×

บริดเจ็ต โจนส์กับไวน์ของเธอส่งผลกระทบอย่างไรต่อทัศนคติของผู้หญิงและอุตสาหกรรมไวน์?

26.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Bridget Jones คือนิยายจากปลายปากกาของเฮเลน ฟีลดิง (Helen Fielding) ซึ่งเธอเขียนเรื่องราวของหญิงสาววัยขึ้นเลข 3 ที่ยุ่งเหยิงทั้งเรื่องงาน ความรัก และชีวิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1996 ก่อนจะมีภาคต่ออีก 2 เล่มในปี 1999 และ 2013
  • เจมส์ แม็กคอย (James McCoy) นักวิจัยจาก Mintel บริษัทวิจัยการตลาดในอังกฤษทำการวิจัยเรื่องการบริโภคไวน์ของผู้หญิงในช่วงปี 2005 เขาให้นิยามผู้หญิงโสดวัยทำงานแต่กระเป๋าหนักว่าเป็น ‘Bridget Jones Generation’ กล่าวคือผู้หญิงในยุคนั้นหันมาเริ่มต้นบริโภคไวน์มากขึ้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน
  • วิกตอเรีย เจมส์ (Victoria James) จาก The Japan Times ในประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า “เราเห็นยุคอนาคตของอุตสาหกรรมไวน์แล้วล่ะ และเราเรียกมันว่ายุค บริดเจ็ต โจนส์” ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะเจมส์ได้เล็งเห็นว่าบริดเจ็ต โจนส์คือผู้ที่เปลี่ยนแปลงค่านิยมการดื่มไวน์ในกลุ่มผู้หญิงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การดื่มไวน์นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของคนวัย 50 ปีขึ้นไปเท่านั้น

คุณคงจำภาพหญิงสาวจ้ำม่ำ ขี้เมา แถมยังชอบคุยกับตัวเองเหมือนนางเอกละครหลังข่าวประเทศไทยที่ชื่อ บริดเจ็ต โจนส์ จาก Bridget Jones’s Diary ได้ใช่หรือไม่? เธอคือตัวละครหลักในภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของเฮเลน ฟีลดิง (Helen Fielding) ที่เล่าเรื่องของผู้หญิงโสดคนหนึ่งที่ชีวิตรักนั้นวุ่นวายอย่างน่าหมั่นไส้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายมาแล้วทั้งหมด 3 ภาคในระยะเวลากว่า 17 ปีตั้งแต่ปี 2001

 

 

ในแฟรนไชส์หนังเรื่องนี้ คุณอาจจะจำได้ว่าหล่อนนั้นเคยใส่บราและกางเกงในตัวน้อยวิ่งตามผู้ชายกลางหิมะมาแล้วในหนังภาคแรก สอนผู้หญิงไทยในคุกร้องเพลง Like A Virgin ของมาดอนน่า ในหนังภาค 2 หรือล้มหน้าทิ่มเพราะจิกส้นสูงเดินบนบ่อโคลนในหนังภาคล่าสุด แต่สิ่งหนึ่งที่คุณอาจไม่เคยสังเกตหรือไม่เคยรู้นั่นคือ เครื่องดื่มแสนโปรดของเธออย่าง ‘ไวน์’ นั้นก็เป็นสิ่งที่น่าจดจำไม่แพ้เรื่องราวในหนังเลยทีเดียว

 

ไม่ใช่เพราะว่าเธอเป็นสาวขี้เมาที่มีรสนิยม แต่การยกแก้วไวน์ขึ้นดื่มของบริดเจ็ต โจนส์ทุกครั้งกลับมีเรื่องราวมากกว่านั้น เพราะผู้หญิงเปิ่นๆ คนนี้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมไวน์โลกมาแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ!

 

 

เมื่อครั้งที่บริดเจ็ต โจนส์ภาคแรกออกฉายในปี 2001 หนังค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในบ้านเกิดอย่างเกาะอังกฤษ ในสหรัฐอเมริกาเอง หรือแม้แต่ในประเทศออสเตรเลียเอง หนังก็ทำรายได้ติด 1 ใน 10 หนังทำเงินของปี แถมยังทำรายได้สูงกว่าหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Pearl Harbor เสียอีก!

 

หลังจากนั้นในปี 2004 หนังภาคต่อของบริดเจ็ต โจนส์ในชื่อ Bridget Jones’s Diary: The Edge of Reason ก็สามารถต่อยอดความสำเร็จในประเทศออสเตรเลียได้จนขนาดที่ในอีกปีให้หลังจากหนังภาค 2 ออกฉายพบว่า มีบทความออกมาสนับสนุนการดื่มไวน์ของบริดเจ็ต โจนส์ว่า ‘มีประโยชน์’ โดย ริชาร์ด ฟาร์เมอร์ (Richard Farmer) ได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวลงในเว็บไซต์ของกลุ่มผู้ผลิตและประกอบการอุตสาหกรรมไวน์ในออสเตรเลีย เขานำเอายอดขายไวน์ในออสเตรเลียขึ้นมาอ้างอิงกับภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมกับกล่าวว่า “อุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลียควรจะต้องขอบคุณบริดเจ็ต โจนส์นะ” ฟังดูน่าขัน เพราะเพียงแค่หนังเรื่องเดียว ผู้หญิงคนเดียว และไวน์แก้วเดียวคงจะไม่สามารถส่งผลกระทบอะไรต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีจริตได้ขนาดนั้น

 

ซึ่งฟาร์เมอร์ได้อ้างอิงจากบทความของเจมส์ แม็กคอย (James McCoy) นักวิจัยจาก Mintel บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังในอังกฤษอีกทอดหนึ่ง แม็กคอยได้ทำการวิจัยและยกเอาคาแรกเตอร์ของผู้หญิงโสดวัยทำงานแต่กระเป๋าหนักขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในงานวิจัยของเขา ซึ่งเขาพบว่าพวกหล่อนที่มีคุณสมบัติครบตามข้างต้น เลือกจ่ายเงินเพื่อซื้อไวน์มากขึ้นโดยให้นิยามว่าเป็น ‘Bridget Jones Generation’ กล่าวคือ ผู้หญิงในยุคนั้นหันมาเริ่มต้นบริโภคไวน์มากขึ้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน ด้วยยอดขายไวน์ที่พุ่งสูงขึ้น 30% ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปี 2003 อันเป็นช่วงที่ภาพยนตร์ภาคแรกของบริดเจ็ต โจนส์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งส่งผลให้ยอดขายและยอดส่งออกของไวน์จากประเทศออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

 

 

ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลียเท่านั้น แต่การที่มีผู้หญิงแบบบริดเจ็ตเกิดขึ้นมาบนโลกนั้นส่งผลไปถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมของ ‘ผู้หญิง’ กับ ‘การดื่มไวน์’ ไปอย่างสิ้นเชิง อย่างในบทความหนึ่งในปี 2004 โดยวิกตอเรีย เจมส์ (Victoria James) จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นอย่าง The Japan Times เองก็ยังเคยกล่าวว่า “เราเห็นยุคอนาคตของอุตสาหกรรมไวน์แล้วล่ะ และเราจะเรียกมันว่ายุคบริดเจ็ต โจนส์” ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะเจมส์ได้เล็งเห็นว่าบริดเจ็ต โจนส์คือผู้ที่เปลี่ยนแปลงค่านิยมการดื่มไวน์ในกลุ่มผู้หญิงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การดื่มไวน์นั้นเข้าถึงได้ง่ายดายขึ้นมากกว่าจะเป็นแค่เรื่องของเครื่องดื่มสำหรับคนวัย 50 ขึ้นไป และทำให้ไวน์ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง แต่หมายถึงการบ่งบอกไลฟ์สไตล์ส่วนตัวอีกด้วย และกลายเป็นว่าผู้หญิงในวัยที่อ่อนกว่า ที่มีอายุราวประมาณ 20-30 ปีหันมาดื่มไวน์กันมากขึ้น เพราะแลดูดี มีระดับ แถมยังไปได้ดีกับอาหารหลายๆ จานอีกด้วย

 

 

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ด้านบวกเท่านั้น เพราะใน Bridget Jones’s Diary: The Edge of Reason ภาค 2 ของบริดเจ็ต โจนส์ เคยมีฉากที่ตัวเอกของเรื่องเปิดไวน์ชาร์ดอนเนย์หนึ่งขวดและพร่ำเพ้อกับตัวเองและไดอะรีของเธอว่า

 

‘Dear diary, I’ve failed again, I’ve poured an enormous glass of Chardonnay and I’m going to put my head in the oven.’

 

แปลได้ว่าไดอะรีที่รัก ฉันทำพลาดอีกแล้ว ฉันรินชาร์ดอนเนย์แก้วใหญ่ไว้ดื่ม และกำลังจะเอาหัวตัวเองมุดเข้าไปในเตาอบ ซึ่งฟังๆ ดูแล้วอาจเป็นเพียงแค่ถ้อยความที่เธอกำลังรู้สึกอาดูรกับชีวิตรัก แต่การเลือกหยิบไวน์ชาร์ดอนเนย์ขึ้นมาดื่มกลับไม่ใช่เรื่องที่เธอและผู้เขียนนิยายตัดสินใจถูกนัก พอๆ กับการให้มาสคาร่าของนางไหลเปรอะหน้าเพื่อแสดงความบัดซบของชีวิต

 

ออซ คลาก (Oz Clarke) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์ในเกาะอังกฤษได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Telegraph เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า “ยอดขายไวน์ชาร์ดอนเนย์ในอังกฤษตกลงก็เพราะบริดเจ็ต โจนส์” ในปี 2008 ซึ่งเป็นระยะเวลา 4 ปีให้หลังจากหนังภาค 2 ของบริดเจ็ตออกฉาย จนเราแอบตั้งคำถามกับประเด็นที่คลากกล่าว “มันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือ?” ทั้งๆ ที่ชาร์ดอนเนย์คือเพื่อนแท้ยามยากของบริดเจ็ตทั้งเวอร์ชันนิยายและหนังเชียวนะ! (ถึงแม้เวอร์ชันภาพยนตร์บริดเจ็ตจะดื่มทุกอย่างที่มี ‘แอลกอฮอล์’ ก็ตาม)

 

แต่มันเป็นไปแล้วจริงๆ เพราะยอดขายของไวน์ขาวรสชาติสดชื่นยอดฮิตขวดนี้ตกลงราว 7.5 ล้านขวดในระยะเวลา 12 เดือนหลังจากหนังออกฉาย ซึ่งคลากโบ้ยความผิดนี้ให้กับบริดเจ็ต โจนส์ไปอย่างหน้าตาเฉย

 

 

คลากให้เหตุผลที่เขากล่าวอ้างว่ายอดขายของชาร์ดอนเนย์ในอังกฤษตกฮวบลงเพราะบริดเจ็ต โจนส์ว่า “ก่อนหน้านี้ชาร์ดอนเนย์เป็นไวน์ที่เซ็กซี่มาก ใครๆ ก็ต่างชอบ จนกระทั่งบริดเจ็ต โจนส์ถือแก้วชาร์ดอนเนย์ นั่งพร่ำบ่นชีวิต มันเลยกลายเป็นไวน์ที่ไม่เก๋อีกต่อไป” ซึ่งในปีเดียวกันกับที่บทความดังกล่าวเผยแพร่ออกมา กลับกลายเป็นว่าไวน์ขาวประเภทอื่นๆ อย่าง ซาวิญง บลอง (Sauvignon Blanc) หรือ ปิโน กรีจิโอต์ (Pinot Grigio) ขายดิบขายดีขึ้นมาแทนที่ชาร์ดอนเนย์ไปเสีย

 

การที่บริดเจ็ต โจนส์เลือกชาร์ดอนเนย์ให้เป็นไวน์ที่อยู่กับเธอยามหมองเศร้า และ ออซ คลาก บอกว่าเธอทำให้มันกลายเป็นไวน์ที่ไม่เก๋อีกต่อไป อาจเป็นเพราะคาแรกเตอร์ของไวน์ชาร์ดอนเนย์ที่มักจะเป็นไวน์รสชาติสดชื่น อบอวลไปด้วยกลิ่นผลไม้บางๆ อาจจะไม่ควรหยิบขึ้นมาดื่มในสถานการณ์เช่นเดียวกันกับในหนังหรือไม่ ออซ คลาก ยังหยิกแกมกัดบริดเจ็ต โจนส์อีกว่า “เอาอย่างนี้ ผมอยากจะขายไวน์ประเภทหนึ่งที่ทำให้ผู้ดื่ม ดื่มแล้วรู้สึกอนาถใจ หดหู่กับชีวิต ผมขอตั้งชื่อมันว่าชาร์ดอนเนย์ดีไหม?”

 

 

คงมีคนน้อยคนจะเคยคาดคิดว่าบทบาทของตัวละครอย่าง ‘บริดเจ็ต โจนส์’ จากหนังโรแมนติกคอเมดี้จะเคยสร้างผลกระทบอย่างมากมายเพียงแค่เธอดื่มไวน์ไม่กี่แก้วเท่านั้น ถึงแม้เรื่องราวเหล่านี้จะผ่านไปเป็นสิบปีแล้ว แต่มันก็เป็นบันทึกเล็กๆ ของประวัติศาสตร์โลกที่โยงภาพยนตร์เข้ากับเครื่องดื่มอย่างไวน์ได้อย่างน่าประหลาดใจปนชวนขันได้ไม่น้อยทีเดียว

 

ว่าแล้วก็หาชาร์ดอนเนย์หอมๆ สักขวดมาเปิดพร้อมกับหยิบ Bridget Jones มาชมช่วงสุดสัปดาห์นี้หน่อยจะเป็นไร!

Photo: Giphy

อ้างอิง:

FYI
  • Bridget Jones คือนิยายจากปลายปากกาของเฮเลน ฟีลดิง (Helen Fielding) ซึ่งเธอเขียนเรื่องราวของหญิงสาววัยขึ้นเลข 3 ที่ยุ่งเหยิงทั้งเรื่องงาน ความรัก และชีวิต ผ่านคอลัมน์ Bridget Jones’s Diary ใน The Independent หนังสือพิมพ์ชื่อดังในอังกฤษตั้งแต่ปี 1995 ก่อนจะรวบรวมเป็นหนังสือในปี 1996 ในชื่อเดียวกับคอลัมน์ดังกล่าว และมีภาคต่อในปี 1999 ในชื่อ Bridget Jones’s Diary: The Edge of Reason และ Bridget Jones: Mad About the Boy ภาคสุดท้ายในปี 2013
  • ภาพยนตร์ Bridget Jones ทั้ง 3 ภาคทำรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 756 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 23,784 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X