×

นวัตกรรมการลงทุนในยุคดิจิทัล เมื่อ Data และ AI เริ่มรุกคืบ บทบาทของนักลงทุนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย MAYBANK KIM ENG
12.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • ถ้าย้อนกลับไป 30 ปีก่อน งบการเงิน รายงานประจำปี บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร ข่าวรายวัน การเยี่ยมชมกิจการ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องมือการลงทุน ซึ่งอาจเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนของคุณ
  • แต่ ณ วันนี้คงต้องมาชวนคิดกันว่า แล้วสิ่งเหล่านี้ยังสำคัญอยู่หรือเปล่า เพราะในโลกทุกวันนี้มีหลายนวัตกรรมที่เข้ามามีผลกระทบกับกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งที่น่าจับตามองก็คงไม่พ้นเรื่อง Data และ AI ที่กำลังเป็นเทรนด์การลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในบทความก่อนหน้านี้เราเคยพูดคุยกันในประเด็นว่า ‘มีเงินแล้วเอาไปทำอะไรดีในยุคดิจิทัล’ นำมาสู่คำถามถัดไปว่า ‘แล้วจะใช้เครื่องมือลงทุนอะไรดีในโลกยุคดิจิทัล’ รวมไปถึง ‘บทบาทของนักลงทุนในโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร’ ซึ่งถ้าตอบทั้ง 2 คำถามนี้ได้ ก็จะทำให้คุณมีความได้เปรียบในการลงทุน และก้าวสู่โลกอนาคตในโลกการลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

 

ถ้าย้อนกลับไป 30 ปีก่อน งบการเงิน รายงานประจำปี บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร ข่าวรายวัน การเยี่ยมชมกิจการ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องมือการลงทุน ซึ่งอาจเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนของคุณ แต่ ณ วันนี้คงต้องมาชวนคิดกันว่า แล้วสิ่งเหล่านี้ยังสำคัญอยู่หรือเปล่า เพราะในโลกทุกวันนี้มีหลายนวัตกรรมที่เข้ามามีผลกระทบกับกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งที่น่าจับตามองก็คงไม่พ้นเรื่อง Data และ AI ที่กำลังเป็นเทรนด์การลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) สำหรับการตัดสินใจลงทุน

ในอดีต เราคงคุ้นชินกับการใช้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน หรือตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในการวิเคราะห์การลงทุน แต่ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เป็นข้อมูลรูปแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์การลงทุนเช่นกัน ซึ่งข้อมูลทางเลือกนั้นสามารถหาได้ทั่วไปและมีความหลากหลาย 

 

ในปัจจุบัน Hedge Fund หรือกองทุนต่างๆ ได้ทำการใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์การลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเดิม ภายใต้สมมติฐานว่าข้อมูลพื้นฐานอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งชุดข้อมูลของข้อมูลทางเลือกที่นำมาใช้นั้น สามารถมาจากแหล่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้ เช่น Social Media, Web Traffic, App Installs, IoT, Sentiment, Transactional Data ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างทันต่อเหตุการณ์ จนถึงขนาดมีหลายบริษัทริเริ่มทำธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูล (Data Provider) ซึ่งเกิดขึ้นใหม่เยอะมากเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ใช้ข้อมูลทางเลือกเหล่านี้ในการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น บริษัท Facebook, Zoom, Netflix ทั้งๆ ที่ข้อมูลพื้นฐานอาจไม่ได้ชี้วัดว่าบริษัทเหล่านั้นมีกำไรในช่วงเริ่มแรก และอัตราส่วนทางการเงินก็อาจจะไม่ได้ดีเลิศมากนัก แต่จะดูข้อมูลทางเลือก เช่น มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่เท่าไร, ค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้า (Acquisition Cost), ค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกค้าปัจจุบัน (Retention Cost) หรือมูลค่าเพิ่มของลูกค้าหนึ่งรายที่เกิดกับบริษัทตลอดช่วงระยะเวลาที่เป็นลูกค้า (Customer Life Time Value) เป็นอย่างไร ในการประเมินศักยภาพการเติบโตรวมถึงความยั่งยืนในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี การนำข้อมูลทางเลือกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ยังคงต้องใช้ความสามารถของ Data Scientist จนถึงวิทยาการใหม่ๆ ที่ต้องใช้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูลหลายมิติที่ซับซ้อน โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) ดังนั้น สิ่งเหล่านี้อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วไป จนถึงประเด็นความเสี่ยงด้านข้อมูล เช่น Data Risk, Model Risk, Regulatory Risk หรือค่าตัวคนทำงานในสาขานี้ที่อาจมีค่าตัวที่ต้นทุนสูงกว่าตลาดโดยทั่วไป 

 

แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความได้เปรียบด้านข้อมูลจะทำให้เราพิจารณาการลงทุนได้ดีขึ้น ดังนั้นพอพูดถึงบทบาทของนักลงทุนคงไม่ได้จบเพียงแค่การศึกษาวิชาด้านการเงิน แต่สำคัญว่าต้องมีความเข้าใจด้านเทคโนโลยี สถิติ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

 

ปัญญาประดิษฐ์ (Artifact Intelligence)

เวลาได้ยินคำนี้ คุณอาจคิดเตลิดไปไกลว่า AI จะมาแทนที่คุณในชีวิตประจำวัน รวมถึงการลงทุนด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงแล้ว AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือใหม่มากนัก เวลาที่คุณหยิบกล้องมือถือถ่ายรูป ตัวอุปกรณ์จะมี AI ที่อยู่ภายในกล้องทำงานในการตั้งค่าโฟกัสใบหน้าคนอยู่ทุกวินาที คำถามคือแล้วมันมาแทนที่คุณหรือไม่ 

 

ซึ่งคำตอบก็คือทั้งใช่และไม่ใช่ โดยสิ่งที่ใช่คือ งานที่ทำซ้ำๆ กัน (Repetitive Task) ที่ไม่ต้องใช้ความสามารถเยอะ เช่น ตัวอย่างของโฟกัสกล้องที่ได้กล่าวไป หรือการปรับ Exposure ระหว่างการถ่ายภาพแบบเรียลไทม์ ซึ่ง AI ก็มักจะทำงานแทนคนได้อย่างดี และสเกลได้โดยไม่เหนื่อย แต่สิ่งที่ยังไม่สามารถแทนที่ได้คือความคิดสร้างสรรค์ในการจัดองค์ประกอบภาพ หรือการคุมโทนสีภาพในการแสดงความรู้สึกในงานศิลป์ต่างๆ ซึ่งคนก็ยังทำได้ดีกว่า AI (ณ ตอนนี้)

 

เช่นเดียวกับการลงทุน ซึ่ง AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้ มันคงไม่ใช่การที่นักลงทุนกดปุ่มเดียวแล้วจะมี AI อัจฉริยะเข้ามาจัดพอร์ตให้คุณแล้วสามารถชนะตลาดโดยพลัน (ณ ตอนนี้) แต่ที่จริงแล้วจะเป็นการที่คนเอา AI มาสนับสนุนการทำงานมากกว่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว AI ในเชิงการลงทุนสามารถแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ

 

  1. AI-NLP (Natural Language Processing คือการประมวลผลภาษาธรรมชาติ อธิบายง่ายๆ คือ ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์นั่นเอง), Computer Vision และ Voice Recognition สำหรับใช้ในการประมวลผลข้อความ รูปภาพ และเสียง
  2. AI-Machine Learning สำหรับใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของ Algorithms (ขั้นตอนการประมวลผลในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้พัฒนาโปรแกรมเห็นขั้นตอนการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายขึ้น) ที่ใช้ในกระบวนการลงทุนต่างๆ

 

ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นการที่นักลงทุนใช้นวัตกรรม AI ดังกล่าวในการช่วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การประมวลผลข่าวสารจากหลากหลายช่องทางทั้งข่าว Twitter Facebook อื่นๆ ในการประเมินสัญญาณซื้อขายอย่างรวดเร็ว ประเมินกลยุทธ์การลงทุนต่างๆ

 

โดยประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่แค่ ‘ความฉลาด’ ของ AI แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าที่ AI ทำได้ดีกว่าคน คือ ‘จำนวน (Scale)’ เพราะสามารถทำได้ทีละมหาศาล ในขณะที่ถ้าให้คนมานั่งทำกระบวนการทางสถิติเหล่านี้ จะทำได้ปริมาณที่น้อยกว่ามาก และอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้น 

 

กระนั้นก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน มนุษย์ก็ยังต้องเป็นคนที่จัดการและตัดสินใจในกระบวนการเหล่านี้ ที่ต้องมีการพิจารณาความซับซ้อนทั้งในมุมบริบทและเชิงนัยต่างๆ ของข้อมูลสูง (Human Intelligence) โดยเพียงใช้ AI เป็นตัวช่วย ดังนั้น สิ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับการตัดสินใจของมนุษย์ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ณ ตอนนี้

 

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าคุณจะเป็น นักริเริ่ม (Innovator), คนหัวก้าวหน้า (Early Adopter) หรือ ผู้ที่ตามหลัง (Laggard) ต่อความคิดหรือวิทยาการใหม่ๆ สิ่งที่เราคาดการณ์ได้ลำบากคือการเดาว่าอะไรคือสูตรสำเร็จของการเลือกใช้นวัตกรรมด้านการลงทุน 

 

ดังนั้นสิ่งที่เราควรตอบสนองต่อสิ่งใหม่ๆ คงไม่ใช่การรีบใช้มัน หรือต่อต้านมัน แต่คือการไม่ปฏิเสธ และศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งสิ่งที่เราเรียนรู้จากอดีตและเห็นพ้องต้องกันคือ ผู้ชนะในสมรภูมิคือผู้ที่เข้าใจในนวัตกรรม บริหารและเลือกใช้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือการเข้าใจและต่อยอดสิ่งใหม่ๆ จากหลักการที่พิสูจน์มาแล้วในอดีต ผสมผสานกับศักยภาพแห่งโลกอนาคตอย่างลงตัว

 

สำหรับในเมืองไทยแม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจยังไม่ใช่กระแสหลัก แต่เมื่อใดคนเริ่มตระหนักและตื่นตัวมากขึ้นแล้ว คงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด (เช่นเดียวกับการเข้ามาของ E-Commerce) และหากเราไม่เตรียมพร้อมก็อาจตามไม่ทันและสูญเสียความได้เปรียบในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

_________________________________

พิเศษ! เพื่อผู้อ่าน THE STANDARD คลิก https://bit.ly/3gWgAgp รับของที่ระลึก โปรโมชันพิเศษฟรีจาก Maybank Kim Eng

____________________________________________________________

maybank the standard real estate investment

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising