ในนิยายเรื่อง ‘ล่า’ คำพูดหนึ่งของตัวละครที่ฮิตติดปากคนทั่วประเทศก็คือ ความพยาบาทเป็นของหวาน
คำถามก็คือ คำพูดนี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ความพยาบาทมี ‘รสชาติ’ หวานจริงหรือเปล่า และทำไมคนหลายคน (บางทีก็รวมทั้งตัวเราเองด้วย) ยามได้ ‘แก้แค้น’ แล้วถึงได้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจเหลือแสน
มีกลไกอะไรลึกๆ ในตัวเราที่ทำให้เรากลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เก็บงำความพยาบาทนั้นไว้กับตัว เพื่อรอวันจะลุกขึ้น ‘จัดการ’ อะไรบางอย่างต่อผู้ที่เคยทำเราเจ็บแสบเอาไว้บ้างหรือเปล่า
วิทยาศาสตร์แห่งการล้างแค้น
ไม่ว่าจะยอมรับออกมาตรงๆ หรือไม่ คนจำนวนมากต่างหาวิธี ‘เอาคืน’ คนที่ตัวเองเห็นว่าเป็นศัตรู (หรือในหลายกรณีก็แม้กระทั่งกับคนที่เรียกกันว่าเพื่อนด้วยซ้ำ) ในหลายระดับ ตั้งแต่เข่นฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะตายจริงด้วยการเอาอาวุธไปฆ่า หรือตายในทางอื่นๆ เช่น ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว จนกระทั่งถึงการแก้แค้นเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน
ปีที่แล้วเคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคนทักกี (ดูรายละเอียดที่นี่) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการ ‘ล้างแค้น’ โดยเฉพาะ เป็นการทดลอง 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรวม 1,516 คน โดยให้คนเหล่านี้มาเขียนเรียงความเรื่องส่วนตัว โดยเลือกเรื่องอะไรก็ได้ พอเขียนเสร็จ ก็ให้แลกกันกับคนอื่นเพื่ออ่านแล้วก็ฟีดแบ็กกลับมาว่าคิดเห็นอย่างไรกับงานของเพื่อน โดยแบ่งคนในจำนวนนี้ออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกทำแบบนี้โดยไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดาร ถือเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นกลุ่มที่มีผู้วิจัยแฝงตัวเป็นเหมือนผู้เข้าร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้วิจัยก็จะวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของบางคนอย่างเจ็บแสบย่ำแย่
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีโอกาสได้แสดงความโกรธ โดยวิธีแสดงความโกรธก็คือการมอบตุ๊กตาวูดูให้ โดยเจ้าตุ๊กตาวูดูนี้จะมีลักษณะบางอย่างเหมือนกับคนที่มอบฟีดแบ็กแย่ๆ ให้ แล้วจากนั้นก็อนุญาตให้สามารถเอาเข็มทิ่มตุ๊กตานี้ได้
เขาพบว่า ‘อารมณ์’ (Mood) ของผู้เข้าร่วมนั้น ก่อนหน้าที่จะเริ่มเขียนความเรียงมีอารมณ์ดีอยู่ แต่หลังจากได้รับคำวิจารณ์แล้ว อารมณ์จะเสียขึ้นมาทันที ทว่าหลังได้ทิ่มแทงตุ๊กตาวูดูแล้วพบว่าอารมณ์กลับคืนมาดีอีกครั้ง ผู้วิจัยเรียกกระบวนการนี้ว่า Mood Repair
เขาพบว่าเมื่อได้ ‘ล้างแค้น’ แล้ว ผู้เข้าร่วมจะเหมือนกับได้ ‘ซ่อมอารมณ์’ ของตัวเองอีกครั้ง และระดับอารมณ์ก็จะกลับคืนไปเหมือนตอนก่อนที่จะเขียนความเรียงอีก และสำหรับบางคน ระดับอารมณ์หลังแก้แค้นแล้วถึงขั้นพอๆ กับคนที่ได้รับคำชมจากการเขียนความเรียงเสียด้วยซ้ำ
นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ได้ทดลองลึกลงไปกว่านั้นอีกในด้านประสาทวิทยา (ดูรายละเอียดที่นี่) โดยเขาใช้วิธีสแกนสมองของอาสาสมัคร โดยให้อาสาสมัครเข้ามาเล่นเกมในห้องปฏิบัติการ แล้วสร้างสถานการณ์ให้ถูกโกง โดยมีการสแกนสมองในระหว่างที่มีการโกง และระหว่างที่เปิดโอกาสให้แก้แค้นได้
การสแกนสมองนี้ใช้วิธีที่เรียกว่า PET Scan (Positron Emission Tomography) ซึ่งทำให้เห็นอัตราการไหลเวียนของเลือดในสมอง นักวิจัยพบว่า ทันทีที่เกิดการแก้แค้นขึ้นมา เลือดจะไหลไปเลี้ยงบางส่วนของสมองมากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ออกซิเจนในสมองส่วนนั้นมากกว่าส่วนอื่น ซึ่งก็แปลความได้อีกทีว่า สมองส่วนนั้นกำลังเกิดกิจกรรมบางอย่างขึ้นมามากกว่าสมองส่วนอื่น
วิธี ‘แก้แค้น’ นั้นซับซ้อนหน่อยนะครับ เพราะว่าถ้าเขาเห็นว่ามีคนที่ ‘โกง’ (จริงๆ คือแค่อาจทำเรื่องที่เห็นแก่ตัวหรือไม่เป็นไปตามที่คนอื่นๆ ในกลุ่มต้องการ) ก็จะมีการโหวตกันจะว่าลงโทษคนคนนั้นหรือเปล่า และเวลาโหวตจะลงโทษนี่ คนที่โหวตก็ต้องเสียเงินด้วยนะครับ (เพื่อดูว่าการเสียเงินนั้นยัง ‘คุ้ม’ กับการได้แก้แค้นหรือเปล่า) เขาพบว่าเมื่อได้ลงโทษ คือได้แก้แค้น สมองส่วนที่ทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือสมองส่วนที่เรียกว่า Dorsal Striatum ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รู้ว่านี่เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอิ่มเอมและพึงพอใจ (Enjoyment, Satisfaction)
นอกจากนี้ เขายังพบความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางสมองของคนคนนั้นที่สัมพันธ์กับปริมาณการลงโทษถูกโกงด้วยนะครับ คือคนที่สมองส่วนนี้ทำงานมาก ก็จะอยาก ‘ลงทุน’ (ด้วยการจ่ายเงิน) มากขึ้นเพื่อแก้แค้นคนอื่น ส่วนคนที่สมองส่วนนี้ทำงานน้อยก็จะอยากแก้แค้นน้อย
แต่กระนั้นก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทดลองนี้เท่าไรนะครับ เป็นนักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ด คือ ไบรอัน คนุทสัน (Brian Knutson) เขาบอกว่าการทดลองของนักวิทยาศาสตร์สวิสนั้นก็ดีอยู่ แต่เขาคิดว่าการแก้แค้นมีอะไรมากกว่านั้น เพราะจากการทดลองสแกนสมองนั้น ผลลัพธ์ที่ได้มันเหมือนกับว่าการแก้แค้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะแรงกระตุ้นชั่ววูบในแบบแพสชัน ทำให้เราอาจจะละเลยการล้างแค้นแบบที่มีการคิดคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดี คือมีการใช้เหตุผลที่เยือกเย็น (เขาใช้คำว่า Cold Calculated Reason)
แต่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สวิสก็บอกว่า มันไม่ได้แปลความอย่างนั้น แต่แปลว่าสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้คนเกิดความรู้สึกอยากแก้แค้น อาจจะเป็นอารมณ์หรือแพสชันก็ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถ ‘ดีล’ หรือจัดการกับอารมณ์ของตัวเองโดยใช้เหตุผลได้
ความพยาบาทซ่อนรสขม
ความรู้สึกอิ่มเอมหรือพึงพอใจหลังได้แก้แค้นนี่แหละครับที่ฝรั่งเรียกว่า Sweet Revenge คือเป็นการแก้แค้นแสนหวานเหมือนกับได้รับ ‘รางวัล’ (แบบเดียวกับการกินขนมหวานเลย)
ในละครเรื่อง ‘ล่า’ ผมเข้าใจว่าตัวละครบอกว่านี่เป็นสุภาษิตจากญี่ปุ่น ซึ่งหากเป็นสุภาษิตญี่ปุ่นจริงก็แสดงว่า ความรู้สึกคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นทั้งในโลกตะวันตกและในโลกตะวันออกด้วย จึงน่าจะเป็นความรู้สึกที่มีความเป็นสากลไม่น้อยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ต้องถามต่อว่าแล้วถ้าเรา ‘พยาบาท’ กันไปสักสิบปียี่สิบปีล่ะ มันจะให้ผลเป็น ‘ของหวาน’ เหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า หรือว่ากินหวานมากไปก็ไม่ดี อาจเกิดผลร้ายตามมาได้
ถ้าเราดูหนังดูละครหรือนิยายจีนกำลังภายใน เราอาจเห็นว่าคนที่ได้แก้แค้นล้างแค้นเพราะถูกกระทำทั้งหลายแหล่ มักจะมีตอนจบที่มีความสุข เพราะเหมือนได้รับการแก้ไขผิดให้เป็นถูกอะไรทำนองนั้น การแก้แค้นจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ให้ผลดี
แต่นอกจากการแก้แค้นจะก่อให้เกิดการแก้แค้นกลับเป็นวงจรแล้ว นักจิตวิทยายังค้นพบด้วยว่า แม้ในช่วงเวลาแรกๆ เราจะรู้สึกดีเพราะ ‘ระบบรางวัล’ ในสมองทำงาน แต่ที่สุดแล้วการแก้แค้นไม่ได้ทำให้เรารู้สึก ‘หายเป็นปรปักษ์’ กับอีกฝ่ายนะครับ (ทั้งที่มันควรจะชดเชยกันได้)
ทว่าการแก้แค้นกลับไป ‘ยืดระยะ’ (Prolong) ความรู้สึกชิงชัง ความรู้สึกไม่น่าอภิรมย์ ความรู้สึกย่ำแย่ ที่เกิดจากการถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกทำร้าย ฯลฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก ทำให้เราเหมือนถูกขังอยู่ในความรู้สึกนั้นนานขึ้นไปอีก
ดังนั้น ที่เราคิดแบบหนังจีนกำลังภายในว่าควรจะล้างแค้นเพื่อทวงความยุติธรรมนั้น แม้จะถูกส่วนหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็จะก่อให้เกิดผลร้ายตามมาด้วย
ความพยาบาทจึงเป็นของหวานในช่วงแรก แต่ในท้ายที่สุดก็อาจซ่อนรสขม (ขื่น) เอาไว้ข้างใต้ได้ด้วย
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan