(4 ธ.ค. 61) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 139 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 7 เสียง
โดยสาระสำคัญคือมาตรา 3 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ถ้าธุรธรรมลักษณะเฉพาะนั้นเป็นธุรกรรมลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ได้แก่
1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3 พันครั้งขึ้นไป
2. ฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวในที่ประชุมว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30-39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง ดังนั้นยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวมีสมาชิก สนช. อภิปรายคัดค้านกันหลายคน โดยเฉพาะประเด็นการขาดหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้อาจกระทบกับ สนช. ที่ได้รับเงินโอนจากค่าเบี้ยประชุมหรือรายได้อื่น
ตวง อันทะไชย สนช. อภิปรายว่า สนช. อาจจะเข้าข่ายถูกตรวจสอบด้วย เพราะปัจจุบันพบว่า เบี้ยประชุมรวมถึงเงินทำบุญกฐินยังรับโอนผ่านบัญชีธนาคาร
ทั้งนี้การถกเถียงดังกล่าวถึงกับทำให้ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการและ สนช. ที่ยังติดใจหารือนอกรอบ
เป็นเหตุให้กรรมาธิการยอมแก้ไขมาตรา 3 วรรคสอง (2) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลการฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้ง ขณะที่ยอดรวมของธุรกรรมยังคงเดิม คือตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์