×

HR ตำแหน่งที่รู้เรื่องดราม่าและรู้จักพนักงานออฟฟิศดีที่สุด

07.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:47 หน้าที่ของ HR คือการดูแลพนักงานตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย

07:05 ไม่ต้องมีตำแหน่ง HR ก็ได้ แต่หัวใจของการดูแลคนต้องมีอยู่

10:31 ความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่ง HR ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

17:07 ปัญหาท็อปฮิตของพนักงานออฟฟิศที่มาปรึกษา HR

26:50 เคสการแก้ปัญหาที่ไม่มีวันลืม

32:47 เคสสนุกจากเพจ HR – The Next Gen

38:01 บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาพนักงานไว้ทุกคนไหม

41:10 คุณสมบัติของพนักงานที่ดีที่ HR มองหาในโลกสมัยใหม่

44:26 Gen Z คนรุ่นใหม่คือคนที่อยากกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ

47:49 หากกำลัง I HATE MY JOB อยู่ ควรทำอย่างไร

HR (Human Resources) หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล คือตำแหน่งที่หลายคนรู้จักตอนสมัครเข้ามาทำงาน ระหว่างทำงานก็รู้จักกันแค่ตอนขอใบลา เอกสารรับรอง ร้องขอสวัสดิการ จนถึงเขียนใบลาออก แต่ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งนี้หน้าที่คืออะไรและสำคัญอย่างไรต่อออฟฟิศ

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เลยชวนเพจ HR – The Next Gen มาหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วฝ่ายบุคคลในบริษัททำหน้าที่อะไร ท็อปฮิตของเรื่องดราม่าในออฟฟิศส่วนใหญ่เกิดจากอะไร และพนักงานแบบไหนที่เป็นที่ต้องการของบริษัทในอนาคต

 


หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) คือดูแลพนักงานตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย

ถ้ามองจากมุมของพนักงานทั่วไปแล้ว หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR เริ่มขึ้นตั้งแต่พาคนคนหนึ่งเข้ามาเป็นพนักงาน ดูแลความเป็นอยู่ ไปจนถึงวันสุดท้ายที่มีสภาพความเป็นพนักงานคือวันที่ลาออก แต่สำหรับมุมของคนที่ทำหน้าที่ HR แล้ว หน้าที่หลักคือการสร้างสมดุลระหว่างพนักงานกับบริษัท สิ่งที่ต้องทำมีตั้งแต่

 

หนึ่ง Recruit รับพนักงานเข้าบริษัท โดยต้องหาคนที่ประสิทธิภาพสูงสุดภายในงบที่บริษัทจำกัดไว้เพื่อให้คุ้มค่าที่สุด

 

สอง Develop พัฒนาทักษะของพนักงานให้ตรงกับทิศทางของบริษัท

 

สาม Retain รักษาคนให้อยู่กับองค์กร ซึ่งบางตำแหน่งก็อยากให้อยู่นาน แต่บางตำแหน่งก็อยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตามนโยบายของบริษัท เนื่องจากบางตำแหน่งต้องมีคนเข้าออกตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์ เช่น ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สวัสดิการสำหรับตำแหน่งนี้ก็จะเป็นแบบหนึ่ง เงินเดือนเติบโตในระดับหนึ่ง เมื่อเขาตันเขาก็ลาออก แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทกลุ่มรถยนต์หรือบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย บริษัทกลุ่มนี้อยากให้พนักงานอยู่แบบระยะยาว จึงต้องออกแบบสวัสดิการให้เหมาะสมและเป็นที่ดึงดูดใจอย่างการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

 

ความสำคัญของ HR ต่อองค์กร

มีทฤษฎีในการบริหารธุรกิจทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า 4 อย่างที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจคือ เงิน การปฏิบัติการ คน และเทคโนโลยี ในการดูแล ‘คน’ ซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำงานนั้นอาจไม่ได้ทำโดยฝ่ายบุคคลเสมอไป บางบริษัทเล็กๆ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างตำแหน่ง HR ขึ้นมา เพียงแต่หัวใจของความเป็น HR นั้นต้องยังอยู่ ผู้บริหารหรือหัวหน้างานที่ต้องดูแลทุกข์สุขของลูกน้องอยู่แล้วก็สามารถทำหน้าที่เป็น HR ที่ดีได้

 

ปัญหาดราม่าที่พนักงานออฟฟิศเจอและชอบมาปรึกษา

1. ปัญหาเรื่องหัวหน้า

นี่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ไม่ว่าจะสำรวจกี่ครั้งก็จะครองแชมป์อยู่เสมอ มีตั้งแต่เรื่องหัวหน้าไม่สนใจ หัวหน้าไม่ยุติธรรมเพราะใส่ใจคนที่เลียเยอะกว่า หัวหน้าไม่รักแล้วให้งานเราหนักกว่าคนอื่น แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงหรือเป็นแค่การคิดไปเองของพนักงานก็ตาม บทบาทของฝ่าย HR คือเข้ามาช่วยเป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาคุยกัน

 

2. ปัญหาเรื่องเงิน

เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนความรู้สึกและสร้างความปั่นป่วนได้ในวงกว้าง ทั้งยังสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมให้กับหลายคนในออฟฟิศ ปัญหามีตั้งแต่ทำไมคนที่มาทีหลังได้เงินเดือนเยอะกว่าคนที่อยู่มาก่อนอย่างเรา ทำไมผลประเมินของเขาออกมาดีกว่าทั้งๆ ที่เขาดูไม่ได้เก่งไปกว่าเรา การแก้ปัญหาของ HR สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทางคือออกนโยบายให้เงินเดือนเป็นความลับ หรือแก้ที่ปลายทางคืออธิบายทำความเข้าใจเมื่อเกิดปัญหา และส่วนใหญ่เมื่อเรียกมาพูดคุยกันแล้วจะพบว่าโดยธรรมชาติคนมักจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอีกฝ่ายเขาอาจจะเก่งกว่าหรือดีกว่าจริงๆ นั่นแหละ

 

3. ปัญหาเรื่องโอกาสในการเติบโต

หลายครั้งที่หลายคนพยายามเท่าไรก็ยังไม่ได้รับการผลักดันให้สู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นสักที หน้าที่ของ HR ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้คือการมองย้อนกลับไปยังผังองค์กรที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นว่าตำแหน่งนี้สามารถเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง เขาสามารถขึ้นไปเป็นหัวหน้าได้ไหม หรือถ้าทำไม่ได้ HR ก็อาจต้องแนะนำอย่างจริงใจให้เขาลาออกไปทำงานบริษัทอื่นที่มีเส้นทางการเจริญเติบโตมากกว่านี้

HR ทุกวันนี้ต้องอยู่ทั้งสองข้าง คืออยู่ทั้งข้างบริษัทที่ต้องเรียกร้อง Performance ที่ดีจากพนักงาน และอยู่ข้างพนักงานที่ต้องเรียกร้องการดูแลที่ดีจากบริษัท และทำให้พนักงานมีความสุขด้วย

ในขณะเดียวกันก็มีพนักงานบางส่วนที่ไม่สนใจจะเติบโต แค่อยู่ไปวันๆ อย่างไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร HR ก็ควรต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้โดยผลักดันให้เขาแสดงความสามารถมากขึ้น ให้เขามองอนาคตตัวเองในระยะยาว แต่ในกรณีของพนักงานบางคนที่ไม่อยากก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้า เพราะไม่อยากมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามตำแหน่ง HR ก็อาจจะทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยให้เขาอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน การที่บริษัทจะเอาอนาคตไปฝากไว้กับคนที่ขาดแพสชันในการทำงานก็ไม่ใช่เรื่อง HR จึงอาจต้องวางแผนกันใหม่กับหัวหน้างาน เปลี่ยนไปพัฒนาคนที่อยู่ตำแหน่งถัดลงไป แล้วให้โอกาสเขาขึ้นมาแทน อย่างนี้ก็เป็นได้

 

เคสจากเพจ HR – The Next Gen

นอกจากจะคอยผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับมนุษย์ออฟฟิศเพื่อลงเพจ HR – The Next Gen แล้ว หลายครั้งก็ต้องคอยตอบคำถามทางกล่องข้อความอยู่เสมอ และปัญหายอดฮิตที่คนถามเข้ามามากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่อง การเมืองในออฟฟิศ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การขัดขาจากกลุ่มที่มีอิทธิพลในองค์กร ทำดีเท่าไรก็สู้คนที่เลียเก่งกว่าไม่ได้ ในฐานะแอดมินเพจก็จะให้คำแนะนำไปว่า หากหาทางพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าบริษัทที่เราทำงานอยู่ต้องเลียเท่านั้นถึงจะก้าวหน้าได้ก็ให้รีบออกมา เพราะในความเป็นจริงไม่มีบริษัทไหนที่จะเจริญก้าวหน้าได้ด้วยคนไร้ความสามารถที่เอาแต่เลียอย่างเดียว

 

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเกิดปัญหาการเมืองในออฟฟิศ เราต้องมองด้วยสายตาที่เป็นกลางและไม่เข้าข้างตัวเอง เพราะหลายครั้งคนเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ คิดว่าตนเป็นคนดีที่โดนกลั่นแกล้ง แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นมักถูกต้องเป็นธรรมแล้ว หลายครั้งเราที่ไม่ถูกโปรโมตก็เพราะศักยภาพเรายังไม่ถึง หรือบางครั้งเราก็นิยามคำว่า ‘เลีย’ แบบผิดๆ ไปตัดสินคนอื่นว่าเขาเลีย เพียงเพราะเขาเดินเอางานไปคุยกับเจ้านาย หรือแสดงความคิดเห็นดีๆ ในที่ประชุม เราควรต้องกลับมาทบทวนว่าเราได้สร้างโอกาสให้ตัวเองบ้างหรือยัง เคยเดินไปคุยกับเจ้านายบ้างหรือเปล่าว่าต้องการทำอะไร ถนัดหรือสนใจเรื่องอะไร ถึงเราจะทำงานดีและซื่อสัตย์แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าหากเราไม่เคยสื่อสารสิ่งนี้ให้เจ้านายรู้ โอกาสในความก้าวหน้าของเราก็อาจน้อยกว่าคนอื่นเป็นธรรมดา แม้ว่าการเข้าไปคุยกับเจ้านายก่อนอาจขัดกับวัฒนธรรมไทยเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เราเคยถูกปลูกฝังมาทั้งชีวิตก็ตาม

 

พนักงานที่องค์กรต้องการในอนาคตคือพนักงานแบบไหน

ในเมื่อทุกองค์กรต่างกำลังพยายามปรับตัวเข้าสู่โลกอนาคต จึงเป็นธรรมดาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของพนักงานเพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะมาถึง คุณสมบัติเด่นของพนักงานที่เป็นที่ต้องการของยุคนี้คือต้องมีทักษะในการทำงานหลายด้านมากขึ้น

 

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เทรนด์ของพนักงานที่บริษัทต้องการคือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist) แต่ธุรกิจทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น การจะเชี่ยวชาญเพียงด้านเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป พนักงานทุกวันนี้จึงควรมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และปรับตัวให้เร็วทันกับสถานการณ์ พนักงานที่มีทักษะหลายด้าน (Multiple Skill) จึงเป็นที่ต้องการต่อบริษัท

 

นึกภาพง่ายๆ ว่าถ้าทักษะที่เราถนัดเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้วในอนาคต เราก็อาจถูกเลิกจ้างได้ แต่ถ้าหากว่าเรายังมีทักษะอื่นๆ ที่สามารถใช้ในการปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจในอนาคต เราก็อาจยังเป็นที่ต้องการ ดังนั้นควรเริ่มจากการมองวิสัยทัศน์ของบริษัทว่ามีแนวโน้มจะก้าวไปในทิศทางไหน แล้วเราก็ไปหาความรู้เพิ่มเติม อาจเป็นการเทกคอร์สสั้นๆ เพื่อเพิ่มทักษะเหล่านั้นให้กับตัวเอง เช่น บริษัทกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล สิ่งที่เราควรต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายมากขึ้น หรือการทำมาร์เก็ตติ้งในโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็จะยังเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อองค์กรต่อไป

 

สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคนที่กำลังเกลียดงานตัวเอง

เพจ HR – The Next Gen อยากให้คุณลองค่อยๆ นึกย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพื่อหาว่าเราเกลียดงานตัวเองตั้งแต่ตอนไหน จากนั้นให้ถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเกลียดอะไรกันแน่ ระหว่างตัวงานกับตัวคนที่อยู่แวดล้อมเรา ถ้าเราสาวไปถึงสาเหตุจนเจอแล้วให้ลองนึกถึงวันแรกที่เริ่มเข้ามาทำงานว่า เราเข้ามาทำงานที่นี่ด้วยเหตุผลอะไร แล้วในวันนี้สิ่งที่ทำให้เราเกลียดมันมีน้ำหนักมากพอหรือควรค่าแก่การแลกกับสิ่งที่เรารักหรือเปล่า ถ้าบางอย่างสามารถมองข้ามได้ก็อาจทำให้ชีวิตการทำงานมีความสุขขึ้น เพราะไม่มีงานที่ไหนหรือองค์กรไหนจะสมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา

 


ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


 

Credits

 

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, ไชยณัฐ สัจจะประเมษฐ์

The Guest HR – The Next Gen

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising