×

ความพังพินาศของการสัมภาษณ์งานครั้งแรก & งานแบบไหนที่ใช่?

07.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เอาความผิดพลาดจากการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งมาเป็นบทเรียนพัฒนาตัวเอง ต่อให้มันเป็นประสบการณ์ที่น่าอายแค่ไหนก็ตาม เราจะไม่อยู่กับความอายแบบนั้นตลอดไป
  • หลายคนอาจจะมองการสัมภาษณ์งานเป็นการที่เราจะถูกเลือกหรือเปล่า ที่จริงนั้น การสัมภาษณ์งานไม่ใช่เพียงแค่การดูว่าเขาจะเอาเราไหม แต่เป็นการดูซึ่งกันและกัน เขาดูเรา เราดูเขา ด้านเราเองก็ต้องดูว่า นี่คือที่ทำงานที่มีวิสัยทัศน์หรือเปล่า ใช่ที่ที่จะเติบโตไปทันโลกไหม ที่แห่งนี้จะเอื้อต่อศักยภาพของเราหรือเปล่า เราต้องเลือกงานด้วย ไม่ใช่แค่ให้เขามาเลือกเราอย่างเดียว

Q: ผมเพิ่งเรียนจบและไปสัมภาษณ์งานมาครั้งแรก รู้สึกทำได้ไม่ดีเลย อยากรู้ว่าตอนพี่ท้อฟฟี่สัมภาษณ์งานครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้างครับ และนานไหมกว่าจะได้งาน

 

A: สัมภาษณ์งานครั้งแรกของพี่มันพังพินาศมากน้องเอ๊ย!

     กว่าพี่จะได้สัมภาษณ์งานครั้งแรกในชีวิตก็หลังเรียนจบปริญญาโทโน่น อายุก็ปาเข้าไปตั้ง 25 ปีแล้ว เพราะตอนเรียนจบปริญญาตรีพี่ได้งานเลยตั้งแต่ยังฝึกงานอยู่ พี่ก็เลยไม่ต้องสัมภาษณ์งาน แล้วก็ทำงานเรื่อยมาจนลาออกมาเรียนปริญญาโท

     ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ตอนอายุ 25 ปี เขาเขียน Resume กันเป็นแล้ว เคยผ่านการสัมภาษณ์งานกันมาแล้ว แต่ตัวพี่เองกลับไม่เคยรู้อะไรแบบนี้เลย ในตอนนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ใหม่มากของพี่ ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องที่คนวัยนั้นน่าจะเคยผ่านกันมาแล้ว (ซึ่งพี่ก็ไปผ่านเรื่องอื่นมาแทน ฮ่าๆ)

     จำได้ว่า พี่ตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์งานครั้งแรกมาก ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ จะแต่งตัวไปแบบไหนดีนะ จะพูดอะไรดี ประสบการณ์ในสายที่สมัครก็ยังไม่มีเพราะย้ายสายมา เราจะสู้คนอื่นได้หรือเปล่า คิดมากจนนอนหลับๆ ตื่นๆ

     วันสัมภาษณ์พี่ใส่แจ็กเก็ต ส่องกระจกมาจากบ้านแล้วคิดว่าตัวเองหล่อมาแล้วนะ แต่เชื่อไหมว่าด้วยความตื่นเต้น พี่เหงื่อแตกชนิดที่หลังเปียกชุ่มตั้งแต่แค่เดินเข้าไปในออฟฟิศ

     ตอนที่สัมภาษณ์ พี่เกร็งมาก เกร็งในระดับที่พูดแล้วปากสั่น ขากรรไกรสั่นระริก มือพี่เย็นไปหมด ขาก็สั่น สัมภาษณ์ไปปาดเหงื่อไป ทั้งๆ ที่ในห้องสัมภาษณ์เปิดแอร์เย็นมาก พี่ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย มานึกย้อนไปแล้วขำตัวเองมาก แกเป็นอะไรได้มากขนาดนั้นนะท้อฟฟี่!

     พี่รู้ตัวตั้งแต่ยังสัมภาษณ์ไม่จบว่าพี่คงไม่ได้งานนั้น พี่เดินออกจากห้องสัมภาษณ์ด้วยหลังที่ชุ่มเหงื่อและบทเรียนราคาแพง พี่อายตัวเองมากจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทุกวันนี้พี่เป็นเพื่อนที่ดีกับคนที่สัมภาษณ์พี่ เขายังบอกพี่เลยว่าวันที่สัมภาษณ์พี่ พี่ดูไม่มีความมั่นใจใดๆ พูดไปเหงื่อไหลไป เป็นคนละคนกับที่เขารู้จักในทุกวันนี้

     แต่นั่นเป็นประสบการณ์ที่ดีมากนะครับ เพราะพี่รู้แล้วว่าเรายังเตรียมตัวมาไม่ดีพอ เรียนรู้แล้วว่าถ้าเราควบคุมสติของตัวเราไม่ได้เราจะเป็นแบบนี้ รู้แล้วว่าการสัมภาษณ์งานเป็นแบบนี้นี่เอง เราจะเจอคำถามแบบไหนได้บ้าง และพอจะรู้แล้วว่าเราจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร

     พี่ยังนึกขอบคุณบทเรียนเหงื่อตกครั้งนั้นที่ทำให้พี่ได้เรียนรู้จากความผิดหวังและความผิดพลาดของตัวเองอยู่จนถึงทุกวันนี้ เอาความผิดพลาดจากการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งมาเป็นบทเรียนพัฒนาตัวเอง ต่อให้มันเป็นประสบการณ์ที่น่าอายแค่ไหนก็ตาม เราจะไม่อยู่กับความอายแบบนั้นตลอดไป

     สัมภาษณ์งานครั้งที่สองกับพีอาร์เอเจนซีที่ใหม่เกิดขึ้นในสัปดาห์ต่อมา คราวนี้พี่เตรียมตัวมาดี บอกตัวเองว่าเราจะไปแบบเหงื่อตกแบบเดิมไม่ได้แล้ว! มีสติ เกร็งน้อยลง เรียบเรียงคำพูดให้ดี พี่รู้ว่าจะดึงเอาจุดแข็งของตัวเองขึ้นมาพรีเซนต์อย่างไรแบบเนียนๆ

     พี่ได้รู้แล้วว่า เออว่ะ ถ้าเราเตรียมตัวมาก่อน เราตั้งสติดีๆ เราก็จะทำได้ดี ปากไม่สั่นแล้วเฟ้ย!

     ระหว่างที่คุยกัน พี่รู้เลยว่าคนที่สัมภาษณ์พี่น่าจะสนใจพี่อยู่ เราดูได้จากบทสนทนาที่ไหลลื่น สัมผัสได้ถึงความสนใจในตัวเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในการสัมภาษณ์ครั้งแรก มันทำให้พี่มั่นใจมากขึ้นว่า เราก็น่าจะทำได้ดีในระดับหนึ่ง

     แต่สิ่งที่พี่รู้สึกแหม่งๆ ในตอนนั้นคือ ระหว่างที่เราคุยกัน เขาบอกพี่ว่า เขาไม่เชื่อว่าโซเชียลมีเดียจะไปได้ไกล เขาเชื่อว่าเฟซบุ๊กจะไม่ยั่งยืน และมันจะไม่ได้เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง เขาคิดว่าสื่อเก่าจะยังมีอิทธิพลอยู่

     สำหรับพี่ พี่คิดว่ามันไม่ใช่แบบนั้น และพี่เชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนไปมาก โซเชียลมีเดียจะทำให้การสื่อสารเปลี่ยนไป และหมายถึงพวกเราทุกคนต้องปรับตัว จบการสัมภาษณ์ พี่บอกว่าตัวเองว่า ที่นี่อาจจะไม่ใช่ที่สำหรับพี่ พี่ขอบคุณและเลือกที่จะปฏิเสธงานนั้นแม้เขาจะเลือกเราก็ตาม

     หลายคนอาจจะมองการสัมภาษณ์งานเป็นการที่เราจะถูกเลือกหรือเปล่า ที่จริงนั้น การสัมภาษณ์งานไม่ใช่เพียงแค่การดูว่าเขาจะเอาเราไหม แต่เป็นการดูซึ่งกันและกัน เขาดูเรา เราดูเขา และเราเองก็ต้องดูว่านี่คือที่ทำงานที่มีวิสัยทัศน์หรือเปล่า ใช่ที่ที่จะเติบโตไปทันโลกไหม ที่แห่งนี้จะเอื้อต่อศักยภาพของเราหรือเปล่า เราต้องเลือกงานด้วย ไม่ใช่แค่ให้เขามาเลือกเราอย่างเดียว เพราะมันคือการ ‘เลือก’ เส้นทางชีวิตของเราในอนาคตบนเบ้าหลอมนี้

     การสัมภาษณ์งานครั้งที่สองทำให้พี่มี mindset แบบนี้ และทำให้พี่บอกตัวเองว่า เรามีสิทธิ์เลือกชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น และถ้าที่นี่ยังไม่ใช่ พี่ก็จะอดทนรอจนกว่าจะเจอที่ที่ใช่ของกันและกัน

เรื่องงานเราต้องเรื่องมากนะครับ พี่ถือว่าเรากำลังเลือกว่าเรากำลังจะโตไปเป็นคนแบบไหนก็จากงานที่เราทำ มันไม่มีที่ที่สมบูรณ์แบบ แต่ดูว่าที่ไหนที่เอื้อต่อการเติบโตของเราได้มากที่สุด

เลือกงานก็เหมือนเลือกแฟนนะน้อง ยังไม่เจอที่ใช่ก็อย่าเพิ่งไปรีบคว้า

     สัมภาษณ์งานครั้งที่สามของพี่เกิดขึ้นที่โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง ครั้งนี้พี่ลดความตื่นเต้นไปได้เยอะ ไม่มีสั่น พี่เห็นคนมานั่งรอสัมภาษณ์เยอะมาก ใช้เวลารอกันทั้งวัน

     ในระหว่างที่นั่งนิ่งๆ เพื่อรอสัมภาษณ์ที่เลตกว่าเดิมมาครึ่งวันนั้น พี่ก็รู้สึกอย่างหนึ่งว่า ทำไมไม่มีน้ำให้ มันอาจดูเป็นประเด็นเล็กๆ แต่มันทำให้พี่รู้สึกอย่างหนึ่งว่า แปลกดีที่ที่นี่คือโรงแรมชื่อดัง ทำธุรกิจด้านการบริการ แต่น้ำสักแก้วไม่มีให้ดื่ม แต่ละวันมีคนเข้ามาที่โรงแรมนี้หลายคน แต่ทุกคนจะออกไปจากโรงแรมนี้โดยไม่ได้แม้แต่น้ำแก้วเดียวให้ดื่ม

     น้ำแก้วเดียวบอกอะไรเราได้มากมายนะครับ ธุรกิจบริการคือธุรกิจที่ต้องสร้างความประทับใจให้ทุกคนที่เข้ามา แม้กระทั่งคนที่มาสัมภาษณ์งานก็ต้องได้ความรู้สึกนั้นกลับไป ลองคิดกลับกันนะครับ ถ้าโรงแรมแห่งนั้นทำให้เรารู้สึกตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ว่า ตัวจริงด้านการบริการเขาทำงานกันแบบนี้ เขาดูแลคนทุกคนที่เข้ามาอย่างดี มีไมตรีจิต ต่อให้คนเหล่านั้นไม่ได้งาน แต่เขาจะเดินออกไปพร้อมความรู้สึกประทับใจว่า “เฮ้ย! คนที่เรียกว่าตัวจริงเขาเป็นแบบนี้ว่ะ เขาทำงานกันมาตรฐานสูงมาก ฉันจะบอกทุกคนถึงความเป็นมืออาชีพของโรงแรมนี้ ถึงไม่ได้งาน แต่สักวันฉันจะกลับมาสมัครที่โรงแรมนี้ เพราะที่นี่คือตัวจริง”

     มันทำให้พี่ตั้งคำถามนะครับว่า เขาเป็นตัวจริงเรื่องการบริการหรือเปล่าจากน้ำแก้วนั้นแหละครับ

     สุดท้ายพี่ปฏิเสธงานที่โรงแรมนั้น เพราะพี่คิดว่า พี่อยากทำงานกับคนที่เป็นตัวจริง คนที่ทำในสิ่งที่เขาเชื่อ ไม่ใช่แค่เขียนคำโปรโมตไว้สวยๆ แต่ไม่ได้ลงมือทำจริง ถ้าพี่อยากเป็นตัวจริง พี่จะต้องทำงานกับบริษัทที่เป็นตัวจริงในเรื่องนั้น เพราะนั่นคือเบ้าหลอมอย่างดีให้กับเรา การสัมภาษณ์งานครั้งนั้นทำให้พี่คิดแบบนั้นจริงๆ เรื่องงานเราต้องเรื่องมากนะครับ พี่ถือว่าเรากำลังเลือกว่าเรากำลังจะโตไปเป็นคนแบบไหนก็จากงานที่เราทำ มันไม่มีที่ที่สมบูรณ์แบบ แต่ดูว่าที่ไหนที่เอื้อต่อการเติบโตของเราได้มากที่สุดในช่วงเวลานั้น

 

สัมภาษณ์มาสามครั้ง พี่ได้หลักการแล้วว่า

     1) ต้องเตรียมตัว

     2) เอาความผิดพลาดเป็นบทเรียน

     3) ไม่ใช่แค่เขาเลือกเรา แต่เราต้องเลือกกันและกัน พี่จะอดทนรอจนกว่าจะเจอที่ที่ใช่

     4) ที่ที่ใช่สำหรับพี่คือ ที่ที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ และบริษัทนั้นเป็นตัวจริงที่ทำในสิ่งที่พูด ไม่ใช่แค่พูดแต่ไม่ลงมือทำให้เห็น การอยู่ในที่ที่เป็นตัวจริงและผู้นำมีวิสัยทัศน์จะทำให้เราเติบโต

     พี่เอาหลักการทั้งหมดนั้นมาใช้ และเจอที่ที่ใช่ ใช่ทั้งเราและเขา ในการสัมภาษณ์ครั้งที่ 4

     ลองเอาไปใช้ดูนะครับ พี่เอาใจช่วย ได้งานแล้วมาเลี้ยงข้าวพี่ด้วยเลย!

 

     *ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising