×

กรมวิทย์ เผยโอมิครอนลูกผสม XBB.2.3* ไม่แตกต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ยัน ATK และ PCR ตรวจได้ทุกสายพันธุ์

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2023
  • LOADING...
ศุภกิจ ศิริลักษณ์

วันนี้ (9 มิถุนายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง 

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล โดยโอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ และจากสถานการณ์กลายพันธุ์ภายในสายพันธุ์ของโอมิครอนที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยหลากหลายกลุ่มในตระกูล รวมถึงสายพันธุ์ลูกผสม

 

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO)​ ให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน จำนวน 9 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* และ XBB.1.16* และสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants Under mMonitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1*, BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBB.2.3*  

 

สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ วันที่ 8-14 พฤษภาคม 2566 พบสัดส่วนเพิ่มขึ้น/ลดลงจากรอบสัปดาห์ วันที่ 10-16 เมษายน 2566 ดังนี้

 

  • XBB.1.5* รายงานจาก 115 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 34.04 ลดลงจากร้อยละ 49.07
  • XBB.1.16* รายงานจาก 61 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 16.32 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.78
  • XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBB.2.3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 
  • BA.2.75*, CH.1.1* และ BQ.1* มีแนวโน้มลดลง     

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยพบสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแทนที่สายพันธุ์ BN.1* ที่เคยเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 และพบในทุกเขตสุขภาพ ข้อมูลจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ตั้งแต่เริ่มพบสายพันธุ์ XBB.1.16 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ปัจจุบัน XBB.1.16* เป็นสายพันธุ์ที่พบสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 30.34 % รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9* คิดเป็น 26.59% และสายพันธุ์ XBB.1.5* คิดเป็น 20.96% 

 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิดจำนวน 185 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 169 ราย คิดเป็น 91.35% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16*, XBB.1.9.1* และ XBB.1.5* คิดเป็น 35.68%, 20.00 % และ 11.35% ตามลำดับ

 

ส่วนสายพันธุ์ XBB.2.3* WHO ประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (VUMs) เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอมิครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 ที่กลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม S:T478K เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความได้เปรียบในการเติบโตแพร่ระบาด พบรายงานจาก 54 ประเทศทั่วโลก จำนวน 7,664 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566) สำหรับประเทศไทยพบแล้วจำนวน 60 ราย รายงานครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าสายพันธุ์ดังกล่าวส่งผลต่อความรุนแรงของโรค 

 

“แม้สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมเป็นสายพันธุ์หลักกระจายทุกเขตสุขภาพการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด ด้วยชุดทดสอบ ATK และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Real-time PCR ยังสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์ลูกผสม อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อป้องกันตนเอง รวมถึงช่วยลดความรุนแรงของโรคหากได้รับเชื้อ ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising