×

‘กรุงไทยคาร์เร้นท์’ คาดรถยึดปีนี้ทั้งอุตสาหกรรมแตะ 5 แสนคัน กดดันราคาขายรถมือสอง แต่เชื่อพอร์ตบริษัทยังโตได้ 10%

16.08.2023
  • LOADING...
กรุงไทยคาร์เร้นท์

หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดจบลงไปบางส่วน ทำให้เริ่มเห็นรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระถูกยึดจากบริษัทผู้ให้สินเชื่อมากขึ้น

 

พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR) เปิดเผยว่า ปริมาณรถที่ถูกยึดเริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 สำหรับปีนี้อาจจะเห็นรถที่ถูกยึดถึงประมาณ 5 แสนคัน สูงกว่าระดับปกติที่ราว 2-3 แสนคันต่อปี 

 

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาของรถยนต์มือสองโดยเฉลี่ยต่ำลงจากปีก่อน โดยราคาขายรถมือสองบางรุ่นลดลงจาก 3.3-3.4 แสนบาท เมื่อปีก่อน มาเหลือ 2.7 แสนบาท ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาขายรถมือสองที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาขายเมื่อปีก่อนที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่าระดับปกติ 

 

“ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถมือสองน่าจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย กดดันจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจชะลอตัว อุปทานมากขึ้นตามจำนวนรถถูกยึด และการเข้ามาของรถ EV”

 

อย่างไรก็ดี รายได้จากการขายรถมือสองของ KCAR ในปีนี้น่าจะเติบโตได้มากกว่า 10% ส่วนหนึ่งจากจำนวนรถที่ครบอายุสัญญาเช่าเพิ่มขึ้น หลังจากปีก่อนที่ลูกค้าสัญญาเช่าขอต่ออายุสัญญาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากการขายรถมือสองของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 39% 

 

ขณะที่รายได้จากการปล่อยเช่ารถยนต์ยังคงเป็นสัดส่วนหลักประมาณ 59% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะทรงตัว ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ในปีนี้น่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่ทำได้ 2.28 พันล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่ประมาณ 85% ยังคงเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ส่วนอีก 15% เป็นหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 

 

ปัจจุบันจำนวนรถที่ปล่อยเช่าของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 9,000 คัน และในแต่ละปีจะมีรถที่ครบอายุสัญญาประมาณ 1,200-1,500 คัน ทั้งนี้ ธุรกิจปล่อยเช่ารถของบริษัทในระยะยาวน่าจะเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี โดยการเติบโตจะมาจากลูกค้า SMEs ที่ค่อยๆ ปรับมาใช้บริการเช่ารถมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มขยายธุรกิจไปให้บริการเช่ารถ EV เพิ่มเติม แต่ปัจจุบันยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเพียงประมาณ 100 คัน เทียบกับปริมาณรถที่ปล่อยเช่าทั้งหมด 9,000 คัน 

 

“การเริ่มปล่อยเช่ารถ EV เป็นเหมือนการทำ R&D เพื่อไม่ให้ตกขบวน การปล่อยเช่ารถ EV ยังมีอุปสรรคหลายด้านที่เรายังไม่มั่นใจ เช่น ความเสถียรของรถ ราคาตลาดมือสอง และการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด” 

 

ในส่วนของการปล่อยเช่ารถ EV พิชิตกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยหลักการแล้วควรจะมีอัตรากำไรมากกว่ารถยนต์สันดาป แต่ยังคงต้องติดตามว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือราคาขายมือสองจะมากน้อยเพียงใด 

 

“ธุรกิจปล่อยเช่ารถยนต์ ต้นทุนที่มากที่สุดคือค่าเสื่อม สำหรับรถ EV ที่เราเพิ่งเริ่มทำ ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าเราจะเริ่มขายรถมือสองเป็นครั้งแรก ส่วนตัวคาดว่าราคาขายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80% ของราคารถมือหนึ่ง” 

 

ส่วนทิศทางของหุ้น KCAR ในอนาคต พิชิตมองว่าจุดเด่นคือการเป็น Dividend Stock หรือหุ้นที่จ่ายปันผลสูง ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา KCAR มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยประมาณ 5-8% อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเกิดการระบาดของโควิด ทำให้บริษัทปรับลดนโยบายการจ่ายเงินปันผลลงเหลือไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่ไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ ส่วนในอนาคตจะกลับมาจ่ายปันผลในระดับเดิมหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาเรื่องภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

“ด้วยนโยบายบริษัทที่เน้นบริหารองค์กรแบบสมดุล และค่อนข้างอนุรักษนิยมในการคัดกรองลูกค้า ทำให้ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดเมื่อปี 2548 บริษัทจึงไม่เคยขาดทุนแม้แต่ปีเดียว”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising