“ไวน์ขวดนี้รสชาติดีเวอร์ ซื้อกลับไทยดีกว่า!”
ประโยคสนทนานี้อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณกำลังดวลไวน์กับเพื่อนซี้ระหว่างอาหารมื้อเย็นท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามของสะพานฮาร์เบอร์ในซิดนีย์ ไร่ไวน์ในบารอสซา หรืออาจจะเป็นมุมเมืองอื่นๆ ในโลกใบนี้ที่คราคร่ำไปด้วยไวน์รสชาติเยี่ยม ซึ่งรสชาติที่ว่านั้นไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นในความทรงจำของคุณขณะท่องเที่ยวอยู่ก็ย่อมได้
ดังนั้นการ ‘หิ้ว’ ไวน์รสชาติเด็ดจากต่างแดนกลับมาบ้านถือเป็นเรื่องที่คอไวน์น่าจะต้องเคยทำกันอยู่บ้าง แต่คำถามคือเราจะพาไวน์ที่เรารักกลับบ้านมาอย่างปลอดภัย ไม่แตก ไม่พังระหว่างทางได้อย่างไรล่ะ
THE STANDARD รวมข้อมูลและวิธีการแพ็กไวน์กลับบ้านอย่างมืออาชีพมาให้คุณได้รู้ไว้ เพื่อไวน์ที่เรารัก คุณอาจต้องใช้ความพยายามและความสามารถส่วนบุคคลสักหน่อย
พกไวน์ใส่กระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่องบินได้จริงหรือ
เราต้องเริ่มจากการรับรู้กฎข้อบังคับพื้นฐานของสายการบินแต่ละประเทศกันก่อน ซึ่งการแพ็กเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในกระเป๋าเดินทางพร้อมทั้งโหลดสัมภาระลงใต้ท้องเครื่องนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ ‘ทำได้’ ยกเว้นว่าคุณจะพกมาหลายขวดเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณต้องทำการต่อเครื่องที่เมืองใดเมืองหนึ่ง นั่นอาจจะเป็นปัญหาเพราะการต่อเครื่องเท่ากับคุณต้องเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ โดยปริยาย ดังนั้นกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีลิมิตของปริมาณแอลกอฮอล์ที่นำเข้าประเทศได้ไม่เท่ากัน เราจึงควรศึกษาข้อมูลเรื่องการนำเข้าแอลกอฮอล์อย่างรอบคอบก่อนเดินทาง
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลีย อนุญาตให้นำเข้าได้ไม่เกินคนละ 2.5 ลิตร ส่วนประเทศที่คนไทยอาจต้องไปต่อเครื่องกันบ่อยๆ อย่างสิงคโปร์ อนุญาตให้นำเข้าได้ไม่เกินคนละ 1 ลิตร
และกรมศุลกากรไทยล่ะ เขาว่าไว้อย่างไรบ้างกับกรณีนี้
คำตอบก็คือประเทศไทยของเรามีกฎหมายชัดเจนว่าสามารถนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่เกิน 1 ลิตร หากนำเข้ามาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โปรดหย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี (ศุลกากรเขาเขียนไว้แบบนี้จริงๆ นะ)
ถ้าเข้าใจเรื่องข้อบังคับต่างๆ เบื้องต้นแล้วก็ได้เวลาเริ่มแพ็กไวน์กันแล้ว!
เลือกวางให้ถูกข้าง
หากคุณต้องการจะพาไวน์ขวดโปรดนอนลงไปในกระเป๋าเดินทาง ควรจะเลือกวางขวดไวน์ลงบนด้านที่แข็งแรงกว่าเสมอ เช่น ด้านพื้นกระเป๋า หรือด้านหลังกระเป๋า หลีกเลี่ยงการวางชิดด้านข้างกระเป๋าที่เสี่ยงต่อการกระแทกได้ง่าย หรือด้านหน้ากระเป๋าที่เป็นผ้า
หากคุณไม่มีตัวช่วยอะไรเลยในการแพ็กไวน์ลงกระเป๋า สิ่งที่คุณพกมาในกระเป๋าขาไปคือตัวช่วยที่ดีที่สุด เริ่มต้นจากทำพื้นฐานกระเป๋าให้หนาที่สุด เช่น นำเสื้อผ้าหนาๆ อย่างเสื้อแจ็กเก็ตหรือกางเกงยีนส์วางลงไปก่อน แล้วค่อยๆ นำไวน์วางตาม และประกบทับด้วยเสื้อผ้าหนาๆ อีกครั้ง หากคุณพกรองเท้าไปด้วย ให้นำไวน์ประกบกับรองเท้าทั้งสองข้างและเสริมพื้นที่โดยรอบให้แข็งแรงเพื่อให้ขวดไวน์ไม่ดิ้นหลุดไปได้ง่ายๆ
เสริมขวดให้แข็งแรง
อีกเคล็ดลับที่สร้างความแน่นอนให้ไวน์ขวดรักกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพคือพกถุงเท้ายาวหนาๆ ไว้ และนำถุงเท้าที่ว่าสวมทับขวดไวน์เข้าไปสองชั้น ใช้ถุงเท้าทีละข้างเพื่อลดแรงกระแทก หรือหากเกรงว่าถุงเท้าใช้แล้วจะทำให้คุณตะขิดตะขวงใจในการเปิดดื่มเมื่อเดินทางถึงบ้าน เราแนะให้ห่อขวดไวน์ด้วยเสื้อกันหนาวตัวหนาๆ หรือสอดขวดไวน์ไว้ในแขนเสื้อตัวอื่นๆ ประหนึ่งว่าคุณโอบกอดขวดไวน์นั้นยิ่งชีพ
เรียกหา Fragile
ก่อนจะโหลดสัมภาระลงไปในสายพาน คุณควรเรียกหาแท็กกระเป๋า ‘Fragile’ จากพนักงานภาคพื้นของสายการบินทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย เผื่อว่ากระเป๋าคุณจะถูกยกขึ้นเครื่องอย่างเบามือ และเพื่อให้พนักงานสายการบินได้ทราบว่ากระเป๋าของคุณมีวัตถุที่อาจจะบุบสลายหรือแตกได้ เพิ่มความชัวร์ให้กับตัวคุณเองด้วย!
อุปกรณ์ช่วยชีวิตมากมาย
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตก่อนไวน์วอดได้มากมาย ทั้งการหาซื้อ Bubble Wrap หรือแผ่นพลาสติกที่มีบับเบิลเป็นปุ่มคอยป้องกันแรงกระแทก ซื้อมาแล้วก็สวมเข้าไปง่ายนิดเดียว โดยในปัจจุบันเรายังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Wine Skin’ ที่ออกแบบมาเป็นรูปขวดไวน์อย่างถูกต้อง สวมทับเข้าไปง่ายนิดเดียว
หรือถ้าคุณเป็นคอไวน์ตัวยง อุปกรณ์อย่างกระเป๋าผ้าไวน์ (Wine Tote Bag) ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสามารถสวมแล้ววางไว้ในกระเป๋าได้ง่ายๆ ยังหิ้วไปไหนมาไหนได้สะดวก
ขอให้ (ไวน์) เดินทางโดยสวัสดิภาพ
เชียร์ส!
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง: