เมื่อพูดถึงประเทศที่ชื่อสั้นแต่แนวชายฝั่งทะเลยาวอย่างชิลี สิ่งแรกที่คนนึกถึงมักจะแตกต่างกัน
ออกไป บางคนนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างพาตาโกเนีย หรือเกาะอีสเตอร์ บางคนเคยได้ยินชื่อกวีเจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง ปาโบล เนรูดา บางคนจำได้เพียงหน้าประวัติศาสตร์ทางด้านการเมืองช่วงทศวรรษ 1970 ที่ไม่ค่อยสวยหรู
แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ชิลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่โด่งดังเรื่องสตรีทอาร์ต
จริงอยู่ว่าสตรีทอาร์ตถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เพียงเวลาไม่นาน วัฒนธรรมการขีดเขียนระบายสีลงบนผนังก็เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาใต้ในที่สุด
ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าสตรีทอาร์ตในชิลีเกิดขึ้นในรูปแบบการแสดงความคิดเห็นอย่างโจ๋งครึ่ม แต่เงียบเชียบ และปลอดภัย ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet)
ขณะที่คนท้องถิ่นบางคนก็เล่าว่า สตรีทอาร์ตในชิลีเริ่มต้นหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1980 (ซึ่งโดยสถิติแล้วก็ดูจะมีถี่จนน่าตกใจ) ในขณะที่ชาวเมืองกำลังช่วยกันฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเมืองนั้น ปาโบล เนรูดา กวีและฮีโร่ชื่อดังของชิลีก็ไปชักชวนเพื่อนศิลปินจากหลายประเทศให้มาช่วยกันวาดภาพบนผนัง เพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้าน
แต่ไม่ว่าวัฒนธรรมสตรีทอาร์ตในชิลีจะเริ่มต้นด้วยวิธีไหน อีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา ศิลปินในชิลีก็เริ่มจับทางของตัวเองได้ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนากลายมาเป็นลักษณะสตรีทอาร์ตแบบที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากเมืองหลวงอย่างซานติอาโกแล้ว อีกเมืองที่มีสตรีทอาร์ตให้ดูทุกหัวมุมตึกคือ บัลปาราอีโซ (Valparaíso) ครับ
เมืองท่าริมทะเลที่อยู่ห่างจากซานติอาโกด้วยรถบัสไม่กี่ชั่วโมงนี้ เดิมทีเป็นเมืองที่เรือทุกลำต้องหยุดพักก่อนเดินทางต่อไปสหรัฐอเมริกาในสมัยตื่นทอง แต่หลังจากคลองปานามาถูกขุดขึ้นในปี ค.ศ. 1914 การเดินทางอ้อมทวีปอเมริกาใต้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทำให้บัลปาราอีโซไม่ใช่เมืองที่ ‘ต้องแวะ’ และเมืองก็เข้าสู่ยุคถดถอย จนกระทั่งการมาถึงของวัฒนธรรมสตรีทอาร์ต ที่ทำให้บัลปาราอีโซกลับมามีที่ยืนในสายตาของนักเดินทางอีกครั้ง
แรกพบสบตา หากยืนมองเมืองบัลปาราอีโซจากระยะไกล จะเห็นว่าเมืองนี้ประกอบขึ้นจากเนินเล็กๆ เรียงติดกัน หลายคนจึงเปรียบเทียบเมืองนี้เหมือนซานฟรานซิสโกของอเมริกา
เมื่อเหยียบย่างเข้าไปดูใกล้ๆ คุณจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่าบ้านแต่ละหลังเป็นคนละสีกัน ที่เป็นแบบนั้นเพราะแรกเริ่มเดิมทีบ้านแต่ละหลังใช้สีที่เหลือจากการทาสีเรือ เมื่อสีมีไม่พอ บ้านที่ติดกันก็พลอยมีสีที่ไม่เหมือนกันไปด้วย ต่อมาผู้ใหญ่ของเมืองบัลปาราอีโซเริ่มมองเห็นว่านี่คือจุดขายของเมือง ปัจจุบันจึงมีข้อตกลงว่า รัฐจะช่วยจ่ายค่าสีทาบ้านให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าคุณตกลงว่าจะทาสีบ้านให้ไม่เหมือนกันแต่ไม่ใช่แค่สีที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้เด่นชัดในบัลปาราอีโซหรอกครับ สิ่งที่โชว์ตัวอยู่แทบทุกผนัง มุมตึก บันได คือศิลปะอะไรสักอย่าง ซึ่งมีตั้งแต่การขีดเขียนธรรมดา ภาพวาดสีฉูดฉาด กระเบื้องโมเสก ไปจนถึงการใช้หิน ต้นไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ประกอบให้เป็นรูปภาพขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของผู้คลั่งไคล้ในศิลปะอย่างแท้จริง
ในบัลปาราอีโซโดยเฉพาะเขตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) อย่าง Cerro Concepción และ Cerro Alegro เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเดินเล่นดูงานศิลปะบนผนัง แถวนี้มีพื้นที่ที่ไม่ถูกปกคลุมด้วยงานศิลปะอะไรสักอย่างน้อยมาก น่าจะมีตึก Radio Portales เพียงตึกเดียวเท่านั้นแหละที่เป็นสีเทาเรียบเนียนทั่วกัน ซึ่งเพื่อนชาวบัลปาราอีโซกระซิบกับเราว่าเป็นเพราะเขาทาสีทับลงไปใหม่ทุกวัน ทำให้โดยสถิติแล้วมันเป็นตึกที่มีคนมาขีดเขียนมากที่สุด
สำหรับนักเที่ยวชมสตรีทอาร์ตมือใหม่ หากอยากลองเสพความแตกต่างของสรรพสีที่อยู่บนกำแพง ให้ลองแบ่งประเภทแล้วสอดส่ายสายตามองหาแบบ ‘ศิลปะ’ ดังนี้ครับ
แท็กส์ (Tags) – คือการเขียนคำ ชื่อ หรือตัวย่ออะไรสักอย่างลงไปด้วยสีเดียวในบริเวณที่เข้าถึงยาก ลองพยายามอ่านตัวอักษรที่ว่าดู แล้วจะพบว่าสนุกมาก เพราะมันไม่ง่ายเท่าไร ที่เป็นแบบนี้เพราะอิทธิพลการเขียนให้ ‘มีรอยหยักมากที่สุดเท่าที่จะทำได้’ ตามแบบฉบับปิชาเซา (Pichação) ของชาวบราซิล
โทรว์อัพส์ (Throw Ups) – ก็คือแท็กส์แบบใช้สีสเปรย์พ่นสองสี มีลักษณะเป็นอักษรตัวใหญ่ที่มีความหนา เป็นข้อความสั้นๆ และไม่ได้สวยงามมาก ทั้งสองแบบถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าของอย่างไม่เต็มใจ มักเป็นการแสดงออกของเหล่าแก๊งวัยรุ่น และแน่นอนว่าผิดกฎหมาย
มิวเรียลส์ (Murials) – แบบนี้คือภาพวาดที่ต้องใช้เวลา ส่วนมากเจ้าของผนังจะตกลงกับศิลปินให้มาวาดภาพที่ตนต้องการ (ด้วยการว่าจ้างหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ แบบนี้ไม่นับว่าผิดกฎหมาย และยูเนสโกก็ไม่ได้ว่าอะไร) ด้วยจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนมาวาดแท็กส์หรือโทรว์อัพส์ทับลงไป เพราะศิลปินส่วนใหญ่จะถือคติไม่วาดอะไรทับกัน ส่วนมากมีเรื่องราวเบื้องหลังภาพวาด และถ้ารู้จักศิลปินด้วยก็จะยิ่งอินเข้าไปใหญ่
ข้อมูลเกี่ยวกับภาพวาดส่วนมากหาได้ในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ต้องเตรียมใจเผื่อไว้ด้วยว่า เมื่อไปเหยียบย่างยังจุดที่ปักหมุดไว้ ภาพที่คุณตั้งใจมาชื่นชมอาจถูกทับถมด้วยสีสันจากภาพอื่นไปเรียบร้อยแล้ว
“สตรีทอาร์ตก็แบบนี้แหละ บางภาพก็อยู่ได้แค่วันเดียว ของแบบนี้มันมีอายุขัย ถ้าอยากให้รูปอยู่นานๆ คงต้องวาดลงผ้าใบแล้วเก็บเอาไว้เอง” เพื่อนคนเดิมกล่าวตบท้าย
จริงอย่างที่เขาว่าไป ในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ใครก็มีสิทธิวาดรูปทับลงไปใหม่ – ถึงมันจะผิดกฎหมายก็เถอะ!
• เดินทางไปบัลปาราอีโซจากซานติ-อาโกได้ โดยการนั่งรถบัสจากท่ารถที่ติดกับสถานีรถไฟใต้ดิน Universidad de Santiago หรือ Pajaritos
• รถบัสระหว่างสองเมืองใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง ทำให้สามารถจัดทริปไปเช้าเย็นกลับจากซานติอาโกได้ แต่ถ้าจะค้างคืนที่บัลปาราอีโซก็ไม่ผิดกติกา
• ศิลปินสตรีทอาร์ตขึ้นชื่อของบัลปาราอีโซที่น่าไปชื่นชมผลงานมีหลายคน ที่พบเห็นชิ้นงานได้บ่อย เช่น Culli Mangui, Un Kolor Distinto, Anis, Daniel Marceli, Inti เป็นต้น
• มีทัวร์เดินชมสตรีทอาร์ตให้เลือกเข้าร่วมหลายทัวร์ บางทัวร์ถึงขั้นพาไปลงไม้ลงมือละเลงสีบนผนังด้วยตัวเอง