นักวิจัยชาวฝรั่งเศสออกมาเตือนว่า การบริโภคอาหารแปรรูปมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ โดยมะเร็งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าชนิดอื่นคือ มะเร็งเต้านม ที่มีโอกาสเกิดขึ้น 11% แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งต่อมลูกหมากกลับไม่มีโอกาสเกิดเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2558 เผยว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากกว่ามะเร็งชนิดอื่น และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายในทุกปีตั้งแต่ปี 2549-2558
ตัวอย่างอาหารแปรรูปจากงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่
- เค้ก ช็อกโกแลตแท่ง ของหวาน ขนมขบเคี้ยวต่างๆ
- น้ำอัดลม น้ำหวาน
- ลูกชิ้น นักเก็ต เนื้อจากสัตว์ปีก
- อาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง
- ขนมปังที่ผลิตในปริมาณมาก
อาหารเหล่านี้เต็มไปด้วยวัตถุเจือปนอาหาร สารกันบูด และอุดมไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน ปารีส ซีเต (Sorbonne Paris Cité) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใช้วิธีสำรวจพฤติกรรมการทานอาหารของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 105,000 คน ผลการสำรวจทำให้เห็นว่ายิ่งเราบริโภคอาหารแปรรูปมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งในอนาคตก็เพิ่มขึ้นตาม โดยปริมาณอาหารแปรรูปที่เรากินเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้โอกาสเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 12% นักวิจัยกล่าว
ศาสตราจารย์ลินดา โบลด์ (Linda Bauld) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันป้องกันโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยมะเร็งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า เรารู้กันอยู่แล้วว่าการบริโภคอาหารจำพวกนี้ในปริมาณมากอาจทำให้น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบที่แน่ชัดของผลกระทบที่เกิดจากอาหารและน้ำหนัก แต่การวิจัยนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่าเราควรทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น
นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า “แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความเป็นไปได้สูง แต่ต้องรอการศึกษาอื่นในอนาคตช่วยยืนยัน เพราะนี่คือการศึกษาแรก ต้องมีการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่กว้างกว่านี้ และหาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผล อย่างเช่น การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย หรือการทานอาหารมากเกินความจำเป็น”
นอกจากนั้นสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสามารถดูตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหารได้ ที่นี่
ดังนั้นก่อนหยิบอาหารเข้าไมโครเวฟให้เป็นนิสัย เราควรอ่านข้อมูลโภชนาการกันให้มากเสียหน่อย ดีไหม?
อ้างอิง: