คลายข้อสงสัยโมเดลธุรกิจของ Visa อะไรคือสาเหตุที่เขามองว่า ‘เงินสด’ คือคู่แข่งเบอร์ใหญ่ที่สุด รูปแบบการใช้จ่ายแห่งอนาคตของโลกจะเดินไปในทิศทางใด และเราสามารถนำเทรนด์เหล่านี้มาปรับใช้ได้อย่างไร
เคน นครินทร์ คุยกับ สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย
วีซ่าคือใคร ทำหน้าที่อะไรกันแน่
ความจริงแล้ววีซ่าเป็นแพลตฟอร์มหรือเครือข่ายการชำระเงินที่อยู่เบื้องหลังบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ทุกคนถือ พูดง่ายๆ คือเป็นตัวเชื่อมตรงกลางระหว่างธนาคารที่ออกบัตร ร้านค้าที่รูดบัตร และลูกค้าที่จับจ่ายใช้สอยให้สามารถทำธุรกรรมจนสำเร็จ วีซ่าเข้ามาสร้างดิสรัปชันการใช้เงินสด จนปัจจุบันวีซ่าถือเป็นบริษัทฟินเทค (FinTech) ขนาดใหญ่ที่เชื่อมทั้งหมด 3.5 พันล้านแอ็กเคานต์ และ 60 ล้านร้านค้าทั่วโลก หน้าที่หลักของวีซ่าคือการให้ความสำคัญกับเครือข่ายที่แข็งแรง และมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะความเชื่อใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเพย์เมนต์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกันหมด ส่วนการจะเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาในตลาดเพื่อช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นแค่ไหน เป็นการแข่งขันทางธุรกิจของแต่ละบริษัท และเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก วีซ่าก็จำเป็นที่จะต้องมีการจับมือกับเครือข่ายอื่นในเรื่องต่างๆ เช่น ชิปที่อยู่ในบัตรเครดิต หรือเพย์เมนต์แบบคอนแทคเลส (Contactless) ซึ่งเป็นเรื่องของมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยที่ต้องร่วมมือกัน
วีซ่ามีรายได้จากช่องทางไหน
เนื่องจากเราเป็นบริษัทแบบ B2B ที่ทำงานโดยตรงกับผู้ออกบัตรและผู้รับบัตร รายได้หลักของวีซ่าจึงเป็นค่าดำเนินการ หรือ Processing Fee ของการทำธุรกรรมของผู้บริโภค เพราะการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งจำเป็นต้องมีระบบเบื้องหลังที่คอยรองรับ ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความรวดเร็ว หรือแม้แต่กรณีที่เกิดเหตุขัดข้องอะไรขึ้นระหว่างทำธุรกรรม ก็จะได้รับการแก้ไขให้ดำเนินการต่อไปได้ทันที เราทำหน้าที่สร้าง Ecosystem ขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ร้านค้าลดต้นทุนในการดูแลเงินสด ธนาคารสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้จำนวนมาก ส่วนตัวผู้บริโภคเองก็ได้คะแนนสะสมและโปรโมชันต่างๆ
ความท้าทายของเราทุกวันนี้คือ เราต้องคิดตลอดเวลาเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมีวีซ่าอยู่บนโลกนี้ คุณค่าอะไรที่ทำให้ทุกคนเลือกวีซ่ามาเป็นโซลูชันในการชำระเงินที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขา เมื่อก่อนทุกคนต่างกลัวธุรกิจฟินเทคแบบเราเข้ามาดิสรัปต์ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะทุกคนต่างมีจุดแข็งของตัวเอง
ก่อนหน้านี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย อะไรคือความท้าทายในวันนี้ของวีซ่า
วีซ่าเริ่มต้นจากการเป็นดิสรัปเตอร์ เมื่อก่อนทุกคนต่างกลัวธุรกิจฟินเทคแบบเราเข้ามาดิสรัปต์ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะทุกคนต่างมีจุดแข็งของตัวเอง ธนาคารเองก็มีจุดแข็ง เราเองก็มีจุดแข็งที่เป็นเจ้าใหญ่ในตลาด ส่วนฟินเทคใหม่ๆ ที่วิ่งเข้ามาในตลาดก็มีจุดแข็งที่ต่างออกไปจากเรา ที่ผมสังเกตได้ชัดเลยก็คือ มีการจับมือหรือเป็นพันธมิตรร่วมกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะการให้บริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าเราคนเดียวเอาไม่อยู่ เราจำเป็นต้องไปร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นๆ หรือไปซื้อธุรกิจมา ทุกคนจะเห็นว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา วีซ่ามีการปรับเปลี่ยนเยอะมาก เมื่อก่อนเรามีทีม R&D ที่ทำหน้าที่คิดค้นนวัตกรรมโดยเฉพาะ แต่ทุกวันนี้คิดเองคนเดียวไม่มีทางทัน เพราะตอนนี้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้จากทั่วทุกมุมโลก ใครมีไอเดียอะไรเจ๋งๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ทันที เราเลยมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายเราให้มีความแข็งแรง ปลอดภัยและมีนวัตกรรมที่เร็วขึ้น เราได้ไปซื้อบริษัท Earthport มา ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการการทำธุรกิจโอนเงินข้ามพรมแดนที่แข็งแกร่งมาก ทำให้ผู้บริโภคสามารถโอนเงินจากวีซ่าเข้าบัญชีธนาคารของประเทศไหนก็ได้ ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของเงินที่กว้างขึ้น กล่าวได้ว่าวีซ่าเป็น Network of Network ความท้าทายของเราทุกวันนี้คือ ทุกคนต่างมองว่าเราเป็นเสือนอนกิน แต่ความจริงไม่ใช่เลย เพราะอะไรที่จะคงอยู่ในโลกนี้ได้จะต้องมีคุณค่า คนจึงจะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับสิ่งนั้น โจทย์หลักของเราในแง่การทำธุรกิจคือการคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมจะต้องมีวีซ่าในโลกนี้ เมื่อพฤติกรรมลูกค้า พฤติกรรมร้านค้าเปลี่ยนไป วีซ่าจะช่วยเขาได้อย่างไร การจะทำให้เกิดคุณค่าได้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี การลงทุน การทำงานใกล้ชิดกับลูกค้า ดังนั้นบทบาทของวีซ่าจึงเป็นการช่วยลูกค้าคิดผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ๆ โดยใช้เครือข่ายของเราที่มีกับบริษัทฟินเทคทั่วโลก เราอาศัยเครือข่ายและประสบการณ์ของเราเองมาช่วยให้การสร้างนวัตกรรมมันเป็นไปได้เร็วและดียิ่งขึ้น
ใครคือคู่แข่งของวีซ่า
คู่แข่งทั้งชีวิตของเราคือเงินสด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในบางประเทศยังสบายใจกับการใช้เงินสด ลิสต์คู่แข่งที่เรามีเมื่อหลายปีก่อน ทุกวันนี้ทุกคนกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราหมดแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผมคิดว่าคู่แข่งหรือศัตรูของบริษัทฟินเทคทุกที่ก็คือเงินสด และที่เห็นภาพชัดคือทุกคนต่างมาเป็น Partnership Collaboration มาทำนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างที่บอกว่าวีซ่ามองเห็นเทรนด์ของโลกเยอะ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคหรือร้านค้ายังอาจเคยชินกับการใช้เงินสด เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการต่างๆ นานา เช่น การให้ความรู้ และที่สำคัญที่วีซ่าทำมาตลอดทุกปีคือการศึกษาเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของคนในเรื่องการยอมรับนวัตกรรมการชำระเงิน เหล่านี้ก็เพื่อให้คนได้หันมาลองใช้วีซ่าสักครั้ง เพราะเรามั่นใจว่าเมื่อเขาได้ลองแค่ครั้งเดียวก็จะติดใจอยากใช้ต่อแน่นอน นี่คือสิ่งที่เราทำกับทุกประเทศทั่วโลก มันเป็นคุณค่าที่จะต้องเกิดขึ้น และยังมีโอกาสเติบโตอีกมหาศาล เพราะในประเทศไทยการใช้จ่ายเงินในแต่ละวันยังคงมีเงินสดถึง 60-70% หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้คนเข้ามาใช้อีเพย์เมนต์ให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือส่วนของ Commercial ที่ในหลายๆ บริษัทยังคงทำธุรกรรมด้วยเช็คหรือเงินสดเป็นหลัก การจัดการด้านบัญชี การเบิกเงิน เป็นต้น ดังนั้นเราจึงมองเห็นโอกาสเติบโตในตลาดนี้ว่ายังมีอีกมหาศาล เพียงแค่ต้องหาวิธีเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น เรามีเทคโนโลยี Blockchain Based ที่เรียกว่า B2B Connect เข้ามา เพื่อช่วยให้การโอนเงินระหว่างประเทศในระดับบริษัทสามารถทำได้เร็วและต้นทุนถูกกว่าที่เคยมีมาในตลาด
วีซ่ามองว่าอะไรคือเทรนด์หรือ New Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในระยะสั้นเทรนด์ที่จะมาแน่นอนคือการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลส (Contactless Payment) โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 คนหันมาใช้ Contactless มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะตอนนี้มันเลยจุดพีกของพลาสติกการ์ดไปแล้ว แต่จะเป็นเรื่องของ IoT Payment จำพวก Mobile Pay ต่างๆ มากกว่า สำหรับวิสัยทัศน์ในอนาคต วีซ่ามองว่าเพย์เมนต์ไม่ควรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาให้คนต้องทำ เช่น เราจะเดินทางไปไหน จะซื้ออะไร เราไม่ต้องเอามือถือหรือบัตรขึ้นมาแตะแล้ว ระบบเพย์เมนต์ควรจะถูกฝังไว้เบื้องหลัง อย่างส่วนอีคอมเมิร์ซเรามีฟังก์ชันที่เรียกว่า Card on File ไปผูกไว้ครั้งเดียว โดยเจ้าของบัตรไม่ต้องคีย์ข้อมูลใหม่ทุกครั้ง ซึ่งมันจะทำให้การจ่ายเงินกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่มีตัวตนอีกต่อไป แต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้จะต้องอาศัยการลงทุนมหาศาลจากเครือข่าย เพื่อให้มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยได้จริงๆ ส่วนเรื่องนวัตกรรมค่อยตามมาทีหลัง เราต้องไม่ลืมว่าเราคือ Financial Service เราจึงพลาดเรื่องของความปลอดภัยไม่ได้ สิ่งที่เราให้ความสำคัญและลงทุนคือ 60% ของพนักงานของเราทั่วโลกล้วนทำงานในสาย Security Risk Management ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและการรักษาความเชื่อไว้ให้ได้ อีกประเด็นที่ในตอนนี้พูดถึงกันเยอะคือเรื่อง Data Privacy แม้บริษัทวีซ่าเองจะไม่มีข้อมูลที่เป็น Personal Data ของผู้บริโภคเลย เพราะข้อมูลอยู่ที่ธนาคารทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่า ใครที่จะมาเป็นคู่ค้าของวีซ่าได้จะต้องไม่มีความผิดพลาดในเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวมันส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายอย่างมหาศาล
ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากองค์กรระดับโลกอย่างวีซ่า
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และชื่นชมมากก็คือ ภายนอกเราดูเป็น Global มีวัฒนธรรมที่เป็นสากล การทำงานวัดผลได้ชัดเจน แต่แท้จริงแล้ววีซ่ามีความเป็น Local สูงมาก ทั้งในเรื่องการให้ความสำคัญกับการเคารพกฎหมายในแต่ละประเทศ และการปฏิบัติงานที่ให้สิทธิ์และให้โอกาสกับแต่ละประเทศได้ดูแลตนเอง เพราะวีซ่าเองมีความคิดที่ว่าส่วนกลางไม่มีทางรู้จักลูกค้าในตลาดได้ทั้งหมด เพราะแต่ละตลาดล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแน่นอนว่าพนักงานในแต่ละประเทศต้องเป็นผู้ที่รู้จักลูกค้าของเขาดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า เพราะส่วนกลางจะรับฟังทุกอย่างที่เราเสนอไปเสมอ พนักงานทุกคนได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเอง และภูมิใจว่าทุกความคิดของเราล้วนมีผลต่อการตัดสินใจระดับประเทศทั้งหมด
มีคำแนะนำอะไรที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการและทุกคน สำหรับการเตรียมตัวไปสู่โลกอนาคต
สิ่งที่วีซ่าทำงานมาตลอดและต่อเนื่องไปในอนาคตคือการผลักดันเรื่องสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อีกส่วนคือเรื่องของอีคอมเมิร์ซ วีซ่าทำงานร่วมกับบริษัทฟินเทคหลายเจ้า เพื่อช่วยให้คนที่ต้องการขายของออนไลน์ใน Social Commerce สามารถรับบัตรเครดิตได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เพื่อให้ธุรกิจกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาวีซ่าได้มีการทำงานร่วมกับฟินเทคเพื่อเจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและรายย่อมเหล่านี้ที่มีอัตราโตขึ้นมากในช่วงหลังโควิด-19 ดังนั้นในเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่กำลังมา แต่ละคนต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้มีจุดแข็งมากกว่าคนอื่นๆ ร้านค้าที่ปรับตัวมาเป็นอีคอมเมิร์ซได้ทัน นั่นคือไม่ได้เพียงแค่นำธุรกิจของตัวเองไปวางบนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดการเรื่องบริการต่างๆ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้กับลูกค้า สิ่งนี้คือการเปิดประตูโอกาสของตนเอง อีเพย์เมนต์จึงสำคัญมากในการวางรากสำหรับอนาคต นอกเหนือจากเรื่องอีคอมเมิร์ซแล้ว ผู้ประกอบการต้องทำงานหนักขึ้น และจำเป็นต้องอ่านพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ให้ออก ในสภาวะที่เรามีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร อะไรที่ลูกค้าไม่ต้องการเราก็ไม่จำเป็นต้องทำ ให้ลองคิดว่ายังมีอะไรที่เราสามารถสร้างคุณค่าให้ชีวิตลูกค้าได้ไหม ถ้าผู้ประกอบการไม่เรียนรู้ตรงนี้จะเหนื่อยนาน แม้แต่วีซ่าเองก็ต้องปรับ เพราะลูกค้าของเราคือธนาคาร เมื่อเขามีการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับวิธีการทำงานร่วมกับเขาด้วย งานทุกวันนี้ของเราไม่ใช่ระยะสั้น เราทำงานที่เป็นการสร้าง Ecosystem เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกวันนี้เราทำหลายเรื่องที่จะไม่มีผลกับปี 2021 เลย แต่จะไปมีผลในปี 2022 เพราะการวางรากฐานระบบเพย์เมนต์มันไม่ใช่อะไรที่ทำได้เพียงไม่กี่เดือน
สิ่งสำคัญคือทีมงานเรารู้สึกสนุก เพราะได้ทำอะไรที่จะมีผลกระทบในสเกลที่ใหญ่ เขามีความภูมิใจเสมอที่ได้ทำงานกับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือคนไทยเกือบทุกคน และเราต้องทำให้ดีที่สุด เพราะมีคนรอใช้อยู่จำนวนมหาศาล
อะไรคือความสนุกในการได้ทำงานในบริษัทระดับโลก ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ผมรู้สึกสนุกมากที่เราไม่ได้ทำงานสำหรับแค่ปีนี้ แต่เรารู้ว่าเรากำลังสร้าง Ecosystem ในระยะยาวที่เอื้อให้อีคอมเมิร์ซดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น แม้เราจะเป็นเพียงเฟืองเล็กๆ แต่เราสามารถขับเคลื่อนให้มันเกิดขึ้นได้ นั่นคือสิ่งที่เราภูมิใจมาก ผมรู้สึกว่าทีมงานของผมเก่ง ผมได้เรียนรู้มุมมองที่แข็งแกร่งจากพวกเขาทุกวัน การได้ทำงานกับคนที่แอ็กทีฟและมีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลามันทำให้ทุกวันทั้งสนุก ตื่นเต้น และผมรู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ในองค์กรที่มีคุณภาพ ลูกค้าของเราในประเทศไทยอย่างธนาคารไทย ร้านค้าในไทยก็เก่งมาก เมื่อเราได้ทำงานกับคนเก่งๆ เป็นธรรมดาที่โจทย์จะยิ่งยากกว่าปกติ ทุกๆ วันของเราเลยไม่เหมือนเดิม แต่ด้วยเนื้องานที่สนุก ท้าทาย การได้ทำงานกับคนเจ๋งๆ จึงทำให้มีความสุขมากในทุกวันของการทำงาน
สมัครงานตำแหน่ง Producer รายการ The Secret Sauce
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Co-producer & Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์
Archive Officer ชริน จำปาวัน
Photographer สลัก แก้วเชื้อ
Music westonemusic.com