จีนคือมหาอำนาจของโลกที่ไทยต้องพึ่งพาในหลายด้าน เรื่องของจีนคือทางหลักที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ รัฐบาลจีนพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร จีนมองไปข้างหน้าอย่างไร โดยเฉพาะเรื่อง AI ที่จีนวางแผนจะเป็นที่หนึ่งในปี 2030
ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร นักธุรกิจ และคนทำงาน เรียนรู้อะไรได้บ้างจากสตาร์ทอัพและบริษัทจีน หรือผู้ประกอบการจีนที่มีกลยุทธ์และวิธีคิดไม่เหมือนกับผู้ประกอบการจากฝั่งตะวันตก
เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์และนักเขียน เจ้าของหนังสือ China 5.0 สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI ในรายการ The Secret Sauce
จีนเติบโตยิ่งใหญ่มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้รวดเร็วและสำเร็จแบบจีน คือภายในเวลาเพียง 40 ปี การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเปิดประเทศของ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งขึ้นมามีอำนาจหลังจาก ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตง ตายไป สมัยก่อนจีนเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัว รัฐบาลสามารถกำหนดและวางแผนเศรษฐกิจได้ทุกอย่าง รัฐบาลคิดเอง อยากผลิตอะไรเท่าไร โรงงานรัฐก็มีแต่ขาดทุน จนรัฐต้องเอาเงินหนุนไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ เติ้งเสี่ยวผิง ทำคือ เปิดให้มีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ในช่วงแรกคือ การลงทุนจากต่างประเทศ จีนโชคดีที่พอเปิดประเทศ นักลงทุนคือคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งส่วนมากมักเป็นเศรษฐี ต่อมาคือฝรั่งและคนจีนที่เป็นนักธุรกิจเอง เช่น แจ็ค หม่า ก็มาลงทุน
บริษัทเอกชนมักเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศ สำหรับจีนคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเยอะๆ ในช่วงแรกของการลงทุนที่จีน มักเกี่ยวข้องกับสิ่งทอ ทำอะไรก็ได้กำไรเพราะต้นทุนถูก จีนเริ่มต้นพัฒนาจากจุดนั้น
จีนสำเร็จเพราะรัฐหรือเอกชน?
จีนมีความย้อนแย้งในตัวเอง เราสามารถพูดได้ว่า จีนประสบความสำเร็จเพราะเอกชน แต่เศรษฐกิจจีนภาครัฐกลับมีบทบาทสูงมาก ปัจจุบันที่ดินก็ยังเป็นของรัฐที่เอกชนมีสิทธิ์ในการเช่า ส่วนธนาคารและอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ก็ยังคงเป็นของรัฐ จีนมีบทบาทสำคัญในระบบขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ จีนจึงเป็นส่วนผสมระหว่างกลไกตลาดและการนำของรัฐ
สปิริตของการทดลอง
ความคิดที่ว่า คนจีนมักวางแผนระยะยาว 40 ปี เป็นเรื่องไม่จริง จริงๆ แล้ว เติ้งเสี่ยวผิง ไม่มีแผนอะไรเลย หากถามว่าคนจีนเรียนรู้อะไรจาก เติ้งเสี่ยวผิง มากที่สุด มันคือ ‘สปิริตของการทดลอง’ เนื่องจากสิ่งที่ เติ้งเสี่ยวผิง ทำ ไม่ใช่การเปลี่ยนเเปลงทั้งประเทศ เขาเลือกหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อเซินเจิ้น ตรงข้ามเกาะฮ่องกง เขาเปิดเกาะให้คนจากฮ่องกงมาลงทุน ทำให้เป็นระบบกฎหมายอีกแบบ สิ่งที่เราพบคือ เศรษฐกิจเซินเจิ้นเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็น Silicon Valley อีกแห่งไปแล้ว แต่ตอนทำก็ทำถูกทำผิด ทำผิดพลาดก็แก้ไข พอทำสำเร็จก็ขยาย ดีเอ็นเอสำคัญของความสำเร็จคือ สปิริตของการทดลอง ซึ่งมีอยู่ตลอด ต้องลองผิดลองถูก และกล้าทดลอง
สิ่งที่เรียนรู้จากจีน
- ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว จีนไม่ได้ทำตามตำราฝรั่ง แต่ละประเทศมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน
- สิ่งที่ทำสำเร็จวันนี้ ทำพรุ่งนี้อาจจะไม่สำเร็จแล้ว จีนปฏิรูปอยู่ตลอด ธีมในการพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในสมัยรัฐบาลของ หูจิ่นเทา จีนยังเน้นการพัฒนาโดยการส่งออกและการลงทุน ตอนนี้ สีจิ้นผิง บอกว่า เน้นการบริโภคภายในประเทศ และเน้นเศรษฐกิจนวัตกรรม หรือเปลี่ยนจาก Demand-Side Economics มาเป็น Supply-Side Economics
บทบาทผู้นำของจีน
ผู้นำมี 2 ประเภท หนึ่ง ผู้นำที่เก่งด้านการบริหาร (Operation) สอง ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามเปลี่ยนบางอย่าง (Transformative)
หูจิ่นเทา ผู้นำคนที่แล้วของจีนเป็นแบบบริหารวันต่อวัน เขาทำทุกอย่างเรียบร้อยดี เศรษฐกิจก็โต แต่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับมโหฬาร ไม่เหมือน เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปิดประเทศ สีจิ้นผิง เทียบตัวเองกับ เติ้งเสี่ยวผิง ในการเป็นคนที่จะเปลี่ยนประเทศอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามกับที่ตะวันตกคาดหวัง คือให้ความสำคัญกับการรักษาอำนาจของคอมมิวนิสต์และเทคโนโลยี ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการเมือง จีนจะใช้เทคโนโลยีควบคุมสังคม และ สีจิ้นผิง ก็ปลุกกระแสชาตินิยม เขาพยายามแสดงให้เห็นว่า ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์คือการสร้างความยิ่งใหญ่ให้ชาติจีน เขาได้รับความนิยมอย่างมากจากรากหญ้า เพราะนโยบายปราบคอร์รัปชันที่ใช้ปราบศัตรูทางการเมือง เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจริง และทำให้คอร์รัปชันน้อยลงได้จริง
แผน AI 2030
จีนมีแผนว่า ในปี 2030 เขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้าน AI สีจิ้นผิง พูดว่า AI ตอบทุกโจทย์ความท้าทายของจีน AI เป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคง
AI สามารถปรับใช้กับการทหารและการเมือง ช่วยเรื่องการควบคุมสังคม สำหรับจีน AI จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง การพัฒนา AI ต้องใช้ข้อมูลมหาศาล เช่น ระบบรู้จำใบหน้าที่ดี ไม่ได้มาจากโปรแกรมเมอร์ที่ดี แต่ต้องมีข้อมูลใบหน้าอยู่ในระบบมากที่สุด ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถจับแพตเทิร์นได้ดีที่สุด ข้อมูลเลยสำคัญมาก
จีนเป็นประเทศที่มีข้อมูลมหาศาล ยกตัวอย่าง บริษัท Amazon มีข้อมูลลูกค้าแค่ทางออนไลน์ แต่ Alibaba มีข้อมูลลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ได้มาจากการใช้ Alipay ทำให้บริษัทมีข้อมูลผู้บริโภคเยอะที่สุด กลายเป็นบริษัท AI โดยนำข้อมูลผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ส่งผลให้ AI ฉลาดขึ้น จีนจึงพัฒนา AI ได้เร็วมาก
วัฒนธรรมการทำงานแบบจีน
คนจีนทำงานแบบ 996 คือทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์ แจ็ค หม่า บอกว่า นี่คือเรื่องปกติ เพราะการแข่งขันที่สูงผลักดันให้จีนถึก
ในช่วงแรกก็เกิดจากการคัดลอกฝรั่ง เช่น Google ของจีนก็คือ Baidu WhatsApp ของจีนก็คือ WeChat หรือ eBay ของจีนก็คือ Alibaba ตอนแรกฝรั่งบอกว่าจีนก๊อบปี้ แต่ปัจจุบันไม่แล้ว เพราะแอปฯ มีความแตกต่างกันมาก มีกว่า 1,000 บริษัทที่ก๊อบปี้ eBay แต่บริษัทเดียวที่ชนะคือ Alibaba เพราะการปรับตัว และความครบวงจรทั้ง Alipay ระบบการเงิน, Cainiao ระบบขนส่ง, ห้างที่เชื่อมต่อกับ E-Commerce คู่แข่งที่ไม่สามารถผลิตได้เท่าก็แพ้ไป ตอนแรกจีนถูกมองเป็น Copycat แต่ต่อมา จีน Innovate ได้เร็วกว่าฝรั่ง เนื่องจากความกดดันจากการแข่งขัน อีกทั้งเทคโนโลยียุคใหม่ ที่สำคัญคือสเกลใหญ่ มีตลาดใหญ่รองรับ ทำให้เติบโตเร็ว
จุดร่วมความสำเร็จของบริษัทจีน
ทำสิ่งที่เข้ากับประเทศ คน และสังคมของเขา แจ็ค หม่า บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ ความเข้าใจคนจีนที่มากกว่า สินค้าที่ฝรั่งทำเป็นรูปแบบเดียวที่ขายทั่วโลก แต่คนจีนทำอะไรที่ตอบโจทย์คนจีนมากกว่า โมเดลการลงทุนของบริษัทจีนในต่างประเทศก็เหมือนกัน Alibaba มาซื้อ Lazada, TenCent ซื้อ Shopee และ JD ร่วมกับ Central เขาพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น แตกต่างกับฝั่งตะวันตก
ไทยสามารถสร้างแพลตฟอร์มให้ประสบความสำเร็จแบบจีนได้ไหม
เราเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายที่สร้างแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย เช่น ธนาคารหลายแห่ง เพราะพลังของเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์ม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับใครเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม คนที่มีข้อมูลอยู่ในแพลตฟอร์มก็จะเป็นคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
อาจารย์ที่จุฬาฯ ท่านหนึ่งกล่าวว่า ยุคแรกจะเกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า ยุคถัดมาการส่งออกพ่อค้า การเอาคนมาลงทุนทำธุรกิจ ยุคที่สาม การส่งออกแพลตฟอร์ม สำหรับจีนจึงสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกันสองชั้น ซึ่งก็คือประเทศและระบบคอมมิวนิสต์ จีนจึงต้องทำระบบของตัวเอง เป็นเหตุผลที่เขาแคร์เรื่องความมั่นคง
เรียนและเลียนแบบขงจื๊อ ดีเอ็นเอสำคัญของคนจีน
คนจีนหรือคนเชื้อสายจีนจะได้รับอิทธิพลขงจื๊อโดยที่จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งคือการให้ความสำคัญมากกับการศึกษา ในเมืองจีนมีการสอบจอหงวน (เขียนเรียงความ) เรียงความที่ดี คือเรียงความที่ลอกแบบแผนในอดีต หนังสือเล่มไหนที่มีคนก๊อบปี้เยอะ คนจีนจะถือเป็นคำชื่นชม คนจีนมีดีเอ็นเอของการเรียนและเลียน
คำสอนที่ว่า จะตกปลาให้คนกิน หรือจะสอนให้เขาตกปลาเป็น คนจีนมีแต่ต้องนั่งดูคนตกปลา และพยายามดูว่าเขาใช้วิธีอย่างไร เขาปรับตัวตลอด ยิ่งคนจีนที่มาอยู่ในประเทศอื่นๆ คุณลักษณะเหล่านี้เป็นรากฐานของประเทศจีน
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์