×

50 ปี Boeing 747 จาก ‘ราชินีแห่งฟากฟ้า’ สู่บทบาทเครื่องบินคาร์โกที่อนาคตคลุมเครือ

11.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • เครื่องบิน B747 เป็นความภาคภูมิใจของชาว Boeing และถูกยกเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันเครื่องบินที่มีชื่อเล่นว่า ‘จัมโบ้เจ็ต’ นี้กำลังถูกทยอยปลดระวางจากฝูงบินพาณิชย์ทั่วโลก และจากนี้ไปอาจเหลือเพียงบทบาทเครื่องบินคาร์โกที่ช่วยต่อลมหายใจให้สายการผลิต ด้วยอานิสงส์จากตลาดขนส่งสินค้าที่กำลังบูมจากธุรกิจการค้าออนไลน์ทั่วโลก
  • หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดีมานด์ Boeing 747 หดตัวลงอย่างมาก มาจากการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากการมีผู้เล่นมากราย บวกเทรนด์การเติบโตของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ เป็นตัวบีบให้โอเปอเรเตอร์สายการบินต้องแข่งขันกันลดต้นทุนและค่าตั๋วเครื่องบิน ขณะที่ B747 ใช้ต้นทุนในการบินต่อครั้งและค่าซ่อมบำรุงสูงมาก
  • ประกอบกับ Boeing เองได้พัฒนาเครื่องบินโมเดลใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่า ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงกว่า เช่น เครื่องบินตระกูล B787 Dreamliner และ B737 MAX ทำให้กลายเป็นตัวเลือกแทน B747 ที่ราคาแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ Boeing ยังโฟกัสไปที่โครงการพัฒนาเครื่องบิน Boeing 777X ซึ่งเป็นไพ่เด็ดของ Boeing ในการต่อกรกับ Airbus

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว (9 ก.พ. 1969) เครื่องบินโดยสารขนาดยักษ์ Boeing 747 (B747) ซึ่งมีสมญานามว่า ‘ราชินีแห่งฟากฟ้า’ อวดโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกในระหว่างประเดิมทดสอบบินเที่ยวแรกที่เมืองเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ซึ่งถือเป็นหมุดหมายความสำเร็จที่ยกระดับประสบการณ์เดินทางของผู้โดยสารและพลิกโฉมอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ของโลกนับแต่นั้นมา

 

ทว่ากาลเวลาผ่านไปไม่ถึง 5 ทศวรรษ เครื่องบินระดับไอคอนิกที่เวลาคนนึกถึงชื่อ Boeing จะนึกถึงเครื่องบินทรง B747 กลับกำลังเสื่อมมนต์ขลังลงและไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ถึงขนาดที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเครื่องบินโมเดลนี้จะอำลาฝูงบินพาณิชย์ของสายการบินทั่วโลกไปตลอดกาลภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

 

สายการบินทั่วโลกกำลังทยอยปลดระวาง Boeing 747 และหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เครื่องบิน ‘จัมโบ้เจ็ต’ เหล่านี้บินไฟลต์สุดท้ายคือสุสานเครื่องบินกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้างและเปล่าเปลี่ยวในภูมิภาคเซาท์เวสต์ของสหรัฐฯ  

 

จากข้อมูลปี 2018 มีสายการบินพาณิชย์เพียงไม่กี่รายในโลกที่ยังให้บริการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินโมเดล 747-400 อยู่ หนึ่งในนั้นคือการบินไทย (Thai Airways) ขณะที่ British Airways ของสหราชอาณาจักรยังคงเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีนกเหล็กยักษ์รุ่นนี้ให้บริการมากที่สุด (36 ลำ) ส่วนสายการบินยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่ผู้โดยสารยังมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การบินด้วยเครื่องบินระดับไอคอนิกนี้ได้อยู่ ได้แก่ Virgin Atlantic (สหราชอาณาจักร), KLM (เนเธอร์แลนด์), Qantas (ออสเตรเลีย), Air China (จีน), Korean Air (เกาหลีใต้) และ Lufthansa (เยอรมนี)

 

 

ขณะที่บางสายการบินเหลือเครื่องบินโมเดลนี้เพียงไม่กี่ลำ เช่น Air India ของอินเดียซึ่งให้บริการเที่ยวบินระหว่างเมืองญิดดะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กับเมืองไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย ส่วน China Airlines ของไต้หวันมีแผนเร่งปลดประจำการ B747 จนหมดฝูงในอีกไม่ช้า ขณะที่ EL-AL ของอิสราเอลมีแผนปลดฝูงบิน 747 และแทนที่ด้วยฝูงบิน Boeing 787 ในอนาคต

 

สำหรับสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของ Boeing 747 นั้น ไม่เหลือสายการบินในประเทศที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วยเครื่องบินโมเดลนี้อีกแล้ว โดย B747 ของ United Airlines บินเที่ยวสุดท้ายเพื่ออำลาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ตามมาด้วย Delta Airlines ในอีกหนึ่งเดือนให้หลัง

 

อาจกล่าวได้ว่าทุกอุตสาหกรรมถูก Disrupt ไปตามกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการบิน เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ทุกอย่างต้องปรับตัวตาม ปัจจุบัน Boeing หรือแม้แต่บริษัทคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Airbus ต่างก็พัฒนาเครื่องบินโมเดลใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพกว่า และประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเพื่อมาทดแทนเครื่องบินโมเดลเก่าๆ ซึ่งตอบโจทย์บรรดาสายการบินและเหล่าโอเปอเรเตอร์ โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุน ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ และทำให้ Boeing 747 ถูกบดบังรัศมี

 

การถือกำเนิดของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีมานด์ใน B747 ลดลง เนื่องจากบริษัทสายการบินที่ดำเนินธุรกิจเที่ยวบินชั้นประหยัดนิยมจัดหาเครื่องบินขนาดกลางตระกูล B737 MAX ของค่าย Boeing หรือตระกูล A320 ของ Airbus ขณะที่สายการบินยักษ์ใหญ่ก็หันไปเลือกใช้ Boeing 777 หรือแทนที่ฝูงบิน B747 ด้วย Boeing 787 Dreamliner ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่า และมีน้ำหนักเบากว่า

 

Boeing เคยประกาศไว้ในปี 2016 ว่า ทางบริษัทอาจยุติการผลิตเครื่องบินโมเดล 747 อย่างถาวร เพราะยอดสั่งซื้อน้อยจนไม่คุ้มค่ากับการเปิดสายการผลิต ขณะที่ Boeing กำลังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งอย่าง Airbus รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดการบินอย่าง Comac ของจีน และผู้เล่นหน้าเก่าที่ยังประมาทไม่ได้อย่าง Bombardier ของแคนาดา และ Embraer ของบราซิล

 

สำหรับต้นทุนในการบินแต่ละเที่ยวของ Boeing 747 อยู่ที่ 24,000-27,000 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง (ราว 754,800-849,000 บาทต่อชั่วโมง) และมีค่าบำรุงรักษา (Maintenance) ในการบินต่อครั้งที่ไม่ใช่น้อยๆ เช่นกัน ส่วนราคาเครื่องบินก็อยู่ที่ประมาณ 402.9 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำในปี 2018 (สำหรับโมเดล 747-8)

 

ขณะที่เครื่องบินขนาดกลาง ลำตัวแคบ ตระกูล 737 MAX (MAX 7, MAX 8, MAX 9 และ MAX 10) ซึ่งจุผู้โดยสารได้ 172-230 คน) ราคาอยู่ที่ประมาณ 96-130 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ ส่วนเครื่องบินขนาดกลาง ลำตัวกว้าง ตระกูล Dreamliner (787-8, 787-9 787-10) ซึ่งจุผู้โดยสารได้ 242-330 คน ราคาอยู่ที่ราว 239-326 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ

 

ต่อลมหายใจ

ท่ามกลางดีมานด์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง Lufthansa, Air China และ Korean Air ได้ต่อลมหายใจให้โรงงานผลิต Boeing 747 ด้วยคำสั่งซื้อเครื่องบินเวอร์ชันใหม่ของตระกูล B747 อย่าง B747-8 ในจำนวนมากพอที่จะเลี้ยงไลน์การผลิตไว้ได้ แต่จุดประสงค์การใช้งานหลักของเครื่องบินเหล่านี้อาจเปลี่ยนจากการขนส่งผู้โดยสาร เป็นการขนส่งสินค้าในฐานะเครื่องบินคาร์โกแทน

 

อีกหนึ่งลูกค้ารายใหญ่ของเครื่องบิน B747-8 คือบริษัท UPS บริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งมียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เพิ่มอีก 14 ลำในปี 2018 ส่งผลให้อนาคตจัมโบ้เจ็ตของ Boeing ยังไม่มืดมนเสียทีเดียว แม้จะถูกลดทอนบทบาทลงเหลือเพียงเครื่องบินคาร์โกซึ่งถูกมองว่ามีเสน่ห์ลดลงก็ตาม

 

 

แต่นอกจากเครื่องบินขนส่งแล้ว B747 ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ทำหน้าที่เครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อไป โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ยืนยันในปีที่แล้วว่า ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อเครื่องบินที่จะใช้เป็น Air Force One ลำใหม่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวน 2 ลำ มูลค่ารวม 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะดัดแปลงห้องโดยสารภายในของเครื่องบิน B747-8 โดยมีกำหนดส่งมอบในเดือนธันวาคม ปี 2024

 

แต่กระนั้น Boeing ยอมรับว่าพวกเขาอาจไม่ได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เพิ่มจากลูกค้ากลุ่มสายการบินรายอื่นๆ อีกต่อไปแล้ว และจะคงสายการผลิตเครื่องบินเวอร์ชันขนส่งสินค้าไว้เท่านั้น เพราะการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ทำให้อุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศพลอยได้รับอานิสงส์ขยายตัวตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งสร้างความไม่แน่นอนขึ้น อาจเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจนชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในการขนส่งสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศระบุว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกเติบโตเพียง 3.5% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับ 9.7% ในปี 2017 ดังนั้นจึงน่าจับตาอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับเครื่องบิน B747 เวอร์ชันคาร์โกแล้ว อาจไม่ใช่ข่าวดีนัก

 

 

ฝากความหวังไว้กับ Boeing 777X

เทียบกับ Boeing 747 แล้ว Boeing 777X เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ ลำตัวกว้าง เจเนอเรชันใหม่ที่อัปเกรดเทคโนโลยีจนทันสมัยกว่ามาก โดย Boeing หมายมั่นว่าจะดัน B777X เป็นเครื่องบินโดยสารขนาด 2 เครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุดและทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก พร้อมมอบประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสารที่เหนือระดับด้วยการออกแบบภายในที่หรูหรา คำนึงถึงความสะดวกสบาย ด้วยแรงบันดาลใจจากเครื่องบินตระกูล Dreamliner ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

ข้อมูลในเว็บไซต์ของ Boeing ระบุว่า เครื่องบินโมเดล 777X แบ่งเป็น B777-8 ซึ่งยาว 70 เมตร และมีพิสัยบินไกลถึง 16,110 กิโลเมตร กับ B777-9 ซึ่งยาว 77 เมตร และมีพิสัยบิน 14,075 กิโลเมตร (เทียบกับ 747-400 พิสัยบิน 14,200 กิโลเมตร) โดย Boeing 777-8 จุผู้โดยสารได้ 350-375 ที่นั่ง ส่วน Boeing 777-9 จุได้ 400-425 ที่นั่ง

 

แต่ราคาของมันก็ไม่ใช่ย่อยๆ โดยเว็บไซต์ Statista.com ระบุว่า ปัจจุบันเครื่องบิน 777-9 ขึ้นแท่นเครื่องบินที่มีราคาแพงที่สุดของบริษัท Boeing ไปแล้ว ด้วยราคาสูงถึง 425.8 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ

 

 

สัญญาณเตือนถึง Airbus A380

เครื่องบินโดยสารสองชั้นขนาด ‘ซูเปอร์จัมโบ้’ ของค่าย Airbus ซึ่งจุผู้โดยสารได้ถึง 500 คน (สูงสุดเกือบ 900 คน) อาจเผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างจาก B747 ของ Boeing ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า Airbus มีแผนปิดโรงงานผลิตเครื่องบิน A380 ซึ่งเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวลงอย่างมาก มิหนำซ้ำ A380 ยังไม่เหมือน B747 ที่มีเวอร์ชันเครื่องบินขนส่งสินค้าไว้เป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้า

 

ลูกค้ารายใหญ่ทุนหนาจากดูไบอย่าง Emirates เผยว่า พวกเขามีแผนหันเหความสนใจไปที่เครื่องบินโดยสาร A350 ที่มีขนาดเล็กกว่า แทนการสั่งซื้อ A380 นอกจากนี้ Boeing 777X ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดึงดูดใจสายการบินยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่น้อย

 

ปัญหาสำคัญของ A380 คือ เครื่องบินมีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้สนามบินทั่วโลกต้องอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดซูเปอร์จัมโบ้ ทั้งการสร้างหลุมจอดใหม่ ติดตั้งเกตใหม่ที่แยกออกมาต่างหาก หรือขยายรันเวย์เพื่อให้พอกับระยะแลนดิ้งของ A380 โดยหนึ่งในตัวอย่างก็คือท่าอากาศยานโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก ที่ปรับปรุงสนามบินโดยใช้งบประมาณถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ปัจจุบันมีเพียง 60 เมืองทั่วโลกที่ Airbus A380 สามารถลงจอดได้ ซึ่งแม้เมืองเหล่านี้จะเป็นฮับการบินที่สำคัญของโลก แต่ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวขาดความยืดหยุ่นในเส้นทางการบิน

 

ในขณะที่เครื่องบิน Boeing 777X สามารถลงจอดที่สนามบินแห่งใดก็ได้ในโลกที่มี Boeing 777 หรือ 787 คอยให้บริการอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ปลายปีกของ B777X ก็สามารถพับได้ ดังนั้นช่วงปีกที่กว้าง 65 เมตรเวลาอยู่บนพื้นจึงไม่ใช่ปัญหา ด้วยเหตุนี้สนามบินจึงไม่จำเป็นต้องอัปเกรดประตูหรือรันเวย์

 

หากกล่าวว่า A380 ของ Airbus ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อฆ่า B747 ของ Boeing แล้ว ก็อาจถึงทีของ Boeing บ้างที่แก้เกมอย่างดีด้วยเครื่องบิน B777X ซึ่งถือเป็นไพ่เด็ดที่น่าจับตามอง แต่ในอดีตเราได้เห็นแล้วว่า แม้เครื่องบิน Concorde จะยิ่งใหญ่บนน่านฟ้าแค่ไหน ก็ถึงคราวอวสานได้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ตามมาด้วย Boeing 747 ที่อนาคตยังคลุมเครือ ขณะที่ Airbus A380 ที่เพิ่งให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 2007 ก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • Boeing 747 เป็นเครื่องบินโดยสารลำตัวกว้าง และมีเครื่องยนต์ 4 ตัว ด้วยขนาดอันมหึมาทำให้มันมีชื่อเล่นว่า ‘จัมโบ้เจ็ต’ โดย Boeing 747 ลำแรกของโลกขึ้นบินเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 1969 และเข้าประจำการในฝูงบินพาณิชย์ครั้งแรกกับสายการบิน Pan American World Airways ในเดือนมกราคม ปี 1970
  • ดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของ Boeing 747 คือส่วนหัวเครื่องบินมีลักษณะโก่ง ซึ่งเป็นส่วนที่นั่งผู้โดยสารชั้นบนติดกับห้องนักบิน (Upper Deck)
  • เครื่องบินตระกูล B747 ที่ Boeing เคยผลิตมามีหลายโมเดล แต่ละแบบแตกต่างกันที่ขนาด ความยาว ความจุที่นั่ง และสเปกต่างๆ โดยรุ่นที่เด่นๆ ได้แก่ 747SP, 747-100, 747-200B, 747-300, 747-400, 747-400ER, 747-400F, 747-8, VC-25 และ E-4 ซึ่งสองแบบหลังเป็นเวอร์ชันที่พัฒนาขึ้นสำหรับกองทัพ โดย VC-25 ดัดแปลงเป็นเครื่องบิน Air Force One ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ส่วน E-4 เป็นรุ่นที่ใช้เป็นศูนย์ควบคุมและบัญชาการแผนยุทธศาสตร์ทางอากาศ (Airborne Strategic Command and Control Post) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
  • Boeing 747-400 เป็นรุ่นที่ผลิตมากและเป็นที่นิยมสูงสุด จุผู้โดยสารได้มากถึง 524 คน มีระยะความกว้างระหว่างปลายปีกจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งรวม 64.44 เมตร ความยาวลำตัวถึงหางรวม 70.66 เมตร และมีพิสัยบินไกลถึง 14,200 กิโลเมตร
  • นับจนถึงสิ้นปี 2018 Boeing ผลิตเครื่องบิน B747 ทุกโมเดลรวม 1,548 ลำ   
  • โจ ซัตเตอร์ (Joe Sutter) เป็นหัวหน้าวิศวกรผู้มีส่วนสำคัญกับการพัฒนา Boeing 747 จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่ง 747’ เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2016
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising