×

สีทองแห่งศรัทธา ความย่อยยับของพระพุทธรูปโบราณ

26.08.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ภายใต้ความเชื่อที่ทำให้การปิดทองคำเปลวบนองค์พระพุทธรูปกลายเป็นประเพณีสำคัญแพร่กระจายในทุกประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ บ้างอาจปิดทองทั้งองค์ บ้างปิดทองแค่บางส่วน นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยสำริดหรือทองเหลือง กระทั่งทองคำ
  • ผลที่ตามมาจากการทาสีทองทำให้พระพุทธรูปหลายวัด โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทรายศิลปะเขมรและอยุธยาเกิดการแตกสลายและผุพังเพราะปิดกั้นความชื้น เมื่อกักอยู่ภายในองค์พระนานๆ ปริมาณน้ำก็จะมากขึ้น ทำให้เป็นตัวทำละลายแคลเซียมคาร์บอเนต 
  • วัดบางแห่งตอนนี้เรียกร้องให้กรมศิลปากรและองค์กรต่างๆ เข้าช่วยเหลือเพื่อลอกสีทองออก เพราะไม่มีงบประมาณมากพอจะแก้ไขด้วยการลอกสี ซึ่งการลอกสีนี้ดูเหมือนจะง่ายแต่ก็ยาก เพราะต้องค่อยๆ ลอก ไม่เช่นนั้นผิวหินจะหลุด แต่ที่สำคัญคือการเอาสีน้ำมันออกจากรูพรุนของหินที่เป็นเรื่องยากมาก

กว่า 6 ปีแล้วที่สีทองแห่งศรัทธาได้ระบาดไปทั่วประเทศ พระพุทธรูป วิหารอุโบสถหลายแห่งถูกทาด้วยสีทองสังเคราะห์สมัยใหม่ ในมุมมองของผู้ศรัทธานั้น นี่คือความสวยงามและการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดีกว่าปล่อยให้เสื่อมโทรม แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์แล้วนี่คือการทำลายพระพุทธรูปและอาคารเก่า ซึ่งตอนนี้ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดเป็นรูปธรรมแล้วในหลายวัดหลายอารามด้วยกัน

 

ทำไมพระพุทธรูปต้องสีทอง? ผมคิดว่าเราควรเริ่มต้นจากคำถามนี้ก่อน ซึ่งเป็นเหตุจูงใจให้พระพุทธรูปต้องเป็นสีทอง เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้จากความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าประกอบด้วยลักษณะของมหาบุรุษ เรียกกันว่า ‘มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ’ โดยใน พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้พรรณนาไว้ว่า พระฉวี (ผิว) ของพระพุทธเจ้ามีสีเหลืองงาม “ดังสีทองทั่วทั้งพระกาย ครุวนาดุจรูปทองทั้งแท่ง อันนี้จัดเป็นพระมหาบุรุษลักษณะคำรบ 11” 

 

อย่างไรก็ดี ซุนยิงกัง (Sun Yinggang) เสนอว่า ผิวกายสีทองของพระพุทธเจ้าที่อธิบายในมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการนี้อาจมีที่มาจากคัมภีร์ของนิกายมหายานในสมัยคันธาระ เพื่อยกย่องความยิ่งใหญ่และเหนือมนุษย์ของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ ผิวกายสีทองของพระพุทธเจ้าอาจเกี่ยวข้องกับปรัชญาในระดับลึกอีกด้วย ฟิลลิส กรานอฟฟ์ (Phyllis Granoff) เสนอว่า ผิวกายสีทองเป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์ สุขภาพ และทรัพย์สมบัติ ซึ่งจะทำให้ผู้บูชารู้สึกเปี่ยมไปด้วยความสุข ในขณะที่ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่าการปิดทองคำให้กับพระพุทธรูปนั้นจะทำให้เมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้ามีผิวพรรณผุดผ่องราวกับทองคำ และบางกรณีจะทำให้เกิดเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยอีกด้วย 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้เองที่ทำให้การปิดทองคำเปลวบนองค์พระพุทธรูปกลายเป็นประเพณีสำคัญแพร่กระจายในทุกประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ บ้างอาจปิดทองทั้งองค์ บ้างปิดทองแค่บางส่วน และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยสำริดหรือทองเหลือง กระทั่งทองคำ 

 

แต่ทั้งการปิดทองคำเปลวและการสร้างด้วยสำริดต่างมีราคาแพงมาก ถ้าไม่ใช่เศรษฐีหรือกษัตริย์ก็ยากที่จะทำได้โดยง่าย สถานการณ์ดังกล่าวไม่ต่างจากในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งผมเคยเดินสำรวจพระพุทธรูปที่ระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร บังเอิญได้พบกับช่างที่กำลังปิดทองคำเปลวพระพุทธรูป จึงทำให้ผมทราบราคาว่าพระพุทธรูปประทับนั่งความสูงราว 80 เซนติเมตร มีค่าใช้จ่ายในการปิดทองราว 1 แสนบาท! 

 

ด้วยเงื่อนไขเรื่องราคาที่แสนแพงนี้เอง ผู้ที่ศรัทธาและพระสงฆ์ก็คงไม่สามารถปิดทองคำเปลวพระพุทธรูปได้ตามตั้งใจ ในขณะที่สีทองที่มาจากการสังเคราะห์จึงกลายเป็นคำตอบของเรื่องนี้ เพราะกระป๋องหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,000-3,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพสี แถมกระป๋องเดียวยังทาพระพุทธรูปได้หลายองค์อีกด้วย 

 

ในเมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสวนทางกับศรัทธาจึงทำให้สีทองเข้ามามีบทบาทเช่นนี้ 

 

อะไรคือปัญหาของสีทองวิทยาศาสตร์? 

 

สีทองสังเคราะห์แตกต่างไปจากทองคำเปลว เนื่องจากมีส่วนผสมของน้ำมัน ทำให้เมื่อทาลงไปยังพระพุทธรูปโดยเฉพาะที่ทำจากหิน สีน้ำมันจะเคลือบผิวและปิดรูพรุนของหินหมด ทำให้ความชื้นจากบรรยากาศและที่ซึมขึ้นมาจากพื้นไม่สามารถผ่านออกไปได้อีก ความชื้นนี้เองที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หินทรายหรือปูนเสื่อมสภาพ 

 

โดยปกติแล้วกระบวนการเกิดหินทรายขึ้นมาประกอบด้วย 3 กระบวนการหลัก คือ การระเหยไปของน้ำและความชื้น (Evaporation) กระบวนการบีบอัด (Compaction) และกระบวนการเชื่อมประสาน (Cementation) ซึ่งมีแร่ธาตุสำคัญคือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ที่มาจากหินปูน หินอ่อน เปลือกหอย หรือกระดูก ซึ่งน้ำสามารถทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตสลายตัว

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น หินทรายจะค่อยๆ แตกออกจากกัน คืนสภาพกลับกลายเป็นทราย เช่นเดียวกับปูนโบราณที่ใช้ฉาบผนังและเชื่อมอิฐก็จะสลายตัวลงจากความชื้นที่สะสม 

 

ผลที่ตามมาจากการทาสีทองจึงทำให้พระพุทธรูปหลายวัด โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทรายศิลปะเขมรและอยุธยาเกิดการแตกสลายและผุพังเพราะปิดกั้นความชื้น เมื่อกักอยู่ภายในองค์พระนานๆ ปริมาณน้ำก็จะมากขึ้น ทำให้เป็นตัวทำละลายแคลเซียมคาร์บอเนต 

 

ปรากฏการณ์นี้จะเห็นมากในกลุ่มของพระพุทธรูปหินทรายในสมัยก่อนอยุธยา (อโยธยา) และอยุธยาที่นิยมใช้หินทรายสีแดง ซึ่งเป็นหินทรายเนื้ออ่อนที่ง่ายต่อการสลายตัวอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นจากแรงบีบอัดที่ไม่มากและมีแร่เหล็ก (Hematite) เป็นองค์ประกอบ จึงทำให้ง่ายต่อการสลายตัวเข้าไปอีก พระพุทธรูปแบบนี้นิยมทำกันมากในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคตะวันตกของไทยแถบจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ซึ่งมีแหล่งที่มาของหินทรายจากบริเวณอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี 

 

ต่างจากการปิดทองแบบโบราณที่ใช้ยางรักเคลือบบนพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งยางรักเป็นสารอินทรีย์จึงมีคุณสมบัติคลายความชื้นได้ เช่นเดียวกับการปิดทองที่เป็นทองคำเปลวก็มีคุณสมบัติยอมให้น้ำผ่านได้ตามรอยต่อของแผ่นดินและรูพรุน 

 

กรณีของพระพุทธรูปในวัดที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลกันมากคือกรณีของวัดแจงร้อน เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผมเคยไปดูเมื่อ 4 ปีก่อน ตอนนั้นสภาพก็เริ่มผุพังและเสื่อมไปมาก มาเห็นภาพอีกครั้งในโลกโซเชียลแล้วก็ยิ่งใจหาย เพราะเสื่อมสภาพมากขึ้นไปอีก จนเศียรพระบางรูปหลุดออกมา บ้างหินทรายผุพัง คงเหลือเฉพาะสีทองที่เคลือบเป็นเปลือกอยู่ภายนอก

 

พระพุทธรูปที่วัดแจงร้อนเกิดการเสื่อมสภาพจากการทาสีทอง

 

พระพุทธรูปที่วัดแจงร้อนเกิดการเสื่อมสภาพจากการทาสีทอง

 

วัดบางแห่งตอนนี้เรียกร้องให้กรมศิลปากรและองค์กรต่างๆ เข้าช่วยเหลือเพื่อลอกสีทองออก เพราะไม่มีงบประมาณมากพอจะแก้ไขด้วยการลอกสี ซึ่งการลอกสีนี้ดูเหมือนจะง่ายแต่ก็ยาก เพราะต้องค่อยๆ ลอก ไม่เช่นนั้นผิวหินจะหลุด แต่ที่สำคัญคือการเอาสีน้ำมันออกจากรูพรุนของหินนี่สิครับที่เป็นเรื่องยากมาก บางคนบอกว่าเป็นราคาที่วัดต้องจ่ายและจัดการเอง ซึ่งความจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น ยิ่งวัดที่มีเงินทำบุญมากๆ ก็ควรต้องออกงบประมาณเอง ไม่ควรเรียกร้องงบจากหน่วยงานไหน ควรเรียกร้องเพียงให้มีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาหรือสาธิตให้ดูเสียมากกว่า 

 

ส่วนวัดที่ทำด้วยความไม่รู้และไม่มีงบ เรื่องนี้อาจต้องพึ่งพาคนทั่วไปหรือชุมชนให้ความช่วยเหลือ แต่ชุมชนจะมาช่วยก็นับเป็นเรื่องยาก เพราะในปัจจุบันวัดหลายแห่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งและยึดโยงกับชุมชนมานานแล้ว คงต้องให้หน่วยงานรัฐที่พอมีกำลังเข้าไปช่วยเหลือ

 

เรื่องทาสีทองนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเพียงแค่เรื่องการทำลายพระพุทธรูปหรืออุโบสถวิหารอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พูดอีกแบบคือทำไปโดยขาดความรู้ มีแต่ศรัทธาเท่านั้น หากแต่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วย แม้กรมศิลปากรจะจัดอบรมให้ความรู้กับพระสงฆ์ หรือเรียกว่าสังฆาธิการ หรือการอบรมเจ้าอาวาสให้มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์มาโดยตลอด 

 

แต่ปัญหาซ้ำซากนี้ก็เกิดขึ้นเสมอ เพราะไม่ได้มีเพียงพระเท่านั้นที่ขาดความรู้ แต่ญาติโยมผู้ศรัทธาที่ขาดความรู้ และในโลกอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้สีทองนี้แพร่หลายในกลุ่มญาติโยม เพราะพวกเขาจะเห็นแต่คนที่ไปทำบุญด้วยการทาสีทอง ไม่ได้เห็นถึงปัญหา ซึ่งก็นับว่าน่าเห็นใจเป็นอย่างมาก แทนที่จะได้บุญแต่กลับเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว 

 

ทางแก้เบื้องต้นคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ให้มากขึ้น ติดป้ายตามวัดและโบราณสถานห้ามไม่ให้ทาสีทองหรือใช้สีน้ำมัน หรือกระทั่งประกาศและลงโทษอย่างจริงจังเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว หรือคุยกับบริษัทสีให้ตระหนักถึงปัญหา เพื่อให้ทำฉลากติดคำเตือนข้างกระป๋องสี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising