ถ้าสังเกตคนรอบตัวจะพบว่ามีเพื่อนบางคนที่เซนสิทีฟ และร้องไห้ง่ายเป็นพิเศษ บางครั้งอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ทั้งเสียงที่ดัง แสงที่จ้าจนชวนสงสัยว่าเขาเป็นอะไร
R U OK เอพิโสดนี้จึงชวนมาทำความเข้าใจคนอ่อนไหวว่าที่เป็นแบบนี้ป่วยไหม มีวิธีการสังเกตตัวเองอย่างไร และถ้าเซนสิทีฟจนซึมซับบรรยากาศรอบข้างได้ง่ายๆ จะสร้างเกราะให้ความรู้สึกตัวเองอย่างไรให้ใจแข็งแรง
เมื่อน้ำตาที่ไหลไม่ใช่ความอ่อนแอแต่เป็นที่บุคลิกภาพ
หลายครั้งที่มองไปยังคนรอบตัวหรือบางคนเมื่อมองมาที่ตัวเองจะพบว่า ขณะที่ดูอะไรซาบซึ้งหรือโศกเศร้า น้ำตาก็ไหลออกมาได้ง่ายๆ แค่คลิปเด็กหัดพูด สุนัขเจอเจ้าของ นักร้องที่ชอบ
บางคนอาจรู้สึกว่าน้ำตาคือสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ จัดการตัวเองไม่ได้และไม่เป็นผู้ใหญ่ แต่ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าน้ำตาไม่ใช่สัญลักษณ์ของความไม่โอเคเสมอไป คนบางคนที่ร้องไห้เพราะอินกับเรื่องรอบตัวนั้นเป็นเรื่อง ‘Born To Be’ และเป็นที่บุคลิกภาพแบบหนึ่งที่เรียกว่า Highly Sensitive Person (HSP) มาค่อยๆ ทำความรู้จัก เพราะบางครั้งคนคนนั้นอาจเป็นคนในครอบครัว เป็นเพื่อน หรือแม้แต่ตัวเรา จะได้เข้าใจเวลาที่เขาร้องไห้ไม่ว่าจะซึ้ง เศร้า เครียด โกรธ กดดัน เพราะบุคลิกภาพที่ไม่ใช่โรคต้องรักษาแต่อย่างใด
บุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person
Highly Sensitive Person หรือ HSP เป็นบุคลิกภาพของคนที่อ่อนไหวต่อสิ่งรอบข้างได้ไวและมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ ซึ่งมีจุดสังเกตหลายพฤติกรรมประกอบกัน ได้แก่
1. ไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หรือมีคนเยอะ เพราะรู้สึกว่ามันวุ่นวาย มีอะไรยุ่บยั่บผ่านหูผ่านตาเกินกว่าจะรับไหว บางคนไม่ชอบห้องที่มีไฟสีขาวของหลอดฟลูออเรสเซนต์เพราะรู้สึกว่าแสงมันจ้าฉ่างตา แต่ชอบอยู่ในห้องที่มีไฟส้มให้ความรู้สึกอุ่นๆ แทน และสำหรับบางคนจะ ไม่ชอบเสื้อผ้าที่มีความระคายเคือง แค่ป้ายยี่ห้อที่ติดอยู่ตรงคอหรือตะเข็บก็จะรู้สึกไม่สบายตัวเพราะมีอะไรเกี่ยวอยู่ตลอดเวลา
2. ได้กลิ่นเร็วกว่าคนอื่น เช่น เมื่อเดินเข้าไปในห้องที่ปิดทึบ บางคนจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะสัมผัสกลิ่นอับได้อย่างทันที และจะรู้สึกว่ากลิ่นแรงมากกว่าที่คนอื่นๆ รู้สึกด้วย
3. ไม่ชอบดูหนังแอ็กชัน หรือหนังฆาตกรรม เพราะจะมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครอย่างหาสาเหตุไม่ได้ บางครั้งดูฉากไล่ล่าก็รู้สึกเหนื่อยหอบเหมือนตัวเองเพิ่งไปแสดงฉากนั้นมา หรือบางครั้งที่ตัวละครโดนฆ่า ตัดแขนตัดขาก็จะเกิดความเจ็บขึ้นที่ตัวเราราวกับว่ารับรู้อารมณ์นั้นๆ ไปด้วย
4. ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉากในหนัง แต่ในชีวิตจริง คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะซึมซับความรู้สึกของคนรอบข้างได้ไวและมากเป็นพิเศษ บางครั้งที่เพื่อนทุกข์ใจอะไรมา คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะสัมผัสได้เป็นคนแรกๆ และเมื่อเพื่อนมาปรึกษา เราก็จะรับรู้ความรู้สึกนั้นเหมือนถอดความทุกข์จากเพื่อนมาใส่ตัวเรา
5. เมื่อประสาทสัมผัสและการรับรู้ความรู้สึกไว คนกลุ่มนี้จึงชอบใช้ประสาทสัมผัสตัวเองเป็นพิเศษ เช่น การชิมอาหารอร่อยๆ ที่คนอื่นจะแยกไม่ออกว่าแตกต่างกันอย่างไร ชอบดมกลิ่นพิเศษที่ดูคล้ายกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่มีเพียงเราจะบอกได้ ชอบฟังเพลงแล้วสังเกตรายละเอียดของดนตรีพอๆ กับชอบอ่านวรรณกรรมดีๆ ที่มีความลึกซึ้งของตัวละครและศิลปะการใช้ภาษา และสำหรับบางคนก็ชอบหมกมุ่นในงานศิลปะ คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จึงดูศิลปิน หรือที่เรียกว่า ‘ดูติสต์’
6. คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ ชอบมีเวลาส่วนตัว โดยพยายามหาเวลานี้ให้ได้ในตารางแต่ละวัน อาจเป็นเวลาก่อนนอน เพราะรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่สงบสุขและเราได้เป็นเจ้าของเวลานี้อย่างแท้จริง หลังจากเหน็ดเหนื่อยเพราะเสียพลังงานในการพบปะผู้คนมาทั้งวัน
7. คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะมี โลกส่วนตัวสูง มีรายละเอียดที่บางครั้งเป็นกฎส่วนตัวในชีวิตมากกว่าคนทั่วไป จึงกลายเป็นคนดูเรื่องมากกว่าคนอื่น แต่บางครั้งก็ห้ามตัวเองไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น และในขณะเดียวกันก็จะเป็นคนคิดมากหากมีใครแสดงพฤติกรรมอะไรต่อตนเอง
8. ในด้านอารมณ์ จะดูเป็นคนที่มีอารมณ์ศิลปิน อ่อนไหวง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป เพราะเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ การร้องไห้หรือการแสดงอารมณ์ต่างๆ บางครั้งจึงเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ซึ่งบุคลิกแบบนี้จะเป็นมาตั้งแต่เด็ก และอาจเจือจางลงบ้างตามวุฒิภาวะ แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้จนเป็น ‘คาแรกเตอร์’ ของคนคนนั้น
เมื่อดูภาพรวมคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะดูเป็นคนเรื่องมาก อารมณ์ศิลปิน เยอะสิ่งจนหลายคนรู้สึกว่าเว่อร์ แต่อยากให้เข้าใจว่าที่เขาแสดงออกเพราะเขารู้สึกล้นอยู่ข้างในจริงๆ
ไม่ใช่เรื่องเสแสร้งแกล้งทำแต่อย่างใด บางครั้งเขาร้องไห้ออกมาเพราะข้างในมันรู้สึกมากมายอย่างที่คนอื่นไม่รู้สึก รู้สึกเจ็บที่หน้าอกเพราะดูหนังแล้วตัวละครในจอโดนแทงตรงนั้น รู้สึกอยากเดินหนีกลับบ้านเพราะรู้สึกว่าที่ตลาดนัดแห่งนี้มันจอแจ เพราะประสาทสัมผัสทำงานเยอะเกินไป
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาของคนที่มีบุคลิกภาพเซนซีทีฟ เพราะเขามักสงสัยว่าทำไมคนอื่นถึงไม่รู้สึกอย่างที่รู้สึก และเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยเข้าก็อาจเกิดคำถามกับตัวเองว่า หรือเป็นเราที่รู้สึกอยู่คนเดียว ความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงไหม เราผิดปกติอะไรหรือเปล่า ทำให้ท้ายที่สุดบางคนเกิดความรู้สึกแปลกแยกเพราะรู้สึกมากกว่าคนทั่วไป
ฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจตัวเองว่าการมีบุคลิกภาพแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และในขณะเดียวกันคนรอบข้างก็ควรสังเกตเพื่อน ว่าเขากำลังรู้สึกอะไร หรือถ้าอยู่ในฐานะที่พอจะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้ ก็ควรสอบถามเพื่อให้อีกฝ่ายอธิบายความรู้สึกที่มันกำลังล้นอยู่ ก็ช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น
คำแนะนำสำหรับคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person
1. ปรับสภาพแวดล้อม
หลังจากสังเกตรู้แล้วว่าตัวเองเข้าข่ายการมีบุคลิกภาพ Highly Sensitive Person ก็สามารถปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้เข้ากับตัวเองได้ เช่น เปลี่ยนไฟในห้องนอนเป็นสีอย่างที่ชอบ เลือกเครื่องนอนที่ทำให้ตัวเองหลับสบาย คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้การพักผ่อนเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะจะต้องเสียพลังกับการรับมือกับสภาพแวดล้อมสูงกว่าคนอื่น เปลี่ยนเสื้อผ้าให้นิ่มสบาย หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ สร้างบรรยากาศที่บ้านหรือที่ทำงานให้พอใจและสงบสุข
แต่ขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ว่าการปรับสภาพแวดล้อมก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ทุกครั้ง เราจึงควรรู้ตัวและหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในภาวะเสี่ยงนั้น เช่น หลีกเลี่ยงการดูหนังแอ็กชันที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ไม่ไปในที่ที่มีคนเยอะๆ ทั้งตลาดนัดหรือสถานที่เที่ยวกลางคืน หรือบางครั้งที่ต้องอยู่ในห้องประชุมที่สว่างจ้ามากๆ แล้วรู้สึกหมดพลัง ก็ให้ออกมาพักเป็นระยะถ้าสามารถทำได้
2. วางแผนชีวิตล่วงหน้า
ด้วยการลงตารางว่าแต่ละวันจะเจอใครหรือทำอะไรก่อนหลัง จะทำให้เราเห็นภาพรวมชีวิตและลดการกดดันได้ เพราะคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะรู้สึกเครียดและกดดันง่ายกว่าคนทั่วไปเลยแสดงออกด้วยการร้องไห้ และทำให้ดูเหมือนเป็นคนอ่อนแอ การวางแผนล่วงหน้าทำให้เรารับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
3. หาเกราะป้องกันหรือฟิลเตอร์ให้ตัวเอง
เพราะด้วยความที่รู้สึกเยอะและไว คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จึงมีเพื่อนมาปรึกษามากเป็นพิเศษเพราะดูเป็นคนที่ดูเข้าอกเข้าใจคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ซึมซับความรู้สึกจากคนอื่นได้ง่ายด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือการหาเกราะกำบังความทุกข์หรือฟิลเตอร์กรองความทุกข์นั้นออกไปจากตัวก่อนที่ความทุกข์ของเพื่อนจะถูกถ่ายโอนมายังเรา
เกราะกำแพงนั้นเราสามารถนึกภาพว่าตัวเองอยู่ในวัตถุสักชิ้นที่ปิดทับ มีลักษณะ รูปทรง และสีอย่างที่เราต้องการ เมื่อเพื่อนมาขอคำปรึกษาเราก็อาศัยอยู่ในวัตถุนั้นโดยความทุกข์ที่ส่งมาจะติดอยู่แค่ภายนอก ไม่สามารถเข้ามาถึงเราได้ หรืออาจลองนึกถึงตะกร้าแชร์บอลที่เราเอามาวางไว้บนตัก ความทุกข์ของเพื่อนเหมือนลูกบอลที่โยนลงมาในตะกร้า เราเห็นและรับรู้ถึงน้ำหนักแต่ไม่ได้เข้ามาถึงตัว และเมื่อคุยกันเสร็จเราก็วางตะกร้านั้นลง
การสร้างภาพ (Visualization) ด้วยตะกร้าแชร์บอลหรือการอยู่ในวัตถุ อาจไม่ได้ผลเสมอไป แต่ละคนจะต้องหาสร้างเกราะกำบังให้กับตัวเองด้วยวิธีที่ต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นของคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้เพื่อไม่ให้ความรู้สึกที่มากมายอยู่แล้วนั้นล้นจนเกินไป
4. หาเพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนเรื่องที่เราสนใจ
เนื่องจากบุคลิกภาพแบบนี้มักจะสนใจในศิลปะด้านต่างๆ การหาเพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนความสนใจในเรื่องเดียวกันได้ อาจเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น เพื่อนที่ชอบดูหนังแล้วสังเกตพฤติกรรมของตัวละคร เพื่อนที่ถ่ายรูปกล้องฟิล์มเพราะเข้าใจว่าภาพมันมีกลิ่นและความรู้สึก เพื่อนที่อ่านวรรณกรรมดีๆ เพราะสนใจการเลือกใช้คำ การมีเพื่อนกลุ่มนี้บ้างจะทำให้เราไม่รู้สึกเดียวดายมากเกินไปนัก
สิ่งสำคัญที่สุดของการมีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person คือการยอมรับและรู้จักตัวเอง รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรือน่าอาย ไม่ต้องเครียดหรือคิดว่าผิดปกติ แต่หากรู้สึกว่าพฤติกรรมบางอย่างเช่น การร้องไห้ หรือความเครียดที่ต้องรับมือกับชีวิตประจำวันที่มากเกินไป การขอความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำให้เรามองเห็นวิธีการรับมือใหม่ๆ ในชีวิตก็สามารถทำได้เช่นกัน
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com