×

อิทธิพลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ต่อการสร้างกองทัพทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้

11.09.2019
  • LOADING...

ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน

 

มีข่าวหนึ่งในแวดวงวิชาการโบราณคดีที่ฮือฮาใหญ่โตมากคือ ข้อเสนอว่า กองทัพทหารดินเผาในสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้นั้นอาจได้อิทธิพลการสร้างมาจากอารยธรรมกรีก และมีบางกระแสถึงขั้นระบุว่า ช่างกรีกอาจเป็นผู้ปั้นและสอนช่างท้องถิ่นเลยด้วยซ้ำ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นตามข่าวอย่างนั้นหรือไม่

 

เมื่อหลายปีก่อน ทีมวิจัยทั้งชาวจีนและยุโรปได้ร่วมกันค้นคว้าเกี่ยวกับกองทัพทหารดินเผา ต่อมาในปี 2016 ทางทีมวิจัยได้เผยผลการวิเคราะห์บางส่วน และให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างๆ ลี เซียวเจิน นักโบราณคดีอาวุโสประจำพิพิธภัณฑ์จักรพรรดิจิ๋นซี ได้ให้ความเห็นว่า

 

“ตอนนี้พวกเราคิดว่า กองทัพทหารดินเผา นักกายกรรม และประติมากรรมสำริดต่างๆ และงานศิลปกรรมต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมและศิลปะกรีก” (จาก The Guardian 12 ตุลาคม 2016) 

 

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ได้รับการตีความอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเมื่อ ลี เซียวเจิน ได้เผยถึงผลการศึกษาไมโตคอนเดรียล ดีเอ็นเอ (ดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดผ่านแม่) ของโครงกระดูกที่ขุดพบที่ซินเจียง ซึ่งพบว่า มีเชื้อสายของชาวยุโรป โดยมีอายุร่วมสมัยกับยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากคำสัมภาษณ์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในจีนเป็นอย่างมาก 

 

ไม่กี่วันให้หลัง ทำให้ ลี เซียวเจิน ต้องออกมาแก้ข่าวในหนังสือพิมพ์ซินหัวว่า สิ่งที่บีบีซีก็ดี และสื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่นั้น เป็นการตัดข้อความบางส่วนของเธอออกไปจากบริบทหรือเนื้อความทั้งหมด เพราะความจริงแล้วสิ่งที่เธอพูดคือ

 

“ดิฉันคิดว่า ทหารดินเผาอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมตะวันตก และพวกมันทำขึ้นโดยชาวจีน ทางบีบีซีตีความเกินเลยไปจากข้อสังเกตที่ดิฉันพูดเกี่ยวกับแรงบันดาลใจจากตะวันตก และละทิ้งประเด็นหลักที่กล่าวถึงในระหว่างการให้สัมภาษณ์” (อ่านเพิ่มเติมได้ใน China Dairy 18 ตุลาคม 2016)

 

ลีกล่าวต่อไปว่า ด้วยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ไม่ว่าจะดิน ช่างและประเพณีการฝังศพ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการสร้างกองทัพทหารดินเผา 

 

สรุปสั้นๆ ก็คือ ลีไม่ได้ระบุว่า การสร้างตุ๊กตาดินเผานี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากกรีก แต่มีความเป็นไปได้ที่แนวคิดการสร้างตุ๊กตาดินเผานั้นจะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก

 

ทว่า มีเรื่องน่าคิดคือ เราไม่รู้ว่าการที่ลีออกมาแก้ข่าวดังกล่าวนั้น อาจเป็นผลจากแรงกดดันในสังคมจีนหรือไม่ เพราะปัญหาชาตินิยมในจีนนั้นนับว่ารุนแรงเอาการทีเดียว และกองทัพทหารดินเผาสุสานของจิ๋นซีนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความยิ่งใหญ่ของชาวจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว 

 

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ลูคัส นิกเกล หนึ่งในทีมวิจัย เดิมทีสอนที่ SOAS (ซึ่งน่าเสียดายที่ผมไม่ทันเรียนด้วย) ก่อนที่จะย้ายไปเป็นประธานสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนาในปัจจุบัน ได้ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง The First Emperor and Sculpture in China ตีพิมพ์ในวารสาร School of Oriental and African Studies ปี 2013 ว่า การปั้นทหารดินเผาพวกนี้คงได้รับอิทธิพลมาจากกรีกในสมัยเฮลเลนิสติก และเป็นไปได้สูงที่จะมีการนำเข้าช่างชาวกรีกมาช่วยสอน เนื่องจากเหตุผลหลักๆ 2 ประการ คือ 

 

ประการแรก เดิมทีจีนไม่มีขนบในการสร้างตุ๊กตาดินเผาที่มีรูปกายเป็นมนุษย์แบบเสมือนจริง หรือมีลักษณะเป็นกายภาพแบบเสมือนจริงมาก่อน ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมในสุสานที่ทำจากดินเผา พบในสุสานทางใต้ของซีอาน มีอายุราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ก็มีลักษณะไม่เหมือนจริง 

 

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

ตุ๊กตาดินเผาในสุสานก่อนหน้าสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี (Nickel 2013:Fig.3)

 

ประการที่สอง การปั้นตุ๊กตา โดยเฉพาะในกลุ่มของนักกายกรรมหรือนักเต้นรำ ซึ่งขุดค้นพบในหลุม K9901 นั้น เป็นตุ๊กตาที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความเข้าใจในความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ไม่ว่าจะเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ และอื่นๆ ที่แสดงออกมาบนผิวหนังของประติมากรรม ทำให้เกิดความรู้สึกเสมือนจริง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับประติมากรรมของกรีก

 

ลักษณะดังกล่าวนี้จึงสะท้อนแนวคิดสัจนิยม (Realism) และธรรมชาตินิยม (Naturalism) ซึ่งถือเป็นแนวคิดในการสร้างประติมากรรมสมัยเฮลเลนิสติกที่ส่งอิทธิพลไปยังหลายๆ ที่ในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย (ไม่เว้นแม้แต่การสร้างพระพุทธรูปแบบคันธาระ) 

 

ประติมากรรมดินเผารูปนักกายกรรม

ประติมากรรมดินเผารูปนักกายกรรม (Nickel 2013:Fig.11, 12)

 

ประการที่สาม การลงสีรูปร่างหน้าตาของประติมากรรมอย่างเสมือนจริงนี้ ถ้าพิจารณากันในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ก็จะพบว่า มีการทำในศิลปะกรีกสมัยเฮลเลนิสติกมาก่อน 

 

ดังนั้น ดร.ลูคัส จึงสรุปตามข่าวว่า “ข้าพเจ้าจินตนาการว่า ช่างชาวกรีกอาจจะมายังสุสาน และฝึกหัดให้ช่างท้องถิ่น” (จาก The Guardian 12 ตุลาคม 2016)

 

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่า สาเหตุที่นักวิชาการอย่างลี ยังคงไม่ตัดประเด็นเรื่องอิทธิพลตะวันตกไปนั้น เพราะถ้าหากย้อนกลับไปในประเพณีการฝังศพก่อนจักรพรรดิจิ๋นซีนั้น จะไม่มีการทำตุ๊กตาดินเผาและสำริดเป็นรูปคนหรือสัตว์เสมือนจริง แต่จะทำเป็นรูปคล้ายคนหรือสัตว์แบบเทพปกรณัม หรือเซ่นสังเวยด้วยคนหรือสัตว์จริงๆ ดังเช่น ในสุสานจิ๋นซีเองก็ได้ขุดพบโครงกระดูกม้าที่คาดว่าถูกฆ่าเพื่อเซ่นสังเวย 

 

คราวนี้อิทธิพลของกรีกนั้นเข้ามายังนครซีอานได้อย่างไรนั้น

 

ในบทความเรื่อง Alexander in China? Questions for Chinese Archaeology โดย ริชาร์ด เอ็ม. บาร์นฮาร์ต ได้ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า การสร้างกองทัพทหารดินเผาเหล่านี้คงได้ความรู้ด้านเทคนิค การออกแบบ และการผลิตมาจากภายนอกวัฒนธรรมของจีน โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมาจากพวกกรีก โดยเฉพาะจากการยกทัพเข้ามาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยังเอเชียจนถึงอินเดียเมื่อ 326 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ในขณะที่จิ๋นซีฮ่องเต้ครองราชย์หลังกว่าคือ เมื่อ 247-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่งผลทำให้อิทธิพลกรีกขยับเข้ามาใกล้จีนมากที่สุด โดยกรีกได้สร้างบักเตรียขึ้น และกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะ 

 

โดยในเวลานั้น พวกเยวี่ยจือเป็นพวกที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนของราชวงศ์ฉินและกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ส่งผลทำให้เกิดการติดต่อกันระหว่างจีนกับกรีกขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการสร้างประติมากรรมคงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และไม่เพียงเท่านั้น ความนิยมในศิลปกรรมของพวกชนเผ่าเร่ร่อนอย่างเยวี่ยจือและซงหนูก็เข้ามายังราชวงศ์ฉินด้วย ดังเห็นได้จากความนิยมในประติมากรรมหรือเครื่องประดับรูปสัตว์ที่ต่อสู้กัน

 

สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนของ ซือหม่า เฉียน ที่ระบุว่า ธรรมเนียมประเพณีของราชวงศ์ฉินได้ผสมเข้ากับพวกอนารยชนชาวหรง และตีความเห็นดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ ดร.ลูคัส ที่มองว่า อิทธิพลของกรีกที่บักเตรีย (ปัจจุบันอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน) และซ็อกเดีย (ตั้งอยู่เหนือบักเตรียขึ้นไป)

 

พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของพวกชาวกรีกหรือมีเชื้อสายกรีก โดยมีการสร้างเมืองและประติมากรรมแบบกรีกขึ้น ที่สำคัญเช่น เมืองไอ-โคโนอุม ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนของจีนมาก มีประติมากรรมหลายชิ้นที่ทำจากดินเผา และทำเป็นรูปเหมือนคนจริง

 

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

ศีรษะของประติมากรรมที่พบที่เมืองไอ-โคโนอุม ทำจากดินเผา อายุระหว่าง 250-150 ปีก่อนคริสต์ศักราช ความสูง 21 เซนติเมตร ถ่ายภาพโดย เธียร์รี โอลลิเวอร์ (Nikel 2013:Fig.17)

 

ส่วนการติดต่อระหว่างจีนกับกรีกนั้นเป็นผลมาจากการค้า เพราะในรัชสมัยของจิ๋นซีมีความต้องการสินค้าจากโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกรีก เพราะนครซีอานยังเป็นศูนย์กลางการค้าบนเส้นทางการค้าสายไหม (จีนเรียก ซือ โฉว จือ ลู่) ทำให้อิทธิพลของตะวันตกนั้นสามารถหลั่งไหลเข้ามาได้ง่ายอยู่แล้ว สินค้าพวกนี้จะขนผ่านทางเทือกเขาฟาเมียรส์แล้วข้ามไปยังจีน กลุ่มคนที่ทำหน้าที่ขนสินค้าพวกนี้จะเป็นกลุ่มชนเร่ร่อน โดยเฉพาะพวกปาเถียน เป็นต้น 

 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า การศึกษากองทัพทหารดินเผาและประเพณีการทำสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่ผ่านมา ที่ทำให้ไม่เข้าใจถึงแนวคิดในการสร้างกองทัพทหารดินเผาที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนจริงๆ นั้น ก็เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของจีนขาดการเชื่อมโยงเข้ากับพัฒนาการของศิลปะโลกนั่นเอง และเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน ที่แนวคิดในการสร้างจักรวรรดิของพระองค์อาจได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising