จากกระแสการต่อต้านอุตสาหกรรม Fast Fashion ไปจนถึงภาพกองภูเขาขยะเสื้อผ้าในประเทศชิลี คนทำธุรกิจแฟชั่นควรมีส่วนร่วมในการลด Waste เพิ่ม Value ให้สินค้าอย่างไร เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์โลกร้อนที่รุนแรง พร้อมให้ความสำคัญกับคุณค่าในใจผู้บริโภคที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี คุยกับ วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ถึงการบริหารธุรกิจภายใต้วิธีคิด Circular Fashion หรือการนำเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ เพื่อส่งจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมเคสตัวอย่างการสร้างแบรนด์ Circular แบรนด์เสื้อผ้ารีไซเคิลแห่งแรกของประเทศไทย ใน THE SME HANDBOOK by UOB
จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจสิ่งทอรีไซเคิลของ SC GRAND และ Circular
ต้องเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อากงกับคุณยายของผมเริ่มต้นจากธุรกิจ Trading Textile Waste คือเป็นการซื้อเสื้อผ้าเก่า เศษผ้า หรือเศษด้ายที่เหลือจากโรงงานตัดเย็บมาใส่เข่งขาย คนสมัยก่อนจะพูดว่าคุณยายทำอุจจาระให้กลายเป็นทองนะ เพราะแทนที่ขยะตรงนั้นจะถูกทิ้ง กลายเป็นว่าสามารถเอาไปสร้างมูลค่าต่อได้อีก เราเริ่มต้นกันมาจากตรงนั้นครับ
พอมาถึงรุ่นที่สอง คุณแม่และคุณอาได้เปิดโรงงานปั่นด้ายเล็กๆ โดยการนำขยะจากโรงงานสิ่งทอเหล่านี้มาแปรสภาพเป็นเส้นใย หลังจากนั้นเราก็พัฒนาผลิตภัณฑ์กันมาเรื่อยๆ จนมาถึงรุ่นของผมที่ต่อยอดมาเป็นผ้ารีไซเคิลของ SC GRAND และเสื้อผ้าแบรนด์ Circular ที่เราผลิตออกมาเพื่อสื่อสารให้ลูกค้าเห็นว่ามันสามารถนำมาใส่ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ
การรีไซเคิลจริงๆ มีหลากหลายแบบนะครับ แต่เสื้อผ้า Circular เป็นการรีไซเคิลแบบไม่ใช้สารเคมี และไม่ได้ใช้กระบวนการในการฟอกย้อม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าผิวสัมผัสเสื้อผ้าของ Circular จะมีความไม่เท่ากันอยู่บ้าง เพราะเราไม่สามารถควบคุมเศษด้ายจากโรงงานตัดเย็บได้ว่าจะต้องเป็นแพนโทนสีนี้เป๊ะๆ ซึ่งผมว่าตรงนี้มันคือเสน่ห์ของ Textile Waste เพราะการเอาขยะแฟชั่นมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ สีที่เห็นอยู่บนเสื้อผ้าใหม่เหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นจากสีของเสื้อผ้าเก่าหรือว่าเศษผ้าเก่านั่นเอง
ศักยภาพของประเทศไทยต่อธุรกิจในรูปแบบ Circular Economy
ถ้ามองภาพรวมของธุรกิจสิ่งทอในประเทศไทย ตอนนี้ผมเห็นพลังจากคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะนะครับ ยกตัวอย่างเช่น Moreloop ที่เขานำผ้าส่วนเกินที่เหลือจากโรงงานมาขายบนแพลตฟอร์ม แทนที่จะผลิตของใหม่ออกมาขาย หรือองค์กร Fashion Revolution ที่มีการทำโปรเจกต์ Clothes Swap เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ หรือบางชุมชนในไทยที่มีการปลูกฝ้ายออร์แกนิก ลดการใช้สารเคมี มีการหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชน และใช้เปลือกไม้มาย้อมสีธรรมชาติ แล้วก็ยังมีแพลตฟอร์มของเด็กรุ่นใหม่อย่าง Reviv ที่มีการชวนคุณป้ามาซ่อมเสื้อผ้า แทนที่เสื้อผ้าชำรุดแล้วจะทิ้ง แพลตฟอร์มนี้ก็สามารถนำมาซ่อมเพื่อคืนชีวิตเสื้อผ้าเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง
Circular Economy ในรูปแบบของ SC GRAND
สำหรับ SC GRAND เรานำคอนเซปต์ Circular Economy มาปรับใช้ในแนว Circular Fashion ครับ คือเป็นการซื้อเศษผ้าเหลือๆ จากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่า หรือว่าเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เรานำของเสียพวกนี้มาคัดแยกเฉดสี แล้วก็แปรสภาพเป็นเสื้อผ้าใหม่ออกมาขายให้ลูกค้า
และเรามีการทำการตลาดอีกแบบหนึ่งคือ Circular T-Shirt Club คือเวลาที่มาซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ Circular ของเรา คุณสามารถนำเสื้อยืดเก่ามาแลกเป็นส่วนลด 100 บาทได้ โดยเสื้อผ้าเก่าตรงนั้นเราก็เอาไปรีไซเคิลเพื่อนำเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่ในคอลเล็กชันหน้า
นอกจากนี้ยังมีบริการ Circular OEM ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่เรามักจะเห็นบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนยูนิฟอร์ม หรือใช้เสื้อยืด เสื้อโปโล สำหรับใส่ร่วมกิจกรรมในอีเวนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เสื้อผ้าพวกนี้จะถูกใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง แต่ถ้ามาสั่งผลิตเสื้อกับเรา คุณสามารถที่จะรวบรวมเสื้อผ้าเก่าพวกนั้นมาให้เรารีไซเคิลเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าใหม่กลับไปได้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเรื่อง Circular Business ผมคิดว่านอกจากจะมองเรื่องของ Easte แล้ว คุณต้องมองหาจุดแข็งของตัวเองด้วย
