สุขภาพจิต (Mental Health) เป็นส่วนสำคัญในการมีชีวิตที่สมดุลและสุขภาพดี ซึ่งตามข้อมูลของ National Alliance on Mental Illness (NAMI) ที่ศึกษาเรื่องสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันนั้นประสบปัญหาสุขภาพจิต นั่นแปลว่ามีผู้ใหญ่มากกว่า 40 ล้านคนต่อปีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ และต่อเนื่องไปสู่สังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด รวมถึงการปฏิบัติตัวในแต่ละวันว่าจะมีทิศทางที่ดีหรือย่ำแย่ลง ดังนั้นการรับมือกับความเครียดและการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองจึงสำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิดก็นำไปสู่ความกังวลสารพัด แม้ว่าความเครียดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตจะเป็นกลไกโดยธรรมชาติ แต่การไม่มีแผนรับมือความเครียดและการดูแลสุขภาพจิตที่ถูกต้องแล้ว อาจนำไปพาไปสู่ความเสี่ยงมากมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น THE STANDARD POP จึงอยากพาทุกคนไปท่องโลกของ Mental Health ว่าเราสามารถวางแผน และเตรียมการอย่างไรให้สุขภาพใจของเราสู้กับความเครียดและมีความสุขได้ตามวิถีที่ควรจะเป็น
ทางด้าน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ แพทย์ชำนาญเฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเครียดระดับสูงที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดที่พบได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์คือ
- กลัวการติดเชื้อ รู้สึกหวาดระแวงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคนในบ้าน คนใกล้ตัว บางคนระแวงแม้แต่ตัวเอง มักจะวิตกจริตเกินเหตุอยู่บ่อยๆ
- เครียดเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรายวัน เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายของรัฐบาลปรับเปลี่ยนเกือบทุกวัน ทำให้มีอาการตื่นตระหนก
- กังวลกับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่กังวลเรื่องกลัวการติดเชื้อเท่านั้น บางคนยังกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น ตกงาน ปิดเรียน ชีวิตไม่แน่นอน ยิ่งติดตามข่าวยิ่งเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว
- ไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไร คือความรู้สึกที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เครียดมากที่สุด เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน และจะจบลงได้เมื่อไร
ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงอาการกำเริบหากเครียดเกินไป
แพทย์หญิงอภิสมัย: ยิ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ความเครียดจากสาเหตุข้างต้นอาจทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งมีข้อมูลก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยองค์การอนามัยโลก รายงานเมื่อต้นปี 2020 ว่า ทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 264 ล้านคน โดยประเทศไทยพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี 2560 คือ 4.94 ต่อประชากรแสนคน เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีโรควิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีรายงาน The Anxiety and Depression Association of America สูงถึง 18.1% ของประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน (ไม่นับผู้ที่มีปัญหาติดแอลกอฮอล์) จึงชัดเจนว่าเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบและสุขภาพจิตแย่ลง
จึงแนะนำว่าหากตนเอง หรือคนใกล้ชิดเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยสุขภาพจิต หรือสงสัยว่าป่วยอยู่ก่อนแล้ว ช่วงนี้ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและรักษาอย่างเหมาะสม หากมีนัดสม่ำเสมอก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่อาการรุนแรงและเป็นอันตรายได้ วิธีที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันสามารถใช้บริการการรักษาทางไกล หรือ W-Mental Health ทำให้สะดวกมากขึ้น
แนวทางการรับมือความเครียดที่ทุกคนสามารถทำได้
- ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยการตัดสินใจในเรื่องใหญ่หรือสำคัญ ควรรักษาตัวให้ดี ระวังอย่าให้ติดเชื้อโควิด
- ตามข่าวเท่าที่จำเป็น เลือกรับข่าวสารจากสถาบันข่าวที่เชื่อถือได้ เช็กข่าววันละครั้งก็พอ ไม่เชื่อ Fake News และระวังข่าวปลอม
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งเรื่องการรักษาความสะอาด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส
- หมั่นเช็กสภาพจิตใจและอารมณ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้ชีวิตปกติและมีคุณค่า พยายามทำสิ่งที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ ไม่ทำให้ตัวเองเครียด
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง:
- bangkokhospital