วานนี้ (15 กุมภาพันธ์) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้คำมั่นปกป้องพลเมืองอเมริกันและบรรดาชาติพันธมิตร NATO ในวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนอย่างเต็มกำลัง หลังพื้นที่บริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศนี้ตึงเครียดเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ไบเดนเน้นย้ำถึงจุดยืนเรื่องความมั่นคงร่วมที่บรรดาสมาชิก NATO ยึดถือร่วมกัน ตามมาตรา 5 ในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ โดยระบุว่า “อย่าทำผิดพลาด สหรัฐฯ จะปกป้องอาณาเขตทุกตารางนิ้วของบรรดาชาติสมาชิก NATO อย่างเต็มกำลัง การโจมตีสมาชิก NATO ประเทศใดประเทศหนึ่งถือเป็นการโจมตีพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน”
โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน หากรัสเซียเดินหน้าที่จะบุกยูเครนและสร้างความเสียหายให้กับชาติสมาชิก NATO รัฐบาลสหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของรัสเซียในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ในทันที โดยระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งกองกำลังทหารอเมริกันเข้าไปยังพื้นที่ของยูเครนโดยตรง แต่จะส่งไปยังพื้นที่ของพันธมิตร NATO โดยรอบ
นอกจากนี้ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการเผชิญหน้ากับรัสเซีย แต่หากรัสเซียมุ่งเป้ามาที่พลเมืองของสหรัฐฯ ในยูเครน ทางรัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องตอบโต้เต็มกำลัง และถ้าหากรัสเซียโจมตีสหรัฐฯ หรือบรรดาชาติพันธมิตร ด้วยวิธีการอื่นๆ อาทิ โจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานของเรา สหรัฐฯ เองก็พร้อมที่จะหาวิธีตอบโต้ด้วยเช่นกัน
แม้ทางการรัสเซียจะปฏิเสธแนวคิดที่จะบุกรัสเซีย และเผยว่าเริ่มมีการเคลื่อนพลบางส่วนออกจากบริเวณพรมแดนฝั่งที่ติดกับยูเครนบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้แน่ชัดว่ากองทัพรัสเซียบางส่วนกำลังเคลื่อนพลกลับ อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังมองว่ากองกำลังทหารที่ประจำการอยู่ก็ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่าราว 1.5 แสนนาย
ทางด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ช่วงเวลาที่จะให้พลเมืองอเมริกันออกจากยูเครนอาจเป็นอดีตไปแล้ว โดยระบุว่า “พลเมืองอเมริกันไม่ควรคาดหวังว่ากองทัพอเมริกันจะเดินทางเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาถึงในยูเครนในช่วงนาทีสุดท้าย สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในฉากทัศน์ของวิกฤตในครั้งนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการให้เดินทางออกจากยูเครนโดยเร็วในตอนนั้นจึงอาจไม่ทันการณ์และเป็นอดีตไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีข้อจำกัดมากๆ ที่ทางการสหรัฐฯ จะสามารถทำได้ภายในเขตพื้นที่สงคราม” แต่กระนั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนความตั้งใจและจุดยืนที่จะสนับสนุนกองทัพยูเครนได้ แต่เป็นในรูปแบบอื่นที่เลี่ยงการปะทะกับอีกฝ่ายโดยตรง อาทิ การช่วยฝึกซ้อมรบให้กองกำลังท้องถิ่นของยูเครนในช่วงปลายปี 2021
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- วิธีทางการทูตจะช่วยป้องกันการเกิดสงครามใน ‘วิกฤตการณ์ยูเครน’ ได้จริงหรือ?
- ‘ประเด็นน่าจับตาในการเมืองโลก 2022 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข’ และชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/world-politics-2022-by-surachat-bamrungsuk/
- ‘วิกฤตยูเครน 101: หรือความขัดแย้งในศักราชใหม่จะมาถึงทางตัน?’
- ‘ฉากทัศน์ความขัดแย้งวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย มีโอกาสเกิดสงครามหรือไม่?’
- รวมลิงก์ จับตาวิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทุกเรื่องต้องรู้ในความขัดแย้ง
ภาพ: Kent Nishimura / Los Angeles Times via Getty Images
อ้างอิง: