ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ยาฝังคุมกำเนิด เป็นหลอดบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 มิลลิเมตร ความยาว 4-4.3 เซนติเมตร ลักษณะนิ่ม งอได้ ฝังใต้ท้องแขน เมื่อฝังก็จะมีการปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ระยะยาว ในประเทศไทยมีสองยี่ห้อ ได้แก่ อิมพลานอน (Implanon) ฝัง 1 แท่งนาน 3 ปี และ จาเดล (Jadelle) ฝัง 2 แท่ง นาน 5 ปี ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าวิธีนี้สามารถยืนยันความพึงพอใจในวัยรุ่น และลดการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี
แต่ในสังคมไทยยังมีความขัดแย้งในความคิดเห็น เรื่องการคุมกำเนิดในวัยรุ่น ว่าเป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่ โดยเฉพาะการฝังยาคุม แม้จะเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในเมืองไทยยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
ปัจจุบัน แม้ข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะลดลง แต่ในปี 2562 ยังมีหญิงวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี คลอดลูกจำนวน 2,180 คนต่อปี วัยรุ่นอายุ15-19 ปี คลอดลูกจำนวน 61,651 คนต่อปี ในขณะที่อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รายงานประจำปี 2563 สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์)
ส่วนสาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น งานวิจัยยืนยันว่าส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนและไม่พร้อม การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ส่งผลทางลบ ทั้งวัยรุ่นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ปกครอง สังคมเศรษฐกิจ และประเทศชาติ การลงเอยด้วยการทำแท้ง อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของวัยรุ่น รวมถึงกระทบต่อสภาพสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของสังคม หากตั้งครรภ์ต่อก็ส่งผลเรื่องการเรียน เรียนไม่จบ ต้องลาออกจากการเรียน คลอดก่อนกำหนด คลอดยาก ตกเลือด มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตร ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติ ฯลฯ เด็กที่เกิดมาโดยไม่มีใครต้องการ ก็อาจกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในสังคม
ที่นี่ เรามาลองมาฟังตัวอย่างการแก้ปัญหาจากประเทศสหรัฐอเมริกากันค่ะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 80 ของหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์
การสำรวจพบว่ามีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ โดย 1 ใน 10 ไม่มีการคุมกำเนิดเลย ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 85 ภายใน 1 ปี การคุมกำเนิดที่นิยมถึงร้อยละ 97 คือการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งมีข้อดีคือสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ทางปฏิบัติ ป้องกันการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 70
การคุมกำเนิดยอดนิยมรองลงมาคือ การหลั่งนอก ซึ่งนอกจากป้องกันการตั้งครรภ์ได้ไม่ดี เพราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การควบคุมการหลั่งของฝ่ายชายแล้ว ยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าหนองในแท้ หนองในเทียม แผลริมอ่อน ซิฟิลิส เอชไอวี เอพีวี และอื่นๆ ได้เลย
แต่ปัจจุบันในอเมริกา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะได้ใช้วิธีการเหล่านี้ในแก้ปัญหา
- การคุมกำเนิด ถือเป็นสิทธิของวัยรุ่นที่ผู้ให้บริการต้องเคารพ ไม่จำเป็นต้องแจ้งผู้ปกครองในกรณีที่ขอให้ปิดเป็นความลับ วัยรุ่นจึงเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่าย
- ราคาไม่แพง หรือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ คุมได้ระยะยาว ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- วัยรุ่นและบุคลากรทางการแพทย์ ต้องมีความรู้และเจตคติที่ดีในการคุมกำเนิด
หลังมีการวิจัยแบบไปข้างหน้า (Prospective Study) ตีพิมพ์ใน N Engl J Med 2014 ทำการศึกษาวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,404 คน ที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยให้ได้รับความรู้เรื่องการคุมกำเนิดจนเข้าใจ และให้การบริการคุมกำเนิดโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็นสิทธิการตัดสินใจของวัยรุ่น เมื่อติดตามไปนาน 2-3 ปี พบว่าร้อยละ 75 ได้เลือกการคุมกำเนิดระยะยาวอย่าง การสวมห่วงคุมกำเนิด และ ยาฝังคุมกำเนิด ผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นในกลุ่มที่ศึกษามีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 4-5 เท่า (34 ต่อ 158.5/1,000) มีการคลอดบุตรต่ำกว่า 4-5 เท่า (19.4 ต่อ 94/1,000) แท้งลูกต่ำกว่า 4-5 เท่าเช่นกัน (9.7 ต่อ 41.5/1,000)
ข้อดี-ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด
สำหรับยาฝังคุมกำเนิด วิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACOG) แนะนำและสรุปว่า เป็นวิธีที่เหมาะกับการคุมกำเนิดวัยรุ่นเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลดังนี้
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 99 เป็นการคุมกำเนิดระยะยาว 3-5 ปีงานวิจัยพบว่าวัยรุ่นมีความพึงพอใจและอัตราการคงใช้สูงกว่าการคุมกำเนิดระยะสั้น เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดกิน
- ไม่มีอันตรายใดๆ อาจมีผลข้างเคียง เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่วัยรุ่นขอเอาออก แต่สามารถแก้ไขได้ โดยผู้บริการต้องมีแนวทางปฏิบัติ
- เมื่อครบกำหนดหรือเมื่อต้องการมีลูก สามารถเอายาฝังออกได้โดยง่าย ตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังเอายาฝังออก
สำหรับข้อห้ามในการใช้ยาฝังคุมกำเนิดก็พบไม่มากในวัยรุ่น ได้แก่
- มีโรคตับ การทำงานของตับบกพร่อง มีเนื้องอก หรือมะเร็งตับ (Hepatocellular Adenoma or Hepatoma)
- มีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ทราบสาเหตุ
- โรคแอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) ที่มีภูมิต้านทานต่อแอนตี้ฟอสโฟไลปิด (Antiphospholipid) หรือไม่ทราบผล
- สงสัยเป็น หรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
เมื่อกลับมามองเมืองไทย การคุมกำเนิดในวัยรุ่นของรัฐ ไม่มีค่าใช้จ่าย เข้าถึงไม่ยาก หากดูบทเรียนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าอยากให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง ต้องเคารพสิทธิการตัดสินใจในการคุมกำเนิดของวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดระยะยาว ให้เข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเรื่องการคุมกำเนิดต้องมีความรู้ มีเจตคติที่ดีในการคุมกำเนิดให้วัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม แม้วัยรุ่นจะเลือกการคุมกำเนิดด้วยยาฝัง แต่แนะนำว่าควรใช้ถุงยางอนามัยควบคู่กันไป เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อ้างอิง:
- Finer LB, Zolna MR. Declines in Unintended Pregnancy in the United States, 2008-2011. N Engl J Med 2016; 374:843.
- Szucs LE, Lowry R, Fasula AM, et al. Condom and Contraceptive Use Among Sexually Active High School Students – Youth Risk Behavior Survey, United States, 2019. MMWR Suppl 2020; 69:11.
- Trussell J. Contraceptive failure in the United States. Contraception 2011; 83:397.
- Abma JC, Martinez GM. Sexual Activity and Contraceptive Use Among Teenagers in the United States, 2011-2015. Natl Health Stat Report 2017; :1.
- Kavanaugh ML, Frohwirth L, Jerman J, et al. Long-acting reversible contraception for adolescents and young adults: patient and provider perspectives. J Pediatr Adolesc Gynecol 2013; 26:86.
- Kavanaugh ML, Jerman J, Ethier K, Moskosky S. Meeting the contraceptive needs of teens and young adults: youth-friendly and long-acting reversible contraceptive services in U.S. family planning facilities. J Adolesc Health 2013; 52:284.
- Pritt NM, Norris AH, Berlan ED. Barriers and Facilitators to Adolescents’ Use of Long-Acting Reversible Contraceptives. J Pediatr Adolesc Gynecol 2017; 30:18.
- Secura GM, Madden T, McNicholas C, et al. Provision of no-cost, long-acting contraception and teenage pregnancy. N Engl J Med 2014; 371:1316.
- Harper CC, Rocca CH, Thompson KM, et al. Reductions in pregnancy rates in the USA with long-acting reversible contraception: A cluster randomised trial. Lancet 2015; 386:562.
- Oringanje C, Meremikwu MM, Eko H, et al. Interventions for preventing unintended pregnancies among adolescents. Cochrane Database Syst Rev 2016; 2:CD005215.
- Winner B, Peipert JF, Zhao Q, et al. Effectiveness of long-acting reversible contraception. N Engl J Med 2012; 366:1998.