×

เบิร์นไขมันฉบับนักวิทยาศาสตร์ ด้วยหลักเพียงข้อเดียว!

07.10.2022
  • LOADING...

อยากลดไขมันทำอย่างไร รู้หรือไม่ว่าการจะฟิตแอนด์เฟิร์มให้หุ่นสวยนั้น ดูแค่น้ำหนักรวมไม่พอ เพราะเราจะต้องโฟกัสที่น้ำหนักของไขมันด้วย

 

เอพิโสดนี้จะมาแชร์เทคนิคการเบิร์นไขมันแบบตรงจุด พร้อมความรู้คู่สุขภาพในเรื่องกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ทำอย่างไรให้ร่างกายเผาผลาญได้เร็วที่สุดเหมือนเปิดสวิตช์ ดร.ข้าว จะมาเล่าให้ฟัง 

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าไขมันที่เรากินเข้าไปนั้น จริงๆ แล้วส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของมันมีชื่อว่า ‘ไตรกลีเซอไรด์’ ที่มีหน้าตาเหมือนกับกิ๊บดำ คือมีกระเปาะและขาสามขายื่นออกมา



อ่านต่อ: เจาะลึกไขมัน คอเลสเตอรอลตัวดี-ตัวร้าย กินอย่างไรให้ถูกวิธี

 

โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะเก็บไขมันในรูปของไตรกลีเซอไรด์เอาไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งที่เรากินอาหารไม่พอ แต่อวัยวะต่างๆ ยังต้องการใช้พลังงานเพื่อขับเคลื่อนอยู่ เมื่อนั้นไขมันก็จะถูกปล่อยออกมาเพื่อที่จะเอาไปเผาผลาญเป็นพลังงานเพื่อให้ร่างกายเราใช้นั่นเอง 

 

ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่อาหารที่เรากินเข้าไปมันเหลือล้นเกินกว่าที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้ ไขมันเหล่านั้นก็จะถูกเก็บไว้ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าอก พุง หรือตามแขนขา เซลลูไลต์ต่างๆ ซึ่งแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง-ชาย อายุมาก-น้อย ระบบของร่างกายก็จะมีส่วนสำหรับเก็บสะสมไขมันแตกต่างกันออกไป

 

4 Steps เพื่อการลดไขมันสะสมอย่างมีประสิทธิภาพ

แค่พูดว่าจะลดไขมันอาจดูเหมือนง่าย แต่การตั้งใจลดไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพได้นั้น มันมีตัวแปรสำคัญมาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมน เอนไซม์ และสารสื่อประสาท เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงวิธีการอย่างถูกต้อง ซึ่งมีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 

 

Step 1 ส่งสัญญาณให้ร่างกาย

ร่างกายต้องได้รับสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาไขมันที่เก็บเอาไว้มาใช้ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นเหมือนสวิตช์ เมื่อไรก็ตามที่มันถูกเปิด กระบวนการเผาผลาญไขมันจะเริ่มขึ้นทันที แต่เมื่อสวิตช์ถูกปิดอยู่ ไขมันที่เราเก็บเอาไว้ตามพุง หน้าอก หรือแขนขา มันก็จะยังสะสมอยู่อย่างนั้น ไม่ถูกนำไปใช้ 

 

ตามหลักการแล้ว ร่างกายจะมีการเผาผลาญไขมันอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งนอนหลับ และในขณะเดียวกันร่างกายของเราก็รับพลังงานและสะสมไขมันอยู่เรื่อยๆ จากปริมาณอาหารที่กินเข้าไปเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีว่า ระหว่างพลังงานที่ได้รับมากับพลังงานที่เราใช้ไป ส่วนไหนมันมีมากกว่ากัน 

 

เพราะเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายใช้มากกว่าที่ได้รับมา ร่างกายของเราจะอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Calorie Deficit หรือการขาดทุนแคลอรี จังหวะนี้คือการเปิดสวิตช์เพื่อส่งสัญญาณบอกร่างกายว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปล่อยไขมันออกมาเป็นพลังงาน 

 

Step 2 ฮอร์โมน โปรตีน เอนไซม์ ที่ช่วยจัดการไขมัน

หลังจากร่างกายส่งสัญญาณบอกว่าต้องการใช้พลังงานเยอะๆ แต่เรากินอาหารเข้าไปน้อย ในเวลานั้นปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราจะลดลง ส่งผลให้ฮอร์โมนอินซูลินและโปรตีน ASP (Acylation Stimulating Protein) ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะสองอย่างนี้จะไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ที่ทำหน้าที่เฉพาะในการย่อยไขมัน 

 

นอกจากนี้ในเวลาที่ร่างกายมีพลังงานไม่เพียงพอ ปริมาณฮอร์โมนกลูคากอนและอะดรีนาลีนก็จะเยอะขึ้นด้วย โดยกลูคากอนจะเป็นตัวที่ทำให้ไขมันที่ถูกเก็บเอาไว้ตามส่วนต่างๆ ในร่างกายถูกปลดปล่อยออกมาอยู่ในกระแสเลือดนั่นเอง 

 

Step 3 ไตรกลีเซอไรด์ถูกแยกร่าง

เมื่อไขมันถูกปล่อยออกมาอยู่ในกระแสเลือดแล้ว เจ้าไตรกลีเซอไรด์ที่มีลักษณะเหมือนกิ๊บดำจะถูกแยกออกจากกันด้วยเอนไซม์ที่ชื่อว่าไลเปส โดยจะตัดตรงรอยต่อระหว่างกระเปาะกับขาให้แยกออกจากกัน โดยบริเวณกระเปาะคือกลีเซอรอล ส่วนขาทั้งสามคือกรดไขมัน หรือ Fatty Acid 

 

กลีเซอรอลจะถูกนำไปใช้เป็นต้นขั้วในการสร้างกิ๊บดำตัวใหม่ และถูกเก็บสะสมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของร่างกายเหมือนเดิม แต่กรดไขมันที่เหลือจะถูกลำเลียงต่อไปที่อวัยวะที่จำเป็น เพื่อเผาผลาญทำให้เกิดเป็นพลังงานขึ้นมา 

 

Step 4 เผาผลาญด้วยเตาปฏิกรณ์ร่างกาย

และเมื่อกรดไขมันถูกลำเลียงไปยังอวัยวะ อย่างเช่น กล้ามเนื้อที่กำลังต้องการพลังงาน หลังจากนั้นจะต้องถูกส่งไปยัง ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งเปรียบเสมือนเตาปฏิกรณ์ที่ทำให้เกิดพลังงาน แต่การที่กรดไขมันจะวิ่งเข้าไปที่ไมโทคอนเดรียได้ ต้องใช้กรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ชื่อว่า คาร์นิทีน (Carnitine) หรือชื่อที่หลายคนน่าจะคุ้นหูคือ แอลคาร์นิทีน ซึ่งเรามักจะได้ยินคำโฆษณาว่าช่วยในการลดไขมันส่วนเกินได้  

 

คาร์นิทีนจะเป็นตัวช่วยทำให้กรดไขมันวิ่งเข้าไปที่เตาปฏิกรณ์ และจัดการกรดไขมันจนกลับกลายมาเป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ต่อ โดยกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้จะทำให้เราได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำออกมา ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจ ส่วนน้ำก็ถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจออก ปัสสาวะ และเหงื่อ 

 

ที่สำคัญการเผาผลาญไขมันอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนด้วย นั่นหมายความว่าถ้าเรากำลังออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป และยังสามารถสูดออกซิเจนเข้าไปในปอดได้เพียงพอ จึงจะสามารถเผาผลาญไขมันได้ แต่ถ้าเราออกกำลังกายหนักหน่วงมากจนหายใจไม่ทัน กระบวนการเผาผลาญก็อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ 

 

ทริกในการลดไขมันแบบเร่งด่วน

วิธีการลดไขมันที่ดีคือ Weight Training เพราะเป็นการเพิ่มกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เปรียบเหมือนเตาปฏิกรณ์ที่คอยเผาผลาญพลังงาน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ เช่น กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อหลัง ถ้ามีกล้ามเนื้อบริเวณนี้มาก การเปิดสวิตช์กำจัดไขมันก็จะทำได้เร็วขึ้น  

 

การลดไขมันไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วเห็นผลได้ทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความอดทนและมีวินัยสูง เพราะช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำ แม้จะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่รู้หรือไม่ว่าร่างกายภายในของเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในระดับยีน เพราะยีนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญไขมันจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น และไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมไว้ก็จะถูกปล่อยออกมาในกระแสเลือดโดยที่คุณมองไม่เห็น 

 

ถ้ามีความพยายามและทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างมีวินัย รับรองว่าไขมันตามพุงและแขนขาจะแฟบลง และคุณจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นหลังจากนั้นแน่นอน  

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X