×

เราจะเริ่มหา Second Job อย่างไรที่ช่วยเพิ่มรายได้และเติมเต็มความฝัน

11.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00:35 อาชีพเสริมคือทางเลือกของคนรุ่นใหม่

02:28 อาชีพเสริมยอดฮิตยุคปัจจุบัน

05:57 เป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาวของการทำอาชีพเสริม

09:10 ข้อดีของการมีอาชีพเสริม

15:25 ตัวอย่างของคนที่ทำงานเสริมแล้วประสบความสำเร็จ

22:05 ถ้าอยากมีอาชีพเสริมเราควรเริ่มต้นอย่างไร  

ทุกวันนี้เรามักได้ยินว่ามีรายได้ทางเดียวไม่พอ ต้องมี อาชีพเสริม หรือ ‘Second Job’ กันทั้งนั้น แต่พอหันมามองตัวเองแล้วความสามารถพิเศษก็ไม่มี หัวการค้าก็ไม่ค่อยรุ่ง เลยไม่รู้จะทำอย่างไร

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ และ บองเต่า จึงชวนกันมาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพนักงานออฟฟิศทุกวันนี้ถึงมีอาชีพเสริม ข้อดีคืออะไร และถ้าจะลุกขึ้นมาหารายได้เพิ่มให้กับตัวเอง มีเรื่องอะไรที่เราต้องกังวลเพื่อให้สุดท้ายเราจะได้มีงานหลักที่รุ่ง งานเสริมที่รอดไปพร้อมๆ กัน

 

เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีรายได้ทางเดียว

ทุกวันนี้ภาพชินตาของใครหลายคนในออฟฟิศคือการเห็นเพื่อนร่วมงานหอบกล่องพัสดุเต็มสองมือมาส่งไปรษณีย์ตอนพักกลางวัน บางครั้งตอนเลิกงานเมื่อใช้แอปพลิเคชันเรียกรถแล้วพบว่าคนที่ขับรถนั้นก็คือเพื่อนร่วมงานที่มาขับ Grab หลังเลิกงาน หรือบางครั้งในเฟซบุ๊กเราก็มีโอกาสเห็นน้องที่ทำงานใช้เวลาในวันหยุดด้วยการรับจ้างถ่ายรูปรับปริญญา ทั้งๆ ที่วันจันทร์ถึงศุกร์เขาอาจเป็นพนักงานบัญชีที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการถ่ายรูปเลยก็ได้ ใช่ กลุ่มคนเหล่านั้นกำลังหาอาชีพเสริมให้กับตัวเอง

 

การที่พนักงานออฟฟิศคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาหางานให้กับตัวเองอีกงานนั้น อาจมีหลายเหตุผลด้วยกัน บางคนเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ คือรายได้หลักจากงานประจำที่ทุกวันนี้ไม่พอที่จะหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จึงหาอีกอาชีพทำคู่ขนานกันไปเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย แต่สำหรับบางคนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ กลับพบว่าการที่เขาทำงานเสริมนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่มักจะทำเพื่อความรู้สึกของตัวเอง คือมีงานประจำไว้เพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกทำอีกงานควบคู่กันไป เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่รักหล่อเลี้ยงจิตใจและมีผลพลอยได้เป็นรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

 

ซึ่งเป้าหมายของการทำงานเสริมของชาวออฟฟิศมีทั้ง

 

1. เป้าหมายระยะสั้น อย่างเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะเห็นเพื่อนร่วมงานบางคน ปรี่เข้าช็อปของแบรนด์ดัง ถ่ายรูปสินค้ายอดฮิตแล้วรัวโพสต์ลงเฟซบุ๊กพร้อมบอกว่า ใครอยากจะฝากซื้ออะไรให้คอมเมนต์ใต้รูป เสร็จแล้วก็จะหิ้วกลับไปให้พร้อมโอนเงินให้ภายหลัง การ ‘รับหิ้ว’ หรือพรีออร์เดอร์ลักษณะนี้เป็นเป้าหมายระยะสั้นของคนที่อยากมีรายได้เสริม ที่อาชีพนี้ก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่ทำเป็นครั้งคราวเมื่อไปเที่ยว ซึ่งข้อดีของการหารายได้เสริมลักษณะนี้คือไม่ต้องผูกพันกันในระยะยาว เป็นลักษณะของการซื้อมาขายไป แถมรายได้ที่มาจากการรับหิ้วสินค้าเมื่อมาหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแล้วอาจพอดีกันจนเหมือนได้ไปเที่ยวต่างประเทศฟรีๆ เลยก็ได้ หรือแม้แต่การขับ Grab เป็นครั้งเป็นคราว ก็จัดเป็นงานเสริมในกลุ่มนี้เช่นกัน

 

2. เป้าหมายระยะยาว งานเสริมกลุ่มนี้คือภาพความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีอีกอาชีพหนึ่งขนานกันไปกับงานประจำ เช่น ในขณะที่ช่วงกลางวันเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดร้านอาหารเล็กๆ กับเพื่อน ทุกเย็นหลังเลิกงานหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเข้าร้านเพื่อไปควบคุมดูแลกิจการให้ดำเนินไปได้ งานเสริมที่มีเป้าหมายระยะยาวอย่างนี้อาจสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำจนบางครั้งอาจมากกว่าอาชีพหลัก หรือบางครั้งก็สามารถทำเพื่อเติมเต็มความฝันที่อาชีพหลักไม่สามารถให้ได้ ซึ่งข้อดีของงานเสริมที่ทำกันยาวๆ แบบนี้จะพาเราไปสู่ความเจริญเติบโตใหม่ๆ ทั้งคอนเน็กชันที่นอกเหนือจากงานประจำ ไปเจอคนเก่งๆ ร่วมอาชีพที่เพิ่มทักษะในด้านอื่นๆ ให้กับเราด้วย

 

ข้อดีของการมี อาชีพเสริม ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ยังช่วยเรื่องใจ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าทุกวันนี้งานประจำที่ทำอยู่ก็เหน็ดเหนื่อยรับผิดชอบกันไม่หวาดไม่ไหว แต่เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่งถอดใจ ในเมื่อทุกคนต่างหางานเสริมกันแสดงว่ามันต้องมีข้อดีบางอย่างที่เรานึกไม่ถึง นอกเหนือจากเรื่องเงิน

 

1. งานเสริมทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น

อันนี้เป็นเรื่องรูปธรรมที่เห็นกันชัดๆ รายได้จากงานเสริมอาจไม่ใช่รายได้หลัก ไม่ใช่จำนวนที่เป็นกอบเป็นกำอะไรในระยะแรก แต่เมื่อเราทำอย่างสม่ำเสมอจนสามารถหาจุดที่สมดุลระหว่างชีวิต งานหลัก และงานเสริมแล้ว เมื่อนั้นงานเสริมอาจสร้างรายได้ให้กับเราสูสีหรือบางครั้งก็มากกว่างานประจำด้วยซ้ำ

 

2. งานเสริมทำให้มีช่วงเวลาที่หลบหนีจากงานประจำ

ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่าบางครั้งงานประจำที่เราทำกันติดต่อมาเป็นระยะเวลานานอาจสร้างความเบื่อหน่ายและทำให้ชีวิตเราไม่มีความสุขนัก เนื่องจากเรายึดถือว่ามันคือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบจนส่งผลในระยะยาวที่ทำให้แพสชันในการทำงานลดลงและอาจไม่มีความสุขเท่ากับตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ซึ่งทางออกของสถานการณ์นี้คือการลองทำงานเสริม เพราะจะช่วยให้เราได้มีช่วงจังหวะที่เบนความสนใจจากงานประจำ ให้ลองรับผิดชอบสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต จากชีวิตที่เคยถูกเทไปที่งานประจำเพียงด้านเดียวจะถูกบาลานซ์ให้กับงานใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ความเหนื่อยหน่ายหนักหนาที่เกิดขึ้นกับงานประจำจึงถูกถ่ายเทไปให้งานอื่นๆ ถึงตรงนั้นเราอาจเริ่มรู้สึกเห็นคุณค่าของงานประจำ และทำให้เรากลับมามีไฟในการทำงานประจำอีกครั้งก็ได้

 

3. งานเสริมจะช่วยเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดโลก

งานประจำที่เราทำกันจนอยู่มือทุกวันนี้มีลักษณะเป็นกิจวัตรที่ทำให้เราได้ปฏิบัติแบบเดิมๆ เห็นหน้าค่าตาคนเดิมๆ และสิ่งแวดล้อมเดิมๆ มาเป็นเวลานาน อาจทำให้เรามีทักษะในการทำงานอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเราทำงานเสริม มันจะเปิดกว้างให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ได้พบเจอคนใหม่ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่คุ้นเคย และบางครั้งอาจนำพาไปสู่สถานการณ์ที่เราคาดไม่ถึงได้ด้วย เช่น อาชีพประจำของเราคือการเป็นนักการตลาด แต่เมื่อเราลองทำอาชีพเสริมที่เป็นคนขายของออนไลน์เล็กๆ เราจะรู้เลยว่าทฤษฎีหรือแผนทางการตลาดที่ใช้กับบริษัทที่เคยลงทุนกันครั้งละเป็นแสนเป็นล้าน เมื่อเรามีธุรกิจเป็นของตัวเองที่มีเงินหมุนเวียนเพียงหลักหมื่น เราจะสามารถจัดการตามที่เราวางแผนอย่างที่เราคิดไว้หรือเปล่า เราได้เจอหน้าค่าตาผู้บริโภคที่ทักกล่องข้อความมาเพื่อซื้อของ งานเสริมจึงเป็นเหมือนโรงเรียนเล็กๆ ที่ทำให้เราได้ฝึกลองมือและถือเป็นการ ‘Learning By Doing’ อย่างแท้จริง ซึ่งบางครั้งงานประจำในออฟฟิศก็ไม่สามารถให้สิ่งนี้กับเราได้

 

4. งานเสริมอาจช่วยให้เราได้รู้จักคนใหม่ๆ มีคอนเน็กชันใหม่ๆ

ไม่ใช่แค่ประสบการณ์และรายได้ แต่งานเสริมยังอาจช่วยพาให้เราได้ไปรู้จักคนใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ ที่เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับเขาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะพาร์ตเนอร์ ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ฯลฯ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอาจสอนเราในทางอ้อมให้เรารู้จักธรรมชาติของมนุษย์ที่เราไม่ได้เจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือเขาก็สามารถสอนเราตรงๆ ให้เรามีทักษะในการทำงานเพิ่มมากขึ้น นี่ยังไม่นับว่าการรู้จักกันจะสร้างคอนเน็กชันต่อไปเรื่อยๆ ที่อาจเกื้อกูลกันต่อไปในอนาคต

 

5. งานเสริมอาจช่วยให้ค้นพบตัวเองมากขึ้น

ส่วนใหญ่งานเสริมที่ชาวออฟฟิศเลือกทำจะเป็นสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือมีความถนัดเป็นพื้นฐาน ซึ่งการได้ลองเอาสิ่งที่รักที่ชอบมาเป็นงานจริงๆ อาจทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเรารักในสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่ เราอาจค้นพบว่าสิ่งที่เราคิดว่าจะอยู่กับมันไปได้ตลอดชีวิต จริงๆ แล้วอาจเหมาะเป็นเพียงงานอดิเรกที่ไม่มีรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเราอยากกันมันไว้ให้เป็นความสุขของชีวิต และในทางกลับกันเราอาจค้นพบว่าสิ่งที่เราสนใจนั้นสามารถเลี้ยงชีพเราได้จริงๆ และอาจเป็นลู่ทางทำมาหากินหรือเป็นตัวเลือกใหม่ในการทำงานของเราในอนาคตก็ได้

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าข้อดีของการมีงานเสริมจะเป็นอย่างไร การที่เราได้ลงมือทำเยอะขึ้นจะช่วยให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้น จะเป็นสิ่งที่เราได้กลับมาแน่นอน

 

ถ้าอยากมี อาชีพเสริม บ้าง จะเริ่มจากตรงไหนดี

ก่อนอื่นอยากบอกว่าการมีงานเสริมถือเป็นทางเลือกของชีวิต ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีงานเสริมเสมอไปหากบางคนพอใจกับงานประจำ เพราะรู้สึกว่าสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตด้านรายได้ และเติมเต็มด้านความรู้สึก เอาง่ายๆ ว่า ‘ฟิน’ กับงานประจำ และอยากเอาเวลาที่เหลือไปพักผ่อนหรือให้กับครอบครัว การไม่มีงานเสริมก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่ารายได้ก็ไม่ค่อยจะพอ งานประจำก็ยังไม่เติมเต็มความฝัน ถ้าอยากเริ่มมองหางานเสริมให้ลองถามตัวเองง่ายๆ ดังนี้

 

1. เราทำงานเสริมไปเพื่ออะไร

คือสิ่งที่สำคัญที่สุดหากเราจะตัดสินใจทำงานเสริม ลองถามตัวเองดูว่าเป้าหมายของเราคืออะไร หากแน่ชัดตั้งแต่แรกเลยว่าเราต้องทำงานเสริมเพราะรายได้จากงานประจำไม่เพียงพอ เราก็จะให้ความสำคัญของรายได้ทั้ง 2 ทางเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเป้าหมายของเราคือเพื่อเติมเต็มด้านความรู้สึก อยากสนุก หรืออยากหาประสบการณ์เพิ่มเติม เราก็จะได้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากทำธุรกิจเป็นงานเสริมก็อาจจะอนุญาตให้ตัวเองผิดพลาดได้มากขึ้น ไม่ต้องใส่ความจริงจังเท่ากับงานประจำแต่ก็ต้องไม่กระทบคนอื่น เมื่อเรารู้จุดประสงค์ที่ชัดเจนแล้ว เราจะสามารถเลือกงาน ออกแบบวิธีการทำงานเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายของเราได้

 

2. เรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง

ต่อมาเราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าสินทรัพย์ที่เรามีติดตัวคืออะไรบ้าง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เรื่อง เงิน แต่ยังรวมไปถึง ทักษะความสามารถ และ เวลา ก็ถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งเช่นกัน เราอาจหางานเสริมได้จากความสามารถพิเศษส่วนตัวที่นอกเหนือจากงานประจำ เช่น บางคนมีความถนัดในการทำขนม เลยหาเวลาว่างหลังเลิกงานและวันเสาร์-อาทิตย์อบขนมเพื่อส่งร้านกาแฟ หรือสร้างเป็นร้านออนไลน์ เผื่อว่าวันหนึ่งหากธุรกิจนี้ไปได้ดีจะได้สามารถขยับขยายให้ใหญ่โตมากขึ้น หรืออาจแทนที่งานประจำได้ในวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างถึงพร้อม

 

ส่วนเวลาก็ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญมาก เพราะหากงานประจำเป็นงานที่เรียกร้องให้เราต้องแบ่งเวลามากจนไม่สามารถทำอย่างอื่น การมีงานเสริมในเวลานี้อาจเป็นเรื่องยังไม่สะดวกนัก หรือเราจำเป็นต้องเลือกงานที่ไม่ต้องเสียเวลามาก เช่น ถ้าเรามีความสามารถด้านการถ่ายภาพ ก็สามารถขายภาพออนไลน์เพียงเอาไฟล์ตัวอย่างไปฝากไว้ในเว็บ และรอรายได้จากการจัดสรรของเว็บก็ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามากนัก เพราะอย่าลืมว่าการทำงานเสริมคือการเพิ่มความรับผิดชอบอีกอย่างให้กับชีวิต เราต้องเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละอย่างในชีวิตให้ดี ไม่อย่างนั้นแล้วชีวิตเราก็อาจขาดความสมดุลจนไม่มีเวลาว่างให้กับตัวเอง

 

3. ตลาดของเราคือใคร

ถ้างานเสริมที่เราเลือกจะทำเป็นธุรกิจส่วนตัวหรืองานบริการ เราก็ต้องคิดอย่างการทำธุรกิจ คือมองให้ออกว่าลูกค้าที่จะมาซื้อของ หรือมาใช้บริการของเรานั้นเป็นใคร ธุรกิจไม่มีทางประสบความสำเร็จแน่นอนหากเราคิดจากความสามารถของเราเป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียว มองให้เห็นถึงตลาดและความเป็นไปได้ในการธุรกิจนั้นๆ ในทางกลับกันการมองตลาดว่ากำลังฮิตหรือต้องการอะไรเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะอาจมีคู่แข่งมากมายหรือของที่รับมาขายก็มีเยอะจนเกร่อ ควรมองความเป็นไปได้ยิ่งถ้าผนวกความสนใจส่วนตัวหรือความเนิร์ดในเรื่องนั้นๆ ของเราเข้าไป ก็อาจทำให้ธุรกิจไปรอดมากกว่า

 

ถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการหางานเสริม และเริ่มจะหาลู่ทาง แต่อย่างหนึ่งที่ต้องย้ำกันคืองานเสริม หรือ ‘Second Job’ ที่มีข้อดีมากมายเหล่านั้น มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งให้กับชีวิต ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาทำงานเสริมเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ถ้างานเสริมนั้นจะทำให้ชีวิตที่มีเวลาเป็นของตัวเองน้อยอยู่แล้วนั้นน้อยลงไปอีกจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก หรือบางครั้งงานเสริมที่เรารักอาจกระทบงานประจำจนรวนไม่เป็นเวลา เราก็ต้องกลับมาตั้งหลักและพิจารณาถึงความจำเป็น เพราะไม่ว่าอย่างไรงานประจำคืองานที่เราต้องรับผิดชอบและให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกเสมอ

 


 

Credits

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Graphic Design Interns ธัญญา ศิริสัมพันธ์, พันธิตรา หอมเดชนะกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X