อุปสรรคหรือความท้าทายของการทำ Circular Economy ในธุรกิจที่จำเป็นต้องสร้างผลกำไร
ผมคิดว่าจุดที่ยากในการสร้างกำไรช่วงแรก คือการสื่อสารให้คนเห็นว่าผ้าที่ทำมาจากขยะแฟชั่นหรือว่าขยะสิ่งทอ มันสามารถนำมาใส่ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ นะ และมันยังถูกดีไซน์ออกมาได้สวยงามและมีหลากหลายสไตล์ด้วย นี่คือจุดที่เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับลูกค้าในช่วงแรก
และเมื่อลูกค้าเริ่มมีความตระหนักรู้ว่าในอนาคตเรากำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมายแค่ไหน เราเองในฐานะผู้ที่ทำธุรกิจแนวทางนี้ก็เหมือนได้เข้ามาร่วมสร้างแรงบันดาลใจว่า คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในช่วงเริ่มต้น
หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจคือการมองหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเรื่อง Circular Business ผมคิดว่านอกจากจะมองเรื่องของ Waste แล้ว คุณต้องมองหาจุดแข็งของตัวเองด้วย อย่างของ SC GRAND คุณยายของผมเคยเล่าให้ฟังว่า 30 ปีที่แล้ว ในกลุ่มโรงงานสิ่งทอด้วยกันจะไม่ค่อยมีใครเห็นเราอยู่ในสายตาเท่าไร เพราะเขามองว่าเราเป็นโรงงานที่รับซื้อแต่ขยะ แล้วก็ทำแต่สินค้าคุณภาพต่ำ แต่คุณยายพูดเสมอว่าเรากำลังทำของที่มันไม่มีมูลค่าให้มันกลับมามีมูลค่าอีกครั้งหนึ่งต่างหาก
เพราะฉะนั้นแต่ละองค์กรที่มีการนำ Circular Economy มาปรับใช้ก็ต้องมองหาคุณค่าของธุรกิจตัวเอง ดูจุดแข็งของตัวเอง ดูว่าเราอยากที่จะสื่อสารอะไรไปยังลูกค้า คุณอาจจะนำของที่มีไปเชื่อมกับเทคโนโลยีบางอย่าง หรืออาจจะเชื่อมกับอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ แล้วก็มาช่วยกันเริ่มต้นทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะว่าปัญหาที่เราจะเจอในอนาคตมันเป็นปัญหาของทุกคน ซึ่งบริษัทเราก็เป็นหนึ่งในองค์กรเล็กๆ ที่มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจในส่วนนี้
ในภาพใหญ่แล้ว Circular Economy ไม่สามารถทำคนเดียวได้แน่นอนครับ ขยะจากอุตสาหกรรมหนึ่งอาจจะกลายเป็นทรัพยากรของอีกอุตสาหกรรมหนึ่งก็ได้ และอุตสาหกรรมนั้นก็อาจจะมีขยะของเขาเช่นกัน ซึ่งการจะทำให้ขยะเหล่านั้นมีมูลค่า คุณอาจจะต้องไปทำงานร่วมกับกับพาร์ตเนอร์คนอื่นๆ ที่ผลิตโปรดักต์ใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วของพวกนี้ก็จะถูกวนกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าครับ
SC GRAND จะไปยืนอยู่ตรงไหนในภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกในอนาคต ถ้าคิดถึงเสื้อผ้าแฟชั่นที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลก็ต้องคิดถึงแบรนด์ Circular คนที่อยากจะได้ผ้ารีไซเคิลก็ต้องคิดถึง SC GRAND เราอยากจะเป็นหนึ่งในทางเลือกของคนที่สนใจด้าน Sustainable Textile ส่วนเป้าหมายในอนาคต ภายในปี 2025 เราอยากจะเป็น Recycle Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ และทำงานร่วมกับ Strategic Partner ต่างๆ จริงจังมากขึ้น
ธุรกิจแบบ Circular Economy ไม่สามารถทำคนเดียวได้แน่นอน เพราะขยะจากอุตสาหกรรมหนึ่งอาจจะกลายเป็นทรัพยากรของอีกอุตสาหกรรมหนึ่งก็ได้
การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอหันมาสนใจเรื่อง Circular Economy มากขึ้น
ในภาพรวมมันย่อมเป็นผลดีอยู่แล้วครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้วลูกหลานของเราในอนาคตก็ต้องอยู่ในโลกใบเดียวกันกับเรา ถ้าพวกคุณเห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แล้วหลายๆ คนมาช่วยกันปรับตัวเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ ผมเชื่อว่าเราน่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้แน่นอน
ถ้าถามว่าทำไม SC GRAND จึงมีแพสชันในเรื่องเหล่านี้มาก ผมคิดว่าแนวคิด Circular Economy มันคือดีเอ็นเอของบริษัทเราเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่เราทำเพื่อซัพพอร์ตปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้ นั่นคือเรากำลังทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับคนในเจเนอเรชันถัดไป มันทำให้รู้สึกว่าถ้าเราทำธุรกิจที่นอกจากทำกำไรแล้วก็ยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม และยังสร้างคุณค่าบางอย่างกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมด้วย มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยครับ
สิ่งที่เราทำเพื่อซัพพอร์ตปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้ นั่นคือเรากำลังทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับคนในเจเนอเรชันถัดไป
Credits
Host อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์, นัทธมน หัวใจ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Art Director กริน วสุรัฐกร
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน