×

2 วันในปัตตานี / ปาตานี ท่องไปในแดนลังกาสุกะจนถึงรัฐอิสลาม เปลี่ยนการรับรู้เป็นความเข้าใจ

16.04.2021
  • LOADING...
2 วันในปัตตานี / ปาตานี ท่องไปในแดนลังกาสุกะจนถึงรัฐอิสลาม เปลี่ยนการรับรู้เป็นความเข้าใจ

HIGHLIGHTS

  • ประวัติศาสตร์ปัตตานีนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเชื่อมโยงกับการเมืองในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอน เช่น สมัยลังกาสุกะ ศรีวิชัย และปัตตานีสมัยรับศาสนาอิสลาม เป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของคนปัตตานี ในขณะที่ประวัติศาสตร์ช่วงนับจากสยามปกครองแล้วเป็นประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด และเป็นบาดแผล หากยังไม่รู้จักกันดีก็ยากที่จะเล่าให้ฟัง 
  • โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงนับจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้นโยบายชาตินิยมและการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ จนทำให้รู้สึกถึงความเคารพต่อวัฒนธรรมและตัวตนของคนในพื้นที่

2 วันนั้นไม่พอแน่ที่จะรู้จักปัตตานี แต่ถึงอย่างนั้นก็มากพอที่จะซึมซับความรู้สึกบางอย่าง และเปลี่ยนความทรงจำมีต่อ ‘ปาตานี’ ชื่อที่คนในพื้นที่เรียกขานตนเอง ได้พอสมควร 

 

ผมเชื่อว่าถ้ามีใครสักคนเอ่ยปากชวนคุณไปเที่ยวปัตตานี สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือ ความรู้สึกอันตราย เสี่ยงระเบิด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เองที่กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การท่องเที่ยวไม่เกิดขึ้นในปัตตานี รวมถึงอีกสองจังหวัดคือยะลาและนราธิวาส แต่ความรับรู้ที่ว่ามานี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอกครับที่จะลบล้างไปได้ง่ายๆ เพราะต้องยอมรับว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่พวกเรารับผ่านสื่อมาหลายสิบปี

 

เมื่อปลายเดือนก่อน ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ หรือ เสือ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ตระหนักถึงปัญหาข้างต้น และมีใจอยากพัฒนาปัตตานีทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ จึงได้ทำงานวิจัยเรื่อง ‘มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมลายูปัตตานีสู่ศิลปะการออกแบบสื่อร่วมสมัยเพื่อการสร้างความเข้าใจในบริบทของพื้นที่’ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ (Images and Perceptions) ได้โพสต์ Facebook ชวนคนไปเที่ยวปัตตานี ซึ่งผมรู้สึกว่าโอกาสแบบนี้หาได้น้อย เพราะไม่ต้องจัดการวางแผนเที่ยวเอง ได้ไปศูนย์กลางของลังกาสุกะ อาณาจักรโบราณกว่าพันปี เรียนรู้วัฒนธรรมมลายูปัตตานี แถมยังมีนักวิชาการท้องถิ่นอธิบายข้อมูลเชิงลึกอีก จึงเบียดบังเวลาของตัวเอง 2 วัน (วันที่ 29-30 มีนาคม) ที่ผ่านมาลงไปเที่ยวปัตตานี 

 

เครื่องกีดขวางบนถนนสายหนึ่งของปัตตานี ภาพอันชินตาที่สะท้อนความไม่ปกติของพื้นที่

เครื่องกีดขวางบนถนนสายหนึ่งของปัตตานี ภาพอันชินตาที่สะท้อนความไม่ปกติของพื้นที่

 

ครั้งแรกกับปัตตานี

ระหว่างนั่งเครื่องบินจากดอนเมืองไปลงหาดใหญ่เพื่อต่อรถไปปัตตานี ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงบรรยากาศเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่ได้ไปดูแหล่งโบราณคดีทางตอนเหนือของปากีสถานในเขตหุบเขาสวัต (Swat Valley) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มตาลีบันเคยยึดครอง 

 

หุบเขาสวัตเป็นพื้นที่สำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกของโลก พื้นที่แถบนี้จึงเต็มไปด้วยสถูป เจดีย์ พระพุทธรูป และประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธมากมาย สำหรับคนที่สนใจงานประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือเป็นพุทธศาสนิกชนไม่ควรพลาดเลยหลังโควิด-19 ต้องไปครับ แต่ขณะเดียวกัน พื้นที่แถบนี้ก็เต็มไปด้วยผู้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่มีชาวพุทธเลย แต่มรดกทางวัฒนธรรมพวกนี้กลับได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากคนท้องถิ่น ยกเว้นแค่พวกตาลีบันเท่านั้นที่ทำลาย 

 

ปัตตานีเองก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหุบเขาสวัตมากนัก ตรงที่ก่อนที่ชาวปัตตานีจะรับนับถือศาสนาอิสลามกันนั้น ดินแดนบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเก่าแก่ยุคต้นประวัติศาสตร์มีชื่อว่า ลังกาสุกะ ซึ่งยังคงปรากฏซากโบราณสถานหลายสิบแห่ง แต่พื้นที่ปัตตานีก็อย่างที่ทราบกันว่าประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งครัด ความย้อนแย้งแบบนี้จึงทำให้ในสายตาของผม ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากกว่าแค่มีโบราณสถานเนื่องในศาสนาพุทธและพราหมณ์ยุคต้นของแหลมทองเท่านั้น เพราะมันยังเกี่ยวข้องกับการปะทะกันของอดีตกับปัจจุบันอีกด้วย 

 

รถตู้มารับผมที่สนามบิน แวะรับคนอีก 7 คน ผมจำชื่อคนในรถไม่ค่อยได้ เพราะปกติเป็นคนจำชื่อคนได้ไม่นาน นับเป็นข้อเสียที่แก้ไม่หาย กว่าจะรับคนเสร็จ เสียเวลากับรถติดในหาดใหญ่ ก็เกือบจะ 9 โมงครึ่งแล้ว ทำให้เราถึงปัตตานีเกือบ 11 โมง สิ่งที่สังเกตตั้งแต่เริ่มเข้าเขตปัตตานีก็คือ ด่านตรวจของทหารหลายด่าน ซึ่งแต่ละด่านก็มีกระสอบทราย ป้อม ตาข่ายกันระเบิด และทหารอาวุธครบมือ ส่วนด่านในตัวเมืองซับซ้อนขึ้นมาหน่อย มียางรถยนต์ทาสีขาวแดงกั้นถนน เพื่อให้รถต้องวิ่งซิกแซก บางที่มีรถฮัมวีขนาดใหญ่ประจำการก็มี

 

ผมเชื่อว่าคนในพื้นที่คงมองเป็นเรื่องชินตากันไปแล้ว แต่ในความชินตานั้นก็คงไม่อยากให้อะไรพวกนี้มีอยู่ในพื้นที่เป็นแน่ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของสงครามและชีวิตอันไม่ปกติ ส่วนคนนอกที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ไปในพื้นที่ที่เคยมีการสู้รบ หรือเป็นชายแดนมาก่อน คงรู้สึกกลัว และตั้งคำถามกับเรื่องความปลอดภัยมากมาย 

 

ราว 11 โมง พวกเราถึงที่นัดหมายจุดแรกคือ เซลามัต โฮม ซึ่งเป็นพื้นที่คล้ายกับโคเวิร์กกิ้งสเปซ โดยมีคุณเขมะจิตต์ นิวาศะบุตร เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดีมาก หลังจากคุณเสือบอกความตั้งใจของการทำโครงการที่พาคนมาเที่ยวปัตตานี ซึ่งมีเป้าหมายหลักๆ คือการพาคนที่ไม่เคยมาปัตตานีและมีความกังวลต่อสถานการณ์ในพื้นที่มาเที่ยว ทั้งนี้เพื่อให้เห็นปัตตานีจริงๆ ไม่ใช่เห็นผ่านสื่อ ซึ่งสื่อนั้นเสนอแต่ข่าวความรุนแรงเท่านั้น ทำให้คนทั่วไปมีภาพเชิงลบกับปัตตานี 

 

ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ หรือ เสือ กำลังบอกเล่าวัตถุประสงค์ของทริปนี้ ข้างๆ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง

ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ หรือ เสือ กำลังบอกเล่าวัตถุประสงค์ของทริปนี้ ข้างๆ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง

 

หลังจากคุณเสือพูดเสร็จ ก็ถึงรายการของการฟังบรรยายประวัติศาสตร์ปัตตานีอย่างย่นย่อ โดยมี ตึงกูอารีฟีน บินตึงกูจิ หรือ พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม นักประวัติศาสตร์และปราชญ์ท้องถิ่นของปัตตานีเป็นคนเล่า ด้วยเวลาน้อยมากเพียง 20 นาที ทำให้เราไม่ได้ฟังเรื่องเล่าในยุคอิสลามมากเท่าไร แต่โดยสรุปแล้ว ประวัติศาสตร์ของปัตตานีนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงเวลาหลักๆ คือ 

 

ยุคแรกเป็นยุคลังกาสุกะ-ศรีวิชัย อันเป็นช่วงที่ปาตานีนับถือศาสนาพรามหณ์-พุทธ เติบโตจากการเป็นพ่อค้าคนกลางควบคุมเครือข่ายทางการค้าระหว่างเปอร์เซีย-อินเดีย-จีน 

 

ยุคที่สอง เป็นยุคของการนับถือศาสนาอิสลามที่เริ่มรับกันในสมัยพญาตูนักปา อินทิรา มหาวังสา หรือ สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ที่ปกครองปัตตานีระหว่าง พ.ศ. 2043-2073 (ส่วนใหญ่คนทางปัตตานีเล่าและเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จะนิยมใช้ ค.ศ. มากกว่า)

 

ยุคที่สามที่ปัตตานีถูกผนวกรวมเข้ากับกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์และมาถูกปกครองอย่างเด็ดขาดในสมัยรัชกาลที่ 5 

 

ประวัติศาสตร์สองยุคแรกถูกเน้นมากหน่อย เท่าที่สังเกต โทนเหมือนกับทั้งสองช่วงเวลานี้ถือเป็นยุคอันรุ่งเรือง เปรียบได้กับยุคทองของปัตตานี แต่ด้วยเวลาที่กระชั้น ทำให้ยุคที่สามไม่ค่อยมีเวลาเล่ามาก ถึงอย่างนั้นก็มีการกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการจัดมณฑลเทศาภิบาล และการลดอำนาจของปัตตานีจนมีสถานะเป็นจังหวัด 

 

ความจริงประวัติศาสตร์ของปัตตานีนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน การต่อสู้กับภาครัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังจากที่เจ้าเมืองปัตตานีองค์สุดท้ายหนีไปยังกลันตัน และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ผมใช้เวลาอ่านหนังสืออยู่หลายวันเพื่อจะเขียนบทความนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้าหากคนไทยทั่วไปได้เข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานีอีกชุดหนึ่ง และมองเห็นเรื่องราวที่มากขึ้นมากกว่าประวัติศาสตร์แบบสยามปกครองปัตตานี และปราบปัตตานีเพราะเป็นกบฏ จะช่วยทำให้เราเข้าใจคนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน

 

โบราณสถานยุคลังกาสุกะ-ศรีวิชัย ที่บ้านจาเละ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน เพราะขุดพบพระโพธิสัตว์สำริดและสถูปดินเผาจำนวนมาก บ่งบอกถึงการติดต่อกับอินเดียและชวาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14-16

โบราณสถานยุคลังกาสุกะ-ศรีวิชัย ที่บ้านจาเละ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน เพราะขุดพบพระโพธิสัตว์สำริดและสถูปดินเผาจำนวนมาก บ่งบอกถึงการติดต่อกับอินเดียและชวาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14-16

 

เมืองโบราณยะรัง รัฐยุคแรกเริ่มของภาคใต้ 

ถัดจากฟังบรรยาย ผมก็ได้ไปยังเมืองโบราณยะรัง ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ การค้าระหว่างอินเดียกับจีนในยุคต้นไม่แล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกา เพราะโจรสลัดชุกชุม (สลัด แปลว่า ช่องแคบ) ทำให้เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรได้รับความนิยม ซึ่งปัตตานีมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปยังเคดะห์ (ไทรบุรี) เป็นเส้นทางที่สะดวก สามารถลำเรียงสินค้าด้วยช้างและลูกหาบได้ ทำให้เป็นรัฐที่เติบโตขึ้นในยุคต้นประวัติศาสตร์ อายุสมัยรุ่นราวคราวเดียวกันกับรัฐทวารวดีหรืออาจเก่าก่อนหน้านั้น 

 

เมืองปาตานีโบราณมีชื่อในเอกสารอินเดียว่า ‘ลังกาสุกะ’ หรือในเอกสารจีนเรียกว่า ‘หลั่งยะสิว’ (มีหลายสำเนียง) ซึ่งในยุคต้นเป็นรัฐอิสระ เกิดก่อนศรีวิชัย เห็นได้จากเคยส่งทูตไปจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ. 1045-1100) จากนั้นจึงค่อยถูกผนวกเข้าสู่เครือข่ายการเมืองการค้าของอาณาจักรศรีวิชัย 

 

โบราณสถานในยุคลังกาสุกะ-ศรีวิชัยนี้ปรากฏอยู่ในเขตที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘เมืองโบราณยะรัง’ (อยู่ในเขตบ้านประแว บ้านจะเละ และบ้านวัด) ซึ่งมีโบราณสถานรวมกันกว่า 40 แห่ง หรืออาจมากกว่านั้น ถือว่าหนาแน่นที่สุดในเขตภาคใต้-มาเลเซีย แต่ได้รับการขุดค้นและบูรณะเพียง 6-7 แห่งเท่านั้น รู้มาจากเจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานว่าที่เหลืออยู่ในที่ดินของเอกชน ซึ่งอยากวิงวอนให้หน่วยงานของจังหวัดปัตตานีและเศรษฐีของปัตตานีควรเร่งเจรจาลงขันซื้อที่ดิน เพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมนี้โดยเร็ว

 

ป้ายอธิบายประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณยะรัง ซึ่งน่าชื่นชมที่มีภาษามลายูด้วย บ่งบอกถึงการเคารพคนในพื้นที่

ป้ายอธิบายประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณยะรัง ซึ่งน่าชื่นชมที่มีภาษามลายูด้วย บ่งบอกถึงการเคารพคนในพื้นที่

 

คุณจรูญออกตัวว่าโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์-พุทธนี้เขาไม่ค่อยรู้มากเท่าไรนัก แต่ในวันที่เราไปทัศนศึกษานี้ โชคดีที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่โบราณสถานหมายเลข 2 บ้านจาเละพอดี ทำให้มีนักโบราณคดีของกรมศิลปากรคือ อภิรัฐ เจะเหล่า หรือ หลี กำลังควบคุมการขุดค้นอยู่พอดี จึงทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับชั้นดิน หลักฐานทางโบราณคดี และอายุสมัยของเมืองโบราณแห่งนี้มากขึ้น การขุดค้นโบราณสถานนี้พิเศษหน่อยตรงที่มีการร่อนดินทั้งหมดด้วยน้ำ ทำให้พบลูกปัดเป็นจำนวนมาก ลูกปัดพวกนี้ผลิตขึ้นในเขตภาคใต้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับแสดงความสวยงามและฐานะ ขณะเดียวกันในแง่มุมทางโบราณคดีก็บ่งบอกว่าดินแดนนี้มีความมั่งคั่ง และรับค่านิยมมาจากอินเดีย 

