×

เลือกขายในวันที่มีกำไรอาจดีกว่า! วิเคราะห์เหตุผลที่ตระกูลอุทกะพันธุ์ ครอบครัวที่ปลุกปั้น ‘อมรินทร์’ มากับมือ เลือกขายธุรกิจให้กลุ่มเจ้าสัวเจริญแห่งเบียร์ช้าง

24.10.2023
  • LOADING...

วิเคราะห์เหตุผลทำไมตระกูล ‘อุทกะพันธุ์’ ครอบครัวที่ปลุกปั้นธุรกิจสื่อ ‘อมรินทร์’ มากับมือ ถึงตัดสินใจขายหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้กับเครือบริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี ว่ากันว่าเป็นการตัดสินใจขายในวันที่บริษัทยังมีกำไร ถือว่าสร้างมูลค่าได้มากที่สุดแล้ว

 

หากย้อนไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ‘ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อจากบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อตอกย้ำองค์กรอันดับ 1 ด้านการสื่อสารแบบครบวงจร

 

ไม่นานก็มีข่าวสะเทือนวงการสื่อ เมื่อตระกูลอุทกะพันธุ์ได้ขายหุ้นที่เหลือทั้งหมด 13.86% ให้กับบริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งเบียร์ช้าง พร้อมโบกมือลาจากทุกตำแหน่งในบริษัท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นับเป็นการเปิดทางให้กลุ่มไทยเบฟเข้ามาบริหารงานเครืออมรินทร์อย่างเต็มตัว หลังจากเดิมที่ถือหุ้นในอมรินทร์อยู่แล้ว 47.62% ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นมาเมื่อปี 2559 ในช่วงที่อมรินทร์เจอปัญหาขาดทุนจากธุรกิจทีวีดิจิทัล

 

ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในวันที่บริษัทยังมีกำไรดีที่สุด

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่าการตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของอมรินทร์ล้วนมีนัยสำคัญ คือการรู้ทันเทรนด์และเติมเต็มระบบนิเวศ

 

“จริงๆ แล้วกลุ่มผู้บริหารอมรินทร์กรุ๊ปนั้นรู้ทันเทรนด์ธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อดิจิทัล สื่อสิ่งพิมพ์ และเริ่มเห็นว่าไม่ได้สดใสเหมือนในอดีตที่ผ่านมา มิหนำซ้ำยังมีอนาคตเติบโตยาก

 

“ส่วนตัวประเมินว่าถึงวันนี้บริษัทยังมีผลประกอบการที่เป็นกำไรอยู่ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจขายวันนี้ดีที่สุด ถ้ารอจนถึงวันที่ธุรกิจถึงจุดตกต่ำแล้วจะมาขายในวันที่สายเกินไป อาจจะไม่มีมูลค่าในการขายถ้าเทียบกับปัจจุบัน”

 

ขณะเดียวกันหลังจากอมรินทร์มาอยู่ในเครือไทยเบฟเต็มตัวนั้นไม่มีเหตุผลอื่นเลยนอกจากนำมาเติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจในเครือ แม้สื่อสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวเอง แต่คำว่าสิ่งพิมพ์ยังมีคุณค่าในมุมอื่นที่ไม่ใช่แค่สื่อ ทำให้กลุ่มระบบนิเวศใหญ่ๆ ใช้ประโยชน์ได้

 

อีกหนึ่งจุดแข็งของอมรินทร์กรุ๊ปคือการจัดงานแสดงโชว์สินค้า อย่างบ้านและสวน และงานสัตว์เลี้ยงต่างๆ โดยไทยเบฟก็มีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อนาคตจะเป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์ต่างๆ

 

ส่วนธุรกิจทีวีแม้วันนี้คนจะดูทีวีลดลง แต่ช่องอมรินทร์ยังมีจุดขายคือรายการข่าว ปัจจุบันเรตติ้งอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งมีฐานคนดูเป็นกลุ่มคนเมืองวัยกลางคน และมีรายได้สูง แต่อมรินทร์อาจไม่ได้หวังรายได้จากสื่อโฆษณาเหมือนเดิม แต่จะใช้เครื่องมือธุรกิจสื่อมาช่วยสนับสนุนธุรกิจในเครือมากกว่า โดยเฉพาะโอกาสจากธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าที่มีโอกาสเติบโต เพราะเป็นเทรนด์ที่คนต้องการออกไปหาประสบการณ์นอกบ้านกันมากขึ้น

 

เครื่องมือสื่อที่หลากหลายของ ‘อมรินทร์’ จะช่วยหนุนธุรกิจในเครือไทยเบฟ

 

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าในช่วง 7 ปีที่แล้ว บริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอมรินทร์กรุ๊ป พร้อมส่งผู้บริหารเข้ามากุมบังเหียนหลายตำแหน่ง แต่ยังมีกลุ่มผู้บริหารเดิมอย่าง ระริน อุทกะพันธุ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ

 

“ถึงวันนี้การที่ตัดสินใจขายหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดไป เป็นเรื่องของการให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าบริษัทในเครือไทยเบฟจะเข้ามาดูแลธุรกิจนี้เต็มตัว แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ และยิ่งมีบริษัทในเครือหลากหลาย ก็มักจะมีธุรกิจสื่อเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีสื่อช่อง TNN 24 อยู่ในมือ”

 

เหตุผลเพราะการมีสื่อที่มีเครื่องมือหลากหลายอย่างอมรินทร์กรุ๊ปมาอยู่ในมือ ก็จะช่วยสนับสนุนธุรกิจในเครือไทยเบฟ ที่มีทั้งเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรม เรียลเอสเตท หรือแม้แต่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดแข็งของการจัดงานอีเวนต์ของอมรินทร์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในเครือไทยเบฟโดยตรง

 

ทั้งนี้ จากเดิมแล้วการทำธุรกิจจะมีงบที่เอามาใช้กับสื่อต่างๆ ในทุกๆ เดือน แต่เมื่อมีสื่อมาอยู่ในเครือเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนการตลาดได้ และสามารถควบคุมทิศทางของสื่อได้มากขึ้น หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าเหมือนเป็นการนำเงินออกจากกระเป๋าซ้าย แล้วกลับมาเข้ากระเป๋าขวา

 

ที่สำคัญยิ่งอมรินทร์มาอยู่ภายใต้เครือไทยเบฟจะทำให้มีโอกาสการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากไทยเบฟมีงบลงทุน มีคอนเน็กชัน และมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ ที่สามารถดึงมาทำงานด้วยได้

 

ครึ่งปีแรก 2566 อมรินทร์ยังสามารถทำกำไรอยู่ที่ 18.78 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ โครงสร้างธุรกิจของอมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ มีธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ สำนักพิมพ์ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักบริษัท ตามด้วยมีเดียและอีเวนต์ สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

 

ส่วนผลประกอบการปี 2566 งวด 6 เดือน มีรายได้รวม 1,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน 18.78 ล้านบาท เพราะบริษัทยังได้รับผลกระทบจากธุรกิจทีวีดิจิทัลที่มีรายได้หดตัวลง ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 128.48 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising