×

มาอีกราย! World Bank หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้-ปีหน้า เหลือโต 3.4-3.5% เท่านั้น ต่ำกว่าเป้า ‘เศรษฐา’ ที่โตเฉลี่ยปีละ 5%

02.10.2023
  • LOADING...
คาดการณ์ GDP ไทย

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้-ปีหน้า คาดโตเพียง 3.4-3.5% เท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายของนายกฯ ที่เคยกล่าวว่าอยากเห็นเศรษฐกิจไทยโตปีละ 5%

 

โดยในรายงาน East Asia and Pacific Economic Update, October 2023 ของธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของ GDP ไทยในปี 2023 เหลือ 3.4% จากประมาณการที่ 3.6% ในรายงานเดือนเมษายน และคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะโต 5% ในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ในเดือนเมษายนที่ 5.1% เล็กน้อย เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

 

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคปี 2024 ก็คาดว่าจะชะลอตัวจากปีนี้ เหลือ 4.5% ลดลงจากประมาณการในเดือนเมษายนที่ 4.8% 

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า World Bank คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 3.5% ลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่ 3.6%

 

ตัวเลขดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าเป้าหมายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยกล่าวไว้ว่า ตนอยากเห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยปีละ 5%

 

สำหรับเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกยังคงคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยอ้างถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

World Bank ยังกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตต่างๆ ตั้งแต่ปี 2020 รวมถึงการระบาดของโควิด แต่ธนาคารโลกเตือนว่า อัตราการเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัว

 

ห่วงระดับหนี้เอเชียพุ่ง ฉุดการลงทุน-การบริโภค

World Bank เตือนอีกว่า หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม

 

โดยเตือนว่า ระดับหนี้ภาครัฐที่สูงขึ้นอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

 

จากการคำนวณของธนาคารโลกพบว่า หนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อ GDP สัมพันธ์กับการเติบโตของการลงทุนที่ลดลง 1.2% และหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อ GDP สัมพันธ์กับการขยายตัวของการลงทุนที่ลดลง 1.1%

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังพบว่า หนี้ครัวเรือนในจีน มาเลเซีย และไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ โดยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลเสียต่อการบริโภค เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำมาใช้ชำระหนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดการใช้จ่าย

 

ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคลดลง 0.4%

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising