×

6 นิสิต นักศึกษา จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยื่นศาลแพ่งขอไต่สวนฉุกเฉิน เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2020
  • LOADING...
6 นิสิต นักศึกษา จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยื่นศาลแพ่งขอไต่สวนฉุกเฉิน เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

วันนี้ (21 ตุลาคม) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มคณะจุฬาฯ และ TPC Awaken นำโดย ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ กับพวกรวม 6 คน เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานละเมิด ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพิกถอนประกาศและคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่งและการกระทำมาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุม พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย โดยการฟ้องคดีนี้มีเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรร่วมสนับสนุนดำเนินการ

 

ศุกรียาอ่านแถลงการณ์ถึงการฟ้องคดีสรุปได้ว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ กลับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เป็นเครื่องมือทางกฎหมายและอำนาจในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนชาวไทยอย่างเกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรงนั้น เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากล การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้มาตรการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล เช่น ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีไปที่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ในทางปฏิบัติการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงจะต้องใช้กับกรณีที่มีการจลาจลที่เสี่ยงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น พยายามในการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม และขู่จะใช้กระสุนยางโดยไม่มีเหตุอันสมควร

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้อำนาจรัฐตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขตอย่างอยุติธรรมและอย่างน่าละอาย โดยไม่เคารพหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

 

“พวกเรานิสิตและนักศึกษาทั้ง 6 คน ในฐานะประชาชนที่เพียงออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพที่พวกเราอันพึงมี และควรต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ แต่กลับถูกรัฐบาลกระทำการจำกัดและลิดรอนอย่างเกินสมควรโดยไร้เหตุผลและความชอบธรรม จึงได้ทำการเป็นโจทก์ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจทั้งปวงของรัฐบาลตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ 

 

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลในฐานะองค์กรตุลาการจะทำหน้าที่ในการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและความกล้าหาญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน” แถลงการณ์ระบุ

 

ทั้งนี้กลุ่มนิสิตนักศึกษายังได้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันด้วย

 

ขณะที่ สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะทีมทนายความโจทก์ กล่าวว่า คำขอคุ้มครองชั่วคราวจะให้มีการระงับการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และตามข้อกำหนดที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉิน ถ้าศาลเห็นว่ามีความฉุกเฉินต้องคุ้มครองโดยเร็วก็จะมีการไต่สวนในช่วงบ่าย อาจจะมีคำสั่งในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ การใช้เสรีภาพการชุมนุมที่ผ่านมายังสงบปราศจากอาวุธตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มของ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มายื่นฟ้องเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) ในเรื่องเดียวกัน สุรชัยกล่าวว่า มีการอ้างเหตุในทำนองเดียวกัน รายละเอียดอาจจะแตกต่างกัน ไม่ถือว่าซ้ำซ้อนกัน เพราะโจทก์คนละคน ส่วนศาลจะพิจารณารวมกันหรือไม่เป็นสิ่งที่ศาลจะพิจารณาต่อไป

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการที่นิสิต นักศึกษามายื่นวันนี้เป็นผู้เสียหายโดยตรง จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นหรือไม่ สุรชัยกล่าวว่า ตนคิดว่านักข่าวหรือประชาชนทั่วไปก็เป็นผู้เสียหาย นักศึกษาเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไปที่ใช้เสรีภาพการชุมนุม ใช้เสรีภาพในการเดินทาง ควรเดินทางโดยปลอดภัยไม่ถูกปิดกั้น และไม่ถูกปิดกั้นการสื่อสาร ไม่ถูกดำเนินคดีง่ายๆ ในการชุมนุมเกิน 5 คน ถือว่าเป็นการฟ้องในนามประชาชนโดยรวม

 

ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า หากศาลสั่งให้เพิกถอนจะมีผลผูกพันผู้ต้องหาที่เคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ สุรชัยกล่าวว่า มีผลแน่นอน แปลว่าการใช้อำนาจที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ถูกต้องก็ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ต้องปล่อยตัวคนที่โดนข้อหาฝ่าฝืนละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งหมด ส่วนข้อหาอื่นอาจต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising