โมเดลการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กำลังเป็นที่จับตามอง หลังการศึกษาในสหราชอาณาจักรบ่งชี้ว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร และสร้างความพึงพอใจแก่พนักงานอย่างน่าสนใจ โดยมีความสุขขึ้น ลาออกน้อยลง
การศึกษาที่ว่านี้เริ่มจาก 61 บริษัทในสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมโครงการนำร่องเมื่อปี 2022 ซึ่งล่าสุดหลังครบรอบ 1 ปี มีจำนวนมากถึง 89% ที่ตัดสินใจคงรูปแบบการทำงาน 4 วันไว้อย่างต่อเนื่อง
โครงการดังกล่าวผลักดันโดย Autonomy ร่วมกับองค์กร 4 Day Week Campaign และ 4 Day Week Global โดยเปลี่ยนจากการทำงานแบบเดิม 5 วัน 40 ชั่วโมง มาเป็นการทำงาน 4 วัน 32 ชั่วโมง ที่ยังคงทำงานได้ 100% เท่าเดิม และไม่มีการลดค่าจ้างพนักงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทดลองมาครึ่งทางแล้ว! การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้พนักงานสุขภาพกาย-ใจดีขึ้น องค์กรก็มีรายได้มากขึ้นด้วย
- สหราชอาณาจักรนำร่องทดลองโครงการ ‘การทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีการลดค่าจ้าง’ ครั้งใหญ่สุดของโลกแล้ว
- งานวิจัยอังกฤษชี้ข้อดีทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ได้ผลงานดีกว่าทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ แถมสุขภาพกายและใจพนักงานดีขึ้น
ผลการติดตามพบว่า 51% ของบริษัทที่เข้าร่วมตัดสินใจใช้รูปแบบนี้ถาวร และอีก 89% จะใช้รูปแบบนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ โดยผู้จัดการ 100% รายงานตรงกันว่า การทำงาน 4 วันให้ผล ‘ดี’ หรือ ‘ดีมาก’ กับองค์กร
82% ของบริษัทเห็นผลด้านบวกต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน 50% เห็นการลดลงของอัตราการลาออก และ 32% บอกว่านโยบายนี้ช่วยให้การสรรหาบุคลากรดีขึ้น
ส่วนการสำรวจพนักงานก็พบว่ามีความสุขมากขึ้นทั้งด้านสุขภาพกายและใจ รวมถึงชีวิตส่วนตัว ลดระดับการ ‘หมดไฟ’ จากการทำงาน ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ยั่งยืนแม้เวลาผ่านไป 1 ปี
ผลสำรวจความคิดเห็นสาธารณะโดย 4 Day Week Campaign ในสหราชอาณาจักร พบว่า 58% ของคนทั่วไปคาดหวังให้การทำงาน 4 วันเป็นมาตรฐานภายในปี 2030
กระแสนี้ยังโดดเด่นในระดับนานาชาติ มีการทดลองใช้โมเดลนี้แล้วในหลายประเทศ ทั้งสเปน ไอซ์แลนด์ แอฟริกาใต้ และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา
เบลเยียมเพิ่งออกกฎหมายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ให้นายจ้างต้องเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเต็มเวลาสามารถยื่นขอทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้
ระดับรัฐในสหรัฐฯ อย่างมลรัฐแมสซาชูเซตส์มีการเสนอกฎหมายให้เครดิตภาษีกับนายจ้างที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอย่างน้อย 15 ตำแหน่งมาเป็น 4 วันโดยไม่ลดค่าจ้าง ส่วนแคลิฟอร์เนียมีการเสนอให้ลดชั่วโมงการทำงานมาตรฐานมาเป็น 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แม้ประสบความสำเร็จในหลายบริษัท แต่ใช่ว่าจะนำไปใช้ได้ครอบคลุม ศาสตราจารย์ด้านแรงงานจาก University of Rhode Island มองว่า นโยบายนี้กระจุกตัวในงานออฟฟิศค่อนข้างมาก การขยายไปยังงานบริการหรือแรงงานรายได้น้อยยังมีความยากลำบาก
ส่วนโอกาสที่จะมีกฎหมายระดับประเทศในสหรัฐฯ สนับสนุนแนวทางนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่สำคัญมาเกือบ 90 ปีแล้ว
อ้างอิง: