×

BEFORE SUNRISE

โดย
26.09.2017
  • LOADING...

     จากสถานะวัดราษฎร์ธรรมดาในสมัยอยุธยา วัดแจ้งยกระดับกลายเป็นวัดสำคัญที่มีอาณาเขตอยู่ในพระราชวังหลวงสมัยธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นวัดหลวงเมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ และได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มาจนถึงปัจจุบัน

     นับเนื่องจากอดีตมาจนปัจจุบัน วัดแห่งนี้ผ่านขั้นตอนการบูรณปฏิสังขรณ์น้อยใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีครั้งใดจะสร้างกระแสได้เท่าการบูรณะครั้งปัจจุบัน ที่เป็นประเด็นร้อนในแวดวงโบราณคดีและสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

     THE STANDARD พาคุณย้อนเวลากลับไปรื้อฟื้นความเป็นมาและความสำคัญของศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้ พร้อมแจกแจงทัศนะจากสองฝั่งของความขัดแย้ง เพื่อให้คุณตัดสินเองว่างานบูรณะครั้งที่กำลังจะครบกำหนดตามสัญญาในเดือนตุลาคมนี้ เป็นก้าวที่พลาดในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือการจุดประเด็นเพื่อโจมตีแบบที่เห็นกันตลอด 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการวิจารณ์ไปตามกระแสโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ในเชิงช่างกันแน่

 

THE HISTORY OF THE TEMPLE OF DAWN

     วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ไม่ใช่วัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แบบที่สื่อหลายสำนักรายงาน ในช่วงที่เกิดกระแสประท้วงการบูรณะพระปรางค์ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

     วัดริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ณ ปากคลองบางกอกใหญ่แห่งนี้ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา จากการสืบค้นประวัติ ว่ากันว่าเดิมเรียกวัดมะกอก ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน ที่คลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) วัดมะกอกเดิมซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่จึงมีชื่อที่คุ้นเคยกันในละแวกนั้นว่า วัดมะกอกนอก ไปโดยปริยาย

     แต่ชื่อที่คุ้นหูคุ้นปากคนไทยมากกว่าวัดมะกอกคือ วัดแจ้ง ที่มาของชื่อนี้เคยมีความเชื่อว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีสยาม ในปี พ.ศ. 2310 พระองค์เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดแจ้ง อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานหักล้างว่าความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในวรรณกรรมสมัยอยุธยาเรื่อง เพลงยาวนายภิมเสน มีคำบรรยายเรื่องการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าวัดแจ้งตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

 

 

ความสำคัญของวัดอรุณฯ

     รู้หรือไม่ วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

     วัดแจ้งถือเป็นวัดราษฎร์ หรือ ‘วัดชาวบ้าน’ ธรรมดาในสมัยอยุธยา แต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับ หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ ทรงใช้ป้อมวิชัยประสิทธิ์ทางฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งพระราชวัง จากนั้นมีการขยายเขตพระราชฐาน จนวัดแจ้งกลายเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้จึงยกระดับเป็นวัดในวังหลวง มีความสำคัญที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี

     เมื่อมีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2322 วัดอรุณฯ ได้รับเลือกให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอยู่นานถึงปี พ.ศ. 2327 ก่อนที่พระแก้วมรกตจะย้ายไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

     ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) มีการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพฯ สถานะของวัดจึงลดความสำคัญลงไปบ้าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ต่อมาพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดอรุณราชธาราม’

     ต่อมาทรงมีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้น และทรงให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล วัดแจ้งจึงกลับมามีสถานะเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

     ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง จึงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า ‘วัดอรุณราชวราราม’ กลายเป็นชื่อทางการของวัดแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

คติสัญลักษณ์ในเชิงสถาปัตยกรรมของวัดอรุณฯ

     จากสถานะวัดราษฎร์ในสมัยอยุธยา จนกลายมาเป็นวัดหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ วัดริมน้ำแห่งนี้มีคติสัญลักษณ์ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมมากมาย หนึ่งในผู้ที่ศึกษาวัดอรุณฯ ในเชิงคติสัญลักษณ์ คือ รองศาสตราจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

     “เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันชัดเจนตั้งแต่อดีต ไม่ใช่เฉพาะไทยด้วยนะครับ อย่างเช่นพระปรางค์ที่เขมร คือภาพจำลองของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือพุทธ อยุธยาหรือสมัยไหน มีเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว” อาจารย์ชาตรีเล่าถึงความสำคัญของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของวัดส่วนใหญ่

