให้กับรายการได้ด้วย
ทั้งหมดสอดรับกับนโยบายการเติบโตของ ‘อมรินทร์กรุ๊ป’ ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อตอกย้ำการเป็นธุรกิจที่เป็นมากกว่าพรินติ้ง หรือพับลิชชิ่ง และจากนี้จะขยายธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์ อีเวนต์ ดิจิทัล รวมถึงโอกาสในการขยายธุรกิจอื่นในอนาคต
ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อมรินทร์กรุ๊ปดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์ Omni-Media, Omni-Channel ปัจจุบันมี 5 กลุ่มธุรกิจ และ 2 ธุรกิจที่ร่วมทุน ประกอบด้วยมีเดียแอนด์อีเวนต์ ตามด้วยธุรกิจสำนักพิมพ์ ถัดมาคือสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจทีวี
รวมถึงธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ โดยบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ที่มีเครือข่ายร้านพันธมิตรมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และร้านนายอินทร์ และแพลตฟอร์มดิจิทัล ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 26 ล้านรายต่อปี เร็วๆ นี้เตรียมเปิดร้านนายอินทร์ แฟลกชิปสโตร์ ตั้งใจให้เป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุด บนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ที่ดิโอลด์สยาม ช้อปปิ้ง พลาซ่า
แม้ปัจจุบันธุรกิจร้านขายหนังสือจะเริ่มซบเซาลงบ้างจากพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่หันไปซื้อผ่านออนไลน์ ทำให้อาจเห็นมีการปิดสาขาบ้าง เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าเช่าได้ ขณะที่ร้านนายอินทร์ที่มีอยู่ 111 สาขา กลับเติบโตสวทางตลาดมาตลอด เพราะมีหนังสือที่หลากหลายและมีการจัดกิจกรรมที่ออนไลน์ไม่มีเข้ามาดึงลูกค้าอยู่เป็นระยะๆ
นอกจากนี้ ปี 2566-2568 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 2,100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ และจากการร่วมมือกับคู่ค้า รวมถึงการพัฒนาคอนเทนต์หนังสือ, ดิจิทัล, โทรทัศน์ ทั้งรูปแบบการซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ และสร้าง Local Content เพื่อพัฒนา Soft Power ให้กับประเทศไทย พร้อมสร้างสตูดิโอใหม่ และ AI, ML เข้ามาต่อยอดธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวนเงิน 1,313.84 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นถึง 44.4% การเติบโตหลักๆ มาจากธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ
ตามด้วยธุรกิจมีเดียและอีเวนต์ รวมการให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่างๆ และธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล ที่ยังคงรักษาระดับรายได้ไว้ได้ แม้ว่ายอดในการซื้อสื่อทีวีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวมที่ลดลง