เคยสงสัยไหม ทั้งที่ดูแลตัวเองอย่างดี ดื่มน้ำก็เยอะ ผักก็กินไม่ขาด แต่ปัญหาท้องผูกก็ยังกวนใจไม่หาย แถมยังทำให้ตัวบวมและสิวบุกอีก นั่นเพราะคำตอบที่แท้จริงไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำและไฟเบอร์ แต่ซ่อนอยู่ใน ‘Gut Microbiome’ หรือสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้กับไลฟ์สไตล์โดยรวมของเรา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพองค์รวมของเราอย่างคาดไม่ถึง
การจะฟื้นฟูสมดุลลำไส้ให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราต้องทำความเข้าใจการทำงานร่วมกันของแก๊ง 3 เพื่อนซี้ในท้องของเราก่อน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘Pro-Pre-Postbiotics’
- โพรไบโอติก (Probiotics)
กองทัพจุลินทรีย์ดีที่เป็นหัวใจหลักในการรักษาสมดุลของลำไส้ของเรา ดูแลระบบการย่อยของอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง เราสามารถเพิ่มจำนวนโพรไบโอติกได้จากการกินอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต, กิมจิ, นัตโตะ หรือคอมบูชา เป็นต้น
- พรีไบโอติก (Prebiotics)
ใยอาหารชนิดพิเศษซึ่งเป็นแหล่งพลังงานและอาหารชั้นเลิศของโพรไบโอติกที่จะช่วยให้มันแข็งแกร่ง เติบโต และทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ แหล่งอาหารตามธรรมชาติของพรีไบโอติก ได้แก่ หัวหอม, กระเทียม, ข้าวโอ๊ต, กล้วย และอะโวคาโด
- โพสต์ไบโอติก (Postbiotics)
สิ่งนี้คือ ผลผลิตที่จุลินทรีย์ตัวดีสร้างไว้ให้เรานั่นเอง สารเหล่านี้จะช่วยให้ผนังลำไส้แข็งแรง ลดการอักเสบ ถือเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่เราต้องการเพื่อสุขภาวะที่ดีของลำไส้ เรียกว่า ร่างกายจะสร้างโพสต์ไบโอติกขึ้นเองเมื่อมีองค์ประกอบสองอย่างแรกอย่างสมบูรณ์
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว สิ่งที่เราควรโฟกัสเป็นอันดับแรกคือเรื่อง ‘อาหาร’ เน้นกินผักให้หลากสี ลดอาหารแปรรูปและของหวาน เพราะอาหารเหล่านี้คืออาหารของจุลินทรีย์ตัวร้าย ใช่แล้ว! ร่างกายเรามีจุลินทรีย์ตัวร้ายซุกซ่อนอยู่ด้วยนะ
โดยปกติจุลินทรีย์ตัวร้ายจะอาศัยอยู่ในร่างกายเราในปริมาณที่น้อยและไม่ได้สร้างปัญหาอะไรนัก หากถูกควบคุมโดยจุลินทรีย์ตัวดี แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายเราเสียสมดุล เช่น การกินอาหารแปรรูปหรือน้ำตาลสูง, ความเครียดสะสม หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งที่จะตามมาคืออาการอักเสบที่จะทำให้ระบบในร่างกายรวนจนส่งผลกระทบต่อลำไส้ ภูมิคุ้มกัน ผิวพรรณ ไปจนถึงการทำงานของสมองและอารมณ์
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจึงไม่ใช่แค่การดื่มน้ำหรือกินผักเพิ่ม แต่คือการปรับวิถีชีวิตแบบองค์รวม ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นพืชผักหลากสี ดื่มน้ำให้เพียงพอ นอนหลับอย่างมีคุณภาพ บริหารจัดการกับความเครียด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ท้ายที่สุดแล้ว การดูแลสมดุลของ Gut Microbiome ก็เปรียบเสมือนการดูแลระบบนิเวศภายในร่างกาย ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาท้องผูก แต่เพื่อสร้างรากฐานของสุขภาพองค์รวมที่แข็งแรงและยั่งยืน
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง:
- https://thestandard.co/life/anti-aging-tips
- https://www.biomedtechth.com/%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3/
- https://health.clevelandclinic.org/prebiotics-vs-probiotics-whats-the-difference
- https://www.healthline.com/health/eczema/how-does-the-gut-skin-axis-affect-eczema
- https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/tips-bowel-health