     ผู้แต่งหนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม เสริมว่า “เอกสารหลักฐานอื่นๆ ก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่า การสร้างพระปรางค์ในขนบแบบไทย หรือในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ก็จะหมายถึงภูเขา ถ้าเจดีย์ก็หมายถึงที่บรรจุพระพุทธธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     “ยอดแหลมแบบหนึ่งก็จะแสดงว่าเป็นปราสาทหรือวิมาน เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้มันมีการสืบทอดส่งต่อกันมา ดังนั้นเวลาเราเห็นพระปรางค์ ในทางประเพณี เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นภูเขา และเมื่อประกอบกับรูปปฏิมากรรมประดับ เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ก็ชัดเจน และยิ่งไปดูรายละเอียดเรื่องการซ้อนชั้นที่มันเท่ากับคัมภีร์ เรื่องราวและองค์ประกอบอื่นๆ ที่รายรอบ ทั้งยังมีพระปรางค์ทิศ ซึ่งก็เหมือนสัตตบริภัณฑ์คีรี หรือเขาเล็กๆ ที่ล้อมเขาพระสุเมรุอีกที มันชี้ไปในเรื่องเดียวกันหมด”

     แน่นอนว่าคนที่ศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมไทย หรือโบราณคดีจะชมวัดอรุณฯ ได้ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไปที่อาจจะมองว่างาม หรือเอาไว้ถ่ายรูป

     “ถ้าเราไปเดินชมโดยมีความรู้ตรงนี้ เราจะรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในเขาพระสุเมรุ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็จะได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง” อาจารย์ชาตรีชี้ให้เห็นว่าแต่ละวัดมีเรื่องราวลึกซึ้งซ่อนอยู่ “ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่วิธีการนำเสนอจะต่างกัน”

 

 

ความโดดเด่นในฝีมือช่าง

     เมื่อเปรียบเทียบกับวัดหลักๆ ไม่ว่าในสมัยใด วัดอรุณฯ มีความโดดเด่นไม่แพ้ศาสนสถานอื่นๆ

     “วัดอรุณฯ เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลที่ 2 มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่เป็นมหาธาตุหลวง แต่เดิมจุดที่เป็นพระปรางค์มีพระปรางค์องค์เล็กอยู่แล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา เราไม่รู้หน้าตา เพราะถูกหุ้มไปหมดแล้ว พระปรางค์วัดอรุณฯ ถือว่าเป็นสุดยอดของศิลปะเลยทีเดียว แต่หลังจากสร้างกรุงเทพฯ มา ยังไม่มีมหาธาตุคือ เจดีย์หรือพระปรางค์ใหญ่ๆ แบบที่มีในอยุธยาเลย ที่มีก็องค์เล็กๆ ดังนั้นพระองค์ทรงปรารถนาจะให้เป็นแบบมหาธาตุเลย แน่นอนว่าคงต้องมีการระดมสรรพกำลังช่างอย่างสุดยอดแต่บังเอิญว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทำได้แค่ฐาน รัชกาลที่ 3 ทรงมาสานต่อ แล้วมาก่อเพิ่มสูงหลายเท่าจนเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้นจุดเริ่มต้นคือการรวบรวมที่สุดของฝีมือช่างแน่นอน  

     “ในทางศิลปะและสถาปัตยกรรม เราเรียนประวัติศาสตร์และรูปแบบการสร้างพระปรางค์มาตั้งแต่อดีต สมัยโบราณ จากเขมรจนมาถึงไทย เราพบว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่พิเศษ” อาจารย์ชาตรีให้ความเห็น

     เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ อาจารย์ชาตรีชี้แนะว่าพระปรางค์ศิลปะเขมรโดยรูปทรงดูอ้วนป้อม เน้นส่วนหัวมีฐานเตี้ย รูปแบบพระปรางค์เมื่อเข้ามาในสังคมไทย ช่างไทยมักจะชอบทำให้สูง โปร่ง และเพรียว รสนิยมในการมองความงามผ่านช่างไทยแตกต่างออกไป โดยช่างไทยพยายามจะปรับพระปรางค์ให้สูงเพรียวขึ้นเรื่อยๆ

     “ถ้าดูตั้งแต่สมัยลพบุรี อยุธยาตอนต้น จนถึงอยุธยาตอนปลาย เราจะเห็นแนวโน้มลักษณะนี้มาตลอด พอมาถึงพระปรางค์วัดอรุณฯ มันเหมือนพัฒนาขึ้นไปถึงขั้นสุดและผอมเพรียว ในทางช่างเราจะเรียกว่า ทรงจอมแห นึกถึงแหที่ดึงขึ้นมาจากน้ำ มันจะทิ้งตัว โค้งเป็นเคิร์ฟ ลักษณะนั้นแหละที่ปรากฏในพระปรางค์วัดอรุณฯ เพราะฉะนั้น ในทางสถาปัตยกรรม ช่าง หรือศิลปะไทย เราจะยกย่องพระปรางค์วัดอรุณฯ มากว่า เหมือนขึ้นถึงขีดพัฒนาการทางรูปแบบศิลปะอีกขั้นหนึ่ง

     “ในทัศนะช่างไทย เราถือว่านั่นอาจจะเป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายแล้วด้วย เพราะหลังจากนั้นแม้จะมีการสร้างพระปรางค์ แต่รูปทรงและสัดส่วนก็ไม่ได้รับการยกย่องเท่าพระปรางค์วัดอรุณฯ”​ อาจารย์ชาตรีสรุป

 

THE CONFLICT OF THE RESTORATION

     เรื่อง กองบรรณาธิการ ภาพ เกรียงไกร ไวยกิจ

     สังคมไทยอุดมไปด้วย ‘เรื่องร้อน’ ซึ่งไหลบ่ามาไม่ขาดสาย หนึ่งในประเด็นที่กลายเป็นกระแสเซ็งแซ่ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นประเด็นการบูรณะพระปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทำต่อเนื่องกันมายาวนานถึง 5 ปี

     ตลอดระยะเวลานั้น วัดอรุณฯ ยังเปิดให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าชม ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้เห็นว่ามีนั่งร้านบดบังปรางค์ประธานในส่วนที่บูรณะในแต่ละจุด และรอคอยที่จะได้เห็นภาพความประทับใจของหมู่เจดีย์ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาในโบราณสถานสำคัญของประเทศไทยกลับมาสวยสง่าอีกครั้ง

     อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่รอคอยมาถึง ก็ให้บังเกิดเสียงอื้ออึงไปทั้งเมืองว่า บัดนี้ความขลังของพระปรางค์วัดอรุณได้สูญสิ้นเสียแล้ว ด้วยองค์ปรางค์หลังบูรณะนั้นขาวโพลนเห็นมาแต่ไกล กระเบื้องประดับที่เคยแน่นและละเอียดก็ดูโปร่งบางอย่างเห็นได้ชัด ไหนจะประติมากรรมทั้งยักษ์ ลิง คนธรรพ์ ที่เครื่องทรงเคยงามวิจิตร เหตุไฉนบัดนี้ สร้อยสังวาลและเครื่องประดับทั้งหลาย จึงดู ‘มินิมัล’ จนแทบจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับส่วนตัวได้ขนาดนั้น

     เพื่อทวงถามคำตอบต่อข้อสงสัยนานัปการเหล่านี้ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาเคลื่อนไหวก่อตั้งกลุ่ม ‘ภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร’ รวบรวมรายชื่อประชาชน 5,000 รายชื่อ ที่ต้องการให้ยับยั้งโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ และแต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขา เพื่อทบทวน ตรวจตรา และแก้ไขความเสียหาย และได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาดูแล พร้อมทั้งทิ้งคำถามให้กับสังคมด้วยว่า อะไรคือสวยงาม และอะไรคือไม่สวยงาม?  

     THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาจารย์ สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิชาการอิสระ ผู้เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม ฟังกันชัดๆ อีกสักครั้ง ถึงสิ่งที่กลุ่มเฉพาะกิจภาคประชาชนพยายามบอกสังคมอย่างหนักแน่นถึงปัญหาการบูรณะในครั้งนี้

 

 

พระปรางค์ที่ขาวโพลน

     ตั้งแต่เกิดประเด็นการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ โลกออนไลน์สะพรั่งไปด้วยภาพเปรียบเทียบพระปรางค์ก่อนและหลังบูรณะ หัวข้อหนึ่งที่ได้ยินบ่อยครั้งคือเรื่อง ‘ความขาว’ หลายฝ่ายพูดถึงเรื่องชนิดของปูนที่ใช้ อาจารย์สายันต์ได้อธิบายเรื่องนี้ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับกระเบื้องที่ประดับองค์ปรางค์มาแต่โบราณ ว่ามีอยู่ 2-3 ลักษณะ

     “​หนึ่ง คือกระเบื้องขลิบ เอาถ้วยชามทั้งที่มีลายและไม่มีลายมาขลิบให้เป็นรูปกลีบบัว รูปดอกไม้อะไรต่างๆ แล้วจึงนำไปแปะประดับเป็นองค์ประกอบของลาย เช่น ลายประจำยาม แล้วก็มีชามเต็มใบที่แปะลงไป มีทั้งชามเบญจรงค์ ถ้วยจีน ถ้วยฝรั่ง โดยเฉพาะถ้วยจากฝั่งตะวันออก มีลายจักรวาล ลายกนก ลายเทพพนม ของจีนเขียนเป็นรูปเซียน ลายน้ำเต้า ลายต้นสน ลายนก ลายผีเสื้อ เป็นร้อยๆ แบบ บางช่วงก็มีวัสดุอื่น เช่น หอยเบี้ยตัวโตเท่ากำปั้นแปะประดับเป็นกลีบดอกไม้บ้าง

     “ช่วงปี 2512-2519 มีการบูรณะใหญ่อีกรอบ แต่เทคนิคไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ได้ถมปูนไปจนเต็ม เพียงแต่พยายามเสริมความมั่นคงในส่วนที่มันหลุดหายไป สมัยก่อนเขาใช้ปูนตำซึ่งเหนียว จิ้มเซรามิกไปนิดเดียวมันก็ติดแล้ว และจะเห็นเหมือนลอยอยู่ ไม่ได้ถมปูนจนไม่เห็นขอบ แต่ที่ทำใหม่คือล้นทับหมดเลย

     “ปูนตำ คือปูนขาวและพวกอินทรียวัตถุ ทางเพชรบุรีก็ทำอยู่ ในสเปกของที่บูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ บอกว่าเป็นปูนตำ แล้วเขาก็ยืนยันว่าเป็นปูนตำ แต่เราไปดูแล้วก็เห็นว่ามันเหมือนปูนขาวหมักผสมอะไรนิดๆ หน่อยๆ มันถึงออกมาขาวเวอร์แบบนั้น แล้วเนียนจนเหมือนกับปูนยาแนวปูกระเบื้องทั่วไป ไม่เหนียว

     “กระเบื้องของเดิมก็ยังมีอยู่พอสมควร เพียงแต่ถูกปูนไล้ถมจนจมหมด เดิมช่องไฟระหว่างเซรามิกมันแคบมาก เราจึงเห็นเป็นร่องดำๆ ช่างโบราณเขารู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งมันจะดำ แต่ว่ามันจะอยู่ใต้ต่ำกว่าชิ้นกระเบื้อง มันจะดำด้วยเงา หรือมันจะดำด้วยสีขึ้นรา มันก็ทำให้กระเบื้องเด่นขึ้น แต่วันนี้ปูนมันไปไล้ถมช่องว่างนั้นหมด เพราะฉะนั้นจึงเห็นพื้นที่สีขาวเยอะ ผมว่าพื้นที่สีขาวเพิ่มขึ้นมาเกิน 50% จากของเดิม”

 

เหตุเพราะการจ้างเหมาเอกชน?

     “เหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายก็เพราะเรื่องการจ้างเหมาทั้งนั้น”

     อาจารย์สายันต์เท้าความว่า แต่เดิมการบูรณะหรืออนุรักษ์โบราณสถาน ไม่มีการจ้างเหมาบริษัทเอกชน กรมศิลปากรทำเองทั้งหมด ในหน่วยงานจะมีทั้งนักโบราณคดี สถาปนิก วิศวกร ช่างโยธา ช่างศิลป์ พร้อมด้วยบรรดาช่างสิบหมู่ทั้งหลาย ทั้งช่างกระจก ช่างลายรดน้ำ เมื่อจะไปทำงานที่ใดก็จะจัดทีมกันไป อาจมีการจ้างแรงงานชาวบ้านในพื้นที่บ้าง แต่ก็จะมาเป็นลูกมือทำงานภายใต้การควบคุมของช่างกรมศิลปากร ซึ่งผ่านการฝึกฝนมาแล้วทั้งสิ้น

     จุดเปลี่ยนมาถึงในราวปี พ.ศ. ​2534 ที่มีการบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งดำเนินการโดยกรมศิลป์เองทั้งหมด แต่กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษ เป็นเวลาที่ช้านานเกินไปจนทางเลือกในการบูรณะโดยการจ้างเหมาเอกชนกลายมาเป็นตัวช่วยใหม่  

     “คนข้างในเขาเลิกทำไปนานแล้ว ส่วนใหญ่ก็มาทำหน้าที่คุมงานบูรณะที่จ้างเหมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว การจ้างเหมามันมีเรื่องกำไร ท้ายสุดเราก็ไม่ได้ช่างที่ดี การควบคุมก็หละหลวม ระบบนี้มันทำให้เละเทะไปหมด และช่างที่กรมศิลปากรเองก็ฝีมือไม่ถึงเพราะว่าไม่ได้ทำเองมานานแล้ว ผมมองอย่างนั้น ก็ให้ข้อมูลสังคมไปแบบนี้ คนก็เห็นด้วยเยอะ”

 

ความงามและความหมายที่สิ้นสูญ

     “วัดอรุณฯ ไม่ใช่เป็นแค่ศิลปกรรม แต่เป็นศิลปวัฒนธรรมด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคน ความเชื่อ พระมหากษัตริย์ และศาสนา ไม่เหมือนพระปรางค์สมัยอยุธยา พระปรางค์วัดอรุณฯ คือพุทธปรางค์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีองค์เดียวเท่านั้น”

     อาจารย์สายันต์เล่าว่า วัดอรุณฯ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเดิมมีเจดีย์เล็กๆ อยู่ ต่อมาในสมัยปลายรัชกาลที่ 2 จึงมีการสร้างพระปรางค์ครอบทับ แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี มาเสร็จสมบูรณ์จริงในรัชกาลถัดมา จึงถือว่าเป็นศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนเหตุที่เรียกว่า ‘พุทธปรางค์’ เพราะเป็นพระปรางค์ที่สร้างถวายพระพุทธเจ้า ส่วนยอดยังประดับมงกุฎ หาใช่นภศูลเหมือนปรางค์ทั่วไปไม่

     “ปรางค์ประดับยอดมงกุฎมีความหมายอยู่ 2 ลักษณะคือ หนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ สอง เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธราชา หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 3 ทรงยกย่องพระพุทธเจ้าเป็นพุทธราชา จึงเอามงกุฎของกษัตริย์ไปสวมอยู่ข้างบนยอด ซึ่งแตกต่างจากปรางค์อื่นๆ ทั้งหมดในประเทศไทย”

     แน่นอนว่าการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น หนึ่งในการบูรณะใหญ่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

     “วัสดุอาจเปลี่ยนบ้าง แต่ฝีมือช่างไม่ได้เปลี่ยน ความหมายไม่ได้เปลี่ยน เป็นฝีมือช่างหลวงทั้งหมด รัชกาลที่ 5 ทรงคุมงานเองด้วยซ้ำ ทรงเกณฑ์ช่างหลวงมาทำ ช่างทุกคนจะรู้ว่าต้องตกแต่งอย่างไร ทุกชั้นมันมีความหมายหมด สีสันต่างๆ ผ่านการออกแบบมาแล้ว มันจึงดูสวยงาม แต่ปัจจุบันนี้ที่ทำลงไป ทั้งช่างและคนออกแบบไม่รู้ความหมายอะไรเลย เพราะบูรณะเฉพาะตัววัสดุ เอาวัสดุใหม่ไปแทนวัสดุเก่า ตรงนี้เป็นเซรามิกก็เอาเซรามิกใหม่แปะลงไป ประติมากรรม ลิง ยักษ์ อะไรต่างๆ มันเสียไปหมด

     “สำหรับศิลปินที่เขาใช้วัดอรุณฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ ก็ช็อกกันหมดเลย เพราะว่าเขาไม่เหลืออะไรแล้ว สูญเสียศิลปกรรมแบบ ‘เวิ้ง’ คือประกอบด้วยบริบทของธรรมชาติ วัดอรุณฯ ตั้งอยู่ในมุมที่มองจากที่ไกลๆ จะสวย เช่น แล่นเรือมาจากปากแม่น้ำก็จะเห็นเป็นเวิ้งใหญ่ มีแม่น้ำ ทิวไม้ ชุมชน บ้านช่อง เรือนชาน โบสถ์ ศาลา และมีพระปรางค์เด่นขึ้นมา ความงามตรงนี้เขาเรียกประกอบกันเป็นย่าน เป็นเวิ้ง ขณะเดียวกันช่างเดิมเขาก็ทำรายละเอียดไว้ทุกชิ้นทุกอัน ดูใกล้ก็สวย ดูไกลก็สวย มีแสงมีเงาประกอบกันเหมือนภาพเขียน งามทั้งตัวสถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่ประดับลงไปเป็นรูปยักษ์ คน รูปนูนต่ำ นูนสูง แล้วยังเป็นจิตรกรรมด้วย ดูไกลๆ จะเห็นเป็นหลายสีสัน แดง เหลือง เขียวต่างๆ”

     อาจารย์สายันต์เผยว่า ส่วนที่หายไปในการบูรณะครั้งนี้คือคุณค่าทางสุนทรียะ นัยความหมายของลวดลาย ความงามที่สัมผัสได้ด้วยตาและด้วยใจ ซึ่งเมื่อหายไปก็เรียกกลับคืนยาก

     “มันไม่มีการทำวิจัยมาก่อนจะเซ็นสัญญา แต่ว่ามาสั่งผู้รับเหมาให้ทำระหว่างที่ลงมือบูรณะแล้ว ผมไม่เห็น TOR จึงตั้งสมมติฐานว่าไม่มีรายงานการวิจัยมาก่อนใช่ไหม ผมเลยเขียนไปในหนังสือถึงนายกฯ ข้อหนึ่งว่า ขอให้เปิดเผย TOR โดยละเอียด”

 

 

3 ข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

     เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาจารย์สายันต์บอกว่าตนเองตกเป็นเป้าของผู้ที่อยากได้ข้อมูล ในขณะเดียวกันก็ตกเป็นเป้าของผู้ที่เห็นต่าง ถึงขนาดได้รับคำขู่ว่า ไม่อยากจะอยู่สบายๆ หรืออย่างไร

     “การจ้างเหมามีผลประโยชน์ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะฉะนั้นตอนแรกเมื่อผมบอกว่าอยากให้หยุดจ้างเหมาไปเลย มันก็อาจจะแรงไป และเป็นไปไม่ได้เลยในทันที ตอนหลังก็มาปรับข้อเรียกร้อง เอาที่วัดอรุณฯ ก่อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ก่อน เพราะรุนแรงที่สุด อยากให้ผู้ที่มีอำนาจสั่งการโดยเฉพาะท่านนายกฯ ลงมาดูหน่อย

     “เรามีข้อเรียกร้อง 3 ข้อเท่านั้น หนึ่ง คือให้ยุติการบูรณะไว้ก่อน จะทำถึงแค่ไหนก็แล้วแต่ สอง เปิดเผย TOR ว่าเขียนว่ายังไง และสามเป็นตัวสำคัญ คือให้ตั้งกรรมการเฉพาะกิจระดับชาติขึ้นมา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ช่าง ศิลปินแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ร่วมกันทบทวนการบูรณะที่ผ่านมาทั้งหมดของวัดอรุณฯ แล้วถ้าเห็นว่าบกพร่องก็ต้องสั่งให้มีการแก้ไขใหม่
จะด้วยรูปแบบไหนก็แล้วแต่”

     แม้จะยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะกลับไปแก้ไข เมื่อการบูรณะดำเนินมาจนเกือบจะเสร็จแล้ว แต่อาจารย์สายันต์ก็เห็นว่าการออกมาเรียกร้องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่ดี

     “ยากมาก แต่ต้องแก้ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติ ถ้าไม่แก้แล้วทิ้งไว้อย่างนี้ก็จะเป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ คนที่เห็นว่าเสียหายก็ต้องเสียใจตลอดไป กลุ่มเฉพาะกิจที่ตั้งกันขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่เท่านี้ เรื่องถึงนายกฯ แล้ว สังคมรับรู้แล้ว ก็ให้เป็นหน้าที่ของสังคมว่าจะไปทวงถามติดตามกันต่อไป เราไม่มีแรงทำขนาดนั้น ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวมืออาชีพ เราเป็นเพียงประชาชนที่พอจะรู้เรื่องนี้บ้าง ก็คิดว่าถ้าไม่พูดมันก็เงียบไปอีก แล้วเราก็ต้องรับสภาพแบบนี้ไปอีกนาน แล้วก็ต้องจ่ายภาษีเพื่อมาทำอะไรบ้าๆ บอๆ แบบนี้”

 

นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมตรวจสอบ

     หลังจากคณะทำงานภาคประชาสังคมศึกษางานบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ จำนวน 5,000 คน เรียกร้องให้ยุติการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมาว่า มีการมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาว่าจะทำอะไร และอย่างไรได้บ้าง                 

     พลเอก ประยุทธ์ กล่าวเสริมว่า การจะตัดสินว่างานที่ออกมาสวยงามหรือไม่ ต้องดูเงื่อนไขประกอบด้วย และถ้าเทียบกับของเดิมก่อนที่จะบูรณปฏิสังขรณ์กับวันที่ดำเนินการแล้วย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว และต้องไปดูว่าที่ผ่านมามีการก่อสร้างมาด้วยวิธีการไหน และระยะเวลาผ่านมาเป็นร้อยปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างจากสภาพอากาศ

 

กรมศิลปากรระบุการดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบ

     นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เผยว่ากรมศิลปากรดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบกับมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ และมติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 เห็นชอบการจัดกลุ่มภารกิจของรัฐ ภารกิจที่ควรให้ภาคเอกชนดำเนินการ โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ที่ได้กำหนดให้ปรับปรุงบทบาทการบริหารจัดการของส่วนราชการ ด้วยการลดบทบาทในทางกิจกรรมของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานราชการต่างๆ ดำเนินการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมต่อภาครัฐและเอกชน

     กรมศิลปากรสำรวจความเสียหายของวัดอรุณฯ ภายหลังเหตุอุทกภัย พ.ศ. 2554 พบว่ามีชิ้นส่วนประดับปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุม และมณฑปประทิศ หลุดร่วงลงจากที่ตั้งจำนวนมาก พื้นดินอันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานทรุด รวมทั้งผนังปูนฉาบและลวดลายประดับชำรุด เสื่อมสภาพอย่างมาก จึงจัดทำโครงการบูรณะโบราณสถานวัดอรุณฯ โดยดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2556-2560 อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่อว่า กรมศิลปากรมีการสำรวจเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำรูปแบบรายการก่อนการบูรณะ ในขั้นตอนการบูรณะเมื่อมีการตั้งนั่งร้านเพื่อการบูรณะแล้ว ก็ให้มีจัดทำการบันทึกสภาพอย่างละเอียดโดยภาพถ่าย การเขียนแบบ การกระสวนลายเท่าจริง เพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการ และการปรับปรุงรูปแบบรายการ เพื่อการบูรณะแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางวิชาการการอนุรักษ์โบราณสถาน ทั้งในเชิงโบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม เป็นต้น

 

ประธานโครงการยืนยันดำเนินการถูกต้อง

     ก่อนหน้านี้ พระศากยปุตติยวงศ์ (ต่อศักดิ์ สุนทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ในฐานะประธานโครงการบูรณะพระปรางค์และพระมณฑป วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ชี้แจงว่า การบูรณะพระปรางค์ครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี โดยใช้เวลาบูรณะมากกว่า 4 ปี โดยวัดอรุณฯ และกรมศิลปากร ศึกษาค้นคว้าขั้นตอน

     ในการบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุ มีการตรวจสภาพก่อนดำเนินงานบูรณะ สำรวจสภาพพื้นผิวและโครงสร้าง ลักษณะความเสียหายที่พบ วิธีดำเนินการซ่อมแซมตามลักษณะความเสียหาย รวมทั้งขั้นตอนประเมินความเสียหายและซ่อมแซม

 

ทีมผู้รับเหมาชี้แจงฝีมือช่างได้มาตรฐาน

     ทีมงานดำเนินการบูรณะจากบริษัท ปรียะกิจ จำกัด เปิดเผยกับทีม THE STANDARD ว่า ความไม่รู้เรื่องลักษณะงานบูรณะทำให้คนวิจารณ์กันเลยเถิด ขณะที่บางคนอาจจะมีความต้องการแอบแฝง และส่วนหนึ่งวิจารณ์ไปตามกระแส

     “งานอนุรักษ์เหมือนคนตัดเสื้อผ้ากับคนซ่อมเสื้อผ้า คนซ่อมอาจจะตัดเองไม่เป็น แต่สามารถหากระดุมหรือวัสดุที่เหมาะมาใช้ในการซ่อมแซมมาเย็บเสริมได้ นี่คือลักษณะของงานซ่อม ไม่ใช่ว่าคนที่ทำงานชิ้นใหม่ขึ้นมาได้ดีจะมีความสามารถในการซ่อมแซมของเก่าได้

     “ตอนแรกที่เข้ามาทำงานในสาขานี้ เคยถามว่าทำไมไม่เอาช่างสิบหมู่เข้ามาทำ ในความเป็นจริง งานหลักของช่างสิบหมู่คือ การสร้างสรรค์งานใหม่หมด ขณะที่งานบูรณะเป็นการอนุรักษ์ชิ้นงานให้คงสภาพเหมือนก่อนซ่อมแซมมากที่สุด คนซ่อมมีทักษะในการบูรณะมากกว่าคนที่คุ้นกับการสร้างสรรค์งานใหม่”

     ที่ผ่านมาเกือบ 5 ปี ทีมงานจะขึ้นนั่งร้านทีละจุด เพราะวัดอรุณฯ ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงสงสัยว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นข่าวในช่วงที่งานบูรณะกำลังจะครบกำหนดในเดือนตุลาคมนี้

     ประเด็นหลักที่ถูกโจมตีคือ ทำไมองค์พระปรางค์ถึงดูขาวโพลน เป็นเพราะทีมงานทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำและทาสีน้ำปูน จึงทำให้พื้นหลักเป็นสีขาวตามพระปรางค์แบบดั้งเดิม บางคนไปอ้างอิงสูตรปูนตำแบบเพชรบุรี ซึ่งมีสีต่างกัน

     ทีมงานให้ข้อมูลชี้แจงว่า คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่างานบูรณะครั้งนี้ มีการลอกกระเบื้องของเดิมออกมาใหม่หมด แล้วติดกลับเข้าไปใหม่ ที่จริงทีมงานช่างในความควบคุมของกรมศิลปากรประเมินผลจากการสำรวจ และซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่ชำรุดเสียหายจริงๆ บางจุดที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศตามกาลเวลาแต่ไม่เสียหายมาก ทีมบูรณะจะไม่แตะต้อง

     “ส่วนที่ยากที่สุดของการบูรณะคือ การทำอย่างไรให้ของเก่าและของใหม่ดูกลมกลืน ขณะที่ประเด็นเรื่องความนูนและมิติของงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานบูรณะครั้งที่ผ่านๆ มา”​ ทีมงานชี้แจงพร้อมยืนยันว่า งานบูรณะแต่ละครั้งมีเงื่อนไขการทำงานที่ละเอียดบริษัทฯ ต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในเอกสารทุกขั้นตอน และการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีช่างผู้เชี่ยวชาญและทีมที่ปรึกษาคอยควบคุมดูแลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และไม่ได้ว่าจ้าง  ‘ช่างปลายแถว’ แบบที่มีคนวิจารณ์

     “ในประเทศไทย มีช่างไม่กี่กลุ่มที่มีศักยภาพในการบูรณะวัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นงานเฉพาะทาง เราใช้ทีมงานที่มีความสามารถระดับนี้” ทีมงานให้ความเห็น

     โบราณสถานแห่งนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและผ่านการบูรณะมาครั้งแล้วครั้งเล่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ หรืออาจจะเป็นแค่สภาพอากาศที่นานๆ เข้าจะส่งผลให้พระปรางค์มีคราบเลอะเทอะที่ขัดออกได้ในการบูรณะครั้งต่อๆ ไป

 


 

2444

พุทธศักราชที่พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งตกอยู่ในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

 

250

อายุของกรุงธนบุรีนับแต่สมเด็จพระเจ้าตากสิน-มหาราชทรงสถาปนาเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2310 
ซึ่งการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ มีกรอบเวลากำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อให้ทันวาระครบ 250 ปี ก่อตั้งกรุงธนบุรี
ที่เวียนมาบรรจบในปีนี้  

 

5

จำนวนปีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯครั้งล่าสุดระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X