×

คืนนี้อีกยาวไกล! แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อคุณดื่มหนักเกินไป

08.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • จากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในปี 2013 พบว่าวันที่คนบริโภคแคลอรีเข้าไปจำนวนมากนั้นมักจะเป็นวันที่มีการดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย
  • การดื่มอย่าง ‘พอเหมาะ’ ที่คละๆ กันไปในแต่ละสัปดาห์สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้ แต่การศึกษาชิ้นใหม่ระบุว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ และนิสัยการดื่มของคุณด้วย
  • ดังที่กล่าวๆ กันว่าไวน์หนึ่งแก้วดีต่อหัวใจ แต่หากดื่มมากกว่านั้นแทนที่ว่าจะเป็นประโยชน์ กลับอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายส่วนอื่นๆ เช่น เกิดโรคความดันสูง ตับอ่อนอักเสบ เป็นอันตรายต่อตับ ไปจนมะเร็ง ส่วนการกระดกหนักรวดเดียวในเวลาสั้นๆ สร้างความเสี่ยงให้เกิดอาการห้วใจล้มเหลวเอาได้อีกด้วย

“จน เครียด กินเหล้า” คำฮิตติดหูจาก สสส. แม้ผ่านมานับ 10 ปีก็ยังคงฮิตโดนใจไม่เปลี่ยน ถึงแม้บางคนจะบอกว่าพวกเขาดื่มตามโอกาสเท่านั้น แต่คนบางกลุ่มกลับดื่มลืมวันลืมคืน

 

องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) เผยว่าคนอายุ 15 ปีขึ้นไปบริโภคแอลกอฮอล์แบบบริสุทธิ์ต่อวันถึง 13.5 กรัม ในขณะที่คนอีกค่อนโลกไม่ดื่ม กลุ่มนักดื่มก็ดื่มเผื่อคนไม่ดื่มไปด้วยก็ว่าได้

 

 

ในขณะที่ประชากรโลกส่วนมากดื่มแอลกอฮอล์ต่างชนิดกัน แต่คนอเมริกันนิยมดื่มเบียร์เป็นหลัก Beverage Marketing Corp. กลุ่มบริษัทให้คำปรึกษาและเก็บข้อมูลในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเผยตัวเลขการดื่มในปี 2017 ว่าวัยผู้ใหญ่ที่ดื่มได้ชาวอเมริกันดื่มเบียร์ราวๆ 27 แกลลอน หรือราวๆ 216 แก้ว ดื่มไวน์ 2.6 แกลลอน และสปิริตอื่นๆ ราว 2.2 แกลลอนต่อคน

 

ฟังดูไม่เยอะ และจะเรียกว่าชนแดนมะกันคออ่อนก็คงไม่ผิด เพราะเมื่อเทียบกับตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกแล้ว ชนแถบยุโรปตะวันออกอย่าง ลิทัวเนีย เบลารุส สาธารณรัฐเช็ก โครเอเชีย และบัลแกเรีย กลับดื่มจนอเมริกันชนยังต้องโบกธงขาว

 

หากวัดกันด้วยปริมาณการดื่มเป็นลิตรของคนอายุ 15 ปีขึ้นไป สหรัฐอเมริกาติดอันดับประเทศที่ดื่มมากที่สุดของโลกอยู่ที่อันดับ 36 ออสเตรียอยู่ที่อันดับ 6 ฝรั่งเศสดื่ม (ไวน์) กันเยอะเป็นอันดับที่ 9 และไอร์แลนด์อันดับที่ 15 (เน้นเบียร์เป็นหลัก) ส่วนสหราชอาณาจักรอยู่ที่อันดับ 18

 

ทีนี้ใครดื่มน้อยที่สุดในโลกล่ะ?

 

แน่นอนว่าบรรดาชาติที่เคร่งศาสนาในแถบตะวันออกกลางนั่นเอง

 

แต่การดื่ม (ไม่ว่าคุณจะจัดหนักย่ำรุ่ง จบที่ร้านข้าวต้ม หรือแก้วเดียวสวยๆ แล้วกลับบ้าน) ผลเสียของแอลกอฮอล์ที่มีต่อร่างกายนั้นมีมากแค่ไหนเชียว นี่คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกเรา

 

 

นับแคลอรี

ถึงคุณจะไม่ได้ห่วงเรื่องรอบเอวอยู่ แต่ตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้คุณสะดุ้งเล็กน้อยขณะดื่มด่ำกับชั่วโมงนาทีทองซื้อ 1 แถม 1 เพราะการดื่มเบียร์หลังเลิกงานที่มี 153 แคลอรี เท่ากับคุณกำลังกินโอริโอคุกกี้ (ที่บอกว่าอ้วนนักอ้วนหนา) อยู่ 2-3 ชิ้นเชียว

 

แต่แคลอรีในเบียร์ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์และคาร์โบไฮเดรตเช่นกัน ดังนั้นหากคุณเป็นแฟนของคราฟต์เบียร์ยอดฮิต เรื่องนี้อาจทำใจยากสักหน่อย เนื่องจากคราฟต์เบียร์มักมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและแคลอรีที่สูงกว่า ที่นี้สงสัยใช่ไหมว่าแล้วไวน์ล่ะ?

 

ไวน์ขาว 1 แก้วมีแคลอรีราวๆ 120 แคลอรี ขณะที่ไวน์แดงราวๆ 125 แคลอรี (แต่หากคุณริมจนเต็มแก้วก็อาจจะต้องคูณสองเข้าไป)

 

ในส่วนของเหล้าลิเคอร์อื่นๆ อาทิ จิน รัม วอดก้า เตกีลา หรือวิสกี้จะมีแคลอรีอยู่ที่ 97 แคลอรีต่อ 1.5 ออนซ์ ซึ่งยังไม่รวมเหล่าขบวนมิกเซอร์ที่มักถูกผสมใส่เข้าไปนะ ส่วนมาร์การิตาแก้วโปรดที่คุณผู้หญิงท้าชนกับก๊วนเพื่อนสาวอยู่ที่ 168 แคลอรี ส่วนพินา โคลาดา อยู่ที่ 490 แคลอรี พอๆ กับการจกข้าวเหนียวหมูสวรรค์หวานเจี๊ยบ 1 ชุดเลยทีเดียว!

 

via GIPHY

 

จากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในปี 2013 พบว่าวันที่คนบริโภคแคลอรีเข้าไปจำนวนมากนั้นมักจะเป็นวันที่มีการดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายบริโภคแอลกอฮอล์เกินราวๆ 433 แคลอรี ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 299 แคลอรี

 

นอกเหนือจากนั้นอิทธิพลของแอลกอฮอล์ยังส่งผลถึงการควบคุมตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การกินที่มากเกินไป ผลการศึกษาเมื่อปี 1999 พบว่าคนกินอาหารมากขึ้นเมื่อดื่มเหล้าก่อนอาหารค่ำมากกว่าถ้าไม่ได้ดื่มก่อนกิน

 

แต่ถ้าคุณดื่มวันละแก้วเท่านั้นตามมาตรฐาน (ของอเมริกา) ที่ว่ากัน คือ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง 2 สำหรับผู้ชาย น้ำหนักของคุณก็อาจจะไม่ขึ้นพรวดพราด โดยเฉพาะเมื่อคุณใช้ชีวิตที่ค่อนข้างรักษาสุขภาพ

 

ตัวอย่างจากการศึกษาเมื่อปี 2002 ที่ทดสอบชายและหญิงชาวฟินแลนด์เกือบ 25,000 คน ตลอดระยะเวลา 5 ปี พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตที่แอ็กทีฟ ไม่สูบบุหรี่ และการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นมีส่วนช่วยให้มีน้ำหนักที่คงที่ปกติ (สายแอ็กทีฟเฮกันได้!)

 

ถึงกระนั้นการดื่มหนักย่ำรุ่ง หรือดื่มท้าล้มก็มีส่วนเกี่ยวโยงกับโรคอ้วน นั่นสิคือปัญหา เพราะตัวเลขของคนที่ดื่มหนัก (หนักที่ว่าคือ 5 แก้วขึ้นไปสำหรับผู้ชาย และ 4 แก้วขึ้นไปสำหรับผู้หญิงภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง อย่างต่ำเดือนละครั้ง) กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศอย่างสหรัฐฯ

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention) เผยว่ามีผู้ใหญ่ 1 ใน 6 ที่ดื่ม ‘หนัก’ ราวๆ 4 ครั้งภายใน 1 เดือน โดยกระดกรวดเดียวหมดครั้งละ 8 แก้วด้วยกัน ขณะที่จากการสำรวจในปี 2016 ของสหราชอาณาจักรพบว่ามีจำนวน 2.5 ล้านคนที่ยอมรับว่าดื่มอย่างหนัก (binge drinking ในที่นี้หมายถึงดื่มแอลกอฮอล์เยอะในเวลาอันสั้น) ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน

 

ไม่ว่าคุณจะรู้แล้วหรือไม่ก็ตาม แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ไม่มีสารอาหารใดๆ (และอ้างไม่ได้ด้วยว่าช่วยฆ่าเชื้อโรคตอนที่คุณกำลังเป็นหวัด!) โดยแอลกอฮอล์ 1 กรัมมีจำนวน 7 แคลอรีด้วยกัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าการกินโปรตีน กระทั่งคาร์โบไฮเดรต ซึ่งทั้งคู่มีปริมาณ 4 แคลอรีต่อกรัม ขณะที่ไขมัน (ที่มักถูกป้ายสีว่าเป็นวายร้าย) อยู่ที่ 9 แคลอรีต่อกรัม ซึ่งไม่ห่างกันเท่าใดนัก

 

แล้วแอลกอฮอล์นี้เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะไปที่ไหนกันล่ะ?

 

via GIPHY

 

หัวใจถามหา มะเร็งตามมา

ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ‘ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ’ คำว่า ‘พอเหมาะ’ ที่ว่าอันหมายถึง 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้ แต่การศึกษาชิ้นใหม่ระบุว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ และนิสัยการดื่มของคุณด้วย

 

งานวิจัยในปี 2017 ที่ทดลองกับชาวอังกฤษจำนวน 2 ล้านคนที่ไม่มีปัญหาความเสี่ยงเรื่องทางเดินหัวใจ พบว่าการดื่มอย่างพอเหมาะนั้นมีประโยชน์บ้างกับร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัย 55 ปีขึ้นไปที่ดื่ม 5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ที่เจาะจงว่าต้องเป็นวัยนั้นๆ ก็เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยปรับคอเลสเตอรอลและการแข็งตัวของเลือดไปในทางบวกได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังกล่าวอีกว่าอายุที่ปัญหาหัวใจเริ่มจะเกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงวัยดังกล่าว

 

แต่ประโยชน์ข้างต้นที่ว่านั้นหมายถึงการดื่มอย่าง ‘พอเหมาะ’ ที่แบ่งช่วงเวลาการดื่มคละๆ กันไปในแต่ละสัปดาห์เท่านั้น ไม่ใช่ดื่มหนักรวดเดียวในเวลาสั้นๆ ซึ่งนั่นกลับสร้างความเสี่ยงให้เกิดอาการห้วใจล้มเหลวอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามน่าคิดต่อตรงที่ว่าแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ แต่กลับอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายส่วนอื่นๆ เสียมากกว่า เช่น เกิดโรคความดันสูง ตับอ่อนอักเสบ เป็นอันตรายต่อตับ ไปจนโรคมะเร็ง

 

via GIPHY

 

นักดื่มผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 6% อาจเป็นเพราะทำให้ระดับฮอร์โมนสูงขึ้นในเลือด การดื่มยังเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งในช่องปากอีกด้วย สาเหตุเนื่องจากความเป็นไปได้ที่ว่าแอลกอฮอล์ตัวร้ายไปทำให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอลง ทำให้เกิดอาการอักเสบ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทั้งหมดที่ฟังดูน่ากลัวนี้ไม่ได้แค่เสี่ยงสำหรับคนที่ติดเหล้าเท่านั้น แต่สำหรับขาโจ๋ดื่มหนักเช่นกัน

 

via GIPHY

 

โรคเบาหวานที่ไม่ได้หอมหวาน

ความเกี่ยวโยงกันระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโรคเบาหวานนั้นถือเป็นเรื่องซับซ้อน จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มอย่างพอเหมาะในช่วงระหว่าง 3-4 วันต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน ประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) แต่ถึงอย่างไรการดื่มแบบลืมโลกก็อาจทำให้คุณเขยิบเข้าใกล้ความเสี่ยง (อีกแล้ว) ในการเป็นโรคเบาหวาน เพราะจำนวนแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปทำให้ตับอ่อนอักเสบ เป็นผลมาจากการหลั่งอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดภายในร่างกาย

 

และหากคุณเป็นโรคเบาหวาน เจ้าแอลกอฮอล์อาจทำปฏิกิริยากับยาต่างๆ ที่คุณกินเข้าไป ซึ่งหากคุณได้รับอินซูลินเข้าไป หรือรับประทานยาที่กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลิน แอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดตกจนเป็นอันตราย เนื่องจากแอลกอฮอล์เองก็ทำหน้าที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลินเช่นกัน นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญถึงแนะนำว่าห้ามดื่มตอนท้องว่าง แต่หากจะดื่ม ให้ดื่มคู่กับมื้ออาหารนั่นเอง

 

via GIPHY

 

อารมณ์และความจำ

เหล้าทั้งหลายเป็นเสมือนยากดประสาท แม้จะทำให้คุณรู้สึกราวกับคึกคักระดับ 10 จนเต้นท่าไก่ย่างสมัยมหาวิทยาลัยต่อหน้าคนไม่รู้จักได้ไม่มีแคร์ แต่แท้จริงแล้ว เป็นการกดประสาทในส่วนที่รับรู้ในสมองของเราที่ใช้สำหรับควบคุมการกระทำ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทำให้ยิ่งดื่ม บางคนยิ่งแสดงอารมณ์ในด้านลบออกมา โดยอาจเป็นอาการประสาทเสีย ความโกรธ เหวี่ยง กระทั่งอารมณ์เศร้าที่อาจมาแทนที่ (คุณมีเพื่อนคนนั้นที่ร้องไห้ไม่หยุดที่งานปาร์ตี้ไหมล่ะ…?)

 

นี่เป็นเหตุผลที่การดื่มอย่างไร้จุดหมาย หรือดื่มสายโหดที่กระดกไปเรื่อยมีความเกี่ยวโยงกับระดับความซึมเศร้า การทำร้ายตัวเอง การคิดสั้น หรืออารมณ์และอาการรุนแรงต่างๆ นอกจากนั้นเรายังมักเห็นอาการ ‘ภาพตัด’ หรือ ‘สลบ’ ที่เกิดขึ้นเพราะเกิดจากการดื่มเสมอๆ นี่คืออาการหลงลืมว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างเมาจนคอพับ โดยอาจเป็นได้ทั้งภาพเบลอๆ ไปจนหลงลืมชื่อ หรือแย่กว่านั้นคือลืมไปว่าทั้งคืนทำอะไรมาก็ได้ (ฉันไปจอดรถที่ไหนมานะ?)

 

นี่เป็นอิทธิพลของเหล้ายาปลาปิ้งที่ไปลดปฏิกิริยาไฟฟ้าในเซลล์ประสาทที่อยู่ในส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว ส่งผลให้เกิดอาการ ‘ความจำปลาทอง’ หรือความจำสั้นเอาได้ ดังนั้นหากดื่มด่ำนำ้เมาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว อาจเกิดความเสียหายต่อส่วนฮิปโปแคมปัสในสมองจนก่อให้เกิดปัญหาความจำสั้น ไปจนปัญหาเรื่องของความรู้ความเข้าใจเอาได้

 

แม้วัยรุ่นจะเป็นช่วงวัยที่ได้รับผลจากปัญหาความจำที่ว่ามากที่สุด แต่กลับไม่ค่อยได้รับผลข้างเคียงของแอลกอฮอล์เท่าใดนัก นั่นหมายความว่าหนุ่มสาววัยเอ๊าะสามารถดื่มได้มากกว่า โดยไม่รู้สึกเมาเท่ากับวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ยิ่งดื่มได้เรื่อยๆ ขณะที่แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายสมอง (สงสัยไหมว่าทำไมยิ่งอายุมากขึ้นอาการแฮงค์ยิ่งอยู่ยงคงกระพันไม่ออกจากร่างไปเสียที?)

 

via GIPHY

 

เสียลุค

ท้ายสุดแล้ว เหล้าแก้วโปรดยังส่งผลกับภาพลักษณ์ของคุณอย่างมาก อย่างแรกคือทำให้ขาดน้ำ อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาผิวแห้งและริ้วรอยเหี่ยวย่น ตลอดจนโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (rosacea) ทั้งรอยแดง สิว หรืออาหารบวมบนใบหน้า (หรือจริงๆ แล้วคุณไม่ได้อ้วน คุณแค่บวมกันนะ?)

 

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น เพราะคุณอาจปล่อยกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาขณะดื่มด่ำกับค่ำคืนโดยไม่รู้ตัว เพราะตับกำลังจัดการกับเครื่องดื่มที่คุณดื่มลงไปในท้อง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดราวๆ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาจจะออกมาทางลมหายใจ การปัสสาวะ หรือทางเหงื่อ

 

ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่การดื่มส่งผลต่อภาพลักษณ์อันสวยงามของคุณ นั่นก็คือเรื่องของการนอนหลับนั่นเอง เราคงไม่เถียงที่ไวน์สักแก้วคงทำให้เคลิ้มหลับได้อย่างสบายๆ แต่บางครั้งแทนที่จะหลับปุ๋ย ร่างกายกลับอยู่ในโหมดตื่นตัว ทำให้ตื่นง่าย หลับไม่ลึก (สังเกตว่าหัวใจจะเต้นตูมตามเมื่อเราดื่มมากไป) ซึ่งอาการนี้จะแย่ลงตามปริมาณการดื่มของเรา

 

นอกจากนั้น ผู้หญิงรู้กันดีว่าการอดนอนทำให้เกิดอาการหมีแพนด้าใต้ตา ทั้งตาบวม ทั้งเครียดง่าย (แบบวนๆ กันไป) ไม่แปลกใจที่ผลการศึกษาชี้ว่า ยิ่งปาร์ตี้ย่ำรุ่ง ยิ่งเผยรอยแก่ก่อนวัย ทำให้เสียความมั่นใจอีกด้วย 

 

ดังนั้นก่อนจะชนแก้วสักแก้วสองแก้ว (และอีกหลายๆ แก้วตามมา) กับใครคราวหน้า ไม่ว่าจะที่บาร์แถวออฟฟิศ วันเกิดเพื่อน หรืองานแต่งพี่ที่รู้จัก โปรดจำไว้ว่านอกจากเงินที่เสียไปกับค็อกเทลหรือน้ำสีทองเย็นเจี๊ยบชื่นใจ คุณอาจไม่ได้เสียแค่เงินในกระเป๋าตังค์ แต่ยังรวมถึงสุขภาพอีกด้วย

 

เอ้าเชียร์ส…

 

via GIPHY

 

อ่านเรื่องแอลกอฮอล์ทำอะไรเราไม่ได้ ดื่มยังไงไม่ให้หุ่นพังได้ที่นี่

 

อ่านเรื่องดื่มแค่ไหน หน้าก็ยังใส ไม่เมาค้าง นี่คือวิธีจัดการแบบอยู่หมัดได้ที่นี่

 

ทำความรู้จักอาการแฮง ไขปริศนา ทำไมเราถึงแฮง…และแก้แฮงยังไงจึงอยู่หมัด? ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่องดื่มยังไงก็ไม่เมา? เหล้าไร้แอลกอฮอล์ เทรนด์เครื่องดื่มน่าสนที่ดื่มแล้วขับ กลับดึกก็ยังโอเคที่นี่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X