×

Gallery 101: เปิดเส้นทางผลงานศิลปะ เบื้องลึกอาชีพคิวเรเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดของศิลปินหน้าใหม่

17.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในประเทศไทย แกลเลอรีมีจุดเริ่มต้นจากการที่ศิลปินลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ศิลปะด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากฟากฝั่งตะวันตกหรือออสเตรเลีย ที่แกลเลอรีอาร์ตเป็นผู้คัดสรรงานศิลปะมาจัดแสดง โดยมี คิวเรเตอร์ (Curator) หรือ ภัณฑารักษ์ เป็นสื่อสารระหว่างศิลปะ ศิลปิน และผู้ชม
  • กว่างานศิลปะ 1 ชิ้นจะถูกนำมาจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากศิลปินต้องชัดเจน จริงใจในงานของตัวเองแล้ว นักสะสม ภัณฑารักษ์ และรูปแบบของแต่ละแกลเลอรีก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ศิลปะหรือศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดเช่นกัน

ในเมืองไทย ศิลปะมักถูกพูดถึงแต่ความสวยงามและความหมายของชิ้นงานที่กำลังจัดแสดงอยู่เบื้องหน้า ทว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับการเดินทางของงานศิลปะสักชิ้นนั้นแทบจะไม่มีใครได้รับรู้ ซึ่งถ้าใครเคยได้ดูซีรีส์เกาหลี Her Private Life ที่ดำเนินเรื่องผ่านกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในแกลเลอรีศิลปะ ก็จะรู้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสักนิดที่ศิลปินคนหนึ่งจะแจ้งเกิด ไม่ใช่งานศิลปะทุกชิ้นจะถูกคัดสรรมาจัดแสดง โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญที่มีส่วนกำหนดทิศทางงานศิลปะก็คือ ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่คิด คัดกรอง และสื่อสารกับงานศิลปะ นำความหมายที่ศิลปินต้องการสื่อสารสู่แกลเลอรีและผู้ชม

 

THE STANDARD จับมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดวงสนทนากับ 2 คิวเรเตอร์อิสระ โจ-จิตติ เกษมกิจวัฒนา และ แมรี่ ปานสง่า ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการศิลปะชื่อดังมากมายในเมืองไทย ถึงประเด็นเรื่องการเดินทางของงานศิลปะสักชิ้น ที่ปัจจุบันเวทีแจ้งเกิดของศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงห้องสี่เหลี่ยมสีขาวอีกต่อไป

 

 

แกลเลอรีไทยยุคตั้งไข่

“แกลเลอรีในเมืองไทยจะมีการทำงานตรงข้ามกับทางยุโรปหรือในออสเตรเลีย ที่นั่น คิวเรเตอร์ประจำแกลเลอรีจะเป็นคนคอยคิด คัดกรองงานศิลปะมาจัดแสดง แต่ในเมืองไทยยุคก่อนนั้น แกลเลอรีเริ่มต้นจากการที่ศิลปินลุกขึ้นมาทำเอง คำว่า ‘คิวเรเตอร์’ เพิ่งจะเป็นที่รู้จักช่วงปี 2000 นี่เอง คิวเรเตอร์คนแรกๆ ในบ้านเราคือ อาจารย์สมพร รอดบุญ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกท่านหนึ่งคืออาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์”

 

โจเริ่มต้นบทสนทนาว่าด้วย Gallery 101 ที่ย้อนภาพของเมืองไทยยุคปลาย 90s ซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนศิลปะที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศต่างทยอยกลับเมืองไทย และเริ่มมองหาเวทีจัดแสดงงานศิลปะ แน่นอนว่าในยุคนั้นยังไม่มีแม้แต่แกลเลอรีอาร์ต นั่นทำให้ ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ เป็นศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาเปิดแกลเลอรีในย่านสีลม เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับงานศิลปะมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้มีพื้นที่เข้าไปจัดแสดงงาน

 

 

“แม้แต่มหาวิทยาลัยศิลปากรเองก็เพิ่งมีหลักสูตรสอนเกี่ยวกับคิวเรเตอร์โดยตรงเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อก่อนทุกคนรู้จักภัณฑารักษ์ในฐานะคนที่ดูแลทำทะเบียนในพิพิธภัณฑ์ แต่ในงานศิลปะร่วมสมัยนั้นยังไม่มีคำว่าภัณฑารักษ์หรือคิวเรเตอร์ อย่างแมรี่เองก็เริ่มจากสายภาพยนตร์และต่อด้านประวัติศาสตร์ อาศัยประสบการณ์จึงได้เข้ามาทำงานคิวเรเตอร์”

 

แมรี่ คิวเรเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการดังอย่าง ‘นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน’ ขยายความเพิ่มเติมถึงความหมายของภัณฑารักษ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังใหม่มากในแวดวงศิลปะร่วมสมัย 

 

ถามว่าทำอย่างไรศิลปินหน้าใหม่จึงจะแจ้งเกิดได้ คำตอบคือ ศิลปินต้องจริงใจกับงานที่ทำ ถามว่าแล้วจะการันตีได้ไหมว่าถ้าจริงใจกับงานที่ทำแล้ววันหนึ่งเขาจะ Pick Up ตอบได้เลยว่าเป็นสิ่งที่การันตีไม่ได้  แต่เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งก็จะมีคนที่ Pick Up ศิลปินเหล่านี้ขึ้นไป

 

 

ภัณฑารักษ์กับการแจ้งเกิดของศิลปิน

แมรี่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ภัณฑารักษ์จะเป็นผู้คิด คัดกรองงานศิลปะให้กับแกลเลอรีต่างๆ ทว่าการที่ศิลปินหน้าใหม่จะแจ้งเกิดได้ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละแกลเลอรีด้วยเช่นกัน

 

“แกลเลอรีเองก็มีความหลากหลาย ไม่ได้มีแบบเดียว ในแต่ละแกลเลอรีก็มีสไตล์และความสนใจของแกลเลอรีนั้นๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้บางครั้งแกลเลอรีก็มีศิลปินในใจของเขาอยู่แล้วว่าศิลปินคนนี้น่าจะเข้ากับสไตล์ หรือคอนดิชันของแกลเลอรีนั้น เขาสนใจศิลปินลักษณะรูปแบบนี้ เขาก็จะตรงไปหาศิลปินเอง หรือบางแกลเลอรีก็จะตามดูงานของศิลปินต่างๆ เก็บข้อมูลไปก่อนก็มี อย่างแมรี่เองบางครั้งเราสนใจศิลปินคนหนึ่งอยู่ ก็จะตามเขาไปเรื่อยๆ ศิลปินบางคนหน้าใหม่ แต่เรารู้สึกว่างานเขาน่าสนใจ  หรือตอนแรกเราอาจจะไม่ได้สนใจงานเขามากเท่าไร แต่เรารู้สึกว่าศิลปินคนนี้มี Potential บางอย่างที่ต่อไปในอนาคตเขาอาจจะพัฒนาแนวคิดที่น่าสนใจ เราก็จะรอไปเรื่อยๆ แต่บางคนรอไปแล้วแต่ยังไม่ได้ หรือว่ายังไม่มีสิ่งที่เราสนใจก็มีเหมือนกัน 

 

ผลงานวิดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ ‘DE CHA’ โดย เดชา ดีวิเศษ จากโครงการ Early Years Project 

 

“ดังนั้นถ้าถามว่าทำอย่างไรศิลปินหน้าใหม่จึงจะแจ้งเกิดได้ คำตอบคือศิลปินต้องจริงใจกับงานที่ทำ ถามว่าแล้วจะการันตีได้ไหมว่าถ้าจริงใจกับงานที่ทำแล้ววันหนึ่งเขาจะ Pick Up แมรี่ก็ตอบได้เลยว่าเป็นสิ่งที่การันตีไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งก็จะมีคนที่ Pick Up ศิลปินเหล่านี้ขึ้นไป เพราะคิวเรเตอร์เองก็มีหลากหลายคน หลากหลายสไตล์ พื้นที่ศิลปะเองก็มีหลากหลายแบบ แมรี่เชื่อว่า ถ้าเกิดว่าคนเห็นความตั้งใจ หรือเห็นสิ่งที่เขาทำ เห็นว่าตัวศิลปินเหล่านี้พยายามที่จะพัฒนา แมรี่เชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมีคนที่ Pick Up เขาเข้าไป”

 

การที่คุณจะได้ขึ้นมาเป็นศิลปินได้จึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สุดท้ายแล้วถามว่าศิลปินหน้าใหม่ต้องเตรียมพร้อมอะไร คำตอบคือทำงานให้เยอะ

 

 

สำหรับมุมมองของโจนั้น ได้ให้นิยามการทำงานของภัณฑารักษ์ไว้สองรูปแบบ หนึ่ง คือ ภัณฑารักษ์มีประเด็นที่กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่ในมือ และออกไปตามหาศิลปินที่มีมุมมองตรงกับเรื่องที่ภัณฑารักษ์สนใจ สองคือ ภัณฑารักษ์ประเภทที่ชอบออกไปดูงานศิลปะและเก็บข้อมูลศิลปินต่างๆ ไว้ กระทั่งศิลปินคนนั้นมีการพัฒนางาน หรือภัณฑารักษ์มองเห็นประเด็นที่น่าสนใจในงานของศิลปินคนนั้น ก็จะดึงงานนั้นๆ มาจัดแสดง

 

“ภัณฑารักษ์แบบแรกเขาเหมือนมีอะไรอยู่ในหัวเขาอยู่แล้ว เขาต้องการสร้างไดอะล็อกระหว่างสิ่งที่อยู่ในหัวกับข้างนอกผ่านศิลปิน ซึ่งสิ่งที่ภัณฑารักษ์มีอยู่ในหัว หรือสิ่งที่เขาค้นคว้าอาจจะเป็นประเด็นการเมือง สังคม หรือมีหลักการบางอย่างที่เขาสนใจ และเขาก็มองเห็นหลักการเหล่านั้น ประเด็นในงานของศิลปินกลุ่มนี้ ศิลปินกลุ่มนี้จึงถูกคัดเลือก ภัณฑารักษ์อีกประเภทจะเป็นแนวนักสังเกตการณ์ เขาจะคอยตามดูงานศิลปินเพื่อที่อยากจะเข้าใจความคิดของศิลปินว่าจะพัฒนาไปอีกไหม พัฒนาไปอย่างไร ตามไปดูงานแล้วเก็บข้อมูลเอาไว้ เขาอาจจะติดตามศิลปินคนนี้ไปอีกสัก 6 เดือน 1 ปี 2 ปี เพื่อจะดูการเติบโต แล้วก็วันหนึ่งถ้าภัณฑารักษ์คนนี้มีโอกาสที่จะได้คิวเรตงาน เขาก็อาจจะเลือกศิลปินคนนี้เพราะเขาสนใจ เห็นบางอย่างในกระบวนการทำงาน เห็นพัฒนาการ เห็นประเด็นอะไรบางอย่างในงานของศิลปิน” 

 

เมื่อภัณฑารักษ์เอง แกลเลอรีเองต่างก็มีความหลากหลาย เราจึงถามต่อกับโจในเรื่องโอกาสการแจ้งเกิดของศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งโจก็ให้คำตอบที่ไม่ต่างจากแมรี่ นั่นก็คือความชัดเจน จริงใจกับงาน

 

‘Capital Memorial’ โดย กรธนัท พิพัฒน์ ศิลปินจากโครงการ Early Years Project #4 Praxis Makes Perfect

 

“ผมว่าศิลปินทุกคนต้องเป็นตัวของตัวเอง มีความชัดเจน ศึกษาสิ่งที่ตัวเองสนใจแล้วก็ฝึกฝน ทำงานออกมามากๆ สร้างบทสนทนาเยอะๆ กับคนที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนในวงการศิลปะ สนทนากับคนทางวรรณกรรม นักประวัติศาสตร์ เพื่อขยายขอบเขตความคิด การสร้างบทสนทนาทำให้เกิดความหลากหลาย ผมว่าศิลปินอย่างนี้น่าสนใจ ถามว่าเราจะเลือกอย่างไร ผมว่าศิลปินอย่างนี้ผมสนใจมากกว่าคนที่ไม่อินเตอร์แอ็กกับใครเลย แต่ถ้าสมมติว่าคนนั้นไม่อินเตอร์แอ็กกับใครเลย แต่เขากำลังซุ่มทำงานอะไรสักอย่างอยู่ แล้ววันหนึ่งเราเกิดได้เห็น ศิลปินคนนี้ก็อาจจะน่าสนใจก็ได้ การที่คุณจะได้ขึ้นมาเป็นศิลปินได้จึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สุดท้ายแล้วถามว่าศิลปินหน้าใหม่ต้องเตรียมพร้อมอะไร คำตอบคือทำงานให้เยอะ”

 

โลกสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปินไม่ต้องรอให้ใครมาเลือก ต่างกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหมือนกับงาน Early Years Project ที่ทุกคนไม่ได้ถูกเลือก แต่ส่งผลงานเข้ามา เพราะการทำงานศิลปะไม่ได้จบอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี หรือสิ่งตีพิมพ์อีกต่อไป

 

 

แกลเลอรีที่ไม่ใช่เพียงห้องสีขาว

อีกประเด็นที่น่าสนใจของวงสนทนาในห้องเรียนศิลปะ 101 ครั้งนี้ คือการเปลี่ยนแพลตฟอร์มของพื้นที่ศิลปะที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แกลเลอรีอาร์ตอีกต่อไป โซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่สามารถทำให้ศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดได้ โดยไม่จำกัดวงว่าจะโด่งดังแค่ในเมืองไทยเท่านั้น

 

“โลกสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว ศิลปินไม่ต้องรอให้ใครมาเลือกเรา โลกทุกวันนี้ศิลปินสามารถที่จะเป็นฝ่ายรุก คุณส่งผลงานไปสิ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองมีองค์กร สถาบันมากมายที่คอยซัพพอร์ตศิลปิน มีทุนให้ศิลปินเยอะมาก ต่างกับเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาก ตอนนั้นศิลปินต้องรอคนมาเลือกอย่างเดียว แต่สมัยนี้ถ้าคุณเป็นคนที่รอ คุณก็ต้องอยู่ในกระบวนการแบบนั้นไป แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่รอ คุณก็ส่งผลงานมาสิ  เหมือนงาน Early Years Project ทุกคนไม่ได้ถูกเลือก แต่คนที่เข้าร่วมโครงการต่างก็ส่งผลงานมา โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว การทำงานศิลปะไม่ได้จบอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี หรือสิ่งตีพิมพ์ 

 

ศิลปินทุกคนต้องเป็นตัวของตัวเอง มีความชัดเจน ศึกษาสิ่งที่ตัวเองสนใจ สร้างบทสนทนาเยอะๆ กับคนที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนในวงการศิลปะ สนทนากับคนทางวรรณกรรม นักประวัติศาสตร์ เพื่อขยายขอบเขตความคิด การสร้างบทสนทนาทำให้เกิดความหลากหลาย

 

“ยกตัวอย่างแค่อินสตาแกรม มีศิลปินที่แจ้งเกิดกับช่องทางนี้เยอะมาก ถ้าคุณอยากทำ คุณก็ทำไป เพียงแต่ว่าถ้าคุณต้องการพื้นที่ที่เป็นทางกายภาพอย่างแกลเลอรี ก็อาจจะต้องรอให้คนมาเลือก แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ทางกายภาพ คุณจะรอจนกว่าจะมี หรือว่าคุณจะเป็นคนเลือกเปิดพื้นที่ศิลปะของคุณขึ้นมาเอง หรือแม้แต่คิวเรเตอร์เองก็อาจจะไม่ได้ติดตามผลงานเฉพาะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีอีกต่อไป”

 

โจกล่าวทิ้งท้ายถึงความท้าทายของศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกัน การแจ้งเกิดของศิลปินก็อาจจะไม่ได้เริ่มต้นจากภัณฑารักษ์อีกต่อไป

 

อ่านเรื่อง Early Years Project โครงการสนับสนุนศิลปินที่เปิดโอกาสให้อาร์ทิสต์รุ่นใหม่ฉายแสงได้ที่นี่

 

 

ภาพประกอบ: Jetsupasit

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X