×

วันประวัติศาสตร์ สส. รับหลักการร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (21 ธันวาคม) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีลักษณะเดียวกันอีก 3 ฉบับ ที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สรรเพชญ บุญญามณี สส. จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์, และ อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

 

หลังการอภิปรายพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวหลายชั่วโมงโดย สส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 

 

ต่อมาผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ปิดการอภิปราย และได้ดำเนินการให้ที่ประชุมลงมติในวาระที่ 1 ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ สำหรับผลการลงมติคือ 

 

  • เห็นด้วย 369 เสียง 
  • ไม่เห็นด้วย 10 เสียง
  • งดออกเสียง – เสียง
  • ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

 

เป็นอันว่าที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนให้กรรมาธิการพิจารณาในวาระที่ 2-3 ต่อไป

 

การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่รู้จักกันในนามร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQIA+ และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เขียนบทความที่ THE STANDARD (https://thestandard.co/marriage-equality-act-draft-2023…/) ระบุปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า

 

นับตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ LGBTQIA+ จนกระทั่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ริเริ่มร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีปรากฏการณ์ที่น่ายินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ในรอบทศวรรษคือ

 

รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นครั้งแรก และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเพื่อรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้าเสนอแต่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเคยประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำไปบรรจุวาระรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล ได้รับการบรรจุวาระและรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับเดิมที่เคยผ่านการพิจารณาวาระแรกตกไปจากการยุบสภาของรัฐบาลก่อน

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเวอร์ชันปี 2566 ทั้ง 3 ร่าง มีหลักการเหมือนกันคือ ขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิง ให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี โดยมิได้ลดทอนสิทธิหน้าที่ใดๆ ของคู่สมรส บิดา-มารดา ชาย-หญิงทั่วไป ทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคต การแก้ไข ป.พ.พ. มิได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชนหรือศาสนิกชนใดๆ และมิได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกของพี่น้องชาวมุสลิม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising