×

รู้ให้ทัน ‘8 ความเข้าใจผิด’ เกี่ยวกับความยั่งยืน

30.09.2023
  • LOADING...
8 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับ ความยั่งยืน Sustainability

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • เมื่อก่อนความยั่งยืนอาจเป็นเพียงกระแสที่เรียกความสนใจว่าควรปฏิบัติ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติแล้ว เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจ เนื่องจากจะสร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้าและคนที่อยากทำการค้าด้วย 
  • อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเป็นกระแสที่ทุกคนอยากทำ การทำจริงหรือทำแบบเสมือนว่าทำจึงแตกต่างกัน THE STANDARD WEALTH จึงรวบรวมสิ่งที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับเรื่องความยั่งยืน ทั้งในด้านมุมมอง การปฏิบัติ และด้านการลงทุน ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอีกมาก 
  • โดยสรุปแล้ว ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนงาน บุคคล หรือการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตั้งแต่ลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ พนักงาน แรงงาน ตลอดจนการวางแผนและบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับอนาคต รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Net Zero

ในอดีตเรื่องความยั่งยืนเป็นแค่ ‘เทรนด์’ น่าสนใจ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นภาคบังคับให้ทุกคนต้องก้าวเดินไป และความจริงยังมีหลายมุมมองที่ทำให้เกิดการความเข้าใจผิดเรื่องความยั่งยืน ทั้งในแง่ของการปฏิบัติจริง และในมุมของการลงทุนด้วย ซึ่งพอจะช่วยให้เห็นหรือไม่ถูกความเป็นกระแสที่ใครๆ ก็พูดถึง มาบดบังความจริงหรือความถูกต้องที่ควรจะเป็น

 

1. เป็นเรื่องนามธรรม-จับต้องยาก

 

เพราะความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ง่ายในระยะเวลารวดเร็ว ต้องอาศัยการปรับแนวคิดและสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรได้เข้าใจ ก่อนที่จะค่อยๆ ขับเคลื่อนกำหนดเป็นนโยบายและกลยุทธ์เพื่อเดินหน้าปฏิบัติงานไปตามแผนสู่เป้าหมายเดียวกัน แม้ความยั่งยืนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกนี้ แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้แพร่หลายในระดับมวลชนที่ทุกคนจะเข้าใจและพร้อมปฏิบัติได้ทุกบริษัท เช่น ช่วงแรกพนักงานอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการแยกขยะกันตั้งแต่ต้นทางที่จะเริ่มใช้กระดาษ หรือลดการใช้อุปกรณ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วมาเพิ่มสิ่งที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ซ้ำในองค์กรได้ หรือการที่บริษัทขนาดเล็กมักจะไม่เห็นความสำคัญกับ ESG เพราะคิดว่าเป็นต้นทุนที่ต้องมีค่าดำเนินการที่สูง ซึ่งความเป็นจริงสามารถเริ่มปรับเปลี่ยนได้ก่อนจากแนวคิดหรือพฤติกรรมของพนักงาน เช่น การแยกขยะ และลดการใช้กระดาษ 

 

2. ไม่ได้มีแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม

 

ตามหลักสากลที่สหประชาชาติได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 Agenda for Sustainable Development หรือ SDGs มีหัวข้อที่เกี่ยวข้องหลักทั้งหมด 17 หัวข้อ และมี 193 ประเทศที่ทำข้อตกลงวาระเรื่องนี้ไปด้วยกัน โดยครอบคลุมไปถึง 5 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ-สถาบัน และหุ้นส่วนการพัฒนา แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย และการปฏิบัติการโดยทั่วไปคือ การคำนึงถึง ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี เพียงแต่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกร่วมหรือเข้าถึงได้ง่ายกว่า เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือการผลิต รวมทั้งการดำเนินชีวิตได้ง่ายกว่า

 

แต่ในความเป็นจริง เรื่องของสังคม หรือ S ก็มีเรื่องที่ต้องดูแลจากคนทุกกลุ่มในองค์กร คือ ต้องให้ความเป็นธรรมต่อพนักงาน สภาพแวดล้อมของสถานประกอบกิจการที่รวมถึงโรงงาน โรงไฟฟ้า หรือสาขาที่ตั้งตามที่ต่างๆ ต้องไม่สร้างภาระหรือส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณโดยรอบ หรือเรื่องการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี หรือ G ที่ต้องคำนึงถึง และส่งเสริมคู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียตลอดเส้นทางที่ต้องทำการค้า การติดต่อ หรือเป็นซัพพลายเออร์ที่คอยสนับสนุนกันและกันด้วย 

 

3. เป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก

 

ก่อนหน้าที่จะมี ESG หน่วยงานไทยจะมองและปฏิบัติแบบแยกส่วนมากกว่า อย่างการประชาสัมพันธ์ว่ามีการช่วยเหลือสังคม เช่น การบริจาคเงิน และเริ่มขยับสู่การบริหารจัดการให้มีบรรษัทภิบาลที่ดี (CG) เช่น มีคนนอกมาช่วยบริหาร มีการแต่งตั้งกรรมการอิสระคอยให้ความคิดเห็นสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นของฝ่ายบริหารองค์กร ตลอดจนเริ่มไปลำดับขั้นกว่าของการเป็นบริษัทที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จนพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึง ESG ในการดำเนินธุรกิจ 

 

ดังนั้น จากที่เคยมองแยกในฟังก์ชันการทำงานที่อาจเกี่ยวข้องเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทว่าความแตกต่างของ ESG คือการนำทั้ง 3 อย่างไปอยู่ในแผนกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจหลัก (Core Business) ได้เลยทันที ทำให้ทั้งผู้ปฏิบัติเองหรือผู้บริหารต้องเรียนรู้ผิดถูกในการปรับแนวคิดและเปลี่ยนการดำเนินงานบางอย่างเพื่อให้พัฒนาขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพนักงานแต่ละฝ่ายที่จะทำอย่างไรให้ ESG เข้าไปรวมอยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง 

 

เช่น E มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดหรือลดการสร้างของเสียจากการผลิต หรือการบริหารจัดการขยะให้นำไปสู่การฝังกลบให้น้อยที่สุด, S การทำจรรยาบรรณทางธุรกิจเพื่อให้คู่ค้าร่วมปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของพนักงานหรือภาคแรงงาน และ G การบริหารจัดการเพื่อปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากหลายปัจจัย เช่น Climate Change ที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนวัตถุดิบจนทำให้การผลิตชะลอหรือหยุดชะงักลงได้ 

 

แต่ในมุมผู้ลงทุนปัจจุบันถือว่ามีตัวช่วยมากขึ้น เพราะหลายหน่วยงานผลักดันให้เกิดการดำเนินการด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยให้บริษัทแต่ละแห่งจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ESG ออกมาให้ผู้ลงทุนได้รับรู้มากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้ช่วยที่เสมือนเป็นตัวกรองการลงทุนให้ อย่างผู้จัดการกองทุนรวมต่างๆ ที่ออกผลิตภัณฑ์กองทุนด้านความยั่งยืน หรือแม้แต่ตัวผู้ลงทุนก็สามารถศึกษาข้อมูลด้านนี้จากรายงานความยั่งยืนหรือ One Report ของแต่ละบริษัทได้เลย 

 

4. เป็นแค่เทรนด์หรือกระแส

 

เมื่อก่อนอาจมองว่าความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่มาแรง แต่ปัจจุบันน่าจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องทำธุรกิจหรือการค้า เนื่องจากกฎเกณฑ์และข้อบังคับของสังคมโลกปัจจุบันล้วนคำนึงถึงคู่ค้าที่ต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่าโลกกำลังเดือดและทวีความรุนแรงจากผลกระทบที่ทรัพยากรถูกทำลายมากขึ้น ซึ่งในมุมของการลงทุนก็น่าจะกลายเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนได้มากขึ้น เพราะผู้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือตลาดทุนก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของผู้ลงทุนมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของดัชนีที่อ้างอิง กองทุนรวม หรือแม้แต่หุ้นรายตัวที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มช่วยนักลงทุนทำการบ้านในการนำปัจจัยเรื่อง ESG เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ในแต่ละตัวแปรมากขึ้น 

 

5. มี ESG การันตีว่าดีทั้งหมด

 

การที่จะบอกได้ว่าบริษัทนั้นดีทั้งหมดเมื่อมีการคำนึงถึง ESG ก็คงไม่ใช่ เพราะเรื่องเหล่านี้อาจทำโดยการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร หรือการให้ข้อมูลแบบสร้างการรับรู้แบบผิดๆ ว่าเป็นองค์กรที่รักษ์โลก แคร์สังคม แต่แท้จริงอาจเป็นเพียง Greenwashing เท่านั้น เนื่องจากบางบริษัทอาจไม่ได้ปรับบริบทหรือมีกระบวนการดำเนินงานที่ครอบคลุมได้ครบทั้ง 3 ปัจจัย บ้างอาจเริ่มดำเนินงานแค่ด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เกี่ยวข้องกับพนักงานหรือชุมชนก่อน แต่ในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดที่ครอบคลุมและเจาะจงในแต่ละตัวอีกมาก ตั้งแต่การมีแนวทางประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำ การจัดการของเสียให้เป็นระบบ นำไปสู่การรีไซเคิลแล้วทำให้กลับมาหมุนเวียนใช้ได้ใหม่อีก หรือมีนโยบายดำเนินกิจกรรมแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การหาวิธีการและแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยลดการสร้างหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดูแลพนักงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยตลอดช่วงการทำงาน ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน และพัฒนาทักษะให้พนักงาน โดยพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางความคิดร่วมกับคู่ค้าอย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งการวางเป้าหมายสู่ Net Zero ที่พร้อมดึงและพาทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางไปด้วยกัน

 

นอกจากนั้น การวิเคราะห์ด้าน ESG ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์ความรู้หรือกรอบแนวคิดเท่านั้น แต่ยังต้องดูรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ต้องมีการจัดการข้อมูล รวมถึงสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านอื่นๆ ด้วย หรือการวิเคราะห์ ESG ในธุรกิจที่มีความคล้ายหรือเหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้วบริษัทแต่ละบริษัทมีปัจจัยด้าน ESG ไม่เหมือนกันเลย ทั้งสัดส่วนรายได้และประเทศที่ดำเนินการ ดังนั้นการวิเคราะห์ปัจจัยด้าน ESG ควรนำไปรวมกับกระบวนการวิเคราะห์การลงทุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อประเมินถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงโดยรวม หรือนักวิเคราะห์เพียงคนเดียวก็ไม่สามารถทำความเข้าใจทุกอุตสาหกรรมและทุกบริษัทได้ เพราะบริบทของความเสี่ยงในแต่ละอุตสาหกรรมรวมถึงบริษัทไม่เหมือนกันเลย

 

6. เป็นเรื่องราวของคนเฉพาะกลุ่ม

 

ประเด็นนี้น่าจะต้องตีตกไปแล้ว เพราะปัจจุบันน่าจะกลายเป็นการบ้านหนักของแต่ละบริษัทและหน่วยงานต่างๆ เหมือนกับที่ทุกบริษัทต้องพยายามปรับมายด์เซ็ตของพนักงานทุกระดับ เพื่อให้เกิดการร่วมมือที่จะนำเรื่อง ESG เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องคอยอัปเดตและรายงานให้กับทั้งคนภายในและภายนอกองค์กรว่า องค์กรเรามีส่วนอย่างไรบ้างที่จะช่วยโลกใบนี้ ช่วยลดการสร้างและปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรบ้าง หรือมีส่วนรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่เศรษฐกิจที่ได้ทำงานด้วย เพราะจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุน

 

ทว่าความเป็นจริงเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องที่พนักงานที่มีความรับผิดชอบต่องานด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะต้องเป็นคนดูแล เหมือนกับเรื่องการทิ้งขยะที่ไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของพนักงานเก็บขยะเพียงคนเดียว เพราะถึงตอนนี้น่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนแล้วว่า การคิดแบบแยกส่วนและมองว่าเรื่องขยะหรือเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของตัวเองนั้น ส่งผลกับวิถีชีวิตของเราอย่างไรบ้าง 

 

7. ทางเลือกการลงทุนที่จำกัด

 

ตรงกันข้ามในปัจจุบันกลับมีผลิตภัณฑ์มากมายที่พร้อมให้นักลงทุนเลือกลงทุนอย่างยั่งยืนได้ ตั้งแต่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือ ESG โดยเฉพาะ ตลท. ได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนใน Thailand Sustainability Investment (THSI) โดยยังมีดัชนีที่อ้างอิงหุ้นยั่งยืนอีกมากมาย เช่น ดัชนี SETTHSI, DJSI, MSCI ESG, FTSE4Good รวมทั้งประเภทกองทุนรวมหุ้น ESG และกองทุนรวมหุ้น CG, กองทุน SRI Fund, กองทุน ESG Fund รวมถึงตราสารหนี้ ESG เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นรายตัวที่เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai กว่า 800 บริษัท ก็สามารถนำปัจจัย ESG ไปคัดเลือกจากหุ้นกลุ่ม SET50 หรือ SET100 ได้ก่อน ก็จะเห็นได้ว่าในฐานะผู้ลงทุนตอนนี้มีตัวเลือกในการลงทุนอีกมากมาย

 

8. ให้ผลตอบแทนน้อย 

 

เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่วัดความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วไม่ได้ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะคาดหวังให้ได้ส่วนต่างกำไรจากการลงทุน หรืออัตราผลตอบแทนแบบระยะสั้นเหมือนหุ้น Day Trade ก็คงไม่ใช่คำตอบ แต่การที่ใช้ระยะเวลาการลงทุนนานแล้วเหมารวมว่าจะได้ผลตอบแทนที่น้อยก็ไม่น่าจะมีเหตุผลที่เพียงพอเช่นกัน เพราะจากรายงาน ตลท. มีการเปรียบเทียบผลตอบแทนของดัชนีด้านความยั่งยืนของ MSCI กับ SET ในช่วงเดือนกันยายน 2007 – มีนาคม 2022 ดัชนี MSCI EM ESG Leaders ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี MSCI Emerging Markets ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รวมถึงหากดูผลตอบแทนของดัชนี SETTHSI ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนี SET ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

 

หรือในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นเป็นหมี ดัชนีหุ้นที่อ้างอิงความยั่งยืนก็มักจะมีการปรับตัวลงน้อยกว่าดัชนีทั่วไป ประกอบกับถ้ามองว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนจากพอร์ตโดยรวม ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี รวมถึงผลิตภัณฑ์ ESG ที่ออกมาก็น่าจะมีการพิจารณาจากผู้จัดการกองทุนหรือผู้ที่ทำหน้าที่พัฒนาโปรดักต์อย่างละเอียดถี่ถ้วนเหมือนช่วยกรองให้ดีในระดับหนึ่ง

 

ทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมานี้น่าจะพอทำให้เห็นว่า ความยั่งยืนไม่ได้เป็นการทำส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะทำให้ทุกส่วนดีได้ทั้งหมด เพราะมีรายละเอียดที่ต้องอาศัยทุกคนปรับมายด์เซ็ตและทำความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ มากกว่าคำว่าอยากจะเรียนรู้ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising