×

ทำไมช้อปแหลกเวลาเครียดเราถึงสบายใจ แล้วช้อปหนักแค่ไหนถึงเรียกเสพติด

03.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:20 สาเหตุของการเสพติดการช้อปปิ้งคืออะไร

08:29 การตลาดและการเสพติดการช้อปปิ้ง

10:53 เราจะจัดการตัวเองอย่างไรเมื่อรู้สึกขาด

14:00 6 คำถามไว้ถามตัวเองก่อนช้อป

25:41 วิธีเยียวยาเบื้องต้นถ้าเริ่มเสพติดการช้อปปิ้ง

28:32 บอกคนในครอบครัวอย่างไรให้ไปบำบัดการเสพติด

สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงมักทำเป็นประจำเพื่อลดความเครียด คือการช้อปปิ้ง ทั้งการเลือกซื้อกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ตามห้างสรรพสินค้า บางคนเห็นป้าย SALE ไม่ได้ต้องพุ่งเข้าหา แถมทุกวันนี้สะดวกสบายขึ้นด้วยการช้อปปิ้งออนไลน์ แค่คลิกๆ หน้าจอก็มีของมาส่งถึงบ้าน

 

เมื่อสำรวจตู้เสื้อผ้าดูอาจพบว่า มีหลายชุดที่ยังไม่ได้แกะป้ายราคาด้วยซ้ำ รองเท้าบางคู่ก็ซื้อมาใช้แค่ไม่กี่ครั้ง แต่เราก็ยังซื้อเรื่อยไปไม่หยุด หลายคนเริ่มเอะใจว่าตัวเองเข้าข่ายเสพติดการช้อปปิ้งไปแล้วหรือเปล่า แล้วถ้าติดมันเข้าจริงๆ เราควรทำอย่างไร

 

R U OK เอพิโสดนี้อยากชวนทุกคนมาสำรวจตัวเองว่า ช้อปดุขนาดไหนถึงเรียกว่าติด แล้วเราควรบำบัดตัวเองอย่างไรให้มีสติมากขึ้นในการช้อปครั้งหน้า


สาเหตุที่เราชอบช้อปปิ้งเวลาเครียด

ถ้าลองสังเกตตัวเองดีๆ อาจพบว่าเราชอบช้อปปิ้งมากเป็นพิเศษในช่วงที่เครียดจากงาน ครอบครัว หรืออะไรก็ตาม นั่นก็เพราะเราอยากตอบสนองความต้องการลึกๆ บางอย่างของตัวเอง เพราะจิตใจในตอนนั้นอาจรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มีอำนาจในการจัดการอะไรให้สำเร็จหรือสมบูรณ์ เช่น เราต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายมาอย่างไม่เต็มใจ นี่คือการเผชิญสิ่งที่เลือกไม่ได้ การช้อปปิ้งจะช่วยเข้ามาเติมเต็มภาวะการควบคุมได้ตรงนั้น ให้เรารู้สึกได้มีอำนาจจากการซื้อ อำนาจจากการได้เลือก เอาอันนั้น ไม่เอาอันนี้ มันจะสร้างความรู้สึกว่าเราจัดการตัวเองได้ โดยเฉพาะการซื้อเสื้อผ้าที่ได้หยิบอะไรบางอย่างมาใส่ตัว จะเป็นเหมือนการถมความรู้สึกว่างเปล่านั่นเอง  

 

เราจึงรู้สึกชอบที่ตัวเองได้เลือก อยากได้สีนี้ แบบนี้ ไซส์นี้ ถ้าไม่มีก็เดินออกจากร้านไปเลยได้ เราอยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธอะไรต่างๆ ได้ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของชีวิตเราอาจทำไม่ได้ เราจึงชอบช้อปปิ้งเพราะรู้สึกมีอำนาจขึ้นมา

 

หรือในกรณีของคนที่ความรักกำลังพัง เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เขาอาจพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อเยียวยาให้ความรู้สึกมีค่านั้นกลับมา ให้ตัวเองเป็นคนที่มีอำนาจ เป็นคนอย่างที่ตัวเองอยากเป็น จึงใช้การช้อปปิ้งมาโอบอุ้มตัวเองในวันที่อ่อนแอ อ่อนล้า ซึ่งบางครั้งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าต้องการของชิ้นนั้นจริงๆ หรือเปล่า  

การช้อปปิ้งจึงเป็นเหมือนการกระทำทางกายภาพ จับต้องได้ เพื่อเติมเต็มความกลวงโบ๋ในจิตใจที่เราจับต้องไม่ได้

สาเหตุที่แท้จริงคือความรู้สึกขาดบางอย่างในจิตใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุในการเสพติดบางสิ่งบางอย่างเสมอ เช่น ที่เราทำงานหนักอยู่ทุกวันนี้ เพราะเราต้องการเงินเดือน เพื่อจะเอาไปซื้อรถสักคนหรือบ้านสักหลัง แต่ถ้าเราลองมองลึกลงไป สาเหตุที่อยากได้รถหรือบ้านนั้น มันคือความต้องการความมั่นคงในชีวิต ไม่อยากจะเช่าห้องอยู่แบบนี้แล้ว เป็นต้น

 

การลงลึกไปดูจิตใจตัวเองนั้นมันค่อนข้างเจ็บปวด ต้องใช้ความกล้าหาญสูงมากในการยอมรับเมื่อเราพบสาเหตุนั้นๆ เช่น ตอนอกหักก็รู้สึกว่าชีวิตแย่มากอยู่แล้ว แล้วยังจะให้คนที่อยู่ในสภาพแบบนั้นย้อนมองกลับไปดูสาเหตุที่ตัวเองรู้สึกไร้ค่าว่าเพราะอะไร เพราะเขาไม่เอา เขาไม่เห็นความสำคัญของความรักของเรา เราจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้ เราไม่มีอำนาจใดๆ ควบคุมในสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย ฯลฯ มันก็เป็นเรื่องยากและโหดร้ายเกินไป คนจึงแก้ไขแบบเฉพาะหน้าให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นเดี๋ยวนั้นทันทีด้วยการช้อปปิ้งหรือเสพติดบางอย่างไปก่อน แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงในจิตใจจะไม่ได้ถูกแก้ไขอะไรเลยก็ตาม

 

การตลาดกับอาการเสพติดการช้อปปิ้ง

ต่อให้เราไม่ได้อยู่ในสภาวะเครียด กดดัน หรือกลวงโบ๋อะไร ก็มีสิทธิเสพติดการช้อปปิ้งได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้มีสิ่งเร้าทั้งสื่อและการตลาดมากมายที่พยายามบอกเราว่า ถ้าไม่ทำตามเทรนด์ เราจะไม่สมบูรณ์ ไม่คูล ไม่ได้มาตรฐานเท่าคนทั่วไปในสังคม พอเจอการกระตุ้นลักษณะนี้บ่อยเข้า เราก็จะรู้สึกไม่พอ แล้วก็จะซื้อโดยไม่ทันคิดว่ามันจำเป็นกับเราจริงหรือเปล่า

เพราะการช้อปปิ้งทำให้เราได้เข้าใกล้ตัวเองในอุดมคติที่เราอยากเป็น ในเชิงวัตถุ ซึ่งสุดท้ายเราก็จะยังรู้สึกขาดอยู่ดี

การช้อปปิ้งจึงทำให้เรารู้สึกได้ขยับเข้าไปใกล้ ภาพ ตัวเองในอุดมคติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรามีภาพในหัวว่าอยากเป็นผู้หญิงที่แต่งตัวแบบนี้ ถือกระเป๋าแบบนี้ และเราสามารถเป็นแบบนั้นได้ด้วยการซื้อ การตลาดจึงมีส่วนสำคัญในการช้อปปิ้ง เพราะเกี่ยวข้องกับหลักจิตวิทยาและความต้องการของมนุษย์ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันกลยุทธ์ของการตลาด เราจะเสียเงินโดยไม่รู้ตัว

 

ลองสังเกตว่าห้างสรรพสินค้ามักเปิดเพลงเร็ว ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นนางแบบที่เดินอยู่บนรันเวย์ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เรารู้สึกสนุกและคิดไตร่ตรองน้อยลง สารแห่งความสุขก็หลั่งไหลตอนนั้นจริง แต่มันจะมีฤทธิ์อยู่เพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้หลายครั้งเมื่อกลับไปถึงบ้าน เราต้องมานั่งถามตัวเองว่า ซื้อมาทำไมเยอะแยะ ความรู้สึกผิดและความเครียดก็จะตามมาในที่สุด

 

สัญญาณเบื้องต้นของการเสพติดการช้อปปิ้ง (Shopaholic)

1. ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ เสื้อผ้าหลายชิ้นบางตัวยังไม่ได้แกะป้ายราคา บางตัวยังอยู่ในถุงด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ได้ต้องการใช้ของเหล่านั้นจริงๆ ความสุขจากการช้อปปิ้งที่แท้จริงไม่ใช่ ‘การได้มาซึ่งของ’ แต่คือ ‘ความรู้สึกดีที่ได้ซื้อของ’

 

2. อยากหยุดแต่หยุดไม่ได้ ระหว่างทำงานก็แอบช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ตลอดเวลา กดสั่งซื้อโดยควบคุมตัวเองไม่ได้ แถมตกเย็นเข้าห้างสรรพสินค้าก็ยังซื้อแหลกด้วยความรู้สึกแค่ว่า ‘ของมันต้องมี’ และที่ชัดเจนที่สุดคือระหว่างช้อปก็จะเต็มไปด้วยความรู้สึกผิด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากซื้อที่อยู่ข้างในได้เลย

 

3. ไม่มีเงิน แต่ก็ยังจะช้อป ตั้งแต่รูดบัตร ไปจนถึงหยิบยืม โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่ทุกวันนี้ใช้ง่ายขึ้นมาก และพอไม่ต้องใช้ธนบัตร ก็จะไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของเงินที่จ่ายออกไป จะราคาเท่าไรน้ำหนักของเงินก็เบาเท่ากันหมด คือเบาเท่าบัตรเครดิตบางๆ ใบนั้น

 

จะจัดการตัวเองอย่างไรเมื่อเริ่มรู้ว่าเสพติดการช้อปปิ้ง

‘ความรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ’ และ ‘ความอยากได้อะไรมาเติมเต็ม’ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การช้อปปิ้งไม่ใช่ทางเลือกเดียวในการเติมเต็ม ลองนึกย้อนกลับไปถึงการช้อปปิ้งทุกครั้งของเราว่า ที่ซื้อมาทั้งหมดนั่น เราต้องการมันจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแค่ไม่สามารถยับยั้งความอยากที่จะซื้อได้ เพราะนั่นไม่ใช่การเติมที่ถูกต้อง ยิ่งเติมกลับยิ่งขาดด้วยซ้ำ

 

เมื่อเราขาด เราจะรู้สึกว่ามันโหว่หรือมีรอยรั่ว ลองจินตนาการว่าตัวเราเหมือนโหลใสๆ ใบหนึ่ง ถ้าเราไม่รู้ว่ารอยโหว่มันอยู่ตรงไหน เหมือนที่เราไม่รู้ว่าจริงๆ เราโหวงด้วยเรื่องอะไร เติมเท่าไรมันก็ไม่เต็ม

การช้อปปิ้งมันเหมือนการเทน้ำลงไปในโหลรั่ว เทลงไปเท่าไรก็หาย เราก็เลยต้องเติมลงไปเรื่อยๆ ไม่หยุด

และรูโหว่นั้นมักเป็นนามธรรม ซึ่งเราก็ต้องเติมเต็มด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นกัน เช่น ความรัก ความมั่นคง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งถ้าหาเองไม่เจอ ลองไปพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดดู เพื่อจะได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดไปอย่างถูกจุด

 

วิธีดึงสติกลับมาเวลาช้อปปิ้ง

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ไปไกลถึงกับการเสพติดการช้อปปิ้ง แต่รู้ว่าเริ่มมีโอกาสเป็น และไม่ถึงกับขั้นต้องบำบัดด้วยแพทย์อย่างการซ่อมแซ่มด้านนามธรรมของตัวเองแล้ว เราก็มีคำถามง่ายๆ ที่จะใช้ถามตัวเองเวลาช้อปปิ้ง ให้เราได้ดึงสติกลับมาแบบปัจจุบันทันด่วน ทั้งหมดมี 6 ข้อ คือ

 

1. ฉันมาที่นี่ทำไม

ถ้าตอบว่า “มาเดินดูของ เพราะไม่อยากอยู่บ้าน” ให้ลองถามตัวเองต่อว่าอะไรที่ทำให้ไม่อยากอยู่บ้าน และนั่นหรือเปล่าต้นตอปัญหาที่แท้

 

2. ตอนนี้ฉันรู้สึกอะไรอยู่

แค่เบื่อหรือเปล่า การซื้อแก้เบื่อเป็นสิ่งน่ากลัวนะ

 

3. ฉันจำเป็นจะต้องมีสิ่งนี้ไหม

“ต้องมีสิ เพราะว่าสีนี้ยังไม่มีเลย” เป็นเหตุผลที่ดีพอไหม

 

4. รออีกสักนิดค่อยซื้อได้ไหม

“ไม่ได้ กลัวคนอื่นซื้อตัดหน้าไปก่อน กลัวของจะหมด กลัวจะไม่ได้” อะไรกันแน่ที่ทำให้กลัวขนาดนั้น

 

5. ฉันจะจ่ายเสื้อตัวนี้อย่างไรดี

เงินสดมีไหม ต้องใช้บัตรเครดิตหรือเปล่า รูดวันนี้มีโปะวันหน้าหรือเปล่า

 

6. ซื้อแล้วจะไปเก็บไว้ตรงไหนดี

ตู้เสื้อผ้าที่บ้านแน่นเกินไปหรือยัง

 

สำหรับบางคน คำถามทั้ง 6 ข้อนี้ตอบไม่ยากเลย ก็ดีใจด้วย ซื้อไปเลยตามสบาย แต่บางคนเมื่อถามเรื่องการจ่ายเงิน เริ่มกังวลถึงวงเงินในบัตรเครดิต หรือบางคนมาถึงคำถามที่ว่าซื้อแล้วจะเอาไปไว้ตรงไหนก็ตอบไม่ได้เพราะไม่ได้แน่นแค่ตู้ แต่ล้นออกมาแผ่เต็มห้องแล้ว บางคนล้นจนรกไปทั้งบ้านก็มี

 

อย่างน้อยที่สุด การพยายามตอบคำถาม 6 ข้อนี้จะทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองสักครู่ เพื่อเปิดโอกาสให้ความยับยั้งชั่งใจเกิดตามมา หรือสุดท้ายแล้วก็อาจจะยังซื้ออยู่ดี แต่ก็จะเป็นการซื้อแบบมีสติและคิดมากขึ้น เพราะคนเสพติดการช้อปปิ้งจะไม่คิดมาก ตัดสินใจเร็ว มีอะไรมากระตุ้นก็ซื้อเลยเดี๋ยวนั้น เราจึงควรใช้เครื่องมือหรือกลไกใดๆ ที่ช่วยชะลอให้กระบวนการควักเงินซื้อช้าลง

 

หรืออีกวิธีหนึ่งลองใช้แนวคิดที่ว่า ถ้ามันเป็นของเรามันก็จะต้องเป็นของเรา เช่น เวลาไปเดินห้างแล้วเจอของถูกใจ ให้เดินผ่านไปก่อน แทนที่จะซื้อของ ให้ซื้อเวลา เพื่อทบทวนว่าเราอยากได้จริงหรือไม่ ไปเดินที่อื่น ไปหาอะไรกินก่อน แล้วค่อยวนกลับมาดูอีกรอบ หรือแม้แต่กลับบ้านไปนอนคิดก่อนแล้วพรุ่งนี้ค่อยกลับมาใหม่ ถึงตอนนั้นถ้ายังอยากได้จริงๆ ค่อยซื้อ เพราะบางคนอาจพบว่า พอเวลาผ่านไป ความอยากได้อาจหายไปหมดแล้ว

 

วิธีบำบัดอาการเสพติดการช้อปปิ้ง

เมื่อรู้ตัวแล้วว่ามีโอกาสเสพติดสูง ควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาการเสพติดนั้น ต่อให้ไม่ร้ายแรงในวันนี้ แต่อาจนำพาปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าตามมาในอนาคต คุณหมอหรือนักจิตบำบัดอาจช่วยเราหาสาเหตุที่เป็นนามธรรม หรือ ‘รอยรั่วที่ก้นโหล’ อันเป็นสาเหตุของการ ‘เติมเท่าไรก็ไม่เต็ม’ นั้นได้

 

ถ้าพ่อแม่เริ่มเห็นว่าลูกมีโอกาสเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง อย่าเพิ่งรีบลากไปพบแพทย์ แต่อาจเริ่มจากการพูดคุยและรับผิดต่อลูกที่ไม่เคยดูแลและสอนให้จัดการปัญหาด้วยวิธีการที่ถูกต้องจนต้องมาลงที่การซื้อของ เพราะต้นตอของการเสพติดอะไรก็ตาม มักเกิดจากการขาดแหว่งตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นผลมาจากครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เขาอาจจะไม่ได้รับการเชื่อมโยง สนับสนุนหรือทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่าจากความรักของคนในครอบครัว พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการซื้อของให้ไม่ขาดเป็นวิธีการแสดงออกถึงความรัก ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถทดแทนได้ เพราะข้างในก็ยังกลวงอยู่ดี เมื่อลูกเห็นการแสดงออกลักษณะนี้จากพ่อแม่ เขาก็ทำตาม

 

แต่ถ้ายังไม่อยากรีบไปพบแพทย์ ลองช่วยเหลือตัวเองดูก่อน โดย

 

1. ทำความเข้าใจตัวเอง ทบทวนดูว่าอะไรตรงไหนกันแน่ที่จะทำให้เรารู้สึกเติมเต็มและไม่รู้สึกขาดได้อย่างแท้จริง

 

2. หาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต ถ้ารู้สึกอยากมีคุณค่า นอกจากการซื้อแล้วเราทำอะไรได้อีกบ้าง เช่น ไปเป็นอาสาสมัครหรือทำงานเพื่อสังคม การค้นหาและสร้างความรู้สึกเติมเต็มจะต้องค่อยๆ สร้างไปทุกวัน ดังนั้นจึงควรทำเรื่อยๆ ลองไปเรื่อยๆ เพื่อหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง และหมั่นประเมินตัวเองเป็นประจำ คุยกับตัวเองบ่อยๆ อาจทำให้ความว่างเปล่านั้นค่อยๆ เติมเต็มได้


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


 

Credits


The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X