 

โบราณสถานหมายเลข 2 ที่เมืองโบราณยะรัง เหลือเพียงฐานอาคารที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งคล้ายคลึงกับโบราณสถานบางแห่งที่เขาคา นครศรีธรรมราช และที่เมืองศรีมโหสถ ปราจีนบุรี

โบราณสถานหมายเลข 2 ที่เมืองโบราณยะรัง เหลือเพียงฐานอาคารที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งคล้ายคลึงกับโบราณสถานบางแห่งที่เขาคา นครศรีธรรมราช และที่เมืองศรีมโหสถ ปราจีนบุรี

 

อภิรัฐ เจะเหล่า (คนขวาสุด) นักโบราณคดีชำนาญการของกรมศิลปากร กำลังบรรยายหลักฐานที่พบจากการขุดค้นโบราณสถานในเมืองยะรัง เขานับเป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวมุสลิมที่ทำงานโบราณคดีกับโบราณสถานเนื่องในศาสนาพุทธ

 

เสียดายที่เวลาของเราน้อยเกินไป ซึ่งผมก็ทำใจกับการเที่ยวปัตตานีคราวนี้อยู่แล้ว เหมือนเป็นการเซอว์เวย์เพื่อกลับไปเที่ยวใหม่ครั้งหน้า เมื่อขึ้นรถตู้ผมได้ถามกับคุณจรูญและคนอื่นๆ ว่า ทัศนะของคนในท้องถิ่นมองโบราณสถานเหล่านี้อย่างไร จึงทราบว่า ชาวมลายูมุสลิมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะถือว่าเป็นโบราณสถานของศาสนาอื่น ทีแรกฟังก็คิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่ยอกย้อนกว่านั้น เช่น โบราณสถานพวกนี้ยังไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับคนในพื้นที่จึงทำให้ไม่สนใจกัน 

 

แต่ตกเย็นก็มาได้ทราบจากรุ่นน้องคนหนึ่งกับสามีของเธอที่เป็นคนปาตานีว่า คนในพื้นที่บางครั้งก็มีทัศนะว่า โบราณสถานพวกนี้เป็นของศาสนาอื่น หากไปเรียนรู้ก็จะเป็นการละเมิดต่อความเชื่อในศาสนาอิสลาม ผมจึงคิดว่าคนในพื้นที่คงต้องมีที่คิดอะไรแบบนี้กันอยู่บ้างพอสมควร 

 

เมื่อครั้งที่ผมไปปากีสถานนั้น ผมทึ่งมากกับความรู้ในศาสนาพุทธของภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์สวัต (Swat Museum) ซึ่งเขาเป็นมุสลิม ผมจึงถามเขาว่า การที่รู้เรื่องราวในศาสนาพุทธและสามารถอธิบายโบราณวัตถุทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงโบราณสถานได้ดีแบบนี้ถือว่าเป็นการละเมิดหรือผิดต่อศาสนาอิสลามหรือไม่ 

 

คำตอบที่ผมได้จากเขาก็คือ ไม่ผิด เพราะทั้งหมดนี้คือมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ของปากีสถานและคนสวัต ซึ่งเป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว โดยเราไม่สามารถปฏิเสธถึงการมีอยู่ของอดีตที่มาก่อนเราได้ สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นคือการเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการเล่านี้จะทำให้ลดความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามลง และสิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักการแยกอดีตกับปัจจุบันให้ออกจากกัน 

 

เป็นคำตอบที่ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่คิดว่าวันหนึ่งคำพูดของภัณฑารักษ์นั้นจะกลับมาดังในหัวอีกครั้งหนึ่ง และมันทำให้คิดว่าวันหนึ่งผมอยากจะลงไปใช้ความรู้เท่าที่มีทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อช่วยพัฒนาปัตตานี เพราะสันติสุขจะเกิดขึ้นได้หากรู้จักการแบ่งปัน 

 

รับศาสนาอิสลาม สุสานปฐมกษัตริย์ และราชินี 3 พี่น้อง

ศาสนาอิสลามเข้ามายังดินแดนปาตานีนานแล้ว แต่กว่าที่กษัตริย์จะประกาศให้เป็นศาสนาประจำรัฐก็ตกราวพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว การรับนับถือศาสนาอิสลามของปาตานีนั้นคงไม่ได้ราบรื่นนัก ดังเห็นได้จากตำนานของพญาตูนักปาที่ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ซึ่งมีชีคซาอีดมารักษาจนหาย แต่ไม่รักษาสัญญาว่าเมื่อหายจะนับถือศาสนาอิสลาม จนกระทั่งป่วยครั้งที่สามแล้วจึงยอมพร้อมประกาศให้ ‘ปาตานี’ เป็นรัฐอิสลาม มีชื่อว่า ‘ปาตานี ดารุสสาลาม’ แปลว่า ‘ปาตานี นครรัฐแห่งสันติ’ (สาเหตุที่ไม่ใช้คำว่า ปัตตานี เพราะถือว่าคำนี้เริ่มต้นใช้เมื่อปาตานีตกเป็นของสยามแล้ว) ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนศาสนานี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ราชวงศ์ศรีวังสากลายเป็นตระกูลมีสิทธิธรรมในการปกครองมาอย่างยาวนานหลายรัชกาล  

 

สุสานของพญาอินทิรา หรือ สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ กษัตริย์พระองค์แรกของปาตานีที่นับถือศาสนาอิสลาม

สุสานของพญาอินทิรา หรือ สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ กษัตริย์พระองค์แรกของปาตานีที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

สุสานของพญาตูนักปา หรือที่คนทางนี้รู้สึกจะนิยมเรียกว่า ‘สุสานพญาอินทิรา’ มากกว่านั้น ตั้งอยู่ที่บ้านปาเระ ต.บาราโหม ในเขตตัวเมือง เพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ และเมื่อสอบถามคุณจรูญก็พบว่า ถ้าสืบกันไปจริงๆ ก็อาจจะไม่ใช่สุสานของพญาอินทิราก็ได้ แต่เพราะที่นี่มีหินปักหลุมศพ ที่ชาวมลายูปาตานีเรียกว่า ‘แนแซ’ หรือถ้าออกเสียงแบบมลายูภาคกลางจะเรียกว่า ‘นีซ่าน’ (Nisan) เดิมทีจะใช้หินเป็นวัสดุก็จะเรียกว่า ‘บาตู แนแซ’ (บาตู แปลว่า หิน) 

 

บาตูแนแซที่สันนิษฐานว่าเป็นของพญาอินทิรานี้พิเศษแตกต่างจากแนแซของชาวบ้านทั่วไปตรงที่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม ซึ่งพบว่ามีรูปทรงและลวดลายที่คล้ายคลึงกันกับแนแซที่อาเจะห์ บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นหัวหาดของศาสนาอิสลามก่อนที่จะเผยแผ่ไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงที่ปัตตานี อายุของบาตูแนแซนี้ดูจะสอดคล้องกับตำนานของพญาอินทรา เพราะถ้ากำหนดอายุตามรูปแบบของบาตูแนแซนี้เทียบเคียงกับที่อาเจะห์ตามงานวิจัยของอลิซาเบธ แลมบอร์น แล้วก็พบว่าคงอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 

 

บาตูแนแซ หรือ หินปักหลุมฝังศพของพญาอินทิรา (ภาพซ้าย) และราชินีของพระองค์ (ภาพขวา-สันนิษฐาน) ปกติแล้ว แนแซของผู้ชายจะทำเป็นทรงแท่ง ของผู้หญิงจะทำเป็นทรงแบน

บาตูแนแซ หรือ หินปักหลุมฝังศพของพญาอินทิรา (ภาพซ้าย) และราชินีของพระองค์ (ภาพขวา-สันนิษฐาน) ปกติแล้ว แนแซของผู้ชายจะทำเป็นทรงแท่ง ของผู้หญิงจะทำเป็นทรงแบน

 

ถัดจากที่กุโบร์ของพญาอินทิรา พวกเราเดินทางต่อไปยังกุโบร์ที่ผมอยากไปมานานแล้วคือ สุสานของราชินี 3 พี่น้อง นับตั้งแต่อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีเกี่ยวกับปัตตานี และรู้จักผ่านหนังเรื่อง ‘ปืนใหญ่จอมสลัด’ เมื่อหลายปีก่อน เพราะสงสัยมาตลอดว่าเพราะอะไร ปาตานีจึงมีราชินีที่สืบทอดบัลลังก์ต่อเนื่องหลายองค์ 

 

สุสานไม่ใช่ที่เที่ยวปกติแน่นอน เพราะบรรยากาศนั้นวังเวง เมื่อก้าวผ่านประตูของกุโบร์เข้าไป ย่อมหมายถึงโลกอีกโลกหนึ่งที่บางคนนิยามว่ามันคือโลกหลังความตาย หรือโลกอันเป็นนิรันดร์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ในเวลาเย็นย่ำที่พวกเราไปถึงสุสานจึงไม่มีใครอยู่ในบริเวณนั้นเลย 

 

หน้าทางเข้าสุสานราชินี 3 พี่น้อง ซึ่งนอกจากหลุมฝังศพของราชินีทั้งสามแล้ว ยังมีของข้าราชบริพารและชาวบ้านในปัจจุบันอีกด้วย สะท้อนถึงความต่อเนื่องของคนที่อยู่ในปัตตานี

หน้าทางเข้าสุสานราชินี 3 พี่น้อง ซึ่งนอกจากหลุมฝังศพของราชินีทั้งสามแล้ว ยังมีของข้าราชบริพารและชาวบ้านในปัจจุบันอีกด้วย สะท้อนถึงความต่อเนื่องของคนที่อยู่ในปัตตานี

 

สุสานราชินี 3 พี่น้อง (กุโบร์ราตูฮีเยาห์) เป็นที่ฝังพระศพของกษัตรีย์ของปาตานีประกอบด้วยรายาฮีเยา (พ.ศ. 2127-2159), รายาบีรู (พ.ศ. 2159-2167) และรายาอูงู (พ.ศ. 2167-2178) ในราชวงศ์ศรีวังสา หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นเป็นกษัตรีย์ได้นั้น เป็นผลมาจากสุลต่านบาฮาดูรถูกลอบปลงพระชนม์แล้วไม่มีพระรัชทายาทสืบทอดบัลลังก์ต่อ นอกเหนือไปจากพระธิดาของสุลต่านมันศูร ชาห์ ทั้ง 3 พระองค์ ที่เป็นเชื้อสายอันสืบทอดมาจากพญาอินทิราเท่านั้น ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่ลงมติให้พี่สาวคนโตคือ รายา หรือราชินีฮีเยา ขึ้นครองราชย์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการค้านานาชาติอันรุ่งโรจน์ของปาตานี 

 

ความรุ่งเรืองนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้า เพราะปาตานีได้รวบรวมสินค้าต่างๆ ที่ชาวต่างชาติต้องการไว้ทั้งหมด ทำให้ลดความจำเป็นที่จะต้องเดินไปยังกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงส่งกองทัพนำโดยออกญาเดชาเป็นแม่ทัพมาโจมตีปาตานี แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะมีกองทัพ พันธมิตร และปืนใหญ่ที่ทรงอำนาจคือ พญาตานี 

 

ประวัติความเป็นมาของปืนใหญ่นี้ไม่ทราบแน่ชัด บางตำนานเล่าว่าพญาอินทิราโปรดฯ ให้สมุหนายก (เบนดาฮารา) หล่อขึ้น ไม่ใช่ลิ้มโต๊ะเคี่ยม พี่ชายของลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งในความคิดของนักประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้ว มองว่าเรื่องเล่าว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมหล่อปืนใหญ่นี้ขึ้นนั้นเป็นการ ‘เบี่ยงเบน’ ประวัติศาสตร์โดยสยาม ไม่ว่าอย่างไร ปืนใหญ่นี้ก็หล่อขึ้นในยุคที่ปาตานีเป็นเอกราช ดังนั้น มันจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของปาตานี

 

บางคนคงจำได้ว่า เมื่อเกือบสิบปีก่อนทางกระทรวงกลาโหมได้จำลองปืนใหญ่ไปยังปัตตานีใกล้กับมัสยิดกรือเซะ แต่ไม่กี่วันถัดมาได้ถูกวางระเบิด แสดงว่าปืนใหญ่นี้ไม่ได้แสดงแสนยานุภาพของปาตานีในอดีตเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอีกด้วย เพราะด้านหนึ่งเป็นทั้งสัญลักษณ์ของยุคทองของปัตตานี แต่อีกด้านก็เป็นสัญลักษณ์ของความปราชัยต่อสยามเช่นกัน การจำลองปืนใหญ่ไปนี้จึงเป็นความไม่เข้าใจหรือความอ่อนด้อยในทางการเมือง และไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของประวัติศาสตร์ 

 

รูปแบบของบาตูแนแซของราชินี 3 พี่น้องนี้แตกต่างไปจากของพญาอินทิรา ตรงที่มีรูปทรงคล้ายกันหรือเหมือนกับใบเสมาของทางกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ถ้าเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ตรงกลางที่เป็นใบเสมาขนาดใหญ่จะเป็นของราชินีฮีเยา ทางด้านซ้ายที่มีแนแซทรงเสมาขนาดเล็กจะเป็นของสุลต่านบะห์โดร์ ชาห์ (หรือบาฮาดูร ชาห์) ศักดิ์เป็นพระเชษฐาของราชินีฮีเยา ถัดไปทางด้านขวาของบาตูแนแซของราชินีฮีเยาก็เป็นของราชินีบีรู ราชินีอูงู และราชาบีมา (ราชาบีมาเป็นพระเชษฐาของสุลต่านบะห์โดร์ ชาห์) 

 

จากซ้ายไปขวา หลุมฝังศพของสุลต่านบะห์โดร์ ชาห์ (หรือบาฮาดูร ชาห์), ตรงกลาง (แนแซทรงใบเสมาที่สูงที่สุด) คือของราชินีฮีเยา ถัดไปทางซ้ายของภาพของเป็นหลุมศพของราชินีบีรู ราชินีอูงู และราชาบีมา ตามลำดับ

จากซ้ายไปขวา หลุมฝังศพของสุลต่านบะห์โดร์ ชาห์ (หรือบาฮาดูร ชาห์), ตรงกลาง (แนแซทรงใบเสมาที่สูงที่สุด) คือของราชินีฮีเยา ถัดไปทางซ้ายของภาพของเป็นหลุมศพของราชินีบีรู ราชินีอูงู และราชาบีมา ตามลำดับ

 

บาตูแนแซของราชินีฮีเยามีรูปทรงแบบใบเสมาชัดเจน สะท้อนความเชื่อว่ารูปทรงของใบเสมาถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

บาตูแนแซของราชินีฮีเยามีรูปทรงแบบใบเสมาชัดเจน สะท้อนความเชื่อว่ารูปทรงของใบเสมาถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ในวันที่ผมไปนั้นได้โพสต์ภาพของบาตูแนแซนี้ลงใน Facebook ส่วนตัว ปรากฏว่าเพื่อนนักโบราณคดีชาวเวียดนามที่ทำงานโบราณคดีเกี่ยวกับจามปา (รัฐโบราณทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม) และชาวจามปาที่ปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามนั้นให้ความสนใจมาก เพราะมองว่าคล้ายคลึงกับบาตูแนแซบางแห่งในเวียดนามตอนใต้

 

ในความเห็นของผมมองว่า เป็นไปได้ที่บาตูแนแซของปาตานีนี้จะได้รับอิทธิพลจากรูปทรงของใบเสมาจากกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีรูปทรงที่คล้ายกันคือการใช้วัสดุคือหินทรายแดงที่นิยมใช้กับใบเสมาในรุ่นนั้น และสอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ บาตูแนแซทรงเสมานี้ไม่ได้พบที่นี่ที่เดียว ข้อมูลที่เผยแพร่ใน Facebook ของสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เมื่อปีที่แล้วในเดือนเมษายน ได้ให้ข้อมูลว่า ยังพบบาตูแนแซแบบนี้อีก 2 แห่ง คือที่กุโบร์โต๊ะดาตู และกุโบร์โต๊ะดาแฆในปัตตานี และให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า บาตูแนแซแบบนี้จัดอยู่ในกลุ่มของแนแซแบบชวาตะวันออก (East Java Style Nisan) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของอาณาจักรมัชปาหิต ที่มีหลักฐานเริ่มนับถือศาสนาอิสลามกันตั้งแต่ปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 19 

 

ลวดลายจีนบนโลงศพและแนแซของราชวงศ์กลันตัน

หลังจากเที่ยวชมกุโบร์ของราชินี 3 พี่น้องแล้ว พวกเราได้ไปกันต่อที่กุโบร์ของราชวงศ์กลันตัน ซึ่งเข้ามามีบทบาทหลังจากเชื้อสายของราชวงศ์ศรีวังสานั้นหมดลง กุโบร์ของราชวงศ์กลันตันที่พวกเราได้ไปเยี่ยมชมในช่วงเย็นคือ สุสานยะหริ่ง หรือ สุสานตนกูปะสา (เรียกชื่อตามท้องถิ่นว่า มระโฮมตันหยง) กุโบร์แห่งนี้ในสายตาของผมนั้นน่าสนใจมาก เพราะมีโลงศพและแนแซที่ตกแต่งด้วยลวดลายศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ชิง แถมหินที่ใช้ยังเป็นหินแกรนิตสีเทา ซึ่งนำเข้ามาจากจีน 

 

โลงศพหินของตระกูลตนกูปะสา เจ้าเมืองปัตตานีในสมัยภายใต้การปกครองของสยามสมัยรัชกาลที่ 3

โลงศพหินของตระกูลตนกูปะสา เจ้าเมืองปัตตานีในสมัยภายใต้การปกครองของสยามสมัยรัชกาลที่ 3

 

ลวดลายมงคลของจีนสมัยราชวงศ์ชิง โลงศพและแนแซแบบนี้ต้องสั่งนำเข้าจากจีนเท่านั้น

ลวดลายมงคลของจีนสมัยราชวงศ์ชิง โลงศพและแนแซแบบนี้ต้องสั่งนำเข้าจากจีนเท่านั้น

 

เหตุที่ตนกูปะสาได้มาฝังร่างอยู่ที่ยะหริ่งนี้ เป็นผลมาจากเมื่อ พ.ศ. 2382 ตนกูประสาเกิดความขัดแย้งกับพระยากลันตันจนเกิดการสู้รบกัน ในเวลานั้น สยามได้ปกครองปัตตานีและกลันตันแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์ลงไปเกลี่ยกล่อมเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่ก็แก้ไขไม่ได้ จนในที่สุดได้โปรดฯ ให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ลงไปจัดการปัญหานี้ที่เมืองกลันตัน แล้วเสนอให้ตนกูปะสามาเป็นเจ้าเมืองหนองจิก ซึ่งอยู่มาได้ 3 ปี เจ้าเมืองปัตตานีตายลง รัชกาลที่ 3 จึงทรงแต่งตั้งให้ตนกูปะสาเป็นเจ้าเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2388 และสร้างวังขึ้นใกล้กับทะเลที่หมู่บ้านตันหยง 

 

ความสัมพันธ์กับราชสำนักที่กรุงเทพฯ นี้เองที่ทำให้กระแสความนิยมในศิลปะจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เรียกว่า ศิลปะแบบพระราชนิยม คือ ศิลปะไทย-จีน ส่งอิทธิพลลงไปยังโลงศพและแนแซด้วย ซึ่งช่วยทำให้เราเห็นมิติของความสัมพันธ์ของศิลปะอิสลามกับศิลปะจีนที่หาดูไม่ได้ง่ายนัก 

 

ปัตตานี เที่ยว 2 วันไม่พอ 

หลังจากจบทริปวันแรกแล้ว วันรุ่งขึ้นผมมีเวลาช่วงสั้นๆ ได้ไปเดินชมชุมชนชาวจีนในตัวเมืองปัตตานี พวกเราได้ไปกันที่บ้านขุนพิทักษ์รายา ซึ่งได้ปรับปรุงบ้านทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2562 บ้านนี้เป็นของคนในตระกูลคณานุรักษ์ คหบดีชาวจีนของปัตตานี ที่เคยอาศัยที่บ้านแห่งนี้มาถึง 4 รุ่นด้วยกัน จากนั้นก็เดินไปตามถนนสายอาเนาะรู ซึ่งตลอดสองข้างทางเป็นบ้านชาวจีนฮกเกี้ยน บางหลังมีประวัติความเป็นมาที่เก่าไปถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เกือบๆ สุดถนนเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งไม่ว่าเรื่องราวในตำนานจะเป็นความจริงเช่นไร แต่ก็สะท้อนถึงการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านการค้า และนำเทคโนโลยีการหล่อสำริดจากจีนเข้ามายังปัตตานี 

 

บ้านขุนพิทักษ์รายา และภายในบ้านที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว มีสิ่งของ และข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าไปเที่ยวปัตตานีนี้ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง (หมายเหตุ หากจะไปเยี่ยมชมต้องติดต่อไปล่วงหน้า)

บ้านขุนพิทักษ์รายา และภายในบ้านที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว มีสิ่งของ และข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าไปเที่ยวปัตตานีนี้ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง (หมายเหตุ หากจะไปเยี่ยมชมต้องติดต่อไปล่วงหน้า)

 

บ้านกงสีของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อาสาปราบกบฏเมืองตานี เมืองไทรบุรี จึงได้รับความดีความชอบให้เป็นเจ้าภาษีนายอากร

บ้านกงสีของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อาสาปราบกบฏเมืองตานี เมืองไทรบุรี จึงได้รับความดีความชอบให้เป็นเจ้าภาษีนายอากร

 

ทั้งหมดที่เห็นในย่านชาวจีนไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ผมคิดว่า หากเหตุการณ์ความไม่สงบจบลง ปัตตานีจะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวมาก เพราะเต็มไปด้วยทุนทางวัฒนธรรม โบราณสถาน ย่านชุมชนเก่า และท้องทะเลกับธรรมชาติที่สวยงาม ถือว่ามีศักยภาพมาก ยิ่งทุกวันนี้มีการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่พยายามพัฒนาปัตตานีให้เจริญขึ้นรองรับกับโลกยุคใหม่ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าปัตตานีมีอะไรที่น่าค้นหาและติดตามอีกมาก หวังว่าภาครัฐจะจริงใจกับการแก้ปัญหาให้มากขึ้น และอย่าปล่อยให้คำว่า เหตุการณ์สงบงบไม่มา เป็นคำพูดที่พูดกันเสมอเมื่อลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเลย

 

สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องเล่าจากการฟังและอ่านหนังสือเพียงชุดเดียว ประวัติศาสตร์ปัตตานีนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเชื่อมโยงกับการเมืองในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอน เช่น สมัยลังกาสุกะ ศรีวิชัย และปัตตานีสมัยรับศาสนาอิสลาม เป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของคนปัตตานี ในขณะที่ประวัติศาสตร์ช่วงนับจากสยามปกครองแล้วเป็นประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด และเป็นบาดแผล หากยังไม่รู้จักกันดีก็ยากที่จะเล่าให้ฟัง 

 

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงนับจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้นโยบายชาตินิยมและการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ จนทำให้รู้สึกถึงความเคารพต่อวัฒนธรรมและตัวตนของคนในพื้นที่ บางทีผมก็คิดว่าคนภายนอกควรรับรู้ประวัติศาสตร์ชุดนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่มองประวัติศาสตร์จากมุมมองจากกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญต้องมีความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และให้คนในพื้นที่เข้ามาส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น เพื่อวางแผนไปสู่อนาคตร่วมกันเพื่อให้ปัตตานีเป็นนครอันสันติ  

 

หมายเหตุ คำว่า ‘ปัตตานี’ ในบทความนี้ใช้ในบริบทของการเป็นจังหวัด หรือเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่สยามปกครอง ส่วนปาตานีใช้ในบริบทเมื่อเป็นรัฐอิสระ หรือเล่าเรื่องราวในช่วงอดีต

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Lambourn, Elizabeth. “Tombstones, Texts, and Typologies: Seeing Sources for the Early History of Isam in Southeast Asia,” Journal of the Economic and Social History of the Orient. 51, 2008, pp.252-286.
  • สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา. “แนแซหรือเครืองหมายที่ปักไว้บนหลุมฝังศพ,” สืบค้นได้จาก: https://www.facebook.com/fad11songkhla/photos/pcb.1137724419899053/1137717646566397
  • อารีฟิน บินจิ, อับดุลลอฮฺ ลออแมน และซูฮัยมีย์ อิสมาแอล. ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู, พิมพ์ครั้งที่ 4. สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, 2558. 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising