สิ่งหนึ่งที่มนุษย์พยายามค้นหาคำตอบเสมอมานั่นคือ ความฝัน ซึ่งถูกตีความไปทางหวยเบอร์บ้าง เป็นเรื่องในจินตนาการบ้าง และขณะเดียวกันความฝันก็ถูกใช้เป็นเครื่องบ่งบอกความต้องการลึกๆ ภายในจิตใจ
R U OK เอพิโสดนี้ไม่ได้มาชวนแทงหวย แต่จะมาช่วยหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วความฝันกับจิตวิทยาเกี่ยวข้องกันไหม ฝันยอดฮิตต่างๆ กำลังบอกความรู้สึกลึกๆ อะไร แล้วถ้าฝันร้าย ฝันเรื่องเดิมซ้ำๆ ถ้าไปหาหมอจะเกินไปหรือเปล่า
ความฝันกับจิตวิทยาเกี่ยวข้องกันไหม
ความฝัน คือสิ่งที่ถูกเอาไปผูกโยงกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มักผูกเรื่องความฝันกับเรื่องของหวยด้วยมิติของความเชื่อ ผูกความฝันเข้ากับการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตด้วยมิติของโหราศาสตร์ แต่มิติที่ยอมรับกันเป็นสากลคือเชื่อมโยงความฝันกับจิตวิทยา
เนื่องจากขณะที่หลับ เราจะเหมือนคนที่ถอดเกราะป้องกันต่างๆ ออก ปล่อยให้ร่างกายวางอยู่ อะไรที่มันเคยฝังอยู่ในความทรงจำของร่างกายหรือในร่องรอยความรู้สึกนึกคิดแล้วไม่เคยใส่ใจ ไม่ได้ถูกแก้ให้ลุล่วง หรือเป็นเรื่องราวที่ยังติดค้างก็จะออกมาโลดแล่น ความฝันกับหลักการทางจิตวิทยาเลยเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ความคิดเหล่านั้นจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาหรืออยู่ในรูปแบบของสัญลักษณ์ก็ได้ เพราะสัญลักษณ์เหล่านั้นไม่ได้ผ่านความคิดคัดกรองด้วยตรรกะแบบเดียวกับที่เราตื่นอยู่ มันจึงนามธรรม ไร้รูปร่าง และไร้หลักการใดๆ
ความฝันกับทฤษฎีทางจิตวิทยา
- ทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์
มีทฤษฎีของนักคิดนักจิตวิทยาหลายสำนักซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นลำดับ แต่ทฤษฎีแรกๆ ที่พูดถึงความฝันคือทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่กล่าวว่า ความฝันอาจเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่ความฝันคือแรงปรารถนา ความวิตกทุกข์ร้อน ความกลัว ที่ถูกเก็บกดอยู่ในจิตไร้สำนึก (Unconscious) หรือเป็นความพยายามแก้ปัญหาซึ่งยังไม่สามารถลุล่วงในตอนกลางวัน จึงเกิดความไม่สบายใจจึงแสดงออกในช่วงเวลาที่นอนหลับ เพราะต้องการระบายความรู้สึกวิตกกังวลนั้นออกมา นอกจากนี้แล้วฟรอยด์ยังเชื่อว่าความฝันยังเป็นเครื่องหมายที่แสดงออกถึงความต้องการทางเพศที่กดไว้ตั้งแต่เด็กๆ อีกด้วย
- ทฤษฎีของคาร์ล ยุง
คาร์ล ยุง เป็นนักจิตวิทยาที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากซิกมันด์ ฟรอยด์ อีกทีหนึ่ง โดยยุงได้พูดถึงทฤษฎีความฝันไว้อย่างละเอียดลออ โดยรวมคือมีความคิดคล้ายกับฟรอยด์ว่าความฝันคือการชดเชยทางอารมณ์ บอกกล่าวสิ่งที่ตัวเองปรารถนาแล้วยังไม่สำเร็จแต่ไม่เกี่ยวกับแรงขับทางเพศเช่นเดียวกับที่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้
นอกจากนี้แล้วยุงยังเสนอทฤษฎีของสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในความฝัน ที่ไม่ว่าจะเป็นคน เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อใดก็ตามก็มักมีสัญลักษณ์ที่กล่าวถึงทั้ง 7 ความต้องการต่อไปนี้ปรากฏอยู่ในความฝันเสมอ ได้แก่ ตัวตนสาธารณะ คือตัวตนที่เราสร้างขึ้นต่อหน้าสาธารณะและให้คนทั่วไปได้รับรู้ในขณะที่เราตื่น เงา ตัวตนที่เราปฏิเสธหรือกักเก็บเอาไว้และไม่ต้องการให้คนทั่วไปเห็น อาจเพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเกลียดและไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ทั่วไป ความเป็นอีกเพศที่แฝงอยู่ ยุงเชื่อว่าเรามีลักษณะของเพศตรงข้ามอยู่ในตัว ซึ่งเมื่ออยู่ในความฝัน เราสามารถกลับกลายเป็นอีกเพศหนึ่ง หรือผสมกลมกลืนคุณลักษณะของทั้ง 2 เพศเข้าด้วยกันได้ เด็กน้อยผู้สูงส่ง ตัวตนที่เดียงสาที่สุดของเรา อาจอยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เปราะบาง และแสดงความปรารถนาอย่างเต็มเปี่ยม คนชราฉลาด คนที่ประคับประคองเราไปในทางที่ถูกต้อง แม่ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจหมายถึงการยืนยันในสิ่งที่เราคิดจนไปถึงความยั่วยวน การครอบครอง หรือความตาย และนักมายากล ที่อาจมาในรูปร่างแตกต่างกันไป แต่จะปรากฏตัวเมื่อเราตัดสินใจผิด
จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงความฝันแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ทฤษฎีจิตวิทยาทางความฝันต่างๆ ก็ถูกปรับให้สอดคล้องและเหมาะสมตามไปด้วย แต่แนวคิดของฟรอยด์และยุงก็มักถูกกล่าวถึงเมื่อพูดถึงความฝันอยู่เสมอ
นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจะช่วยตีความความฝันได้ไหม
แม้ว่าจะมีแนวคิดจิตวิทยาต่างๆ มากมายรองรับความฝัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะสามารถตีความความฝันของเราได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองกับนักจิตวิทยามีรายละเอียดแตกต่างกัน การที่คนใดคนหนึ่งฝันถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจแปลความออกมาไม่เหมือนกันก็ได้
นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญในการตีความจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกจึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชวนคุย เพื่อให้เราเล่าประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ความต้องการต่างๆ ในระยะสั้น หรือไกลไปถึงเป้าหมายหลักในชีวิต โดยที่เขาเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นไฟฉายนำทาง ขุดทางต่างๆ ให้เราเชื่อมโยงประสบการณ์ในโลกความจริงกับสัญลักษณ์ในความฝันให้มาเจอกันและแปลความหมายนั้นได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราเองจะต้องเป็นคนเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเองเพราะเป็นคนที่รู้ความต้องการ ปัญหา และเป็นคลังข้อมูลที่ดีที่สุด
ฝันแบบนี้หมายความว่าอะไร
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสถานการณ์หรือสัญลักษณ์ในความฝันเป็นเรื่องต้องเชื่อมโยงและตีความต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เราเองในฐานะที่เป็นเจ้าของความฝันและความต้องการจึงต้องเป็นผู้เชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง แต่เรามักพบว่ามีบางความฝันที่เมื่อเล่าให้คนอื่นฟังก็จะมีเรื่องคล้ายๆ กัน พอดแคสต์ R U OK รวบรวมความฝันเหล่านั้นมาให้ พร้อมบอกความเป็นไปได้เผื่อใครจะลองเชื่อมโยงความฝันกับความต้องการของตัวเองดู
- ฝันว่ากำลังโดนไล่ล่า
หลายคนเคยฝันว่ากำลังวิ่งหนีอะไรสักอย่างที่น่ากลัว แถมการวิ่งในฝันก็หนืดยกขาเท่าไรก็หนีไม่ได้เสียที อาจลองเชื่อมโยงดูว่าเรากำลังเจอเหตุการณ์ที่รับมือไม่ได้หรือยังไม่รู้วิธีที่จะจัดการให้ลุล่วงอยู่หรือเปล่า เราอาจอยากหนีสถานการณ์นั้นเพราะไม่รู้จะดีลกับมันอย่างไร
- ฝันว่าฟันหลุด
ถ้าพูดถึงมิติความเชื่อหลายคนอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่าถ้าฝันว่าฟันหลุดจะเสียญาติผู้ใหญ่ แต่ในทางจิตวิทยาอาจลองเชื่อมโยงว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับคนหรือสถานการณ์ที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจอยู่หรือเปล่า
- ฝันว่าหาห้องน้ำไม่เจอ
อาจไม่กล้าบอกความต้องการของตัวเองเพราะสถานการณ์ที่ที่เผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันกดดันจนเกินไป
- ฝันว่าเปลือยในที่สาธารณะ
ในเชิงจิตวิทยาเสื้อผ้าคือสิ่งที่เรา ‘เลือก’ สวมใส่เพื่อสะท้อนตัวตนให้คนอื่นเห็น การที่เราเปลือยหรือไม่มีสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของเราให้คนอื่นเห็นเลย อาจเชื่อมโยงได้ว่ากำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่เปราะบางทางความรู้สึก
- ฝันว่าบินได้
คนที่เคยฝันแบบนี้อาจจำได้ว่าตัวเองมีอิสระเสรีและอยู่เหนือการควบคุมทุกอย่าง อาจเชื่อมโยงได้ว่าเราได้หลุดจากภาวะตึงเครียด หรืออะไรบางอย่างที่ค้างคาในใจถูกแก้ได้สำเร็จ
ฝันร้ายบอกถึงอะไร
นอกจากฝันยอดฮิตข้างต้น บางคนมักฝันร้ายซ้ำๆ หรือฝันถึงเหตุการณ์ สถานที่เดิมบ่อยๆ แถมบางครั้งก็ฝันต่อจากที่ค้างไว้ เราไม่สามารถฟันธงได้ในทันทีว่าคนที่ฝันแบบนี้กำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์อะไร แต่ค่อนข้างแน่นอนว่ามีภาวะบางอย่างที่ยังไม่คลี่คลาย หรือมีปัญหาบางอย่างที่แวะเวียนมาบ่อยๆ และยังไม่สามารถจัดการได้ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่มองข้าม เลยมาแสดงออกในความฝันเพื่อให้มองเห็นมัน ไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่ให้ลองคิดว่ามันกำลังเป็นเมสเสจจากความต้องการภายในของเรา
แม้ว่าความฝันจะมีเราผู้เป็นเจ้าของ แต่บางครั้งการเชื่อมโยงในสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ อาจเป็นเรื่องเกินมือของเรา การพบนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาก็ไม่ใช่ทางออกที่เกินความจำเป็นเท่าไรนัก เพราะผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะช่วยเราในการเดินทางเข้าไปข้างในตัวเอง
ทุกอย่างที่เกิดในตัวเราไม่ว่าอะไร ถ้าอยากจะเข้าใจเราจะเข้าใจ เพราะมันล้วนมีที่มาที่ไปเสมอ
สำหรับบางคนที่ไม่ได้อยากเข้าใจความฝัน แต่ฝันร้ายบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ปกติ ให้ลองพิจารณาดูว่า ในชีวิตประจำวันมีความวิตกกังวลถึงความฝันนั้นอยู่หรือเปล่า ส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัว หรือเริ่มไม่มีสมาธิทำงานเพราะคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ฝัน ก็สามารถคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยที่เราไม่ได้ป่วยแต่อย่างใด แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music Westonemusic.com