หากมองออกไปที่ท้องถนน คุณจะสร้างสรรค์ไอเดียอะไรที่มีโอกาสทำให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับพี่น้องตระกูล Freitag พวกเขามองเห็นผ้าคลุมรถบรรทุกเก่าที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นกระเป๋าเมสเซนเจอร์สุดเท่
จนปัจจุบันผ่านมา 25 ปี มีสินค้าวางขายมากมาย เปิดสาขาหลายประเทศ อยู่เหนือทุกกระแสแฟชั่นที่ผ่านไปมาอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
เคน นครินทร์ สรุป 4 เคล็ดลับความสำเร็จของแบรนด์ Freitag จากการได้พูดคุยกับ มาร์คัส ฟรายถาก (Markus Freitag) ผู้ร่วมก่อตั้ง ในพอดแคสต์ The Secret Sauce
1. เรื่องเล่าอันทรงพลัง
เรื่องเล่าที่มาของ Freitag เป็นสิ่งแรกๆ ที่ทำให้แฟนคลับจดจำแบรนด์นี้ จากผ้าคลุมรถบรรทุกเก่าๆ สู่กระเป๋าเมสเซนเจอร์สุดเท่ คุณมาร์คัสเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Narrative Oriented Philosophy’ หรือปรัชญาที่อ้างอิงจากเรื่องเล่าเป็นหลัก
จุดนี้คือเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้คนรัก Freitag มากกว่าแค่กระเป๋า และจะรักต่อไปอย่างไม่มีวันหมดอายุ เพราะแรงบันดาลใจที่ส่งต่อไปถึงผู้คน เริ่มต้นจากเรื่องเล่าของคนธรรมดาที่สร้างของที่ดูไม่ค่อยมีคุณค่า ให้กลับมาเกิดประโยชน์สูงสุด แถมยังเป็นที่ยอมรับแบบถล่มทลายและกระจายออกไปทั่วโลก
คุณมาร์คัสกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของเขาคือ การทำให้อุตสาหกรรมทุกรูปแบบหันกลับมาคิดใหม่อีกครั้งว่าสิ่งที่กำลังจะทำส่งผลกระทบอย่างไรกับสังคมทุกวันนี้ นี่คือผลกระทบที่สวยงามที่สุดที่ Freitag สร้างไว้ให้กับโลกของเรา
2. ขายวิธีคิดมากกว่าสินค้า และเป็นวิธีคิดที่โลกต้องการ
เหตุผลที่คนเลือกใช้กระเป๋า Freitag เพราะมันเป็นสินค้าที่ผ่านวิธีคิดเพื่อความยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดสำคัญสำหรับทางออกของโลกในอนาคต
“มีนักข่าวบางคนเคยกล่าวว่า Freitag คงไปได้ไม่ไกลเท่าไร คงเป็นแค่กระเป๋าที่มีดีไซน์สวยๆ เท่ๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักข่าวอีกคนแย้งขึ้นมาว่า นั่นไม่ใช่ความจริง เพราะแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่คนต้องการในทุกช่วงเวลา ต่างจากแบรนด์แฟชั่นที่มีโอกาสมาเร็วไปเร็ว”
จากคำพูดคล้ายสบประมาทในวันนั้น Freitag พิสูจน์ตัวเองมาตลอด 25 ปี คุณมาร์คัสยังคงภูมิใจเสมอที่กระเป๋าของเขามีคนถามถึงตลอด และอยู่ในจุดยืนที่ดี เขาปิดท้ายเรื่องนี้ไว้อย่างมั่นใจด้วยว่า “ในอีก 25 ปีข้างหน้า Freitag ก็ยังคงเป็นเช่นนี้ จะไม่มีวันน่าเบื่อแน่นอน”
https://www.instagram.com/p/BhyaFbejBiN/?taken-by=freitaglab
3. คิด Prototype ใหม่เสมอ
คุณมาร์คัสแนะนำให้คนที่อยากทำธุรกิจเริ่มต้นจากการลงมือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละสเตป เขาให้ความสำคัญกับการทำต้นแบบ (Prototype) ออกมาทดลองตลาด ลองขายสินค้ากับคนใกล้ตัว ก่อนใช้เงินไปกับการลงทุนมหาศาล
ขั้นต่อมา หากทำแล้วเวิร์ก รู้ว่ามีคนรอซื้อสินค้าหรือใช้บริการเราอยู่ ก็ยังไม่สายที่จะขยายธุรกิจ สำคัญที่สุด ขอแค่ต้องเริ่มทำ เพราะการคิดแล้วไม่ลงมือทำ มีค่าเท่ากับยังไม่ได้คิด อย่ากลัวที่จะโดนก๊อบปี้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะคู่แข่งเองก็ต้องเจอความยากลำบากเช่นกัน
ท้ายสุด เขาแนะนำว่าให้ลองมองหาไอเดียจากปัญหา ที่ใดมีปัญหาที่นั่นมีธุรกิจให้ทำ สวรรค์อาจเป็นที่น่าอยู่ แต่มันไม่มีอะไรให้ทำ เพราะที่นั่นไม่มีปัญหา ตรงกันข้าม หากยังมองไม่เห็นปัญหา นั่นอาจแปลว่ากำลังขาดแรงบันดาลใจ ฉะนั้นลองเริ่มจากปัญหาใกล้ตัวที่เจอกับตัวเอง เช่นเดียวกับคุณมาร์คัสที่ไม่มีกระเป๋าเหมาะสำหรับนักปั่นจักรยาน จึงคิด Freitag มาได้ในที่สุด
https://www.instagram.com/p/BI63OwgDyzl/?taken-by=freitaglab
https://www.instagram.com/p/BngEvUyj3SF/?taken-by=freitaglab
4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Holacracy
Holacracy คือระบบที่อยู่ตรงข้ามกับการลำดับอำนาจในออฟฟิศแบบขั้นบันได แต่เปลี่ยนลำดับเป็นแบบวงกลมแทน การสั่งการในระบบนี้จะไม่ใช่การกระจายคำสั่งจากหัวหน้าลงมาสู่ลูกน้อง แต่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน ไม่มีตำแหน่งไหนสูงเป็นพิเศษ ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ชื่อตำแหน่งของพนักงานใน Freitag จะเจาะจงในสิ่งที่คนคนนั้นต้องทำจริงๆ ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งกว้างๆ เหมือนบริษัททั่วไป และเมื่อไรที่พวกเขารู้สึกไม่โอเคกับตำแหน่งที่ทำอยู่ ก็สามารถขอเปลี่ยนความรับผิดชอบไปทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าทำได้ดีกว่าทันที
สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้องค์กร Freitag เติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพ และกระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่มาตอบโจทย์ให้คนรักแบรนด์ต่อไปอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีวันหมดอายุอย่างแน่นอน
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guest Markus Freitag
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Photographer นวลตา วงศ์เจริญ
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์