นี่คือภาพรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 จาก Sinovac ที่เพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน และอนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอาหารและยาของไทย นับเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวที่ 2 ที่ได้รับการอนุมัติต่อจากวัคซีนต้านโควิด-19 จาก AstraZeneca-Oxford โดยวัคซีน Sinovac ล็อตแรก 2 แสนโดส ถึงไทย 24 กุมภาพันธ์นี้ โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนการได้ภายใน 3 วัน (27 กุมภาพันธ์)
โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, โรคมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการทำเคมีบำบัดและโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงประชาชนและแรงงานกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาดจะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนจาก Sinovac เป็นกลุ่มแรกๆ รวมถึงยังจะต้องมีอายุระหว่าง 18-59 ปี ไม่สามารถฉีดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 59 ปีได้ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยที่เพียงพอมารองรับ อีกทั้งไม่ให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่เคยแพ้วัคซีนมาก่อน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนกลุ่มแรกๆ อาจจำเป็นต้องรอวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ไม่มีข้อจำกัดหรือข้อบ่งชี้เรื่องของอายุของผู้ที่ได้รับวัคซีน
ในด้านประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีความหลากหลาย ตัวเลขเหล่านี้อาจแตกต่างกันได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ประเภทกลุ่มเป้าหมาย ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง เกณฑ์ผู้ป่วย ระยะเวลาที่ศึกษาหลังได้รับวัคซีน รวมถึงความชุกของโรคในพื้นที่นั้นๆ และอาจดูมีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 น้อยกว่าบรรดาวัคซีนจากซีกโลกตะวันตกอย่างวัคซีน Pfizer-BioNTech (95%) หรือวัคซีน Moderna (94.5%) แต่ในภาพรวมอาจสรุปได้ว่า วัคซีนมีความปลอดภัย เพราะถ้าหากพบผลข้างเคียงร้ายแรงจะถูกยุติการศึกษา ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของวัคซีน คือมากกว่า 50%
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เจาะลึกทุกเรื่องต้องรู้ วัคซีน Sinovac วัคซีนโควิด-19 ที่จะถูกฉีดเป็นเข็มแรกในประเทศไทย
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 มีอะไรบ้าง รุนแรงแค่ไหน?
- สถานการณ์ล่าสุด การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในอาเซียน ใครเริ่มฉีดแล้วบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุดในประชาคมโลก