ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น มีการยกเลิกเคอร์ฟิว ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดบริการได้ตามเวลาปกติ พร้อมกันกับร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ได้เปิดให้บริการแบบจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ แต่ ‘เฉพาะร้านที่ผ่านมาตรฐาน SHA’ ของ ททท. เท่านั้น และจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.
มาถึงตอนนี้เราอาจจะดีใจไป 1 ขั้น เรื่องการผ่อนคลายการขายแอลกอฮอล์ แต่ก่อนออกไปกินข้าว จิบเรื่องดื่ม วันนี้เช็กกับทางร้านก่อนสักนิด เพราะผู้ประกอบการหลายๆ ร้านอาจยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการขอยื่น เมื่อมีสัญลักษณ์ SHA แล้วเราถึงจะจิบได้อย่างถูกต้อง
SHA คืออะไร
เราเคยได้ยินชื่อของสัญลักษณ์นี้แล้วจาก Phuket Sandbox เมื่อโรงแรมเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆ ที่ยื่นจดสัญลักษณ์ SHA+ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งทวนกันอีกสักรอบ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration มีชื่อเต็มในภาษาไทยว่า โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เป็นโครงการความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการในประเทศไทย
กิจกรรมอะไรบ้างที่สามารถขอ SHA
- ภัตตาคาร/ร้านอาหาร
- โรงแรม/ที่พัก และสถานที่จัดประชุม
- นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว
- ยานพาหนะ
- บริษัทนำเที่ยว
- สุขภาพและความงาม
- ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า
- กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
- โรงละคร โรงมหรสพและการจัดกิจกรรม
- ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ
สำหรับร้านอาหารสัญลักษณ์ SHA บอกอะไรเราบ้าง (โดยย่อ)
- จัดให้มีการเข้า-ออกทางเดียว หรือมีจุดคัดกรองทุกทางเข้า-ออก
- ร้านต้องจัดจุดทำความสะอาดมือ รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ในบริเวณก่อนเข้าร้านและจุดชำระเงิน
- ร้านมีการตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงานและลูกค้าทุกครั้ง
- ลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยเท่านั้นจึงจะเข้าได้
- จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน จัดพื้นที่รอคิวแยกห่างจากที่นั่งรับประทาน
- ทำความสะอาดร้านอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
- จัดช่องทางระบายอากาศที่เพียงพอ
- มีการจำกัดขยะ ของเสีย กระดาษชำระ และหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
- มีออปชันการชำระเงินที่ลดการสัมผัส
- ไม่ควรใช้บริการในร้านอาหารเกิน 1 ชั่วโมง
SHA และ SHA+ ต่างกันอย่างไร
ทั้ง SHA และ SHA+ บ่งบอกถึงมาตรฐานของการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด โดยทุกๆ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอ SHA ก่อน และปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐกำหนดข้างต้น เมื่อทำได้ครบและได้รับสัญลักษณ์ SHA แล้ว ให้นำหลักฐานการฉีดวัคซีนของพนักงานอย่างน้อย 70% ไปยื่นขอ SHA+ โดยสรุปก็คือทั้ง 2 สัญลักษณ์บ่งบอกถึงการป้องกันที่ได้มาตรฐาน แต่ SHA+ บอกเราด้วยว่าพนักงานเกิน 70% ฉีดวัคซีนแล้ว
โดยผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขอ SHA และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thailandsha.com
อ่านต่อ:
อ้างอิง: