ธนาคารกลางจีนประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวน ซึ่งแข็งค่ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ พร้อมส่งคำเตือนไปยังเหล่า Short Sellers อย่าเดิมพันกับการเคลื่อนไหวของเงินหยวน ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าราว 2.6% ในเดือนที่ผ่านมา
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไว้ที่ 6.9396 หยวนต่อดอลลาร์ สูงกว่าคาดการณ์โดยเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ ที่สำรวจโดย Bloomberg ที่ 647 Percentage in Point และสูงกว่าสถิติเดิมที่ 598 Percentage in Point เมื่อวันพุธที่แล้ว (14 กันยายน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Evergrande ให้คำมั่นว่าจะกลับมาพัฒนาโครงการต่อให้เสร็จ เพื่อบรรเทาวิกฤตอสังหาของจีน
- 10 กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน แกร่งสุด
- ฝ่ามรสุมข่าวร้าย! จีนอัดฉีดเงินมหาศาล เศรษฐกิจไปต่อหรือแค่ประคองตัว?
การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมของธนาคารกลางทั่วโลกในสัปดาห์นี้ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของจีนและประเทศอื่นๆ ของโลกกว้างขึ้น เป็นการทำลายความน่าดึงดูดของสินทรัพย์ในสกุลเงินหยวน
ทั้งนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในจีนเป็นแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) ซึ่งภายใต้ระบบนี้ธนาคารกลางจีนจะประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนรายวัน หรือ CNY Fixing ในช่วงเช้าของแต่ละวันก่อนเริ่มมีการซื้อขายเงินหยวน และจะควบคุมไม่ให้ค่าเงินหยวนผันผวนเกินกรอบที่กำหนด (Trading Band)
อย่างไรก็ตาม ตลาดสำหรับการซื้อขายเงินหยวนนั้นมีอยู่ 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดเงินหยวนที่ซื้อขายแค่เพียงในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกว่า Onshore Market โดยมีอักษรย่อ CNY ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงิน CNY จะถูกควบคุมโดยธนาคารกลางจีน ขณะที่ตลาดเงินหยวนที่ซื้อขายกันนอกแผ่นดินใหญ่ (Offshore Market) ซึ่งมีอักษรย่อ CNH จะเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงค่าเงินหยวนโดยรวมจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘เหรินหมินปี้’ (Renminbi) โดยมีอักษรย่อ RMB
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งเงินหยวนที่ซื้อขายกันในประเทศจีน (Onshore Trade) และนอกประเทศจีน (Offshore Trade)
โดยเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการล็อกดาวน์และวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ Christopher Wong นักกลยุทธ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก Oversea-Chinese Banking Corp. ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การตอบสนองทางนโยบายที่จีนทำได้ดีที่สุดคือการชะลอการอ่อนค่าเงินหยวน แต่เตือนว่าอย่าทำให้เงินหยวนแข็งค่า เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านมหภาคของจีนที่อ่อนแอ และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 กันยายน) CCTV สื่อของรัฐบาลจีน รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดกับธนาคารกลางจีนว่า ไม่มีตลาดด้านเดียวสำหรับอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งเสริมว่าความผันผวนแบบ 2 ทางเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ป้องกันการเก็งกำไร
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ หน่วยงานกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เลิกเดิมพันกับทิศทางและขอบเขตของการเคลื่อนไหวของสกุลเงินใดๆ พร้อมระบุว่า ความผันผวนในระยะสั้นของหยวนเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ และบริษัทต่างๆ ควรละเว้นการซื้อขายเก็งกำไร
ทั้งนี้ เงินหยวนไม่ใช่สกุลเงินเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยหยวนซึ่งอ่อนค่าลง 2.6% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา นับว่าอ่อนค่าน้อยกว่าเยนของญี่ปุ่น และวอนของเกาหลีใต้ ที่อ่อนค่ามากกว่า 4%
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP