การที่ H&M ที่มีดีกรีเป็นผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนถึงขั้นชาวจีนในโซเชียลมีเดียได้ชวนกัน ‘บอยคอต’ จนทำให้ยอดขายในแดนมังกรลดลงอย่างน้อย 40% ในไตรมาสล่าสุด
ยักษ์ฟาสต์แฟชั่นไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า เฮเลนา เฮลเมอร์สสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้กล่าวถึง ‘สถานการณ์ที่ซับซ้อน’ และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
รายได้ที่ลดลงทำให้แดนมังกรหล่นจากรายชื่อตลาดที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของ H&M ในไตรมาสล่าสุดที่สิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2021 ซึ่งหากย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา จีนยังเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของ H&M และสร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของจีนเริ่มเรียกร้องให้คว่ำบาตร H&M ในเดือนมีนาคม หลังจากคำแถลงก่อนหน้านี้ของผู้ค้าปลีกที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง H&M ออกมาตอบโต้ในช่วงเวลานั้นด้วยแถลงการณ์ใหม่ที่ระบุว่า การจัดซื้ออย่างมีจริยธรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยไม่เอ่ยถึงซินเจียง
Bloomberg รายงานว่า สเปนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของ H&M ในไตรมาสที่ 3 ด้วยยอดขาย 1.55 พันล้านโครน ซึ่งคำนวณว่ารายได้จากจีนลดลงอย่างน้อย 40% โดยอิงจาก 2.55 พันล้านโครน ที่เคยทำได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผ่าวิกฤต H&M ในแดนมังกร มหกรรมเชือดไก่ให้โลกดู!
- H&M ย้ำ พร้อมฟื้นฟูความไว้วางใจของลูกค้าชาวจีน แม้มีร้านถูกปิดไปแล้ว 20 สาขาก็ตาม
- วิกฤตที่ลุกลาม! H&M อย่างน้อย 6 แห่งในจีน ถูกห้างสรรพสินค้าสั่งปิดแบบไม่มีกำหนด และร้าน 500 สาขาค้นหาไม่ได้แล้วในแอปฯ นำทาง
- H&M กำลังเผชิญ ‘กระแสแบน’ ในจีน หลังตัดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์จีน จากข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง
อ้างอิง: