×

เปิดใจลูกสาว เช เกวารา กับความลับเรื่องรักของพ่อที่เก็บงำมานานถึง 60 ปี

23.11.2018
  • LOADING...

หากเอ่ยถึงชื่อ เช เกวารา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ ชายผู้ที่มีส่วนสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการบาติสตาที่มีจักรวรรดินิยมอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในช่วงการปฏิวัติคิวบา (ปี 1953-1959)

 

จากเด็กหนุ่มนักศึกษาแพทย์ในกรุงบัวโนสไอเรสที่ออกเดินทางช่วยเหลือผู้คนทั่วลาตินอเมริกาไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้โลกกว้าง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและบริบทสังคมที่เขาพบเจอ ปลุกความสนใจในประเด็นการเมืองให้แก่ผู้ชายคนนี้ ชายผู้ตั้งเป้าที่จะโค่นล้มจักรวรรดินิยมและปลดปล่อยลาตินอเมริกาจากความยากแค้น โดยมีโลกที่มีแต่ความยุติธรรมเป็นจุดหมายปลายทาง

 

ด้วยเจตนารมณ์ที่จะส่งต่อผลผลิตของการปฏิวัติไปยังภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับความขัดแย้งกับระบอบสังคมนิยมแบบโซเวียตที่ดำเนินมาตั้งแต่ที่เชตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการปฏิวัติด้วยวิธีการของตัวเอง ส่งผลให้ชายไว้หนวดสวมหมวกเบเรต์ผู้นี้ต้องพบกับ ‘วาระสุดท้ายของชีวิต’

 

9 ตุลาคม 1967 ลมหายใจของนักรบผู้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์แห่งความเท่าเทียมดับสิ้น เหลือไว้เพียงแต่ร่างที่ไร้วิญญาณ ไม่มีผู้ชายที่ชื่อ เช เกวารา ในโลกใบนี้อีกแล้ว

 

ชื่อของเชดูเหมือนจะเลือนหายไปเกือบสามทศวรรษ พร้อมกับร่างที่ยังไม่ได้กลับบ้าน ท่ามกลางความคิดถึงของคนในครอบครัว ในที่สุดกลางปี 1997 มีการขุดพบหลุมศพของเชที่เมืองบาเญกรันเด ในแคว้นซานตากรูซของโบลิเวีย ซึ่งทำให้ชื่อของชายคนนี้กลับมาอยู่ในห้วงความสนใจของผู้คนอีกครั้ง

 

แต่การกลับมาของเชในปี 1997 ในช่วงหลังบริบทสงครามเย็นที่ระบอบสังคมนิยมต่างทยอยพ่ายแพ้และล่มสลายลง ทำให้ ‘ภาพของเช’ ที่เหลืออยู่ไม่ได้น่ากลัวและน่าหวาดหวั่นอีกต่อไปในโลกเสรีนิยมที่กระแสทุนนิยมไหลเชี่ยว

 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับ อาเลย์ดา เกวารา หนึ่งในลูกสาวของเช ผู้ซึ่งเป็นนักปฏิวัติระดับตำนาน ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมุมานะ กล้าหาญ และยืนหยัดในอุดมการณ์อย่างมั่นคง ซึ่งในปีนี้อาเลย์ดาเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเปิดตัวหนังสือ Evocación ฉบับภาษาไทยที่ใช้ชื่อว่า ผู้หญิงของเช ในโอกาสครบรอบ 90 ปี เช เกวารา และครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-คิวบา

 

มาทำความรู้จักผู้ชายชื่อเช รวมถึงประเทศคิวบาให้มากขึ้น ผ่านบทสนทนากับลูกสาวของเชไปพร้อมๆ กัน

 

Tailandia, Primera vez การมาไทยครั้งแรกของอาเลย์ดา

เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามไถ่ถึงการเดินทางมาที่ประเทศไทยครั้งนี้ โดยอาเลย์ดาบอกกับเราว่า “นี่เป็นการเดินทางมาไทยครั้งแรกในชีวิต เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างยาวนาน แม้อาจจะไม่ได้มีเวลาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ มากนัก แต่เท่าที่เห็นก็รับรู้ได้ว่าที่นี่สวยงาม”

 

เธอยังเล่าต่อไปอีกว่า มีสิ่งหนึ่งที่ไทยคล้ายกับคิวบาบ้านเกิดของเธอมากๆ นั่นก็คือ สภาพอากาศที่ร้อน และถึงแม้อากาศที่ไทยจะร้อนจนอยากจะขอร้องให้พระอาทิตย์ลาหยุดสักหนึ่งวัน แต่การเดินทางข้ามซีกโลกในครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ

 

Photo: Ho / AFP

 

Evocación หนังสือถึงเช จากภรรยาผู้เป็นที่รัก

อาเลย์ดาเดินทางมาที่ไทยแทนคุณแม่อาเลย์ดา มาร์ช ที่อายุย่างเข้าปีที่ 83 แล้ว เพื่อเปิดตัวหนังสือ Evocación บันทึกเพียงเล่มเดียวที่ผู้เขียนในฐานะ ‘ภรรยาของเช’ ยินดีที่จะบอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งคู่ นับตั้งแต่วินาทีที่พบกัน ไปจนถึงบรรยากาศของพิธีไว้อาลัยในวันที่กระดูกของเช ได้กลับคืนสู่คิวบาในวันที่ 17 ตุลาคม 1997 ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย เบญจมาศ วงศ์สาม และมี เกศณี ไทยสนธิ จากสำนักพิมพ์ Golden Leaves Press เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ต้นฉบับภาษาไทย

 

อาเลย์ดาพูดถึงความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ว่า “เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวความรักของหญิงสาวชาวคิวบา ผู้สนใจในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมถึงกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ จนในวันหนึ่งเธอได้พบกับผู้ชายที่ไม่ใช่ชาวคิวบาแท้ๆ แต่กลับต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศบ้านเกิดของเธอ ค่อยๆ ก่อเกิดเป็นความรัก จนเกิดเป็นพวกเราลูกๆ ทุกคน”

 

เมื่อคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะรู้สึกราวกับว่าได้ซึมซับความโรแมนติกของหนังรักที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง

 

“ทุกเรื่องที่ถูกบันทึกลงไปในหนังสือเล่มนี้มีทั้งเรื่องที่ฉันรู้ และหลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน หรือบางอย่างที่รู้ก็อาจจะรู้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนของขวัญชิ้นสำคัญสำหรับลูกๆ ทุกคน สำหรับฉันที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายของคุณแม่และคุณพ่อที่ถ่ายด้วยกัน รวมถึงไม่เคยมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่บันทึกเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นของทั้งคู่ ทำให้ลูกๆ ทุกคนรับรู้ว่าพวกเราล้วนเป็นผลลัพธ์ของรักแท้ที่ทั้งสองคนมีให้กัน

 

 

“แม่ของฉันตอนเป็นวัยรุ่นได้ออกไปสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มกองกำลังผู้ชายจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายหนุ่มคนใดเลย แม่ของฉันแข็งแกร่งและมั่นคงมากๆ แต่เมื่อท่านได้เจอกับคุณพ่อ มีบางอย่างที่ดึงดูดความสนใจของคุณแม่ไป นั่นคือสายตาของคุณพ่อที่จ้องมองมา คุณแม่รู้สึกได้ว่าผู้ชายคนนี้แตกต่างจากผู้ชายคนอื่นๆ ความรู้สึกดีๆ เริ่มก่อตัวจนกลายเป็นความรัก”

 

น้อยคนที่จะรู้ว่าภรรยาของเชร้องไห้บ่อยมากขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เชแทบจะเป็นทุกอย่างในชีวิตของเธอ วันที่รู้ว่าเชเสียชีวิต เวลาและทุกอย่างราวกับหยุดเดิน การได้กลับมาเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้ความทรงจำที่เคยถูกเก็บไว้ในห้วงลึกของความรู้สึกเหมือนได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาและทำให้เธอหยุดร้องไห้ไม่ได้เลย เป็นความสุขที่แฝงไว้ด้วยความเจ็บปวด แต่ท้ายที่สุด อาเลย์ดา มาร์ช ก็เขียนหนังสือเล่มนี้จนเสร็จ

 

“คุณพ่อกลายเป็นทุกอย่างในชีวิตของคุณแม่ เป็นทั้งแฟนคนแรก เป็นทั้งคู่ชีวิต เป็นพ่อของลูกๆ เป็นทั้งสหายร่วมอุดมการณ์ คุณครูและเพื่อน เป็นทุกอย่าง ตอนที่คุณพ่อเสีย คุณแม่ต้องยืนหยัดต่อไปเพื่อลูกๆ ทั้ง 4 คน แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคุณแม่ในช่วงเวลานั้นก็ตาม คุณแม่ปิดกั้นความรู้สึกเสียใจนั้นไว้ ไม่เคยพูดถึงเรื่องในอดีตอีกเลย เหมือนท่านได้แช่แข็งช่วงเวลานั้นไว้เพื่อให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้ ตอนคุณแม่เริ่มเขียนหนังสือ คุณแม่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใน เป็นความสุขที่ผสมปนเปไปพร้อมๆ กับความเจ็บปวด”

 

และแล้วหนังสือเล่มนี้ก็มีฉบับแปลภาษาไทย “ดีใจที่เรื่องราวของเชในมุมของคุณแม่ได้เดินทางมาถึงที่นี่”

 

 

ภาพจำของ เช เกวารา ในสายตาของลูกสาวคนโต

อาเลย์ดาออกตัวก่อนเลยว่า ความทรงจำดั้งเดิมที่มีเกี่ยวกับพ่อของเธอเหลือน้อยมากๆ ภาพจำที่เธอมีอยู่ในขณะนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการรับรู้เรื่องราวของคุณพ่อผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการอ่านหนังสือ ฟังจากคนใกล้ตัว หรือแม้แต่รับชมสารคดีเกี่ยวกับเช

 

“ฉันมีความทรงจำเกี่ยวกับคุณพ่อเหลือน้อยมากๆ เพราะตอนนั้นฉันยังเด็กมากๆ ฉันเพิ่งอายุแค่ 4 ขวบครึ่ง ตอนที่ท่านจะต้องเดินทางไปยังคองโก หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ฉันแทบจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับท่านหลงเหลืออยู่ แต่ก็มีสารคดีมากมายที่สามารถจะย้อนกลับไปดูได้ แต่สำหรับฉัน ฉันแทบจำอะไรไม่ได้แล้ว”

 

เราจึงถามเธอต่อไปว่า แล้วเธอมีวิธีการคัดกรองข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้ได้ภาพของคุณพ่อที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

 

“ปกติแล้วฉันเป็นคนไม่ค่อยเชื่ออะไรง่ายๆ สิ่งที่ฉันจะเชื่อต้องมาจากคนที่ฉันรู้จักจริงๆ เช่น เพื่อนร่วมงานของคุณพ่อ จากคุณแม่ จากคนรอบตัวที่รู้จักเขาเป็นอย่างดีเท่านั้น โดยคุณจะรับรู้ได้เลยว่าใครกำลังเล่าเรื่องที่จริงหรือไม่จริงอยู่ ภาพจำทั้งหมดเกี่ยวกับคุณพ่อที่ฉันมีอยู่จึงล้วนถูกสร้างขึ้นจากบุคคลที่สามแทบทั้งสิ้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างภาพของคุณพ่อทับความทรงจำที่ฉันมี ซึ่งเหลือน้อยมากๆ เต็มทีแล้ว

 

 

“การที่จะเข้าใจมนุษย์คนหนึ่ง อาจจะต้องทำความเข้าใจเขาจากมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่ฟังจากคำบอกเล่าเพียงไม่กี่คำ การอ่านงานเขียนต่างๆ รับชมสารคดีและภาพเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกบันทึกไว้ จะทำให้เราเข้าใจคนคนหนึ่งได้เพิ่มมากขึ้น เหมือนกับหนังสือเล่มนี้ที่คุณแม่เขียน”

 

หลายคนอาจสงสัยว่าการเป็นนักปฏิวัติของเชส่งผลกระทบต่อครอบครัวเกวาราอย่างไรบ้าง อาเลย์ดายังคงตอบคำถามด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ

 

“คุณแม่มีความคิดทางการเมืองที่คล้ายคลึงกับคุณพ่อมาก ท่านต้องการที่จะเข้าร่วมสนามรบกับคุณพ่อทุกครั้งที่มีโอกาส แต่คุณพ่ออยากให้ท่านอยู่กับพวกเราก่อน เพราะพวกเรายังเด็กเกินไป ในช่วงการรบที่โบลิเวีย หากสงครามการรบยังไม่จบ หากคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่และยังไม่ถูกสังหาร ถ้ามีโอกาส คุณแม่ก็อยากจะไปอยู่ตรงจุดนั้น นั่นเป็นความฝันของท่าน สิ่งเดียวที่ทำให้ท่านไม่ได้เข้าร่วมการรบในครั้งนั้น คงเป็นเพราะฉันยังเด็กเกินไปนั่นเอง

 

“พวกเรามีคุณแม่ที่วิเศษมากๆ ท่านสอนสิ่งต่างๆ ที่ดีงามให้แก่พวกเรา ท่านมักจะบอกเราเสมอว่า พวกเราเป็นลูกของคนที่ชาวคิวบาทุกคนรัก ดังนั้นเราจะได้รับสิ่งของและโอกาสต่างๆ มากมาย แต่คุณแม่จะเตือนสติและสอนพวกเราเสมอว่า จงปล่อยวางจากสิ่งของที่ได้รับเหล่านั้น เพราะเราไม่ได้รับมาจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง จงใช้ชีวิตอย่างสงบ ห่างไกลจากปัญหาและประพฤติตัวอย่างมีเกียรติให้สมกับเป็นลูกหลานของประเทศที่เราอาศัยอยู่”

 

 

อิทธิพลของเชในคิวบา ในวันที่ความปลาบปลื้มไม่เคยจางหาย

แม้เวลาจะผ่านไปนานร่วมหกทศวรรษ นับตั้งแต่การปฏิวัติคิวบา แต่ชื่อและวีรกรรมของชายชาวอาเจนไตน์ผู้เป็นนักปฏิวัติระดับตำนานที่ร่วมปลดแอกแผ่นดินคิวบา ไม่เคยลบเลือนไปจากสังคมของคนที่นั่น เรื่องราวและจิตวิญญาณของเชถูกส่งต่อมายังลูกหลานชาวคิวบาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน

 

“ชาวคิวบาทุกคนยังรู้สึกเหมือนกับว่าเชยังคงอยู่กับพวกเรา เขายังคงเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวคิวบาตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ทุกคนรู้จัก แม้หลายๆ คนอาจจะเกิดไม่ทันและรู้จักเขาผ่านตัวหนังสือ แต่พวกเขาก็มีความรู้สึกร่วมไปกับแนวคิดและจุดยืนของเช มีคนถึงกับบอกฉันว่า การที่ฉันเป็นหมอที่ดีได้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเป็นลูกสาวของเช เราจะเห็นเชและเรื่องราวของเขาได้ท่ัวทั้งคิวบา เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากที่ได้เกิดเป็นลูกของผู้ชายคนนี้”

 

ปัจจุบันอาเลย์ดาประกอบอาชีพเป็นคุณหมอเด็กในกรุงฮาวานา มีประสบการณ์การเดินทางไปรักษาผู้ป่วยยังต่างแดนทั้งในนิการากัว, แองโกลา และเอกวาดอร์ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเป็นคุณหมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของคุณพ่อ

 

 

“ใช่ค่ะ เรื่องราวของคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้ฉันตัดสินใจเป็นหมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นอาจเป็นเพราะที่คิวบาส่งเสริมให้มีการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี การเป็นหมอเป็นหนึ่งในวิธีที่ฉันจะสามารถตอบแทนความรักที่คนในประเทศนี้มอบให้แก่ฉันมาโดยตลอด เป็นการส่งคืนความรักเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่พวกเขา และฉันตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ประกอบอาชีพนี้”

 

แล้วจริงหรือไม่ที่ในสังคมคิวบามีแต่หมอคนกับหมอความ เพราะได้รับอิทธิพลจากเช

 

“อาจจะไม่จริงทั้งหมดเสียทีเดียว ฉันคิดว่าการที่มีหมอมากในคิวบาเป็นเพราะว่าประเทศแห่งนี้เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนสามารถที่จะเรียนหมอได้ หากมีศักยภาพและมีผลการเรียนในโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คิวบาสนับสนุนเรื่องการศึกษาฟรี ใครก็ตามที่ฝันอยากจะเป็นหมอก็สามารถเรียนได้ ที่สำคัญการเรียนหมอนั้นไม่ได้จบมาเพื่อที่จะรักษาแค่ผู้ป่วยในคิวบาเท่านั้น แต่ยังรักษาผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ อีกด้วย”

 

จากจุดยืนและแรงสนับสนุนของรัฐบาล จึงทำให้ ‘คิวบา’ ประเทศเล็กๆ ทางตอนเหนือของทะเลแคริบเบียนที่มีประชากรราว 11 ล้านคนนี้ เป็นประเทศที่ส่งออกแพทย์ไปยังประเทศต่างๆ อันดับต้นๆ ของโลก

 

สิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นมรดกตกทอดของเชที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุดสำหรับฉันคือความเป็นมนุษย์ของเขา เขาพูดในสิ่งที่เขาคิดและเขาก็ลงมือทำในสิ่งที่เขาพูด”

 

มรดกตกทอดที่ยังมีชีวิตของ เช เกวารา

เชกับอาเลย์ดา มาร์ช ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คนคือ อาเลย์ดา, กามิโล, เซเลีย และ เอร์เนสโต ทั้งหมดล้วนเป็นมรดกตกทอดที่ยังมีชีวิตของนักรบผู้เป็นตำนาน นอกเหนือไปจากคติและแง่คิดต่างๆ ที่เชได้หลงเหลือไว้

 

อาเลย์ดาเติบโตขึ้นมาเป็นหมอเหมือนกับเช เดินทางไปยังพื้นที่ชนบทรวมถึงต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังยากไร้ ราวกับกำลังเดินตามรอยเท้าของผู้เป็นพ่อ เป็นมรดกตกทอดของเชที่ยังคงมีลมหายใจ ช่วยยกระดับสังคมที่เธออยู่ตามแรงกายและแรงใจที่เธอมี

 

“สิ่งที่ฉันทำในทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าฉันเป็นลูกสาวของคุณพ่อเท่านั้น แต่เป็นเพราะฉันคือผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับการเลี้ยงดูมาในสังคมที่ทำให้ฉันเติบโตขึ้นอย่างสวยงามเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง

 

“เมื่อครั้งที่ฉันยังเป็นนักศึกษาแพทย์และต้องเดินทางไปยังนิการากัว ในช่วงเวลานั้นยังมีนักศึกษาแพทย์ไม่มากนัก ท่านฟิเดล คาสโตรถามพวกเราทุกคนว่า ใครอาสาที่จะเดินทางไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่นิการากัวในชั้นเรียนปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาบ้าง ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเราต้องการจะไปที่นั่นอย่างไม่ลังเล และนั่นเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ ไม่ใช่เพราะว่าฉันเป็นลูกสาวของเช แต่เป็นเพราะฉันคือหญิงสาวชาวคิวบาที่เติบโตมากับวิถีชีวิตแบบนี้

 

 

“แน่นอนว่าการที่ฉันใช้นามสกุลนี้ทำให้ฉันได้รับโอกาสต่างๆ มากมาย แต่ฉันก็ยังคงดำเนินชีวิตแบบคนปกติ ปฏิบัติตัวเหมือนกับคนอื่นๆ ในคิวบา การที่เราเป็นหมอ ทำงานในต่างแดน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเช ไม่ใช่เพราะว่าเป็นลูกสาวเช แต่เป็นเพราะฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้”

 

ถึงแม้เวลาอาเลย์ดาจะมีความทรงจำในวัยเด็กร่วมกับคุณพ่อน้อยมากๆ แต่ชายผู้นี้ยังคงเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมมากๆ สำหรับเธอ

 

“คุณพ่อเป็นชายผู้เป็นทั้งนักรบ เป็นคนมุมานะ เป็นนักต่อสู้ เป็นชายผู้ชาญฉลาด เจ้าปัญญา เป็นนักถ่ายภาพ เป็นชายผู้สมบูรณ์แบบ ที่สำคัญเขาเป็นคุณพ่อของฉัน” อาเลย์ดากล่าวชื่นชมคุณพ่อของเธอด้วยสายตาที่เป็นประกาย ประกอบกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นตลอดบทสนทนา

 

“ไม่เพียงแค่ตัวฉัน ลูกหลานของพวกเรา เหล่าบรรดาคนหนุ่มสาว ยังคงมีเชเป็นแรงบันดาลใจจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นมรดกตกทอดของเชที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุดสำหรับฉันคือความเป็นมนุษย์ของเขา เขาพูดในสิ่งที่เขาคิดและเขาก็ลงมือทำในสิ่งที่เขาพูด”

 

Photo: Julian Peters / Shutterstock

 

 

คิวบาในฐานะ ‘ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์’ ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลก

อย่างที่ทราบกันดีว่า นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นที่บรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมต่างล่มสลายลง หลังพ่ายแพ้ให้กับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ‘คิวบา’ เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในปัจจุบันที่ยังคงปกครองประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ระบอบที่ถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า ทำอย่างไรระบอบนี้ถึงยังคงฟังก์ชันและเดินหน้าต่อไปได้

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คิวบายังคงว่ายทวนกระแสทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

 

“อย่างแรกเลยเป็นเพราะว่า นี่เป็นการตัดสินใจของชาวคิวบาทุกคน สองคือ สิ่งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเราสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ในแบบของพวกเรา จะขอยกตัวอย่างให้ทุกคนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในช่วงก่อนที่จะมีการปฏิวัติคิวบา อัตราการตายของเด็กแรกเกิดในคิวบามีสูงมาก ในเด็กแรกเกิดทุกๆ 1,000 คน จะมีเด็ก 70 คนต้องตายลงก่อนที่อายุจะครบขวบปี แต่ในปัจจุบันนี้ อัตราการตายของเด็กแรกเกิดลดลงเหลือเพียง 4 ใน 1,000 คนเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติ

 

“สมัยก่อนที่ดินในคิวบาส่วนใหญ่เป็นของนายทุนอเมริกันจากอเมริกาเหนือ แต่ทุกวันนี้แผ่นดินทั้งหมดเป็นของชาวคิวบา ไม่มีการต่อรองซื้อขาย หรือแม้แต่เปอร์เซ็นต์การอ่านออกเขียนได้ของคิวบาอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ในปัจจุบันคนคิวบามีเปอร์เซ็นต์การอ่านออกเขียนได้สูงขึ้นมาก และกระจายไปประกอบอาชีพต่างๆ ยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราได้รับจากการปฏิวัติสังคมนิยม แล้วเหตุใดทำไมเราถึงจะต้องเปลี่ยนแปลง”

 

 

จากสมรภูมิที่ห้ำหั่นกันด้วยอาวุธ กลยุทธ์ และอุดมการณ์ที่เชคุ้นชิน เขยิบมาสู่สงครามในโลกทุนนิยมหลากหลายรูปแบบ โลกในปัจจุบันส่งผลให้จุดยืนของความเป็นคิวบาขยับเขยื้อนไปมากน้อยแค่ไหน นับตั้งแต่วันที่ปฏิวัติคิวบาสำเร็จ

 

อาเลย์ดาใช้เวลาคิดคำตอบอยู่ชั่วครู่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้พร้อมฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ในสังคม

 

“ฉันหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าพวกเราไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่บนโลก คิวบาเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ เราล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปคือ ชาวคิวบาพบเจอความหมายของการมีชีวิตอยู่ ชีวิตที่มีความสุขที่พวกเราไม่ต้องการจะสูญเสียมันไป ดังนั้นเราหวังว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมจะยังคงต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช้ชีวิตอยู่กับที่ แต่เติบโตขึ้นและทำสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม”

 

มาถึงคำถามที่ว่า แล้วสังคมคิวบาในปัจจุบันกำลังต่อสู้กับอะไร คำตอบที่ได้จากลูกสาวของเชดูเหมือนจะไม่ได้แตกต่างจากคำตอบของเชมากนัก ถ้าในวันนี้เรายังมีโอกาสได้พูดคุยและถามคำถามนี้กับเขา

 

“คิวบากำลังต่อสู้กับมาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินมามากกว่า 55 ปีแล้ว เป็นอาชญากรรมที่โหดร้าย ใครๆ ก็สามารถพูดถึงประเด็นนี้ได้ง่ายๆ แต่การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

“เมื่อคุณมีลูกและรู้ว่าลูกของคุณป่วย รู้ว่ามียารักษาโรคที่จะรักษาอาการนี้ได้แน่ๆ และมีเงินพอที่จะซื้อยาเหล่านั้น แต่กลับไม่มีใครขายยานั้นให้กับคุณ เพราะมาตรการกีดกันทางการค้า บริษัทไหนก็ตามเสนอขายยานั้นให้กับคิวบา บริษัทนั้นจะถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ถูกปรับเป็นเงิน 5-10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือถูกสั่งห้ามส่งออกสินค้ามาขายยังตลาดของสหรัฐฯ จึงไม่มีใครกล้าขายยาให้กับพวกเรา เด็กชาวคิวบาต้องหัวเราะร่าให้กับความตาย เพราะมาตรการกีดกันทางการค้า มันเป็นอาชญากรรมอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่พวกเราชาวคิวบากำลังยืนหยัดต่อสู้อยู่ในขณะนี้”

 

Photo: Yamil Lage / AFP

 

ภาพของเชหลังความตาย ขายได้ในโลกทุนนิยม

ดูเหมือนว่าภาพของ เช เกวารา บุรุษผู้เป็นตัวแทนของนักต่อสู้ในระบอบสังคมนิยม ต่อต้านความแตกต่างทางชนชั้นเพื่อสร้างสังคมที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังเรื่องราวของเชได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง ลืมตาตื่นขึ้นมาท่ามกลางบริบทโลกใหม่ โลกที่ระบอบสังคมนิยมทยอยผุพังและล่มสลายลง โลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยกระแสของทุนนิยม

 

ภาพของเชขายได้ภายใต้โลกใบใหม่นี้ เรื่องราวของเชกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่คนทั่วโลกต่างรู้จัก ภาพของชายที่น่าหวาดหวั่นได้เลือนหายไปแล้ว เชกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายอีกต่อไปแล้วในโลกของทุนนิยม ไม่ได้มีการจำกัดและตีกรอบภาพของเชไว้ในความหมายใดความหมายหนึ่ง เราจึงเห็นเชอยู่ทุกหนทุกแห่งและเป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ไป ตั้งแต่สติกเกอร์ท้ายรถสิบล้อ, ธงชาติ, นาฬิกา, แก้วน้ำ, เสื้อยืด, รองเท้า หรือแม้แต่การถูกยกย่องความศักดิ์สิทธิ์ราวกับพระเจ้า

 

ภาพของเชที่เปลี่ยนไปหลังความตาย ส่งผลให้จุดยืนและอุดมการณ์ของชายผู้นี้เปลี่ยนไปหรือไม่ในสายตาคุณ

 

“มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนใช้ภาพเหล่านั้น ใช้โดยใครและใช้เพื่ออะไร ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ดี พวกเราก็จะต้องต่อสู้ แต่ถ้าการนำภาพของเชไปใช้เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เกิดการตั้งคำถามและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ฉันถือว่านั่นเป็นสิ่งที่ดี มีคนหนุ่มสาวทั่วโลกจำนวนมากที่ยึดถือ เช เกวารา เป็นแบบอย่าง เป็นกำลังใจให้ยังคงก้าวเดินต่อไป ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องน่ายินดี”

 

 

ในช่วงท้ายของการสนทนา เราถามอาเลย์ดาว่า เธอเคยรู้สึกเหนื่อยบ้างไหมที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับผู้ชายคนนี้อยู่บ่อยครั้ง เธออมยิ้มพร้อมกับหัวเราะหลังจากที่ได้ยินคำถามนี้

 

“ก็ต้องมีเหนื่อยบ้างเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองมากกว่า ถ้าผู้คนเหล่านั้นได้รู้จักคุณพ่อที่แสนวิเศษคนนี้เพิ่มมากขึ้นสักเล็กน้อย ฉันคิดว่ามันก็คุ้มค่าที่จะเหนื่อย”

 

มีประเด็นอะไรที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดและอยากจะชี้แจงบ้างไหม

 

“มีค่ะ คือประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง เช เกวารา และ ฟิเดล คาสโตร สื่อต่างๆ มักมองว่าท่านทั้งสองคนดูจะไม่ลงรอยกันเท่าไร ซึ่งฉันคิดว่า มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระที่สุดในศตวรรษนี้ สำหรับฉัน คุณลุงฟิเดลเหมือนเป็นคุณพ่ออีกคนหนึ่ง เป็นผู้ชายที่ยอดเยี่ยมและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ท่านทำให้เรารู้สึกว่าคุณพ่อยังอยู่ตรงนี้กับพวกเราเสมอ ไม่ได้จากเราไปไหน”

 

อยากฝากอะไรถึงชาวไทยที่ยังคงยึดถือเชเป็นแบบอย่าง

 

“ถ้าชื่นชมในตัวเช ไม่อยากให้มองเชเป็นแค่แบบอย่างในอุดมคติ แต่พยายามนำสิ่งที่เชหลงเหลือไว้มาขบคิด มาปรับใช้ ถ้าเป็นเช เชจะเลือกคิดและตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้ นำเชมาอยู่ในชีวิตจริง และให้เขาดำเนินชีวิตในแต่ละวันไปพร้อมๆ กันกับเรา”

 

 

 

ขอ 3 คำให้กับผู้ชายชื่อเช

 

“3 คำที่จะบ่งบอกถึงตัวเชได้มากที่สุดคงเป็น ความมีศักดิ์ศรี ความกล้าหาญ และความรัก”

 

สุดท้ายนี้ ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่ออีกสักครั้ง อยากจะบอกอะไรกับเขา

 

“พวกเรารักคุณพ่อมากๆ นะคะ”

 

บทสนทนาระหว่างเราทั้งคู่จบลงแล้ว สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตลอดการพูดคุยนั้นคือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความรักที่บริสุทธิ์ที่อาเลย์ดามีให้ต่อ เช เกวารา และประเทศบ้านเกิดของเธอ

 

เราหวังว่าเรื่องราวของเชที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือของภรรยาที่เขารัก รวมถึงคำบอกเล่าจากปากลูกสาวคนโตในงานเขียนชิ้นนี้ จะทำให้ภาพของชายผู้เป็นตำนานผู้นี้อบอวลอยู่ในห้วงความทรงจำของใครหลายคนราวกับได้มีชีวิตโลดแล่นอีกครั้ง

 

Hasta la victoria siempre! (จนกว่าจะชนะตลอดไป)

– เช เกวารา (1928-1967)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X