×

ส่องความเห็นสื่อนอก หลังพิธาพ่ายโหวตนายกฯ ชี้ ‘พันธมิตรรัฐบาลขั้วเดิม’ ปฏิเสธผลเลือกตั้งของคนไทย

14.07.2023
  • LOADING...

การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นที่สนใจของสื่อต่างชาติหลายสำนัก ซึ่งมองผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบ ‘พลิกโผ’ ของหลายฝ่ายว่าเป็นการ ‘จุดประกายความหวัง’ ของคนไทยจำนวนมาก ที่ลงคะแนนเลือกพรรคก้าวไกลและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เข้าทำหน้าที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ

 

แต่ความหวังนั้นกลับเริ่มสั่นคลอน หลังผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาวานนี้ (13 กรกฎาคม) ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ต้องได้คะแนนโหวตจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 375 เสียง ปรากฏว่าพิธาได้เสียงโหวตไป 324 เสียง ไม่เพียงพอสำหรับเก้าอี้นายกฯ และต้องลุ้นกันอีกครั้งในการโหวตเลือกนายกฯ รอบต่อไป 

 

และนี่คือรายงานบางส่วนจากสื่อต่างชาติที่เกาะติดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของคนไทย ในวันที่ ‘ผู้ชนะเลือกตั้งอาจไม่มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี’

 

ชนะเลือกตั้ง แต่พ่ายโหวตนายกรัฐมนตรี

 

  • เว็บไซต์นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่า “ผู้ชนะเลือกตั้งของไทย ล้มเหลวในการโหวตรอบแรกของสภาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยถือเป็นการพ่ายแพ้อีกครั้งของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยของไทย 

 

  • มาร์ค เอส. โคแกน รองศาสตราจารย์ด้านสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่น ชี้ว่า ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยนั้นสามารถคาดเดาได้ทั้งหมด 

 

  • “สำหรับผู้ที่คาดหวังว่าผลลัพธ์ของประชาธิปไตยจะมาจากระบอบประชาธิปไตยปลอมๆ ที่หลอกลวง ความคาดหวังของพวกเขานั้นเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน” โคแกนกล่าว และชี้ว่าผลที่ออกมาจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป “จนกว่าอุปสรรคด้านการเลือกตั้งและทางกฎหมาย ซึ่งขัดขวางการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างราบรื่น จะถูกขจัดออกไป”

 

  • ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมองว่าอนาคตของไทยยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก เนื่องจากตัวเลือกมากมายยังคงอยู่บนโต๊ะสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยพิธายังมีโอกาสคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการลงคะแนนเสียงรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม

 

  • ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า “ผลโหวตที่ออกมาเน้นย้ำถึงความคิดที่มีมาช้านานว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะได้รับอนุญาตให้เจริญได้ก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องหรือไม่คุกคามต่อระเบียบทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้น”

 

  • ด้าน BBC รายงานด้วยข้อความคล้ายกันว่า “นักปฏิรูปผู้ชนะการเลือกตั้งของไทย ล้มเหลวในการได้เสียงโหวตในสภามากพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”

 

  • BBC ชี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าพิธาจะสามารถหาเสียงโหวตมาเพิ่มได้เท่าไร ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยจะปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อความหวังของคนไทยหลายล้านคนสำหรับการเริ่มต้นใหม่ของประเทศดูจะริบหรี่ลง

 

  • “คุณมีองค์ประกอบมากมายสำหรับประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยที่สุดคุณต้องมีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งนั้นควรมีความหมายบางอย่าง ทำไมฉันจะต้องลำบากมาลงคะแนน เพราะคะแนนเสียงของฉันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว” หนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลกล่าวด้วยความขมขื่น

 

พันธมิตรรัฐบาลขั้วเดิมปฏิเสธผลการเลือกตั้งของไทย

 

  • ทางด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times พาดหัวข่าวว่า “พันธมิตรรัฐบาลขั้วเดิมปฏิเสธผลการเลือกตั้งของไทย” พร้อมชี้ถึงประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จัดการกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจด้วยการสนับสนุนพรรคก้าวไกล”

 

  • The New York Times ยังชี้ถึงสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นปัจจัยสำคัญในการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยเรียกว่าเป็น “วุฒิสภาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ (Military-Backed Senate)” ซึ่งหมายถึงที่มาของ ส.ว. จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 

 

  • ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพ่ายโหวตนายกรัฐมนตรีของพิธาในครั้งนี้ว่า เป็น ‘เดจาวู (Déjà Vu)’ หรือความรู้สึกที่คล้ายกับว่าเคยเห็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้ว โดยหมายถึงวงจรการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งการประท้วง การรัฐประหาร และการปราบปรามต่างๆ

 

  • ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวอีกว่า “มีรูปแบบการดำเนินการเพื่อต่อต้านความเคลื่อนไหวในทางก้าวหน้าในการเมืองไทย” และการตอบโต้นั้นกลับมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงการยุบพรรคการเมือง และการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวเต็ง

 

สัปดาห์หน้าจะเกิดอะไรขึ้น?

 

  • TIME ชี้ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า มีทั้งความเป็นไปได้ของคู่แข่งชิงนายกรัฐมนตรีรายใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของพรรคแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม

 

  • “สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่จุดจบของทุกสิ่ง” ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกับ TIME โดยชี้ไปที่การพิจารณาคดีของศาลที่รอดำเนินการเกี่ยวกับพิธาและพรรคก้าวไกล รวมถึงโอกาสของพรรคก้าวไกลในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบต่อไป 

 

  • “ผมไม่คิดว่าจะมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจริง หากศาลไม่ตัดสินใจสรุปคดีของพิธา” เขากล่าว

 

  • โดย TIME ยังชี้ความเห็นผู้เชี่ยวชาญหลายราย ที่มองว่าการพลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธา ซึ่งดูเหมือนจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้นจากการโหวตวานนี้ อาจจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

 

  • “ในระยะยาว ความคับข้องใจและความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่รู้สึกว่าแรงบันดาลใจในระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาถูกบั่นทอน อาจนำไปสู่การนัดชุมนุมในวงกว้าง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง” ณพลกล่าว และมองว่า

 

  • “การขาดเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับความคับข้องใจของพวกเขาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงผ่านทางรัฐสภา อาจบั่นทอนความไว้วางใจของสาธารณชนต่อสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ และนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้ต่อกระบวนการประชาธิปไตย”

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising