×

4 ปี คสช. เลื่อนเลือกตั้ง 4 ครั้ง จากปลายปี 2558 สู่กุมภาพันธ์ 2562

25.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • THE STANDARD ย้อนเหตุการณ์และเหตุผลการเลื่อนเลือกตั้งของ คสช. ตลอดช่วง 4 ปีที่มีอำนาจ
  • โรดแมปเลือกตั้งที่ชัดที่สุดออกจากปากพลเอก ประยุทธ์ กลางทำเนียบรัฐบาลว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่แล้วก็มีเหตุให้เลื่อนไปอีกครั้ง

‘ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป’ คือคำพูดที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มักจะตอบผู้สื่อข่าวทุกครั้งเมื่อถูกถามถึงการเลือกตั้ง

 

ตลอดการมีอำนาจของ คสช. 4 ปี มีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง ทั้งด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุผลเทคนิคทางกฎหมาย

 

THE STANDARD ขอพาย้อนกลับไปทบทวนทั้งเหตุการณ์และเหตุผลเหล่านั้นอีกครั้ง

 

 

เลื่อนครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอก ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

 

ในเวลานั้น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นำทีมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา

 

แต่แล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 สปช. มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ด้วยมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7

 

ต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยภายหลังบวรศักดิ์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า “สมัยที่ผมเป็นประธาน กมธ. ยกร่างฯ แล้วร่างถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำ ผมเสียใจ แต่แค่วันเดียว คือวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 พอกลับมาคิดได้ก็รู้ว่าเขาอยากอยู่ยาว ยอมรับว่ามาอยู่ตรงนี้เปลืองตัว แต่ทำเพื่อชาติ ตอนนี้ก็มีความสุขดี ได้เลี้ยงหลาน”

 

เลื่อนครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวกับ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2558

 

ในเวลานั้น มีชัย ฤชุพันธุ์ รับหน้าที่นำทีมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มประชุมนัดแรก 6 ตุลาคม 2558 จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559

 

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกำหนดไว้ในมาตรา 267 ว่า กรธ. จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

 

เป็นที่มาของสูตรโรดแมปเลือกตั้ง 6+4 และ 8+5 คือร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จากนั้นร่างกฎหมายลูก 8 เดือน และอีก 5 เดือนสำหรับจัดการเลือกตั้ง

 

ดังนั้นในเวลานั้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2560 แต่อย่างที่ทราบกันว่าการเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เลื่อนครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561

แต่แล้วการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

 

ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือนจึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้

 

ตามโรดแมปนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับภายในเดือนมกราคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561

 

เลื่อนครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 กลับสู่ความไม่ชัดเจน

โรดแมปการเลือกตั้งของ คสช. ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

 

โรดแมปนี้สอดรับกับกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ และดูมีความเป็นไปได้อย่างมากที่สุด สำหรับการประกาศวันเลือกตั้งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากพลเอก ประยุทธ์ บินไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งยังมีต่อเป็นระยะ โดยมีกระแสข่าวว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง โรดแมปเลือกตั้งก็ต้องขยับเลื่อนออกไปทันที

 

ในที่สุดสัญญาณเลื่อนเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้ เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

 

ขณะที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น

 

ดังนั้นโรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมอีกครั้ง มากที่สุดคือ 3 เดือน จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

วันเดียวกันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วันคงไม่กระทบการเลือกตั้งมาก เพราะจะจัดการเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น  

 

ทั้งนี้หากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน แล้วให้บังคับใช้ 90 วัน คือเดือนกันยายน จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้าบังคับใช้ภายใน 120 วัน จะบวกเพิ่มไปอีก 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเวลา รัฐบาลจะสามารถประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งได้เมื่อใดในเดือนมิถุนายน 2561

 

ส่วนจะสามารถการันตีได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น นายวิษณุกล่าวว่าตนไม่มีหน้าที่การันตี แต่ถ้ามีการเลื่อนอีก ต้องแก้ไขกฎหมายโดยออกเป็น พ.ร.บ. แต่ไม่คิดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะโดยพฤตินัยและนิตินัยแล้วทำได้ยาก และไม่คิดที่จะออกมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย

 

รัฐบาลพูดรับรองไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกอย่างก็จะต้องช้าออกไป” นายวิษณุกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising