×

เหตุผล 5 ข้อ หนุนความขัดแย้งอิสราเอล- ปาเลสไตน์ รุนแรงสุดในรอบหลายปี

19.05.2021
  • LOADING...
เหตุผล 5 ข้อ หนุนความขัดแย้งอิสราเอล- ปาเลสไตน์ รุนแรงสุดในรอบหลายปี

สถานการณ์การปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซายังดำเนินไปอย่างดุเดือดด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในฝั่งอิสราเอลแม้จะเสียหายไม่มากเท่ากับฝั่งกาซา แต่ก็นับว่าเสียหายหนักเมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มา ระบบป้องกัน Iron Dome ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ดีที่สุดยังสกัดจรวดของฮามาสได้ประมาณ 90% ส่วนในกาซาซึ่งไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศใดๆ ถูกถล่มหนัก อาคารหลายแห่งถูกขีปนาวุธของอิสราเอลโจมตีราบเป็นหน้ากลอง รวมทั้งอาคารที่ทำการสื่อกว่า 20 สำนัก ทั้งสื่อท้องถิ่นและสื่อใหญ่ต่างประเทศอย่าง Al Jazeera และ AP 

 

การต่อสู้ปะทะกันยืดเยื้อล่วงเลยเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 อย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แม้จะมีการประชุมเร่งด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะให้มีการหยุดยิงของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ปรากฏว่า สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเดียวที่ใช้สิทธิยับยั้งทั้งร่างข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง (แต่มาเปลี่ยนท่าทีเองภายหลัง) เมื่อกลไกสหประชาชาติไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ความรุนแรงครั้งนี้จึงยังคงไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อไร ขณะที่อิสราเอลซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ประกาศจะเดินหน้าปฏิบัติการเต็มกำลังอย่างไม่มีกำหนด 

 

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ รับรองว่า “ปฏิบัติการของอิสราเอลเป็นการป้องกันตนเอง” จนนำไปสู่คำถามมากมายเรื่องความชอบธรรมของการป้องกันตนเองตามที่อิสราเอลกล่าวอ้างว่าชอบหรือไม่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ และปาเลสไตน์มีสิทธิในการป้องกันตนเองหรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกร้องให้อิสราเอลหยุดปฏิบัติการ แต่ขอให้ระมัดระวังไม่ให้กระทบพลเรือน ซึ่งในความเป็นจริงปฏิบัติการทางอากาศในพื้นที่กาซาที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กระทบพลเรือน โดยเฉพาะการโจมตีอาคารจนถล่มลงมาในพริบตา ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางอากาศที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างพลเรือนผู้บริสุทธ์กับเป้าหมายของการโจมตีได้ 

 

การโจมตีของฮามาสเข้าไปในอิสราเอลก็ไม่สามารถควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือนได้เช่นกัน เพียงแค่อิสราเอลอาจได้รับผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา เพราะเทคโนโลยี Iron Dome สกัดไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ 

 

ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิป้องกันตนเอง แต่การอ้างสิทธิของอิสราเอลถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อและรับรองโดยมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มากกว่าสิทธิการป้องกันตนเองของชาวปาเลสไตน์ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบของการโจมตีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้กับพลเรือนได้นั้น หากมองจากแง่มุมกฎหมายมนุษยชนสากล (International Human Rights Law) ที่บังคับใช้ทุกกรณี ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าในยามสู้รบหรือในยามปกติ และกฎหมายมนุษยธรรมสากล (International Humanitarian Law) ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปฏิเสธการละเมิดที่เกิดขึ้นได้ 

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความรุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี เหตุผลหลักๆ ที่หนุนให้ความขัดแย้งครั้งนี้รุนแรงอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อ ดังนี้ 

 

1. การขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านในชุมชน Shiekh Jarrah เยรูซาเลมตะวันออก

 

การขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านในชุมชน Shiekh Jarrah เยรูซาเลมตะวันออก

 

การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ การไล่ที่ การสร้างอาณานิคมชาวยิวในเขตดินแดนปาเลสไตน์ เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว โดยเฉพาะในเขตเวสต์แบงก์ อิสราเอลอาศัยกฎหมายและกระบวนการทางศาลสั่งให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนของตัวเอง แต่กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติต่างๆ ของสหประชาชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นานาชาติรับรู้กันดี แต่ก็ไม่สามารถกดดันอิสราเอลให้ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ เนื่องจากมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่

 

แต่เหตุการณ์ไล่ที่ครั้งนี้เกิดขึ้นในเยรูซาเลมตะวันออก (อาจย้อนดูรายละเอียดในบทความของผู้เขียนก่อนหน้านี้) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกเตรียมให้เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ในอนาคตตามที่หลายฝ่ายคาดหวังจากข้อตกลงออสโลปี 1993 และแนวทางการตั้ง 2 รัฐ (Two States Solution) แต่สุดท้ายอิสราเอลก็เข้ามายึดครอง การดำเนินการฟ้องร้องขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในเขตเยรูซาเลมยังมีอีกหลายร้อยคดี ถ้าชาวปาเลสไตน์ยินยอมถูกขับไล่ก็จะมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันต่อๆ ไป ดังนั้นด้วยความสำคัญของเมืองเยรูซาเลมและชุมชนมุสลิมใน Shiekh Jarrah ที่มีมานาน จึงจุดประกายให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจและเริ่มประท้วง ชาวปาเลสไตน์ยิ่งรู้สึกโกรธแค้นเมื่อมีการใช้กำลังบังคับให้เจ้าของบ้านออกจากพื้นที่ ทั้งที่ศาลสูงสุดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความ หลังศาลแขวงเยรูซาเลมปฏิเสธคำร้องขออุทธรณ์ของครอบครัวชาวปาเลสไตน์

 

2. การใช้กำลังจู่โจมในมัสยิดอัลอักศอเพื่อสลายการชุมนุม

 

การใช้กำลังจู่โจมในมัสยิดอัลอักศอเพื่อสลายการชุมนุม

 

มัสยิดอัลอักศอถือเป็นมัสยิดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เป็นศาสนสถานที่สำคัญลำดับ 3 ของศาสนาอิสลาม รองจากมัสยิดฮารอมในนครมักกะห์และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มัสยิดนี้เดิมเคยถูกกำหนดให้เป็นทิศแรกที่มุสลิมทั่วโลกหันหน้าไปเวลาประกอบพิธีละหมาด ต่อมาเปลี่ยนทิศไปยังนครมักกะห์ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นคำกล่าวพวงท้ายเมื่อมุสลิมเอ่ยนามมูฮัมมัด หมายถึง ขอให้พระองค์เจ้าทรงประทานความสันติแก่ท่าน) ถูกนำตัวขึ้นสู่สรวงสวรรค์ในยามค่ำคืน ซึ่งศาสดาได้แนะนำมุสลิมให้มาเยี่ยมเยือนและประกอบพิธีละหมาด ณ ที่แห่งนี้หากมีความสามารถ ดังนั้นมัสยิดแห่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ในอดีตเคยมีการลอบวางเพลิงมัสยิดแห่งนี้ในปี 1969 จนทำให้โลกมุสลิมตื่นตัวและนำไปสู่การตั้งองค์การการประชุมอิสลาม ที่ต่อมาเรียกว่า OIC (Organization of Islamic Conference ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Organization of Islamic Cooperation) ดังนั้น การใช้ความรุนแรงในมัสยิดอัลอักศอ โดยเฉพาะในช่วงเดือนแห่งความประเสริฐหรือเดือนรอมฎอน จึงเป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมปาเลสไตน์และทั่วโลกไม่พอใจ ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ไล่ที่ จึงทำให้สถานการณ์ยากที่จะควบคุม ซึ่งอาจยกระดับเป็นการทำ Intifada ครั้งที่ 3 หรือการลุกฮือขึ้นประท้วงด้วยมือเปล่าของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด

 

3. การเมืองภายในอิสราเอล เนทันยาฮูยื้อเวลา เสนอเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ผ่าทางตันการเมือง

 

การเมืองภายในอิสราเอล เนทันยาฮูยื้อเวลา เสนอเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ผ่าทางตันการเมือง

 

การเมืองภายในของอิสราเอลอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้หนักหนารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การเมืองอิสราเอลกำลังถึงทางตัน (Political Deadlock) เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งอิสราเอลแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ส่วนเนทันยาฮูก็อยู่ในสถานการณ์ที่แพ้ไม่ได้ เพราะมีคดีความเรื่องทุจริตรออยู่มากมาย ถ้าลงจากอำนาจเมื่อไรก็ต้องไปเผชิญชะตากรรมในศาลต่อ การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา แม้เนทันยาฮูจะได้เสียงข้างมาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ เบนนี แกนตซ์ คู่แข่งของเนทันยาฮูและหน้าพรรค Blue and White ก็เช่นกัน แม้ได้เสียงรองลงมา แต่ก็ไม่พอที่จะตั้งรัฐบาล ปัญหาที่ตั้งรัฐบาลกันไม่ได้คือพรรคการเมืองอนุรักษนิยมและพรรคแนวขวาจัดที่เป็นพันธมิตรกับพรรค Likud ของเนทันยาฮู ไม่ยอมร่วมกับพรรคอาหรับปาเลสไตน์และพรรคอาหรับอิสลามิสต์ ในขณะที่สองพรรคหลังก็ไม่ยอมร่วมกับอีกฝ่ายเช่นกัน โดยจะรวมอยู่กับพรรค Blue and White ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพรรคขวากลาง ซึ่งในสายตาของอาหรับก็ถือว่ายังดีกว่าพรรคขวาจัดของเนทันยาฮู อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ปรากฏว่า เบนนี แกนซต์ ตัดสินใจผ่าทางตันทางการเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดขณะนั้นด้วยการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกับพรรค Likud ของเนทันยาฮู โดยผลัดกันเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคอาหรับปาเลสไตน์ไม่พอใจ พรรคอาหรับอิสลามิสต์ก็ไม่พอใจ สุดท้ายข้อตกลงนี้ก็ล้มเหลวไป

 

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ 4 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า เนทันยาฮูยังได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่ความพิเศษของครั้งนี้คือ 5 เสียงที่โผล่ขึ้นมาใหม่ของพรรค Ra’am ซึ่งเป็นอาหรับอิสลามิสต์ที่เคยถูกคาดกันว่าจะอยู่ในฝ่ายตรงข้ามเนทันยาฮู พรรคนี้เพิ่งได้รับเลือกเข้ามาเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี พรรค Ra’am ของอับบาสจึงกลายเป็นพรรคชี้ชะตาว่าถ้าไปอยู่กับใครคนนั้นก็ตั้งรัฐบาลได้ (Kingmaker) ซึ่งในช่วงแรกอับบาสก็ยังไม่ตอบตกลงและก็ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคขวาจัดของเนทันยาฮูที่มีพรรคยิวขวาร่วมอยู่ด้วย เนทันยาฮูแสดงทีท่าต้องการดึงพรรค Ra’am มาร่วมรัฐบาล แต่ปัญหาคือพรรคยิวขวาจัดไม่ยอมที่จะร่วมด้วย 

 

มีข่าวออกมาว่าในช่วงใกล้ๆ จะครบกำหนดเวลาสำหรับเนทันยาฮูในการรวบรวมเสียงแล้วตั้งรัฐบาลในวันที่ 4 พฤษภาคม (ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการประท้วงที่เกิดขึ้นที่ Shiekh Jarrah หลังพ้นกำหนดให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนในวันที่ 2 พฤษภาคม) เนทันยาฮูหมดหนทางจึงพยายามใช้วิธีสุดท้ายคือขอให้รับไบ (Rabbi) หรือศาสนาจารย์ชาวยิว ช่วยไกล่เกลี่ยให้เกิดการรวมกันให้ได้ระหว่างกลุ่มฝ่ายอิสลามิสต์กับกลุ่มยิวขวาจัด ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่เขาจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรับไบอาวุโสมีความคิดว่าการตั้งรัฐบาลหรือรัฐบาลอิสราเอลต้องเป็น ‘ยิวเท่านั้น จะเป็นคนนอกไม่ได้’ ความพยายามดังกล่าวของเนทันยาฮูที่จะรวมยิวขวาจัดกับพรรคอิสลามมิสต์ ทำให้กลุ่มขวาจัดไม่พอใจเนทันยาฮูไปด้วย และอาจส่งผลต่อการตั้งรัฐบาลของเขาหรือไม่ก็การเลือกตั้งในครั้งหน้า นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูพยายามหาทางออกผ่าทางตันด้วยการเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในขณะที่เหตุการณ์ประท้วงที่ Shiekh Jarrah ก็ปะทุขึ้นเรื่อยๆ

 

วันที่ 5 พฤษภาคม ประธานาธิบดีอิสราเอล ริวเวน ริฟลิน ได้ประกาศให้สิทธิกับ ยิร ลาพีด หัวหน้าฝ่ายค้านจากพรรค Blue and White ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อจะได้ไม่ต้องเลือกตั้งรอบที่ 5 อย่างไรก็ตาม การแสดงท่าทีของเนทันยาฮูที่พยายามจะดึงพรรคอาหรับอิสลามมิสต์มาร่วมรัฐบาล จึงยิ่งเหมือนเป็นการเพลี่ยงพล้ำ ทำให้เขาสูญเสียภาพลักษณ์ทางการเมืองในสายตาของฝ่ายขวาสุดโต่งในอิสราเอลเป็นอย่างมาก ประกอบกับการที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงทำให้นักวิเคราะห์มองว่าอนาคตทางการเมืองของเขากำลังจะจบลงแล้วหลังจากที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2009 ยิ่งไปกว่านั้นอาจติดคุกจากคดีความเรื่องการทุจริตด้วย ดังนั้นเนทันยาฮูจึงต้องการยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อและใช้สถานการณ์ที่รุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เป็นเหตุในการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ได้อยู่ต่อ และเพื่อปลุกกระแสขวาจัดในภาวะสงครามกับฮามาส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ด้วยเหตุนี้เองทำให้เนทันยาฮูประกาศถล่มฮามาสอย่างแข็งกร้าวและไม่ฟังเสียงหรือแรงกดดันใดๆ ในขณะที่ นายพล เบนนี แกนตซ์ จากพรรค Blue and White และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ซึ่งเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับเนทันยาฮู ก็ต้องแสดงผลงานหรือปฏิบัติการทางทหารอย่างดุเดือดเพื่อเรียกคะแนนนิยมในกระแสชาตินิยมที่สูงขึ้นเช่นกัน ตอนนี้ในทางการเมืองคือการแข่งกันแสดงความดุดันในการตอบโต้กลุ่มฮามาสอย่างที่เห็น

 

4. การโจมตีของกลุ่มฮามาสกับศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น 

 

การโจมตีของกลุ่มฮามาสกับศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น 

 

กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1987 มีฐานอยู่ที่ฉนวนกาซา มีเป้าหมายอยู่ที่การปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอล กลุ่มฮามาสเป็นทั้งพรรคการเมืองและมีกองกำลังเป็นของตนเอง เคยชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2006 แต่อิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่ยอมรับผลดังกล่าว และไม่ยอมให้ฮามาสมีอำนาจ ทั้งสองประเทศประกาศให้ฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย โดยในปี 2018 สหรัฐฯ ได้เสนอให้ UN ประณามกลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่ที่ประชุม UN มีเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธ 

 

ในการปะทะกันครั้งล่าสุดเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม จากการที่ฮามาสยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล หลังพ้นกำหนดเส้นตายที่ยื่นให้อิสราเอลยุติการใช้กำลังในมัสยิดอัลอักศอ แม้กำลังและแสนยานุภาพทางอาวุธของฮามาสจะเทียบชั้นไม่ได้เลยกับอิสราเอล แต่ในการปะทะกันครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้อิสราเอลพอสมควร ที่สำคัญคือความสามารถของจรวดที่สามารถทะลวงเข้าไปได้ใกลถึงเทลอาวีฟและพื้นที่สำคัญอื่นๆ และแม้ว่าจรวดส่วนใหญ่จะถูกสกัดได้โดย Iron Dome แต่ก็ยังมีบางส่วนหลุดเข้าไปได้ ความสามารถและพัฒนาการของจรวดฮามาสเช่นนี้ย่อมทำให้อิสราเอลรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงมุ่งเป้าทำลายฮามาสให้เสียหายมากที่สุด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมอิสราเอลไม่หยุดโจมตีและไม่มีท่าทีหยุดยิง แม้ฮามาสจะส่งสัญญาณว่าพร้อมหยุดยิงถ้าอิสราเอลหยุด และพร้อมยกระดับการต่อสู้ถ้าอิสราเอลต้องการ 

 

5. อิสราเอลกับสถานการณ์ที่ต้องป้องปราม

 

อิสราเอลกับสถานการณ์ที่ต้องป้องปราม

 

สถานการณ์ความขัดแย้งล่าสุด นอกจากเกี่ยวโยงกับเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อิสราเอลมีความกังวลกับความมั่นคงทั้งในบ้านและรอบบ้าน กล่าวคือมีพัฒนาการหลายอย่างที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักต่อความมั่นคงของอิสราเอล เช่น การที่ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกำลังเจรจาหาทางคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดนที่ปรากฏมาตั้งแต่ต้นปี กลุ่มติดอาวุธในซีเรียที่อิหร่านหนุนหลังอาจใช้โอกาสนี้เข้าร่วมโจมตีอิสราเอล เพราะที่ผ่านมาอิสราเอลมักโจมตีเข้าไปในซีเรียเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มฮิซบุลลอห์ทางใต้ของเลบานอนที่มีกำลังพร้อมรบกับอิสราเอลอยู่แล้ว หลายประเทศในตะวันออกกลางก็มีการชุมนุมประท้วงอิสราเอล ดังนั้นหากมองแบบนี้อาจทำให้เกิดแนวรบหลายด้านสำหรับอิสราเอลที่อาจรับมือไม่ไหว อิสราเอลจึงเลือกที่จะปฏิบัติการโจมตีเข้าไปในกาซา ถล่มอาคารบ้านเรือน สำนักงานผู้สื่อข่าว ฯลฯ จนราบคาบในพริบตาด้วยขีปนาวุธศักยภาพสูง เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก อีกทั้งยังแจ้งสื่อล่วงหน้าด้วย อันสะท้อนให้เห็นไม่เพียงเฉพาะแสนยานุภาพในการทำลายล้างเท่านั้น แต่อีกด้านคือกฎหมายระหว่างประเทศและสหประชาชาติทำอะไรอิสราเอลไม่ได้ มหาอำนาจและชาติตะวันตกจำนวนมากเลือกที่จะสนับสนุนหรือไม่ก็เงียบ ปฏิบัติการเช่นนี้คือลักษณะหนึ่งของการป้องปรามกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ อีกทั้งยังได้โจมตีฮามาสด้วย 

 

ทั้งหมดนี้คือ 5 เหตุผลหลักที่ทำให้สถานการณ์ครั้งนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะจบลงอย่างไร หรือบานปลายไปสู่จุดไหน ยังต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising