ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มตลอดเวลากับเสียงหัวเราะกังวาน บ่งบอกถึงความสุขจากภายใน นั่นคือบุคลิกของ รศ. ดร. สมชาย ชคตระการ ที่ผู้เขียนได้รู้จักและสัมผัสตัวตนมาหลายปี แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหรือแก่นนอกของเปลือกกายชายคนนี้เท่านั้น
กว่าจะมาเป็นตัวเป็นตน เป็น ‘รศ. ดร. สมชาย’ ในวันนี้ เขาต้องต่อสู้และถางเส้นทางชีวิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครๆ
ภูมิหลังของ รศ. ดร. สมชาย นั้นเกิดในครอบครัวเกษตรกรซึ่งมีรกรากอยู่ที่จังหวัดระยอง เขาสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น มุมานะตั้งใจ ทุ่มเท จนกระทั่งสามารถคว้าปริญญาเอกด้านเกษตรศาสตร์มาครองได้สำเร็จ
‘รัชกาลที่ 9’ ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดในชีวิตของ รศ. ดร. สมชาย เป็นหลักชัยในการประคองชีวิตจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ความสำเร็จในด้านการศึกษากลายเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้ง จากบทเรียนและอุปสรรคในทางเดินของชีวิตที่ผ่านมา เขาจึงตั้งใจที่จะส่งมอบโอกาสแบบที่เขาเคยได้รับจากผู้มีพระคุณที่ค้ำจุนและช่วยให้เขาหยั่งรากมีชีวิตที่มั่นคงในวันนี้
ต่อไปนี้คือเรื่องราวผ่านการสนทนากับ รศ. ดร. สมชาย หรือ ‘ลุง’ ที่นักศึกษามักใช้เป็นสรรพนามแทนตัวเขา เป็นเรื่องราวของนักเรียนต่างชาติคนแรก และคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ 98 ปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โตเกียว ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งไว้ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
ภูมิใจมากที่เราเรียนเกษตร เหมือนเราเป็นคนที่เรียนในสิ่งที่พระองค์โปรด และพระองค์รักที่จะทำด้วยหัวใจ เป็นหัวใจที่บริสุทธิ์ของพระองค์ที่อยากจะทำเพื่อประชาชน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ภูมิหลังชีวิตของ ‘ลุง’ เป็นอย่างไร
ผมเกิดที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ครอบครัวเป็นชาวไร่ ปลูกมันสำปะหลัง กับปลูกอ้อย และมีพี่น้องแม่เดียวกัน 5 คน คนละแม่อีก 2 คน พ่อเป็นคนจีนโพ้นทะเล เข้ามาอาศัยใบบุญอยู่ที่ประเทศไทย ผมเพิ่งมีโอกาสได้กลับไปยังประเทศจีนเพื่อเยี่ยมบ้านเกิดและบรรพบุรุษเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อไม่นานมานี้เอง
อะไรที่ทำให้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดบรรพบุรุษ
ผมตั้งใจมาตลอดชีวิต อยากจะกลับไปดูบ้านเกิดของพ่อว่าที่นั่นเป็นอย่างไร แกเกิดอย่างไร เติบโตมาอย่างไร มีสภาพแวดล้อมอย่างไร ผมเริ่มรู้สึกอย่างนี้มาตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ต่างประเทศ คือพ่อของผมเสียชีวิตเร็ว ตั้งแต่ผมอยู่ มศ. 2 ทำให้ตัวผมไม่มีโอกาสได้ทดแทนบุญคุณพ่อ จำไม่ได้เลยว่าในชีวิตตัวเองเคยทำอะไรให้พ่อได้ดีใจบ้าง พอไปอยู่เมืองนอกเราก็คิดมาตลอด เพราะเราไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น เราก็เลยรู้สึกว่าเรามาอยู่ในประเทศศิวิไลซ์อย่างนี้ เราก็ไม่ได้ลำบากอะไร ไม่ต้องไปตายเอาดาบหน้าเหมือนพ่อเรา ก็เลยคิดขึ้นมาว่า พ่อเราเขาเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน เขาคงเสี่ยงดวงว่าไปตายเอาดาบหน้า แล้วเขาก็มาตายที่เมืองไทยจริงๆ เราก็คิดว่าอยากจะกลับไปหาพวกเขา เพราะเราแทบจะไม่รู้จักบรรพบุรุษเราเลย ไม่เคยรู้ว่าเขามีพี่น้องกี่คน พ่อแม่เขายังมีชีวิตอยู่ไหม หรือเขามีพื้นฐานชีวิตอย่างไร เราไม่รู้จักเลย
ผมเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีการเกษตรเป็นกระดูกสันหลัง แต่ปัจจุบันกระดูกสันหลังนี้มันผุ มันกร่อนไปแล้ว กระดูกสันหลังชุดเก่านี้กำลังจะล่มสลายไปแล้ว ถ้าเราไม่สร้างกระดูกสันหลังชุดใหม่ขึ้นมา ประเทศชาติจะอยู่ไม่ได้
ช่วยขยายภาพถึงชีวิตในวัยเด็กของ อาจารย์หน่อยครับ
ผมเกิดมาเป็นลูกชาวไร่ ฐานะก็ไม่ถึงกับยากจน อยู่ในระดับปานกลาง เป็นชาวไร่ทั่วไป ก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบ้านฉาง จังหวัดระยอง เข้าเรียนหนังสือครั้งแรกคือเข้า ป.1 ไม่ได้เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนที่ค่อนข้างเกเรด้วยซ้ำ และมีนิสัยส่วนตัวอย่างหนึ่งคือ เป็นคนไม่ยอมคน เลยมีเรื่องทะเลาะกับคนอื่น ต่อยตีกับคนอื่น อยู่ ป.1 ต่อยกับพี่ ป.7 อะไรอย่างนี้ เป็นคนไม่ค่อยจะยอมใคร เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
ถ้าถามว่าเป็นเด็กขยันไหม ผมค่อนข้างจะขยัน เพราะพ่อแม่ผมฝึกมา เวลาผมกลับจากโรงเรียน ถ้าเป็นเด็กบ้านอื่นเขาก็คงออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็ก แต่ที่บ้านผม ทุกคนกลับมาก็จะมีหน้าที่หมด ผู้ชายก็เข้าไร่ไปถากหญ้า ผู้หญิงก็ไปซักผ้า ล้างจาน ทำกับข้าว บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีแม้กระทั่งห้องส้วม เวลาเราจะต้องทำกิจส่วนตัว เราก็แบกจอบเข้าไร่กันไป ส่วนน้ำที่ใช้ก็ต้องตักกันมาจากบ่อ ก็ใช้ชีวิตแบบลูกชาวบ้านทั่วไป
ประเด็นที่ทำให้เราแตกต่างจากลูกบ้านอื่นก็คือ พ่อแม่สอนให้เรารู้ว่าเราต้องมีหน้าที่ ตั้งแต่จำความได้ผมก็ไปรับจ้างแล้ว ไปรับจ้างถากหญ้า และถ้าวันไหนที่มีเวลาและไม่มีงานรับจ้าง เราก็จะแบกจอบไปอันหนึ่ง ถือถุงปุ๋ยไปขุดมันป่า ซึ่งมันเหล่านี้ก็เกิดมาจากต้นมันที่เขาโยนทิ้งกันไป มันก็ไปขึ้นเองตามธรรมชาติ เราก็ไปขุดมันมาสับเป็นมันเส้นขาย ก็ใช้ชีวิตแบบนี้ อยู่วัดอาศัยข้าววัดกิน เวลาเราอยากได้สตางค์ก็มีแค่สองทางคือไปรับจ้างถากหญ้า หรือไปเก็บของตามกองขยะ เข็นรถเข็นไปคุ้ยของตามกองขยะไป อะไรที่มันขายได้ก็เก็บมา เอามาชั่งกิโลฯ ขายบ้าง อันนี้คือชีวิตปกติทั่วไป
ผมก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย จนพอผมจะจบ ป.6 ยังไม่ได้เรียน ป.7 ผมได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่ง ผมก็เลื่อมใสศรัทธาท่านมาก พอผมสอบ ป.6 เสร็จ ผมจำภาพวันนั้นได้ ผมจำได้ว่าผมเอาลังใส่เสื้อผ้า แล้วก็หิ้วลังนั้นออกจากบ้าน บอกแม่ว่าจะไปบวช แม่ก็ไม่ได้ห้าม ตามหลวงพี่ท่านไป จากบ้านฉางที่จังหวัดระยอง ผมตามพระรูปนี้ไปจนถึงที่ปากช่อง ไปบวชได้ราว 1 ปีก็สึกออกมาเรียนจนจบป.7
ระหว่างที่ผมเรียน มศ. 1 พ่อก็ป่วยเป็นมะเร็งที่คอ เพราะแกสูบบุหรี่จัด พอ มศ.2 พ่อก็เสียชีวิต ปกติแล้วช่วงนั้นเขาจะยังไม่ค่อยให้ลูกสาวเรียนหนังสือ แต่แม่ผมไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เลยอยากให้ลูกสาวได้เรียน แม่ก็เลยเอาเงินส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ ในตอนนั้นเราก็จนนะ ไม่ได้รวยอะไร แต่แม่ก็พยายามส่งลูกไปเรียน ที่บ้านก็เหลือผู้ชายอยู่แค่ 3 คน ผม พี่ชาย และน้องชาย ตอนนั้นทุกคนยังเรียนอยู่ ก็เลยไม่มีคนทำงาน มีแม่ทำงานคนเดียวเพื่อส่งลูกๆ เรียน ซ้ำกับตอนนั้นที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพ่อ แม่บอกว่าเงินให้รักษาคนไป ถ้าเขาไม่ตายก็หาใหม่ได้
วันหนึ่งแม่ก็เรียกลูกๆ มารวมกัน แล้วแกก็เอาทองออกมา มีสร้อยทอง เข็มขัดทอง อะไรประมาณนั้น แม่เล่าว่าตอนพ่อมาขอแม่ แม่ได้ทองพวกนี้มา แม่ก็เล่าว่า พวกแกรู้ไหมหลังจากแต่งงาน กว่าที่จะทำงานใช้หนี้ที่พ่อเอาไปซื้อทองมาขอ ทำงานกันเกือบตาย แม่ก็เล่าว่านี่เป็นของพ่อ แม่เอาไปขายเพื่อเอาเงินมารักษาพ่อ แต่ในท้ายที่สุดพ่อก็เสียชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากพ่อมากเลยก็คือความขยัน ผมไม่ได้อยากขยัน แต่ผมก็ถูกบังคับให้ขยัน
ช่วงชีวิตของลูกที่ไม่มีพ่ออยู่ในขณะนั้นเป็นอย่างไร
ไม่ได้รู้สึกอะไร สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากพ่อมากเลยก็คือความขยัน ผมไม่ได้อยากขยัน แต่ผมก็ถูกบังคับให้ขยัน ที่ได้ไปเมืองจีน ไปบ้านบรรพบุรุษ ถึงได้รู้ว่าทำไมพ่อถึงต้องขยัน ทำไมเขาต้องทำงานหนักขนาดนั้น เพราะทุกบาททุกสตางค์ พี่น้องพ่อแม่เขาที่อยู่ที่เมืองจีนไม่มีอะไรกิน เขาต้องรอเงินที่ส่งไปจากเมืองไทย ผมเพิ่งได้ทราบเรื่องนี้เมื่อไม่นานนี้เอง ย่าของผม แม่ของพ่อท่านยากจนมาก ไม่มีจะกินกัน จึงทำให้ผมรู้ว่าทำไมพ่อต้องทำงานหนักแสนสาหัสขนาดนั้น พ่อก็จากไปโดยที่ไม่มีวันกลับมา เหลือแต่ลูก 5 คน กับแม่คนเดียว พร้อมด้วยหนี้สินจากการรักษาแก ครอบครัวก็เซถลา ผมกับพี่ชายขับรถบรรทุกได้ เรามีรถจี๊ปโบราณอยู่ เก่ามาก เรารับจ้างบรรทุกอ้อย บรรทุกมัน ผมก็ขับรถบรรทุกรับจ้าง ในขณะเดียวกันก็รับจ้างทำไร่ด้วย ทำทุกอย่างเท่าที่เราทำได้ แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือเลย
แรงผลักดันอะไรที่ทำให้กลับมาศึกษาต่อ
ชีวิตเราเหนื่อยมาก พอผมจบ มศ. 3 พี่ชายซึ่งเรียนเก่งมากเสียสละให้พี่น้องคนอื่นได้เรียน พี่ก็บอกกับผมว่าให้ไปเรียน ตัวเขาจะป็นคนทำงานส่งเรียนเอง พี่ชายผันตัวมาทำหน้าที่แทนพ่อ เป็นคนเสียสละไม่ศึกษาต่อ เพื่อให้น้องๆ ได้เรียน ผมก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตร พอเข้าไปได้ผมก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเก่ง ผมก็มุ่งทำกิจกรรม และกิจกรรมที่ผมทำมากที่สุดก็คือ กิจกรรมที่มุ่งในการช่วยเหลือคน ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมันสะท้อนตัวเราเองในวัยเด็กที่อยากเรียนหนังสือ ไม่ได้อยากไปทำงาน แต่เราไม่มีเงิน เราก็ต้องทำ เราก็รู้สึกว่ายังมีเด็กอีกเยอะที่เขาอยากมีโอกาสทางการศึกษา ผมจึงหันมาทำทางด้านนี้ เริ่มจากเป็นครูอาสาพัฒนาชนบท และเป็นประธานโครงการปลูกป่า สมัยนั้นหาเงินยากมากในการทำกิจกรรม ก็มารวมตัวเพื่อนๆ ฉายหนังกลางแปลง เขาเรียกกันว่าล้อมวิก แล้วขายบัตร แล้วก็ได้กำไร กำไรที่ได้มากที่สุดในตอนนั้นคือเจ็ดพันกว่าบาท ในขณะที่ตอนนั้นเงินเดือนครูอยู่ที่พันกว่าบาท การที่เราทำเงินได้เจ็ดพันกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในขณะนั้น ก็ได้เงินเจ็ดพันว่านั้นมาซื้ออุปกรณ์การเรียนมาแจกเด็กยากจน
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ปีนบันไดไปสู่การเป็นด็อกเตอร์
จุดเปลี่ยนตอนเรียนอยู่ ปวช. 2 วันหนึ่งไปยืนอยู่ใต้ต้นสนหน้าเสาธง เตรียมเข้าแถวเคารพธงชาติ ก็มีรองผู้อำนวยการซึ่งท่านมานำร้องเพลงชาติทุกวัน ท่านก็หันมาทางผมแล้วชี้บอกว่า “สมชายมานี่” ตอนนั้นผมก็นึกว่าผมไปทำอะไรผิด แต่ผมก็ทำตัวเรียบร้อยนะ แต่ท่านเรียกผมให้ไปนำร้องเพลงชาติ การได้ขึ้นไปนำร้องเพลงชาติในครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตเลย ทุกเช้าผมต้องไปถึงหน้าเสาธงก่อนคนอื่น ต้องแต่งตัวเรียบร้อย มันทำให้คนรู้จักเรา ไม่มีใครไม่รู้จักเรา วิทยาลัยเกษตรขณะนั้นมีนักศึกษาอยู่พันกว่าคน
พออยู่ ปวช. 2 เทอมปลายเขาก็มีรับสมัคร ‘นายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.)’ ซึ่งตอนนี้องค์การนี้อยู่ภายใต้พระราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผมก็ลงสมัคร ซึ่งสมัยนั้นคนไม่กล้าลงสมัครกัน ซึ่งส่วนมากก็เป็นพี่ ปวส. เขาสมัครกัน เรายังเป็นแค่ ปวช. ไปลงสมัครแข่งกับพี่ ปวส. เขา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชนะ ได้แค่ที่ 2 แต่ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น้อง ปวช. กล้าลงสมัครแข่งกับรุ่นพี่ ทำให้โดนรับน้องอีกรอบหนึ่ง
แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรม ในตอนนั้นฐานะทางครอบครัวผมก็ยังลำบากอยู่ และก็มีการรับสมัครไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ผมก็จะลาออกเพื่อไปทำงาน แต่ ผอ. ท่านก็ไม่ให้ไป ท่านบอกกับผมว่า “สมชาย ครูเชื่อว่าอนาคตของเธอไม่ได้อยู่แค่นี้” เลยเรียนต่อจนจบ ปวช. แล้วก็ไปต่อ ปวส.
พอขึ้น ปวส. ก็สมัครตำแหน่งเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้ก็ได้ และได้เป็นนายกองค์การเกษตรอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) วันหนึ่งผมปั่นจักรยานอยู่ ก็ได้ยินเสียง ผอ. ตะโกนเรียก “สมชาย สมชาย” ยังลังเลอยู่ว่าจะจอดดีไหม เพราะรู้ว่า ผอ. จะต้องเรียกใช้งานแน่นอน ผมก็จอด กลายเป็นว่า ผอ. บอกผมว่า ตอนนี้มีทุนให้ไปเรียนต่อญี่ปุ่น เธอไม่ลองสมัครดูล่ะ ตอนนั้นผมขำมาก นึกว่าถ้า ผอ. ไม่เมาค้าง ก็เริ่มเพี้ยน เพราะตอนนั้นผมไม่ใช่แค่เรียนไม่เก่ง แต่ผมตกภาษาอังกฤษมา 3-4 รอบแล้ว แล้วจะให้ไปสอบทุนต่างประเทศ ซึ่งข้อสอบก็เป็นภาษาอังกฤษหมด แต่ ผอ. ก็ยังยืนยันว่าอยากให้ผมไปสอบ ผอ. บอกกับผมว่า “ครูเชื่อว่าเธอต้องทำได้” คำนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนของผมเลย ผมตัดสินใจลองไปสอบ
พอกลับ เราก็มานั่งคิด การสอบนี้มีแค่การสอบสัมภาษณ์อย่างเดียว เราก็มานั่งคิดว่าเขาจะถามอะไรเราบ้าง เราเป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว เราก็เขียนคำถามขึ้นมาเป็นภาษาไทยก่อน แนะนำตัวเอง ทำไมอยากไป ไปแล้วจะได้อะไร จะเอาประเทศไทยไปแนะนำอย่างไร เขียนไป 20 ข้อ แล้วก็แต่งเรียงความเป็นภาษาไทย 20 หน้า แล้วก็ไปให้เพื่อนที่เก่งภาษาแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แลกกับเราไปทำงานให้ ไปรดน้ำถากหญ้าให้ จากนั้นก็ให้ครูตรวจแก้ภาษาอังกฤษให้ แล้วก็เอาที่แปลแล้วมาท่อง ท่องเป็นอาขยานเลย ท่องไปทั้งหมด 20 แผ่นนั่นแหละ ถ้าเขาถามตรงกับที่เราท่องเราก็ตอบเลย เตรียมตัวมาอย่างดี เราก็คิดว่าเราอยากให้เขาถามอะไรเรา เราก็เตรียมคำตอบไปด้วยเลย คนอื่นเขาน่าจะใส่ชุดนักศึกษาไป ผมก็ใส่ชุดนายก อกท. ไป ที่หน้าอกจะปักชื่อผมและตำแหน่งนายกฯ เป็นเสื้อสีเขียว ต่างกับเสื้อนักศึกษาทั่วไป เขาน่าจะถามว่าเสื้ออะไร ผมก็เตรียมคำตอบไว้หนึ่งหน้ากระดาษ A4
วันที่ไปสอบ กรรมการถามได้ 3 ข้อ หมดเวลา เพราะเราตอบแต่ละข้อไปจนหมดหนึ่งหน้ากระดาษ A4 เพราะถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาถามแทรก เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปถึงไหน เราเลยลากยาวไปเลย พอประกาศผลมา ผมก็ได้
ความฝันสูงสุดตอนที่เรียนที่วิทยาลัยเกษตร ที่ผมอยากเป็นสูงสุดเลยคือ อยากเป็นครู และไม่อยากเป็นครูพื้นราบ อยากเป็นครูดอย เห็นพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ดูทีวีเป็นประจำ เห็นพระองค์เสด็จฯ ขึ้นเขาขึ้นดอยไปช่วยชาวไร่ชาวนา ไปช่วยชาวเขา เราดูภาพพวกนี้แล้วเราเห็นเกษตรกร เคยดูหนังเรื่องครูดอย นั่งร้องไห้แล้วนั่งร้องไห้อีก อยากเป็นครูดอย อยากเป็นผู้เสียสละ มันก็เป็นอุดมการณ์ของเด็กๆ ที่รักพระองค์
‘รัชกาลที่ 9’ เป็นแรงผลักดันในเรื่องการศึกษาของอาจารย์อย่างไร
ความฝันสูงสุดตอนที่เรียนที่วิทยาลัยเกษตร มี 2 เรื่องที่ผมอยากเป็นสูงสุดเลยคือ อยากเป็นครู และไม่อยากเป็นครูพื้นราบ อยากเป็นครูดอย เห็นพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ดูทีวีเป็นประจำ เห็นพระองค์เสด็จฯ ขึ้นเขาขึ้นดอยไปช่วยชาวไร่ชาวนา ไปช่วยชาวเขา เราดูภาพพวกนี้แล้วเราเห็นเกษตรกร เคยดูหนังเรื่องครูดอย นั่งร้องไห้แล้วนั่งร้องไห้อีก อยากเป็นครูดอย อยากเป็นผู้เสียสละ มันก็เป็นอุดมการณ์ของเด็กๆ ที่รักพระองค์
พระองค์เสด็จฯ ไปในที่ซึ่งทุรกันดาร เราเป็นเด็กบ้านนอก และเราเป็นเด็กเกษตร เราก็อยากทำอะไรสักอย่างที่เราจะได้สนองพระองค์ เราได้เห็นในสิ่งที่พระองค์ทำแล้วมันก็เป็นแรง เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากจะเป็นครูดอย อีกอย่างที่อยากทำมากก็คือการเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และก็ไม่ได้อยู่บนพื้นราบเหมือนกัน อยากไปอยู่ทางเหนือ อยากไปช่วยชาวเขาชาวดอย มันก็คืออะไรบางอย่างที่อยู่ในความทรงจำของเรา เพราะว่าสมัยก่อนในโทรทัศน์มันก็ไม่ค่อยมีเรื่องเกษตร
ผมจะเห็นเรื่องเกษตรทางภาคเหนือก็คือพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จฯ ไปช่วยชาวบ้าน เห็นจนชินตา เราเรียนเกษตรเราก็เห็นพระองค์ทำในสิ่งที่เป็นเกษตร เราก็ภูมิใจมากที่เราเรียนเกษตร เหมือนเราเป็นคนที่เรียนในสิ่งที่พระองค์โปรด และพระองค์รักที่จะทำด้วยหัวใจ เป็นหัวใจที่บริสุทธิ์ของพระองค์ที่อยากจะทำเพื่อประชาชน
วางแผนอย่างไรเมื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อไปเรียนที่ญี่ปุ่นก็ยังฝันอยู่ว่าถ้าเรากลับมาบ้าน เราจะมีโอกาสได้ทำงานเกษตรเพื่อถวายแด่พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ตอนผมไปญี่ปุ่น ตอนที่ผมจะขึ้นเครื่องบิน ก่อนขึ้นเครื่องผมก้มลงกราบพื้นดิน เอาฝ่ามือแตะที่พื้น และเอาฝ่ามือมาตบเบาๆ ที่ศีรษะ รำลึกว่านี่คือแผ่นดินบ้านเกิด และภาวนาว่าถ้าวันหนึ่งเราประสบความสำเร็จ เราจะกลับมาชดใช้บุญคุณแผ่นดินเกิด นี่คือโอกาสเดียวของผมที่จะได้ไปญี่ปุ่น ที่จะได้ขึ้นเครื่องบิน ผมจะต้องประสบความสำเร็จกลับมาให้ได้
ซึ่งการจบมานี้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ รุ่นหนึ่งจบกันออกได้เพียงครึ่งเดียว ผมก็เรียนอย่างพลีกายถวายชีวิต จนในที่สุดก็เรียบจบออกมาได้ หลังจบก็ไปสอบเข้าเรียนต่อ เหมือนไปต่อปี 3 ก็สอบเข้าได้ แต่ตอนนั้นไม่มีทุนเลย ทุนหมด เราก็ไปวิ่งหาทุนมาจากมูลนิธิเอกชน จนได้ทุนค่าเทอมมา แต่ค่าครองชีพก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเอง ตอนนั้นผมก็กลับมาเมืองไทย แล้วก็ได้แต่งงาน แล้วก็พาภรรยาไปอยู่ญี่ปุ่นด้วย ก็หมั้นเขาไว้แล้ว ตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะอยู่เรียนต่อได้ แต่มาอยู่ญี่ปุ่นก็ลำบากมาก ทำงานทุกวัน ผมไปเป็นกุ๊กหลังร้าน ภรรยาล้างจาน ทำงานอยู่ในร้านสเต๊ก เราเคยไม่มีข้าวกินเป็นเดือน เพราะแค่ค่าเรียนค่าที่อยู่ก็สาหัสแล้ว ภรรยาก็เรียนด้วย เราต้องช่วยกันทำงานหาเงินค่าเล่าเรียน
อะไรที่ทำให้เราผ่านจุดนั้นมาได้
ฝัน มันมีความฝัน เราเห็นรุ่นพี่เขาเรียนปริญญาตรีกัน เราก็อยากเรียนปริญญาตรี เห็นเขาเรียนหนังสือสูง เราก็อยากเรียนหนังสือสูง และเราเห็นว่าโอกาสแบบนี้ในชีวิตเราคงไม่มีอีกแล้ว มีรูปติดอยู่ที่หัวนอน ตั้งแต่ไปจนกระทั่งกลับมาเมืองไทย เกือบ 10 ปี มีรูปพ่อกับแม่ และพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ผมกราบก่อนนอนทุกวัน ทั้งกราบพ่อกราบแม่ กราบพระ กราบพระองค์ และภาวนาขอให้ลูกประสบความสำเร็จ ลูกจะได้กลับไปชดใช้บุญคุณของแผ่นดิน
มันเป็นแรงบันดาลใจให้เราสู้ เพราะเราคิดว่าถ้าเราเรียนแค่นี้ กลับไปเราจะทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไรไปช่วยพระองค์ทำงาน หรือไปทำอะไรให้กับประเทศชาติ เลยตั้งใจที่จะเรียนให้สูง ไม่ว่าจะลำบากขนาดไหนก็ตาม และมันก็ลำบากมาก ทำงานหนักมาก เรียนหนักมาก ชีวิตมันหนักมาก
แต่ก็จบปริญญาตรีได้โดยที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นลำดับสูงสุดของมหาวิทยาลัย ผมเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย 98 ปี ที่นักเรียนต่างชาติได้รับรางวัล ถ้าหากเป็นที่ไทยจะเรียกว่ารางวัลเกียรตินิยมวิทยานิพนธ์ดีเด่น อันดับ 1 และนี่คือเหตุผลที่มหาวิทยาลัยส่งชื่อผมไปขอทุนรัฐบาลญี่ปุ่นรอบ 2 และได้ทุนมาเรียนต่อทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก
ถามว่าตอนเราเรียนเราลำบากไหม บอกได้เลยว่า ปี 1-2 นี่คือสองปีนรก ลำบากมาก เมื่อก่อนอาจจะต้องอาย แต่วันนี้พูดได้เลยว่าเสื้อผ้าที่ใส่ในช่วงนั้นบางตัวต้องเก็บมาจากกองขยะ ตอนเด็กๆ ก็เคยทำมาก่อนอยู่แล้ว คุ้ยของจากกองขยะ แต่เสื้อผ้าของญี่ปุ่นเวลาเขาจะทิ้ง เขาพับใส่ถุงวางไว้ เราก็แบกมาเลือก อันไหนใส่ได้ก็เอาไว้ อันไหนไม่ได้ก็พับไปวางคืน ของใช้ในบ้านไม่มีอะไรซื้อเลย มีสเตอริโอชุดหนึ่งที่ไปซื้อมาไว้ฟังเพลง ที่เหลือแบกมาจากกองขยะหมด เพื่อใช้ชีวิตให้มันอยู่รอดเท่านั้นเอง ก็เรียนมาจนจบปริญญาเอก
ย้อนกลับไปถึงเมื่อปี 1987 ผมไปฟังเพลงที่เด็กชาวเขาร้อง จำไม่ได้แล้วว่าวงไหนแต่ง มีคนให้เทปคาสเซ็ตต์มา ก็เอามาเปิดที่ห้องแล็ป แล้วก็นั่งร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเลย เป็นเพลงที่พวกเขาร้องว่า พวกเราเอาแต่เดินไปข้างหน้า ทำไมไม่หันหลังไปมองพวกเขาบ้าง ทำไมไม่ยื่นมือไปช่วยพวกเขาบ้าง เพลงมันเป็นอย่างนั้น แต่ผมจำชื่อเพลงไม่ได้ เลยมาคิดว่าที่วันนี้เราได้มาเรียนหนังสือ เราได้มาเรียนสูง เรากำลังลืมตัว ลืมว่าเราตั้งใจไว้ว่าจะทำอะไร ผมจึงตั้งชมรมหนึ่งขึ้นมา ก่อนที่จะตั้งชมรมผมก็ชวนรุ่นน้อง 3 คน และตัวผม รวม 4 คน ไปเป็นกรรมกรมาหนึ่งวัน เอาเงินของ 4 คนมารวมกันได้ 40,000 เยน แล้วเอาเงินก้อนนี้มาตั้งเป็นชมรมชื่อ ‘ชมรมน้ำใจ’
ชมรมน้ำใจเพื่อเด็กไทยผู้ยากจน เวลามีงานเทศกาลอะไร เราก็ไปเปิดบูธขายอาหาร ทำขนมจีน ทำแกงเขียวหวาน ทำต้มยำไปขายเป็นเงินในชมรมน้ำใจ ซึ่งชมรมนี้ก็มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน โครงการจักรยานยืมเรียน แล้วจากนั้นชมรมก็ยังมีกิจกรรมชมรมอื่นอีกมากมาย ตัวผมก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในสังคม คนไทยในญี่ปุ่น จนในที่สุดก็ได้ไปสมัครเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และก็ได้เป็นนายกสมาคมเมื่อปี 2534 คือตอนเรียนปริญญาเอกปี 1
เราคิดว่าถ้าเราเรียนแค่นี้ กลับไปเราจะทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไรไปช่วยพระองค์ทำงาน หรือไปทำอะไรให้กับประเทศชาติ เลยตั้งใจที่จะเรียนให้สูง ไม่ว่าจะลำบากขนาดไหนก็ตาม
อะไรทำให้ตัดสินใจเลือกเป็นอาจารย์ที่เมืองไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียนจบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โตเกียวก็ทาบทามให้เป็นอาจารย์ที่นั่น เงินเดือนสูงมาก แต่ผมก็ไม่ได้ตอบรับ ซึ่งถ้าตอบรับผมก็จะเป็นอาจารย์ต่างชาติคนแรก เมื่อผมกลับมาไทย ผมก็ไปไล่สมัครงาน ผมก็สมัครไปหลายที่ แต่ในท้ายที่สุดผมก็เลือกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะคิดว่าที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเปิดใหม่ไม่เหมือนที่อื่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีสายวิทยาศาสตร์มาก่อน ทุกคนก็รวมตัวกันมาจากหลายที่ มาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์
ความเป็นจริงแล้วตั้งใจมากว่าหลังจบปริญญาเอกแล้วจะไปเป็นครูดอย ไปสนองงานในพระราชดำริ แต่ก็มีผู้ใหญ่ท่านบอกว่า “สมชาย ถ้าเราจะสนองงานพระองค์ เราสนองงานพระองค์ในหน้าที่อื่นๆ ก็ได้ โดยเฉพาะในหน้าที่ของการสร้างคน” จึงตัดสินใจที่จะเป็นอาจารย์
ตัดสินใจที่จะไม่เป็นอาจารย์ที่ญี่ปุ่นตอนนั้นมีเหตุผลอะไร
มีอยู่สองเรื่องที่เราตัดสินใจว่าเราจะไม่เป็นอาจารย์ที่นั่น เรื่องแรกคืออยากมาอยู่ใกล้แม่ เราทิ้งแม่ไปแล้วเกือบ 10 ปี ผมก็อยากกลับมาอยู่ใกล้ท่าน จริงๆ ใจผมอยากไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาก อยากไปอยู่ทางเหนือ แต่ไกลบ้าน บ้านอยู่ระยอง ก็เลยคิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใกล้บ้านมากกว่า เลยเลือกอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างที่สองก็คือเราคิดว่าเราเป็นคนไทย เราเกิดในแผ่นดินไทย เรามีโอกาสวันนี้ได้เพราะครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้ และเราอยากทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาทมาตลอดชีวิต เราจึงคิดว่าถ้ากลับมาแล้วมีโอกาสได้ทำสักเล็กน้อย แม้เพียงผงธุลีในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำ มันก็จะมีประโยชน์เหลือหลาย
ถ้าผมเลือกเป็นอาจารย์ที่ญี่ปุ่น ต่อให้ผมทุ่มเทอย่างไร ประโยชน์มันก็ไม่ได้เกิดที่เมืองไทย มันจะเกิดที่ญี่ปุ่น แต่ถ้าผมมาทำที่เมืองไทย แม้จะเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อย แต่มันก็เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินของเรา ผมจึงกลับมาทำงานที่เมืองไทย
ผมต้องเริ่มโดยใช้วุฒิปริญญาโทก่อน เพราะปริญญาเอกนั้นตามระบบเขาต้องใช้เวลาเทียบวุฒิก่อน 1 ปี เพื่อเช็กว่าจบจริงไม่จริง มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับหรือเปล่า ต้องใช้เวลา 1 ปี ได้เงินเดือน 8,500 บาท ตอนเป็นนักเรียนได้เดือนละ 4-5 หมื่นบาท พอมาเป็นอาจารย์เหลือแค่ 8,500 ตอนนั้นเกือบตาย
มีเป้าหมายอะไรบ้างกับการเลือกมาเป็นอาจารย์
ก็ตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเองไว้ว่า ครูบาอาจารย์เราสร้างด็อกเตอร์ขึ้นมาได้ 1 คน เราจะสร้างด็อกเตอร์คืนครูบาอาจารย์สัก 10 คน คิดว่าก่อนเกษียณจะต้องปั้นลูกศิษย์ให้เป็นด็อกเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 10 คน เพราะหน้าที่อาจารย์นี้คือการสร้างคน และให้คนไปสร้างคนต่อๆ กัน เป็นเช่นนี้แล้วมันจะสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างมาก
ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ เราจะต้องทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ อย่างตรงประเด็น ตรงปัญหา ผมศึกษาข้อมูลจากญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมประเพณี มีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก ในด้านการเกษตรก็เช่นกัน วัฒนธรรมทั้งประเทศก็เหมือนกัน ศาสนาก็เหมือนกัน
ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรามีคนเต็มไปหมด เรามีวิทยาลัยเทคนิคเต็มไปหมด ไปอยู่ตามโรงงานต่างชาติที่มาลงทุน ถามว่าคนเหล่านี้มาลงทุนเพื่ออะไร เขาก็มาลงทุนเพื่อกำไร เราก็ซัพพอร์ตเขาด้านแรงงานลงไป แต่ถามว่าผลพลอยได้ที่ได้มาจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้มันคืนกลับมาสู่ประเทศเรา 100% ไหม คำตอบคือไม่ ผลที่เราได้คือเขาถ่ายทอดเทคโนโลยีของเขาให้เรา เขาทำให้คนของเรามีงานทำ แต่สิ่งที่เราทำแล้วมันอยู่กับเรา 100% มันก็คือภาคการเกษตร
มองเรื่อง ‘ภาคเกษตรกรรม’ ในบ้านเราอย่างไรบ้าง
สิ่งที่มันเป็นเรื่องบกพร่องมากที่สุดในบ้านเกิดเราคือเรื่องของการสร้างคนในภาคการเกษตร เราอาจมุ่งเน้นไปในเรื่องของการสร้างคนในภาคอุตสาหกรรมเยอะแยะ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรามีคนเต็มไปหมด เรามีวิทยาลัยเทคนิคเต็มไปหมด คนเรียนจบไปอยู่ตามโรงงานต่างชาติที่มาลงทุน ถามว่าคนเหล่านี้มาลงทุนเพื่ออะไร เขาก็มาลงทุนเพื่อกำไร เราก็ซัพพอร์ตเขาด้านแรงงานลงไป แต่ถามว่าผลพลอยได้ที่ได้มาจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้มันคืนกลับมาสู่ประเทศเรา 100% ไหม คำตอบคือไม่ ผลที่เราได้คือเขาถ่ายทอดเทคโนโลยีของเขาให้เรา เขาทำให้คนของเรามีงานทำ แต่สิ่งที่เราทำแล้วมันอยู่กับเรา 100% มันก็คือภาคการเกษตร มันคือของเราอย่างแท้จริง และประเทศเรามีประชากรในภาคการเกษตรอยู่ที่ 30-40% แต่เราสามารถสร้างรายได้มวลรวมประชาชาติได้เพียง 10% ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยวและบริการ
คำถามก็คือมันอันตรายไหมกับบ้านเรา ผมคิดว่ามันอันตรายมากสำหรับบ้านเรา เพราะว่ามันไม่ใช่รายได้ที่แท้จริง เพราะรายได้ที่แท้จริงมันมาจากสองทาง หนึ่งคือเกษตร อีกหนึ่งคือท่องเที่ยวและบริการ แต่รายได้ที่ยั่งยืนและเป็นตัวเรามากที่สุดนั้น ก็คือภาคการเกษตร แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญกับการเตรียมคนภาคการเกษตรที่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ และนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันคือหน้าที่จะต้องหาทางสร้างคนเกษตรรุ่นใหม่ให้ประเทศชาติ
จะสร้างคนในภาคเกษตร ตามที่ตั้งใจไว้อย่างไร
ทั้งชีวิตผมผูกโยงอยู่กับด้านการเกษตร สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างคน เพื่อให้คนเหล่านี้มาสร้างการพัฒนาในด้านการเกษตรให้แก่ประเทศไทย หากถามว่าประเทศไทยล้าหลังด้านไหนที่สุด ผมคิดว่ามันคือภาคการเกษตร ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศเกษตร แต่เราไม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวของโลกที่ได้รับการเชิดชูว่าทรงเป็นกษัตริย์เกษตร และประเทศเราก็เป็นประเทศเกษตร แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตร ปากเราบอกว่าเราให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตร แต่เรากำลังทำในสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริไว้เยอะมาก เช่น พระองค์สอนว่า ให้สอนคนเลี้ยงปลา ไม่ใช่ให้ปลากับเขา เราต้องเสริมสร้างเขาให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่เอาแต่รอความช่วยเหลือ เราจะอยู่ได้ เราจะเข้มแข็งได้ เราไม่มีอะไรอีกเลยที่ทำได้นอกเหนือจากการสร้างคน
ในขณะที่การสร้างคนของเรามีปัญหาหมดเลย เช่น วิทยาลัยเกษตรมีคนเรียนน้อยมาก วิทยาลัยเทคนิค พาณิชย์ ท่องเที่ยว คนก็ต่างแย่งกันเรียน เรียนการแสดงละคร ร้องเพลงยังมีคนเรียนมากกว่าเกษตรเลย เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากๆ สำหรับประเทศของเราที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งเน้นเพื่อที่จะสร้างคนที่จะสามารถมาทำให้ภาคการเกษตรของบ้านเราพัฒนาขึ้นเป็นประเทศที่มีการเกษตรที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในทัศนะของผม
ถ้าเป็นไปได้ก็มาเป็นอาจารย์ สร้างคนรุ่นต่อไป ไม่ต้องเอากระเช้าดอกไม้มา ไม่ต้องเอาของขวัญมา ถ้าอยากตอบแทนบุญคุณผม ให้ไปสร้างลูกศิษย์มา ผมสร้างได้ 20 คน พวกคุณก็ต้องได้
ปัจจุบันก็ทำโครงการขึ้นมาด้วยการรับเอาคนที่จบวิทยาลัยเกษตรทั้งหลาย แล้วก็ส่งไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น 3 ปี ตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเลย เพราะที่ญี่ปุ่นบอกว่าเราจะทำไม่ได้หากไม่ทำในนามของบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมาย ทีแรกจะทำในนามมหาวิทยาลัยเราก็ทำไม่ได้ เราก็เลยตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำ ส่งยุวเกษตรกรไทย ส่งคนที่จบอาชีวเกษตร ปวช. ปวส. คนที่เป็นยุวเกษตกรดีเด่นในระดับอำเภอ จังหวัด ภาค เขต ไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี แน่นอนว่าในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ ความภูมิใจของอาจารย์คือการสร้างบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งผมก็ทุ่มเทในจุดนั้น
แต่น่าเสียดายที่บัณฑิตที่จบออกไปที่จะกลับมาทำงานในภาคเกษตรนั้นมีน้อยมาก ส่วนมากก็จะไปทำงานกับบริษัท ไปเป็นนักวิชาการ แต่ถามว่าตอนนี้ประเทศชาติเราต้องการคนที่ไปอยู่บริษัท หรือต้องการคนที่ไปเป็นนักวิชาการหรือ คำตอบคือบางส่วนก็ใช่ แต่ที่จำเป็นจริงๆ ยังไม่ใช่ ที่เราต้องการจริงๆ คือคนที่ไปอยู่ในชุมชน ไปเป็นผู้นำ ไปทำอาชีพเกษตรกรต้นแบบให้กับเกษตรกรรอบๆ นี่คือเรื่องที่สำคัญมากกับประเทศไทย และเราก็ควรที่จะทุ่มเทสร้างคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน ซึ่งเด็กที่ไปญี่ปุ่น 3 ปีนี่เขากลับมา เขาสามารถที่จะนำประสบการณ์จริงที่เขาทำงานทุกวัน เรียนรู้ทุกวันมาใช้ เกษตรกรรมญี่ปุ่นเขานำหน้าเราไปเป็น 10 ปี ไปอยู่ที่นั่น 3 ปี เขาก็ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ เขาก็จะได้เอาความรู้ที่เขาได้ไปสัมผัสมานี้ มาประยุกต์ใช้ มาพัฒนาเกษตรในประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเรามาก
ผมก็ทำทั้งสองอย่างคือ การสร้างบัณฑิตในสาขาเทคโนโลยีการเกษตร อีกอย่างคือต่อยอดคนที่จบจากวิทยาลัยเกษตรทั้งหลายในสายปฏิบัติการเกษตร ออกไปหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศ ไปเรียนรู้ ไปเจอของจริง แล้วกลับมาพัฒนาเกษตรในประเทศไทย
ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานทุกวัน ทำจนไม่มีวันหยุด เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลก็ยังทรงงานอยู่ เรายังแข็งแรงอยู่ ยังมีแรง เราต้องไม่หยุด ไม่ต้องดูใคร ดูพระองค์
คิดว่าความฝันจากวันนั้นจนถึงวันนี้เดินมาถึงจุดไหนแล้ว
ก็มาได้ระดับหนึ่ง เช่น ผมฝันว่าผมจะสร้างลูกศิษย์จบด็อกเตอร์ให้ได้ 10 คน ปัจจุบันก็ได้แล้วประมาณ 20 คนแล้ว ผมก็จะบอกกับพวกเขาว่า จบไปแล้ว อย่าไปอยู่ต่างประเทศนะ กลับมาเมืองไทย เอาประสบการณ์ เอาความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็มาเป็นอาจารย์ สร้างคนรุ่นต่อไป ไม่ต้องเอากระเช้าดอกไม้มา ไม่ต้องเอาของขวัญมา ถ้าอยากตอบแทนบุญคุณผม ให้ไปสร้างลูกศิษย์ต่อไป ผมสร้างได้ 20 คน พวกเขาก็ควรต้องสร้างได้ 20 คน ถ้าทุกคนสร้างได้ 20 หมด ประเทศไทยก็จะมีคนที่มีความรู้ด้านการเกษตรเยอะมากขึ้น
ขณะเดียวกันผมก็พยายามสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศที่เขาพัฒนาแล้วทางด้านการเกษตร ผมก็ทำทั้งสองทางนี้ ถามว่ามาได้ขนาดไหนแล้ว ก็พึงพอใจระดับหนึ่ง อีก 6 ปีผมก็เกษียณแล้ว ผมก็พอใจแล้ว แต่ถ้าถามว่าจะหยุดหรือยัง ก็ยังคงอยากที่จะทำมันให้ได้มากกว่านี้อีก
แบบอย่างของ ‘รัชกาลที่ 9’ ที่อาจารย์นำมายึดถือปฏิบัติคือ
เราก็เห็นกันมาตลอดว่าพระองค์ทำอะไรให้กับคนไทยบ้าง รุ่นของผมก็เป็นรุ่นที่ได้เห็นพระองค์ทรงงานหนัก เห็นพระองค์เสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดารมากมาย พระองค์ทำโครงการด้านการเกษตรมากมาย เห็นพระองค์ทำสิ่งต่างๆ มากมาย
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนเกษตรมาแล้วภูมิใจ คือการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระองค์มีพระราชดำริเรื่องอะไรเราก็ฟัง ทุกครั้งที่พระองค์มีพระราชดำริให้แก่พสกนิกรชาวไทย ผมก็นั่งคุกเข่าพนมมือหน้าทีวี ฟังพระองค์ให้ศีลให้พร มันก็อยู่ในใจเราเรื่อยมาว่าอะไรบ้างที่เราสามารถทำให้พระองค์ได้บ้าง เราเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ เราสอนลูกศิษย์ให้รักประชาชน สอนลูกศิษย์ให้เห็นหัวชาวบ้าน สอนลูกศิษย์ให้ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่เอาเปรียบประชาชน
ในขณะเดียวกันเราก็พยายามสร้างคนอีกกลุ่มขึ้นมา ที่จะมาสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม ผมเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีการเกษตรเป็นกระดูกสันหลัง แต่ปัจจุบันกระดูกสันหลังนี้มันผุ มันกร่อนไปแล้ว กระดูกสันหลังชุดเก่านี้กำลังจะล่มสลายไปแล้ว ถ้าเราไม่สร้างกระดูกสันหลังชุดใหม่ขึ้นมา ประเทศชาติจะอยู่ไม่ได้
บทสรุปชีวิตต่อจากนี้ของอาจารย์ต่อตัวเองและคนไทย ควรเดินหน้าไปต่ออย่างไร
ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานทุกวัน ทรงงานไม่มีวันหยุด เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลก็ยังทรงงานอยู่ เรายังแข็งแรงอยู่ ยังมีแรง เราต้องไม่หยุด ไม่ต้องดูใคร ดูพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ เราเป็นใคร เราเป็นแค่มดงานตัวเล็กๆ ถ้าเราไม่ทำ ทุกคนไม่ทำอย่างที่พระองค์ทำ ประเทศชาติมันก็จะไม่พัฒนาขึ้น
สำหรับชีวิตผมแม้จะต้อง ทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม แม้ต้องทำงานหนักทั้งชีวิต หากผมสามารถทำให้เหงื่อของพระองค์หายไปสักเม็ดหนึ่งได้เท่านั้น เกิดมาก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว
อ้างอิง:
- รศ. ดร. สมชาย ชคตระการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จบการศึกษาปริญาตรี โท และเอก จาก Tokyo University of Agriculture ประเทศญี่ปุ่น เป็นครูดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคยดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์