เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันดีของการบินเชิงพาณิชย์ เพราะในปี 2560 ที่ผ่านมา จากการสำรวจขององค์กรหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการโดยสารด้วยการบินพบว่า สถิติจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากการโดยสารเครื่องบินนั้นลดลงสูงสุดในรอบ 20 ปี
แต่กระนั้นแล้วถึงแม้สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการบินจะน้อยลง แต่กลับมีข้อโต้แย้งขึ้นมาว่า “มันก็ไม่ได้ปลอดภัยขึ้นสักหน่อย?” THE STANDARD จึงรวบรวมสถิติและหลากแง่มุมของอุบัติเหตุทางการบินมาให้คุณได้ร่วมไขข้อข้องใจดังกล่าวไปด้วยกัน
สถิติอุบัติเหตุลดลงจากปีก่อน
หากเมื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรายงานของ Aviation Safety Network หรือ ASN พบว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบินทั่วโลกเพียง 10 ครั้ง รวมมีผู้เสียชีวิตจำนวน 79 ราย ซึ่งน้อยลงกว่าปี 2559 ที่มีอุบัติเหตุถึง 16 ครั้งและมีจำนวนผู้เสียชีวิต 303 ราย โดยอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดในปีที่ผ่านมาคือเหตุการณ์เครื่องบินบรรทุกสินค้า Boeing 747 ของตุรกีตกลงในหมู่บ้านหนึ่งในประเทศคีร์กีซสถาน ในเดือนมกราคม ทำให้ลูกเรือทั้ง 4 รายเสียชีวิตทั้งหมด รวมไปถึงมีชาวบ้านบนภาคพื้นดินเสียชีวิตอีก 33 ราย ส่วนอุบัติเหตุล่าสุดส่งท้ายปีเก่าในวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมาในคอสตาริกา เมื่อเครื่องบินท่องเที่ยวลำหนึ่งเกิดตกลงทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย โดย 5 ใน 12 รายเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างสืบหาสาเหตุการตก)
อุบัติเหตุเกิดน้อยที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ
แม้จะฟังดูแล้วน่ากลัวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบินในปีที่ผ่านมา แต่กลับกันทางด้าน Aviation Safety Network เว็บไซต์ชื่อดังซึ่งติดตามเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการบินยังคงออกมาบอกว่า สถิติของอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตอันเกี่ยวข้องกับการบินนั้นลดลงมากที่สุดในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2005 ซึ่งมีปริมาณผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 รายรอบโลก
“นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา พบว่าสถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบินมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนั้นต้องขอบคุณองค์กรการบินระหว่างประเทศ ที่คอยรณรงค์และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ อย่างเช่น ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) หรือ IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ)” ฮาร์โร แรนเตอร์ (Harro Ranter) ประธานของ Aviaition Safety Network กล่าว
โดยสถิติของ ASN ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการโดยสารเครื่องบินพบว่า ใน 7,360,000 เที่ยวบินจะมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น ส่วนในขณะที่ทาง To70 บริษัทที่ปรึกษาการบินระดับโลกในเนเธอร์แลนด์กลับมีสถิติที่น่าสนใจกว่า โดยกล่าวว่า ในเที่ยวบิน 12 ล้านเที่ยวบินจะมีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวเท่านั้น
ความกังวลลำดับถัดไป
ถึงแม้สถิติของอุบัติเหตุทางการบินจะลดลงเป็นประวัติการณ์จนเรียกได้ว่าเป็น “ปีที่ปลอดภัยที่สุดของการบินเชิงพาณิชย์” ก็ตาม แต่ เอเดรียน ยัง (Adrian Young) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเรื่องการบินจาก To70 ยังคงบอกว่า “ในธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงเช่นกันที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก”
แต่สาเหตุหลักอาจไม่ใช่เรื่องของระบบการบิน แต่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น อย่างเช่นกรณีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในโทรศัพท์มือถือเกิดติดไฟขึ้นจากความขัดข้องของระบบขณะอยู่บนเครื่องบิน หรือกรณีพาวเวอร์แบงก์หรือแบตเตอรี่สำรองเสื่อมคุณภาพระเบิดเนื่องจากความร้อนสูง
ทั้งนี้ยังรวมไปถึงสุขภาพกายและใจของผู้ให้บริการในเที่ยวบิน อย่างนักบิน ผู้ช่วยนักบิน หรือลูกเรือที่คอยให้บริการอยู่บนฟ้า ซึ่งความเครียดหรือความกังวลในการทำงานอาจส่งผลกระทบต่อพวกเขาซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในอุตสาหกรรมการบินนี้
อย่างไรก็ตาม เราขอให้ปี 2561 นี้เป็นอีกปีที่ปลอดภัยกว่าเดิมจากการโดยสารเครื่องบินก็แล้วกัน
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง:
- to70.com/to70s-civil-aviation-safety-review-2017
- www.bbc.com/news/business-42538053
- www.reuters.com/article/us-aviation-safety/2017-safest-year-on-record-for-commercial-passenger-air-travel-groups-idUSKBN1EQ17L
- ถึงแม้จะมีอุบัติเหตุทางการบินถึง 10 ครั้งในปีที่ผ่านมา แต่มีเพียง 3 ใน 10 ครั้งเท่านั้นที่เป็นอุบัติเหตุของเที่ยวบินของสายการบินเชิงพาณิชย์ที่ขนส่งผู้โดยสาร
- ทาง ASN ระบุว่า พวกเขาไม่ได้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบินของกองทัพหรือเครื่องบินเล็ก ดังนั้นเหตุการณ์เครื่องบินขนส่งทหารของเมียนมาตกและมีผู้เสียชีวิต 122 รายจึงไม่รวมอยู่ในตัวเลขดังกล่าว
- คุณควรเช็กปริมาณความจุของแบตเตอรี่สำรองทุกครั้งก่อนบิน ไม่ว่าจะบินใกล้บินไกล โดยปริมาณที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 32,000 มิลลิแอมป์ และอย่าเผลอลืมนะว่า คุณไม่ควรโหลดมันไว้ในกระเป๋าสัมภาระใต้ท้องเครื่อง